xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย-รสนา” ชำแหละมาตรการลดบทบาท “กฟผ.” อ้างแข่งขันเสรีแต่กลับเปิดทางเอกชนกอบโกย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ธีระชัย - รสนา” ชำแหละมาตรการลดบทบาท “กฟผ.” เปิดทางทุนใหญ่เข้ามาเป็นเสือนอนกิน แฉที่ผ่านมาเอกชนแห่วิ่งเต้นจ่ายใต้โต๊ะเพื่อได้ผลิตไฟฟ้าขายให้ กฟผ. เพราะมีประกันผลตอบแทนให้จนไม่มีความเสี่ยงเลย โดยใช้หลัก Take or Pay ผลิตได้ 800 เมกะวัตต์ กฟผ. ก็ต้องซื้อทั้ง 800 แม้ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ถึงก็ตาม ชี้เป็นการผลักภาระให้ประชาชนทั้งหมด ไม่ได้ทำให้พลังงานถูกลงตามคำอ้าง



วานนี้ (9 ม.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง “นิวส์วัน” ถึงมาตรการที่ ครม. ออกมาเพื่อลดบทบาท กฟผ. และ ปตท. โดยอ้างว่าเพื่อให้ราคาพลังงานถูกลง

นายธีระชัย กล่าวว่า 10 มาตราการ ครม. ที่มีมติไป ถ้าไม่ระวังจะเป็นการเปิดช่องเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางรายเกิดขึ้นได้ รัฐวิสาหกิจของไทยได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ทำเรื่องสาธารณูปโภค ธุรกิจนี้กว้างขวางทั่วประเทศ ปัญหาคือ ถ้าใครอยากหาประโยชน์จากกิจกรรมนี้ วิธีการหนึ่งคือดึงเอากิจกรรมรัฐวิสาหกิจถ่ายออกมาให้เป็นของเอกชน ประเด็นสำคัญคือ ให้เอกชนตั้งโรงไฟฟ้าโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งหากใช้พลังงานหมุนเวียนจะไม่มีปัญหามากเท่าก๊าซธรรมชาติ เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นเชิ้อเพลิงหลักที่ กฟผ. ใช้ผลิตไฟฟ้ามาแต่ไหนแต่ไร พอไปให้เอกชนตั้งโรงไฟฟ้า โดยอ้างเพื่อการมีประสิทธิภาพ เพราะ กฟผ. ใช้หลักต้นทุนและบวกค่าดำเนินการ เขาบอกว่าไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับให้เอกชน เพราะเอกชนอาจเอากำไรน้อยกว่า กฟผ. ก็ได้ เขาอ้างอย่างนี้ แต่หลังจากดำเนินการโดยใช้นโยบายนี้มา พบปัญหาว่าทำไมถึงเกิดการสร้างโรงไฟฟ้าที่ผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติขึ้นมากมาย ตอนนี้มันเกินจากการใช้ปกติเยอะเลย มีกำลังสำรองในอีกไม่กี่ปีอาจขึ้นไปถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางสากลอยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ การมีกำลังสำรองมากเกินกว่าสากลกำหนด รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่าย เป็นอาการที่แสดงว่าต้องมีบางอย่างที่ผิดพลาด เอกชนถึงรุมกันสร้างโรงไฟฟ้า ต้องมีอะไรจูงใจที่บิดเบือน

นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ในความเห็นตน ประเด็นที่ต้องทบทวน ประการแรก ให้เอกชนเอาก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากกว่า กฟผ. สมมติฐานนี้จริงหรือเปล่า เพราะการค้าขายก๊าซในไทยไม่ได้เสรีอย่างแท้จริง เพราะกระบวนการในการขนส่งก๊าซยังใช้ระบบท่อ ซึ่งยังไม่โอนมาเป็นของรัฐ ใช้แหล่งก๊าซเดียวกัน ระบบท่อเดียวกัน จะทำให้เอกชนซื้อก๊าซได้ถูกกว่าจริงหรือ รัฐบาลควรศึกษาและตีแผ่ต่อสาธารณะ

อีกประเด็น หากเรามีรัฐวิสาหกิจไม่ควรให้แข่งกับเอกชนมากเกินไป ควรทำแค่พอตัว รัฐวิสาหกิจของเรารัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนด้วยว่าไม่ควรแข่งขันกับเอกชน แต่ถ้าเปิดให้มีการแข่งขันเสรี หลักมันต้องเเป็นแบบนี้ คือเอกชนที่เข้ามาผลิตไฟฟ้าแล้วขาย ต้องทำในเชิงธุรกิจจริงๆ ราคารับซื้อต้องเป็นไปตามสภาวะธุรกิจ สมมติการสำรองสากลอยู่ที่ 15 ของเรามี 10 เป็นรัฐอาจยอมซื้อแพงหน่อย แต่พอมันเพิ่มไป 20 ต้องกดราคาลง เพื่อให้สภาวะตลาดทำงานได้เอง จะค้างราคาเดิมไว้เพื่ออะไร

ประเด็นต่อมา ขบวนการของปริมาณ การประกันผลตอบแทนให้เอกชนจนไม่มีความเสี่ยงเชิงธุรกิจ ทำให้เอกชนใช้วิธีจัดสรรปันส่วนโดยได้โควตา จนไม่มีใครเข้ามาแข่งในโควตานี้ได้ แต่บอกว่าเปิดเสรี ตนคิดว่าสิ่งนี้ทำให้เอกชนเฮกันเข้ามา ไม่รู้มีการวิ่งใต้โต๊ะหรือเปล่า สิ่งที่ควรทำคือยกเลิกโควตาเดิม และเปิดใหม่่ให้เป็นเชิงธุรกิจจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเอาเอกชนเข้ามาแบบจอมปลอม เข้ามาแบ่งเค้กกันสบาย

ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลจะแปรรูป กฟผ. ด้วยวิธีล้วงไส้ เอกชนที่เข้ามาอ้างว่าประมูล พอได้สัญญาขายไฟให้ กฟผ. ก็กลายเป็นเสือนอนกินเลย 25 ปี แข่งขันวันนั้นชนะที่ราคา 3 บาท แต่ประเด็นคือ รับซื้อ 1,000 เมกะวัตต์ หากทำได้ 800 เมกะวัตต์ หรือเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าผลิตได้มีความพร้อมจ่าย กฟผ. ต้องซื้อกับเอกชน แล้วถ้าช่วงนั้นความต้องการไฟฟ้าลดลง ก็เจอปัญหาที่ว่าใช้หลัก Take or Pay คือ เอกชนผลิต กฟผ. ใช้หรือไม่ใช้ไม่รู้แต่ต้องจ่ายเงินให้เอกชน อย่างสัญญา 1,000 เมกะวัตต์ ผลิตได้ 800 กฟผ. ก็ต้องซื้อ 800 ทั้งๆ ที่ต้องการใช้แค่ 500 กฟผ. ก็ต้องลดการผลิตตัวเองลงเพื่อซื้อเอกชน มันจึงมีคำล่ำลือว่าเมกะวัตต์ละล้าน จะมีใบอนุญาตขายไฟให้ กฟผ. ต้องจ่ายเงินให้ผู้มีอำนาจ พอได้สัญญาก็เอาเข้าตลาดหุ้น หุ้นขึ้นแน่นอน เพราะไม่มีความเสี่ยงเลย การผลิตไฟและขายซึ่งใครๆ ก็ต้องใช้ ไม่มีความเสี่ยงเลย แต่ถ้าให้ผลิตแล้วเสนอขายขายในราคาต่ำสุด มีประสิทธิภาพสุดแล้วรัฐจะซื้อ แต่เปล่าเลย นี่ผลักภาระมาให้ประชาชนทั้งหมด



กำลังโหลดความคิดเห็น