xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กจุฬาฯ” ล่ารายชื่อยกเลิก “บังคับ” แต่งชุดนิสิต โวยโดนอาจารย์ว่าตักเตือนทำให้อับอาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นิสิตจุฬาฯ” ตั้งแคมเปญผ่าน change.org ล่ารายชื่อให้มหาวิทยาลัยยกเลิก “บังคับ” แต่งชุดนิสิต เผยที่ผ่านมามีการหักคะแนน-อาจารย์ว่าตักเตือนในที่สาธารณะทำให้เกิดความอับอาย ชี้มนุษย์ควรมีเสรีภาพในการแต่งกายเพราะไม่ได้ทำใครเดือดร้อน ลั่นการศึกษามีเพื่อสอนให้คิดอย่างมีวิจารณญาณมิใช่พยายามผลิตซ้ำค่านิยม-จารีตประเพณีและต่อต้านการตั้งคำถาม

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ “change.org” ได้มีผู้ใช้ชื่อว่า “นิสิตจุฬาฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับแต่งชุดนิสิต” ได้ตั้งแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อรณรงค์ยกเลิก ‘การบังคับ’ แต่งชุดนิสิต มีรายละเอียดว่า ...

การแต่งกายชุดนิสิตเป็นประเด็นถกเถียงมาตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านในจุฬาฯ มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วยกับการแต่งชุดนิสิต ที่ผ่านมาจุฬาฯ มีมาตรการห้ามแต่งกายชุดไปรเวตมาเรียน ทั้งมาตรการกวดขันให้แต่งชุดนิสิตเป็นลายลักษณ์อักษร (ตามข้อบังคับนี้ https://www.reg.chula.ac.th/uniform2.pdf ) การตัดคะแนนความประพฤติ และมาตรการทางสังคมต่างๆ เช่น การตักเตือนว่ากล่าวของอาจารย์ การว่ากล่าวบุคคลที่แต่งชุดไปรเวตมาเรียนอย่างเปิดเผยต่อหน้านิสิตและบุคคลอื่นให้เกิดความอับอาย

เราตัวแทนของผู้ไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้แต่งชุดนิสิตจึงอยากให้จุฬาฯ ยกเลิกการบังคับนิสิตให้แต่งชุดนิสิตทั้งทางกฎที่เป็นลายลักษณ์อักษรและทางสังคม เหตุผลการรณรงค์มีดังต่อไปนี้

1.) ในภาคการศึกษาปลายปี 2560 จุฬา ฯ ได้เพิ่มมาตรการกวดขันให้นิสิตแต่งกายชุดนิสิตมาเรียน หากไม่ปฏิบัติตามจะโดนตักเตือนในครั้งแรก และหักคะแนนความประพฤติในครั้งที่สอง เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว หากจุดประสงค์การออกกฎของมหาลัยคือการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย การพยายามลดความแตกต่างระหว่างนิสิต จุฬาฯ ควรจะตอบคำถามต่อไปนี้

- การแต่งชุดไปรเวตมาเรียนสร้างความวุ่นวายอย่างไร

- การสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยการลบความหลากหลายและอัตลักษณ์ในการแต่งกายเกิดประโยชน์ต่อนิสิตอย่างไร

- การตักเตือน หักคะแนนความประพฤติจากการแต่งกายชุดไปรเวตเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างไร

- เหตุใดการพยายามลดความแตกต่างด้วยการปิดกั้นการแสดงออก(ทางการแต่งกาย) เป็นการแก้ปัญหาที่จุฬาฯ เลือก

2.) การแต่งกายเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ มนุษย์ควรมีเสรีภาพในการแต่งกายตามที่ต้องการ อ้างตามคำประกาศหลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพคืออิสระในการกระทำใดๆ ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หากอ้างหลักคำว่าเสรีภาพตามดังกล่าว การแต่งกายย่อมเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่สร้างความเดือดร้อนใดๆ แก่ผู้อื่น หากการแต่งกายของบุคคลหนึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ความเดือดร้อนนั้นเป็นอคติส่วนตัว ที่เกิดจากค่านิยมทางสังคมบางอย่าง ซึ่งไม่ควรใช้เป็นบรรทัดฐานชี้ความถูกผิด หรือนำมาสร้างเป็นกฎที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

3.) การแต่งกายและการศึกษาไม่ใช่เรื่องเดียวกัน การแต่งกายของนิสิตไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพทางวิชาการ และความสามารถทางวิชาการของนิสิตแต่อย่างใด

4.) การแต่งกายและชื่อเสียงของจุฬาฯ ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวเช่นกัน การอ้างว่าการแต่งกายถูกระเบียบเป็นหน้าเป็นตาของมหาลัยเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีชื่อเสียงอย่างไร ควรขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษา คุณภาพทางวิชาการของนิสิตมิใช่การแต่งกาย ในฐานะสถาบันการศึกษา หากชื่อเสียงในความคิดจุฬาฯ มาจากการ “บังคับ” ให้นิสิตแต่งกายชุดนิสิตให้เหมือนกัน และการแต่งกายนอกเหนือจากชุดนิสิตเป็นความไม่เหมาะสมและความเสื่อมเสีย จุฬาฯ ควรพิจารณาถึงสถานะอันอ่อนแอดังกล่าวว่าเหตุใดการบังคับแต่งชุดนิสิตจึงกลายเป็นหลักสำคัญที่จะรักษาชื่อเสียงจุฬาฯ ไว้ได้

5.) การแต่งกายตามกฎระเบียบ นัยหนึ่งคือการยอมรับและปฏิบัติตามกฎและจารีตประเพณี การบังคับแต่งชุดนิสิตจึงเสมือนเป็นการบังคับให้นิสิตปฏิบัติตามกฎและจารีตประเพณี อีกทั้งยังมีบทลงโทษหากไม่ทำตาม แสดงถึงบทลงโทษของการไม่ปฏิบัติตามจารีตประเพณี ซึ่งขัดแย้งกับจุดประสงค์ของการศึกษาอย่างสิ้นเชิง การศึกษามีขึ้นเพื่อให้สร้างเสริมองค์ความรู้ของมนุษย์ สอนให้มนุษย์รู้จักการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สอนให้มนุษย์ใช้เหตุผลและกล้าตั้งคำถาม มิใช่การพยายามผลิตซ้ำค่านิยมและจารีตประเพณี และต่อต้านการตั้งคำถามและการใช้เหตุผล ดังที่จุฬาฯ กำลังกระทำอยู่

ทั้งนี้ การบังคับให้แต่งชุดนิสิตโดยการอ้างว่ากฎเป็นกฎ มีแล้วต้องทำตามย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง การใส่ชุดนิสิตเป็นกฎเพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นการข้อโต้แย้งที่ถือว่าเป็นการทิ้งเหตุผล

ถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วยกับการมีชุดนิสิต แต่ในเบื้องต้นนี้ เราขอให้ยกเลิกการ ‘บังคับ’ ให้แต่งกายชุดนิสิตเพียงเท่านั้น การแต่งกายควรจะเป็นเรื่องของความสมัครใจส่วนบุคคล มิใช่แต่งเพราะถูกบังคับ หากผู้ใดอยากแต่งชุดนิสิตก็ย่อมแต่งได้ตามความสมัครใจ แต่ผู้ใดไม่อยากแต่งกายชุดนิสิต จุฬาฯ ไม่ควรละเมิดสิทธิ์นี้ด้วยมาตรการต่างๆ ดังที่กระทำตลอดมา
คลิกอ่านรายละเอียดแคมเปญ "รณรงค์ยกเลิก ‘การบังคับ’ แต่งชุดนิสิต"


กำลังโหลดความคิดเห็น