xs
xsm
sm
md
lg

พระเจ้าตากสินวิกลจริตจริงหรือ ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน? ร.๕ ว่า “อยู่ข้างพลุ่งพลั่ง แต่ไม่ใช่บ้า”!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

หนึ่งในภาพเขียนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ เรื่องราวของพระเจ้าตากสินถูกนำมากล่าวขานกันมาก เพราะก่อนหน้านั้นต่างเก็บกดในเรื่องนี้ ด้วยเชื่อกันว่าการพูดยกย่องพระเจ้าตากสินจะกระทบกระเทือนพระราชวงศ์จักรี และหลายกลุ่มได้ปฏิเสธจะเชื่อพงศาวดารที่เขียนมาก่อนหน้านั้น โดยอ้างว่าเขียนขึ้นโดยสมาชิกในพระราชวงศ์จักรี หรือผู้เขียนเกรงกลัวจะมีภัยถ้าบันทึกตามความจริง หรือไม่ก็เขียนเพื่อเอาใจพระราชวงศ์ ฉะนั้นจึงเชื่อกันว่าเรื่องราวด้านดีของพระเจ้าตากสินถูกบิดเบือน พูดถึงแต่เรื่องพระองค์เสียพระจริต

เรื่องที่ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็คือ
พระเจ้าตากสินวิกลจริตจริงหรือ?

ทั้งยังมีเรื่องเล่าลือว่า พระองค์ทรงหลบท่อนจันทน์ไปสิ้นพระชนม์ที่เมืองนครศรีธรรมราช

จนหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีนวนิยายของ หลวงวิจิตรวาทการ ในชื่อหวือหวาออกมาเล่มหนึ่ง เรียกความสนใจจนถูกนำไปสร้างเป็นละครเวทีและภาพยนตร์ก็คือ “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน?”

หนังสือที่ออกมาบางเล่มอ้างเหตุที่พระเจ้าตากสินเสียพระจริตว่า เพราะทรงกู้เงินจากพ่อค้าจีน ขุนนางจีน ตลอดจนฮ่องเต้ มาซื้ออาวุธ ซื้อข้าวแจกราษฎร และสร้างกรุงธนบุรี โดยสัญญากู้เงินในสมัยนั้นระบุว่า ถ้าผู้กู้ถึงแก่กรรมหรือเสียจริตหนี้สินจะไม่ตกถึงทายาท เมื่อเจ้าหนี้เร่งรัดบีบบังคับเพื่อจะมีอำนาจเหนือเมืองไทย พระเจ้าตากสินจึงทรงออกพระอาการเสียจริต โดยกระซิบกับสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกให้รับดูแลบ้านเมืองต่อไป

เรื่องราวความลับสุดยอดของพระเจ้าตากสินที่ถูกนำมาเปิดเผยนี้ ผู้เขียนเปิดเผยอ้างว่า ได้มาจากการอัญเชิญพระวิญญาณพระเจ้าตากสินมาประทับทรงพระราชทานสัมภาษณ์ ถือได้ว่าเป็น “พงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับประทับทรง”

ในหนังสือ “เจ้าชีวิต” ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเมืองไทยใน พ.ศ.๒๔๗๕ (ค.ศ.๑๙๓๒) มีผู้คนมิใช่น้อยที่ได้แสดงความสงสัยว่า พระเจ้าตากสินทรงพระประชวรวิกลจริตจริงหรือเปล่า และมีผู้ออกความเห็นว่าเรื่องพระเจ้าตากสินทรงพระประชวรวิกลจริตนั้น เป็นเรื่องตกแต่งขึ้นทั้งสิ้น เพื่อจะเอาพระองค์ออกจากเป็นพระมหากษัตริย์ และเป็นข้อแก้ตัวที่เจ้าพระยาจักรีจะแย่งแผ่นดิน”

พระองค์เจ้าจุลฯยังเขียนอีกตอนหนึ่งว่า

“แต่ผู้เขียนที่ปรักปรำเจ้าพระยาจักรีเหล่านั้น หาได้นำเอกสารหรือถ้อยคำอย่างใดอย่างหนึ่งมาอ้างเป็นพยานเพื่อจะสนับสนุนทฤษฎีของเขาได้เลย”

ที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ พระเจ้าตากสินทรงได้รับการยกย่องเป็นมหาราช ก็ในรัชสมัยพระราชวงศ์จักรี

เรื่องพระเจ้าตากสินเสียพระจริตจริงหรือไม่ เอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศสที่ได้เขียนรายงานไปยังผู้อำนวยการคณะเผยแพร่ศาสนาในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส น่าจะเป็นเอกสารที่น่าเชื่อได้ เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย น่าจะเป็นเอกสารที่ปราศจากอคติ

ความสัมพันธ์ของพระเจ้าตากสินกับบาทหลวงฝรั่งเศสเมื่อแรกเริ่มนั้นอยู่ในขั้นที่ดี ในรายงานของบาทหลวงคอร์ ลงวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๑๓ มีข้อความว่า

“เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนพฤษภาคมปีนี้ พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นการไม่เคยมีตัวอย่างมาเลย พวกขุนนางผู้ใหญ่ไม่กล้าจะมาสนทนากับสังฆราชที่บ้านบาทหลวง พระเจ้ากรุงสยามเสด็จมาในครั้งนี้ได้ทอดพระเนตรเห็นว่าที่ของเราคับแคบมาก จึงมีรับสั่งให้รื้อศาลาซึ่งอยู่ในที่ของเราลงหลังหนึ่ง และรับสั่งให้ขุดคูเอาดินขึ้นถมที่ และให้ก่อผนังโบสถ์ซึ่งเปิดอยู่ทุกด้าน แล้วได้รับสั่งสรรเสริญชมเชยพวกเข้ารีตเป็นอันมาก คือรับสั่งว่าพวกเข้ารีตลักขโมยปล้นสะดมไม่เป็น และเป็นคนที่ซื่อสัตย์และกล้าหาญดี...”

แต่ต่อมาความสัมพันธ์ของพระเจ้ากรงธนบุรีกับบาทหลวงก็ลุ่มๆดอนๆ เพราะความไม่เข้าในกันในความแตกต่างของหลักศาสนา เช่นในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งเป็นพิธีสำคัญของไทย สังฆราชของศาสนาคริสต์ได้สั่งไม่ให้ข้าราชการที่เข้ารีตไปร่วมพิธี เพราะต้องไปดื่มน้ำที่พระสงฆ์และพราหมณ์ทำพิธีแช่งน้ำไว้ ทั้งยังห้ามไปร่วมพระราชพิธีต่างๆที่มีศาสนาร่วม พระเจ้าตากสินจึงทรงพิโรธมาก รับสั่งให้จับสังฆราชและบาทหลวงอีก ๒ องค์กับข้าราชการเข้ารีตไปเฆี่ยนและจำขังไว้ วันแรกสังฆราชยังไม่ถูกเฆี่ยนได้บันทึกในคุกไว้ว่า

“ข้าพเจ้าก็ร้องไห้บ่นเสียใจที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงยกเว้นไม่ลงพระราชอาญาแก่ข้าพเจ้า...”

แต่ในวันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานมาเบิกตัวสังฆราชไปมัดกับหลักคา ซึ่งท่านบันทึกตอนนี้ไว้ว่า

“พอข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่าเจ้าพนักงานเอาตัวไปเฆี่ยน ข้าพเจ้าก็หมดสติทีเดียว...”

ท่านสังฆราชถูกเฆี่ยนถึง ๑๐๐ ที หลังจากนั้นได้บันทึกไว้ว่า

“เมื่อถูกเฆี่ยนจนครบจำนวนแล้ว เนื้อหลังก็ขาด เลือดก็โทรมตัว เจ้าพนักงานได้คุมเราไปยังคุกสามัญ และได้จำเราครบ ๕ ประการ คือมีเครื่องจองจำ ๕ อย่าง หนึ่งตรวนใส่เท้า สองเท้าติดขื่อไม้ สามโซ่ล่ามคอ สี่คาไม้ใส่คอทับโซ่ ห้ามือสองมือสอดเข้าไปในคาและติดกับขื่อมือทำด้วยไม้ การที่เราถูกจองจำเช่นนี้ไม่เหมาะสำหรับรักษาแผลที่หลังและที่สีข้างให้หายเลย เพราะฉะนั้นเมื่อได้ล่วงเวลามาได้ ๒ เดือนแล้ว แผลที่หลังยังไม่หายเลย”

ท่านสังฆราชถูกจองจำอยู่กว่า ๗ เดือนก็ถูกปล่อยพ้นโทษ เพราะชราและอาพาธ ส่วนบาทหลวงคูเด้ถูกจำต่อไปอีกรวมเกือบ ๓ ปีจึงพ้นโทษ

เมื่อพ้นโทษราว ๓ สัปดาห์ พระเจ้าตากก็รับสั่งให้คณะสังฆราชไปเฝ้า แต่สังฆราชยังป่วยอยู่ บาทหลวงคูเด้กับบาทหลวงอีกองค์ไปเฝ้า และบันทึกไว้ว่า

“พระเจ้าตากได้ทรงแสดงไมตรีกับเรา และทรงแสดงว่าโปรดปรานเรามาก พระเจ้าตากได้เสด็จมาประทับในที่ต่ำกว่าเรา และโปรดให้เอาน้ำชามาพระราชทานให้เรารับประทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเลย จนที่สุดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็หาเคยพระราชทานน้ำชาให้รับประทานไม่ ในวันนั้นดูทรงมีเจตนาแสดงพระกิริยาให้เราลืมถึงเรื่องที่เราถูกทำโทษมาถึงปีหนึ่ง

ตั้งแต่วันนั้นมา เราก็ได้ไปเฝ้าพระเจ้าตากหลายคราว เมื่อไปเฝ้าคราวใดก็แสดงไมตรีต่อเราเสมอ แต่นั่นแหละศาสนาของเราไม่ตรงกับศาสนาของไทยซึ่งล้วนแล้วไปด้วยความไม่จริง เราจึงจำเป็นต้องขัดคอไทยอยู่เสมอๆ

พระเจ้าตากรับสั่งอยู่เสมอว่าทรงเหาะเหินเดินอากาศได้ เราก็ได้กราบทูลอยู่เสมอว่าเป็นการที่เป็นไปไม่ได้ เราได้ทูลบ่อยเข้าจนถึงกับทรงเบื่อไม่อยากฟังเราแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้รับสั่งให้เราไปเฝ้ามาได้ ๑ ปีแล้ว...”

จดหมายของของบาทหลวงคูเด้อีกฉบับกล่าวว่า

“พวกเราได้อยู่ในเมืองไทยโดยสุขสบาย จนถึงเดือนกรกฎาคม ๒๓๒๒ ในระหว่างนั้นช้าๆนานๆพระเจ้าตากก็กริ้วเราบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่ไม่ช้าก็หายโกรธอีก พระเจ้าตากไม่ได้รับสั่งให้เราเข้าเฝ้ากว่าปี ๑ แล้ว ในระหว่างนั้นก็ทรงสวดมนต์บ้าง อดพระกระยาหารบ้าง จำศีลภาวนาบ้าง เพื่อเตรียมพระองค์สำหรับเหาะเหินเดินอากาศต่อไป...”

ในที่สุดความสัมพันธ์ของพระเจ้าตากสินกับคณะบาทหลวงก็ถึงที่สุด มีพระราชประสงค์จะให้บาทหลวงออกไปพ้นพระราชอาณาจักรทั้งหมด ทรงถามว่ามีเรือจะไปเมืองจีนเมื่อใด เพื่อจะให้คณะบาทหลวงไปเมืองจีน โดยจะออกพระราชทรัพย์เป็นค่าเดินทางเอง แต่มีผู้กราบทูลว่าจีนไม่ยอมให้คนยุโรปเข้าประเทศ ใครพาไปก็มีโทษถึงตาย จึงไม่มีใครยอมให้ลงเรือแน่ และทูลเสนอให้เอาบาทหลวงทั้งหลายไปปล่อยไว้เกาะตามทาง แต่พระเจ้าตากสินรับสั่งว่า

“เราไม่ได้มีความประสงค์เช่นนั้น แต่จะไม่มีเรือไปเมืองปัตตาเวียบ้างทีเดียวหรือ”

คณะบาทหลวงฝรั่งเศสได้ออกเดินทางจากประเทศไทยในคืนวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๓๒๒ มุ่งไปมะละกา ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากฮอลันดาเป็นอย่างดี ไม่ได้ถูกปล่อยเกาะตามข้อเสนอของขุนนางที่เกลียดชังพวกเข้ารีต

นี่ก็แสดงว่าพระเจ้ากรุงธนก็ยังมีพระสติ และมีพระกรุณาต่อคณะบาทหลวงที่ขัดขวางพระราชพิธีมาตลอด ไม่ได้ทรงโกรธแค้นไปตามคำยุยงของขุนนางที่เกลียดชังคณะบาทหลวง

แม้ในตอนที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับมาถึงกรุงธนบุรี ได้เรียกประชุมเหล่าขุนนางและนำพระเจ้ากรุงธนที่ถูกพระยาสรรค์จับคุมขังมาไต่สวนตามข้อกล่าวหา ก็แสดงว่าพระเจ้าตากสินยังมีพระสติดีอยู่ ถ้าเสียพระจริตก็คงไม่นำมาไต่สวน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงชี้ขาดพระอาการของสมเด็จพระเจ้าตากสินในช่วงปลายรัชกาลนี้ไว้ในพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีว่า

“...อยู่ข้างพลุ่งพลั่ง แต่ไม่ใช่บ้า”


กำลังโหลดความคิดเห็น