xs
xsm
sm
md
lg

เจอทุกปี! หมอเตือนกิน “ราจักจั่น” คล้ายถั่งเช่า ระวังถึงตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์เตือนพบแทบทุกปี คนไข้กินราจักจั่น แต่เรียกอีกชื่อว่าว่านจักจั่น ทำให้เกิดอาการชัก เกร็ง กระตุก ซึม จนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง บางพื้นที่นำเอามาบูชา ชี้มีอันตราย ควรระมัดระวัง

จากที่เคยมีกรณีเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านนำราจักจั่นมารับประทาน และหลังทานไปแล้ว 4-6 ชั่วโมง เกิดป่วย มีอาการชัก เกร็ง กระตุก ซึม ไม่พูด คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก อ่อนแรง ใจสั่น และเวียนศีรษะ บางรายถึงกับต้องท่อช่วยหายใจ พบได้ในแทบทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งว่านชนิดนี้มีลักษณะคล้ายแมลงปีกแข็งชื่อจักจั่น คาดเกิดจากจักจั่นสิ้นอายุขัยและซากตัวอ่อนฝังตัวอยู่ใต้พื้นดิน ขณะที่ตัวอ่อนเหล่านี้จะลอกคราบออกมาเป็นตัวเต็มวัยนั้นจะมีความอ่อนแอ ทำให้ติดเชื้อราแมลงซึ่งมีกว่า 500 ชนิดในธรรมชาติ จนทำให้ตัวอ่อนของจักจั่นตายในที่สุด และเชื้อราดังกล่าวจะเจริญเติบโตออกมาคล้ายกับเป็นเขาของจักจั่น ซึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมนำมาทำเป็นเครื่องรางของขลัง

วันนี้ (12 ม.ค.) เพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” ได้ออกมาเตือนภัยอีกครั้ง มีเนื้อหาโพสต์ว่า “น้องหมอที่โรงพยาบาลจังหวัดหนึ่งฝากเตือนมา ก็ประจำปี มีคนไปเอาว่านจักจั่นมารับประทาน แล้วก็ชักแด่กเข้าโรงพยาบาล ตอนนี้ใส่ท่อช่วยหายใจอยู่ อาการหนัก เขาเลยฝากมาเตือนหน่อยเพราะคนตายจากการทานว่านจักจั่น มีให้เห็นทุกปีเลย ก็ไม่รู้จะไปกินทำไมเหมือนกัน คิดว่าเป็นถั่งเช่าหรือ คนละอย่างนะ อันนี้มันไม่ใช่ว่านด้วยซ้ำ มันคือซากจักจั่นที่ราขึ้นแค่นั้นเอง แล้วตอนเชื้อรามันเจริญเติบโตออกมานอกตัวจักจั่น มันจะมีโครงสร้างเส้นใยที่ดูแล้วคล้ายๆ รากพืช แต่ไม่ใช่รากมันคือรา แล้วไอ้ราตัวนี้มันสามารถสร้างสารพิษที่ทำให้ชักเกร็งได้ สรุปอย่าไปขุดมาทานกันมั่วซั่ว ถ้าอยากกินถั่งเช่า ก็ไปซื้อถั่งเช่ามากินไป เดี๋ยวนี้ผลิตในไทยเยอะแยะราคาถูกลงมากแล้ว

ทั้งนี้ ราแมลง (Insect Fungi) เกิดขึ้นในไทยมาประมาณ 15 ปีแล้ว โดย ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า เกิดจากการชักนำของ ดร.ไนเจล โจนส์ (Dr.Nigel L.H. Jones) ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติในเรื่องราแมลงให้ความเห็นว่าเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพน่าจะมีราประเภทนี้อยู่มาก ส่วน “ถั่งเช่า” คือราแมลงสายพันธุ์คอร์ไดเซปส์ ซินเอนซิส (Cordyceps sinensis) ที่ขึ้นบนหนอนผีเสื้อชนิดหนึ่ง เชื้อราจะฝังสปอร์บนตัวหนอนในช่วงฤดูหนาวของแถบภูมิประเทศจีนและภูฏานที่ปกคลุมด้วยหิมะ และใช้สารอาหารบนตัวหนอนเพื่อเจริญเติบโต และสร้างเส้นใยยนอัดแน่นและทะลุออกมาเป็นเส้นยาวๆ อย่างที่เห็นในช่วงหน้าร้อน






กำลังโหลดความคิดเห็น