แต่ก่อนนี้เมื่อถึงสิ้นปี สื่อมวลชนก็มักจะรวมหัวกันทั้งฉายาบุคคลใน ครม.หรือคนที่มีบทบาทเด่นในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีเป็นที่สนใจมากกว่าตำแหน่งอื่น ในอดีตที่ผ่านมา ฉายานายกรัฐมนตรีที่ถูกใจและเรียกขานกันมา ก็อย่างเช่น ตลกหลวง โหรหน้าสนามกีฬา ฤาษีเลี้ยงลิง นายกฯลิ้นทอง พระเตมีย์ใบ้ ฯลฯ เป็นต้น
ฉายา “ตลกหลวง” เป็นของ นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งมักจะใช้อารมณ์ขันแก้ไขสถานการณ์คับขันได้เสมอ อย่างถูกนักข่าวซักเรื่องที่นายควงพูดไม่ออกหรือไม่อยากพูด ก็จะเฉไฉไปเรื่องเดาการเมืองภายหน้าหรือดินฟ้าอากาศไปเรื่อยเปื่อย หนีออกไปจากเรื่องปัจจุบันซึ่งกำลังจนมุม เป็นข่าวให้นักข่าวเอาไปพาดหัวกัน เลยได้ฉายา “โหรหน้าสนามกีฬา” ด้วย เพราะบ้านอยู่หน้าสนามกีฬาศุภชลาศัย เลียนแบบ “โหรใต้ต้นมะขาม” ที่สนามหลวง ซึ่งเป็นคำฮิตในสมัยนั้น
เมื่อตอนที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หว่านล้อมสมาชิกสภา โค่น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะร่วมรบกับญี่ปุ่น ให้แพ้มติในสภา แล้วส่งนาย ควง อภัยวงค์ ขึ้นเป็นนายกฯแทนท่ามกลางความตกตะลึงของกองทัพลูกพระอาทิตย์ ในวันที่นายควงแถลงนโยบายต่อสภา ปรากฏว่ามีนายทหารญี่ปุ่นหลายคนเข้าไปนั่งฟังด้วย นายควงจึงสยบญี่ปุ่นด้วยการแถลงนโยบายว่า การร่วมรบหรือความสัมพันธ์ใดๆกับญี่ปุ่นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
แม้กระนั้น นายพลงิ แม่ทัพญี่ปุ่นก็อยากจะลองใจรัฐบาลใหม่ จึงไปพบนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ขอให้ส่งกองทัพไทยไปช่วยรบด้านพม่าและอินเดีย “ตลกหลวง” ก็ยิ้มระรื่นตอบตกลงทันที แต่ขอให้ญี่ปุ่นช่วยหาเครื่องแบบทหารและอาวุธให้ทหารไทยด้วย ว่าอาวุธทหารไทยมีแต่ล้าสมัย เจอไม้นี้นายพลงิก็อึ้งไป เพราะไม่แน่ใจว่าส่งปืนให้แล้ว ทหารไทยจะหันปากกระบอกปืนไปที่ฝ่ายไหนกันแน่
ญี่ปุ่นไม่มีความไว้วางใจรัฐบาลนายควงเหมือนรัฐบาลจอมพล ป. และกำลังสงสัยว่าหมู่นี้ฝ่ายสัมพันธมิตรรู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายญี่ปุ่น ส่งเครื่องบินมาบอมบ์เข้าเป้าอยู่เสมอ วันหนึ่งทหารญี่ปุ่นหลายนายห้อยซามูไรและมีอาวุธครบมือไปหานายควงถึงบ้านแต่เช้า คนในบ้านเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีแน่ จึงบอกว่านายกฯออกไปทำเนียบแล้ว แต่นายควงกลับยิ้มหน้าระรื่นออกมาต้อนรับ ทหารญี่ปุ่นหน้าตาถมึงทึงถามว่า
“ได้ข่าวว่าไทยจะหักหลังญี่ปุ่น ส่งทหารเข้ารบกับญี่ปุ่นจริงหรือไม่”
แทนที่จะตอบปฏิเสธ นายควงกลับย้อนถามว่า
“พอดีทีเดียว รัฐบาลไทยก็กำลังอยากถามญี่ปุ่นเหมือนกันว่า ที่มีข่าวว่าญี่ปุ่นจะเล่นงานไทยนั้น มีความจริงเพียงไร”
โดนย้อนอย่างคาดไม่ถึง ทำเอาทหารญี่ปุ่นพากันอึ้ง นายควงเลยถือโอกาสกล่อมว่า
“อย่าไปเชื่อข่าวไร้สาระพวกนี้เลย เพราะข่าวลือแบบนี้ฝ่ายสัมพันธมิตรปั้นขึ้น เพื่อให้ไทยกับญี่ปุ่นผิดใจทำลายกันเอง”
แม้นายควงจะใช้อารมณ์ขัน เอาความหน้าเป็นพาตัวรอด และพาชาติรอดมาหลายครั้ง แต่แล้วก็เจอดีเข้าจนได้ ทำเอาขำไม่ออก
ในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ จอมพล ป.ซึ่งรอดพ้นคดีอาชญากรมาได้ ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของ พลร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยให้ พลโทผิน ชุณหวัณ ออกหน้า แต่ชื่อเสียงยังไม่ดีนักในสายตาของสหประชาชาติ เพราะเป็นทั้งเผด็จการและร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงไปเข็นเอานายควงเพื่อนรักเพื่อนแค้นที่เคยทำแสบไว้ มาเป็นนายกฯขัดตาทัพ นายควงได้จัดให้มีการเลือกตั้ง และได้รับเสียงข้างมาก จึงกลับมาเป็นนายกฯอีก ครั้งนี้นายควงลำพองใจว่าเป็นนายกฯที่มาจากเสียงประชาชน จึงไม่ยอมทำตามเสียงกระซิบของคณะรัฐประการ เลยมีใบปลิวเถื่อนออกมาโจมตีรัฐบาลนายควงว่าไม่สามารถแห้ปัญหาเศรษฐกิจได้ และมีการเดินขบวนเรียกร้องให้จอมพล ป.กลับมาเป็นนายกฯอีก พร้อมกับที่ไข่เป็ดซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยในยุคที่ยังไม่มีไข่ไก่ออกมาขาย ก็หายเกลี้ยงไปจากตลาด เกิดความวุ่นวายไปทั่ว
และแล้วในวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๙๑ หลังจากที่นายควงตั้งรัฐบาลเลือกตั้งมาได้เดือนเศษ ก็มีนายทหารของคณะรัฐประหาร ๘ พฤศจิกา ระดับ พันโท พันเอก พลตรี ๔ นาย พร้อมอาวุธครบมือ นั่งรถจิ๊ปไปหานายควงถึงบ้าน นายควงกำลังนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่ พยายามจะใช้อารมณ์ขันเข้าแก้สถานการณ์ตามถนัด จึงยิ้มรับทักทายว่า
“เกิดกบฏอีกเหรอ...ผมเปล่านะ”
แต่นายทหารทั้ง ๔ ไม่ขันด้วย ยื่นคำขาดให้นายควงลาออกภายใน ๒๔ ชั่วโมง
เมื่อนายควงนำเรื่องไปปรึกษาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนให้จัดการกับผู้จี้นายกฯอย่างเด็ดขาดด้วยข้อหากบฏ แต่นายควงบอกว่าไม่มีปัญญาจะสู้กับคนถือปืนได้ จึงขอลาออกตามปรารถนาของผู้จี้
พอนายควงลาออก จอมพล ป.กลับมาเป็นนายกฯ เศรษฐกิจก็ฟื้นขึ้นทันตา ไข่เป็ดออกมาวางเต็มตลาด ทำเอานายควงหัวเราะก๊าก บอกว่า
“ถ้าผมรู้ว่าผมลาออก เป็ดมันถึงจะไข่ ผมลาออกเสียนานแล้ว”
ฉายาว่า “ฤาษีเลี้ยงลิง” เป็นของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกคน คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ้งเป็นนักกฎหมาย ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และเนติบัณฑิตเกียรตินิยมอังกฤษ ถูก ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาล พ.อ.พหล พลพยุหเสนา ขอตัวจากตำแหน่งผู้พิพากษาศาล ไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น ม.ร.ว.เสนีย์เป็นผู้นำในการตั้งกลุ่ม “เสรีไทย” ขึ้นในอเมริกา พอสงครามสงบจึงได้รับโทรเลขจากปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยข้อความสั้นๆว่า
“กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด่วน”
ม.ร.ว.เสนีย์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจ เจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรจนไทยพ้นสถานะเป็นประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว ก็จัดการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นายควง อภัยวงศ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์เข้าเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ และยุติธรรม ทั้งยังได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพระนครในนามพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
รัฐบาลนายควงถูกคณะรัฐประหารจี้ให้ลาออก ม.ร.ว.เสนีย์ก็หันไปเป็นทนายความ และได้รับความไว้วางใจจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้เป็นทนายคดีเขาพระวิหารในศาลโลก จนหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๗ มีการเลือกตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์นำทีมพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒ แต่เป็นอยู่ได้เพียง ๒๗ วันก็ต้องลาออก เพราะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภา โดย “หม่อมน้อง” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น้องชายร่วมสายโลหิต หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.อยู่เพียง ๑๘ เลียง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน แต่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ อยู่ได้เพียง ๑๐ เดือนก็ต้องประกาศยุบสภา จัดการเลือกตั้งใหม่ ครั้งนี้ ม.ร.ว.เสนีย์นำพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนสูงสุด กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๓
เหตุการณ์บ้านเมืองตอนนั้นวุ่นวาย ผู้สูญเสียอำนาจพยายามก่อกวน สร้างสถานการณ์ทวงคืนอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจรที่ไปอยู่ต่างประเทศได้ห่มผ้าเหลืองกลับเข้ามา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งไม่ใช่พรรคมีเจ้าของ แต่ละคนมีความเป็นตัวเองสูง แต่หัวหน้าพรรคเป็นสุภาพบุรุษมาจากข้าราชการประจำ จึงคุมลูกพรรคไม่ค่อยอยู่ เหมือนจับปูใส่กระด้ง บางกลุ่มได้หันมาโจมตีหัวหน้าพรรคตัวเองว่าอ่อนแอ จนทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์น้อยใจลาออก และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกเช่นกันที่เคี่ยวเข็ญให้ ม.ร.ว.เสนีย์กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งจนได้ฉายา “ฤาษีเลี้ยงลิง”
ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นนายกฯสมัยที่ ๔ ได้เพียง ๑๑ วัน ก็เกิดเหตุการณ์ ๑๑ ตุลา และถูกคณะปฏิรูป นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีกลาโหมในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์เองเข้ายึดอำนาจ เป็นการปิดฉากชีวิตทางการเมืองของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงวางมือลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หันไปใช้ชีวิตสงบด้วยการปลูกกุหลาบ วาดรูป เล่นเปียโน จนอสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ขณะมีอายุได้ ๙๒ ปี
นายกรัฐมนตรีที่มีฉายาดูโก้กว่า ๒ ท่านแรก ก็คือ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เจ้าของฉายา “นายกฯลิ้นทอง” แต่ลิ้นก็ช่วยอะไรไม่ได้เมื่อเจอกับรถถัง ต้องสลายตัวจากฟลอร์ลีลาศไปลงเรือประมง หายไปในความมืด
พล.ร.ต.ถวัลย์ เป็นหนึ่งในคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ ตอนนั้นมียศแค่ นายเรือเอก มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ และมีชื่อเดิมว่า ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์ เป็นลูกชาวบ้านที่มีอาชีพค้าขายอยู่ในตำบลหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้เป็นนักเรียนนอกเหมือนแกนนำคณะราษฎรส่วนใหญ่ และเป็นนายทหารเรือคนแรกที่เรียนจบกฎหมาย โดยเรียนควบขณะอยู่โรงเรียนนายเรือ แต่ไม่เคยไปฟังเลคเชอร์เลย ซื้อแต่คำบรรยายไปอ่าน เป็นคนที่มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม พูดจามีหลักการ โน้มน้าวผู้ฟังให้คล้อยตามได้อย่างดี จึงถูก พ.อ.พหลพลพยุหเสนา ตอนเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงตัวจากกองทัพเรือมาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ควบกับรัฐมนตรีลอยมาตลอด จนรัฐบาลพหลฯ ๔-๕ จึงเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และร่วมในคณะรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงครามด้วย
ในรัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ พล.ร.ต.ถวัลย์รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เกิดกรณีสวรรคต ร.๘ ขึ้น จนรัฐบาลปรีดีไม่สามารถฝ่ามรสุมการเมืองไปได้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้กรณีสวรรคตเป็นเครื่องมือกระหน่ำรัฐบาลทั้งในที่ลับและที่แจ้ง นายกฯปรีดีจึงลาออก แล้วให้ พล.ร.ต.ถวัลย์ หัวหน้าพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพรรคในคาถาของปรีดีขึ้นเป็นแทน ในทันทีที่ได้รับความไว้วางใจจากสภา นายกฯถวัลย์ก็สร้างประวัติศาสตร์โดยเปิดเพรสคอนเฟอเรนซ์ แถลงข่าวกับ นสพ.เป็นครั้งแรก และเปิดเป็นประจำทุกสัปดาห์จนเป็นธรรมเนียมต่อมา
แต่รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ก็ใช่จะราบรื่น เพราะฝ่ายค้านยังถือว่าเป็นกลุ่มเดียวกับรัฐบาลเก่า เพียงแต่เปลี่ยนหัวขบวนเท่านั้น จึงเอากรณีสวรรคตเป็นเครื่องมือกระหน่ำรัฐบาลต่อไป อีกทั้งยามนั้นเศรษฐกิจก็ทรุดโทรมไปทั่วโลกหลังสงคราม และไทยก็มีภาระต้องส่งข้าวสารถึง ๖๐๑,๐๐๐ ตันให้สหประชาชาติ ทำให้เกิดขาดแคลนถึงขั้นต้องแจกบัตรปันส่วนข้าวสารกัน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ข้อมูลผิดพลาด ว่าทหารที่ส่งไปรบเชียงตุงได้สลายตัวกลับบ้านหมดแล้ว จึงประกาศปลดประจำการ ไม่ได้ลำเลียงมาปลดที่กรมกอง ทำให้ทหารที่ยังเหลืออยู่แนวหน้าต้องเดินนับไม้หมอนรถไฟกลับบ้าน ขอข้าวชาวบ้านกินมาตลอดทางภายในรัฐบาลเองก็เกิดแตกแยก สมาชิบางคนลาออกตีรวนนายกฯ พล.ร.ต.ถวัลย์จึงคิดจะลาออกเพื่อให้ทางพรรคร่วมปรับปรุงรัฐบาลให้เข้มแข็ง แต่คณะพรรคไม่ยอมให้ลาออก พรรคฝ่ายค้านเห็นว่ารัฐบาลกำลังอลเวง จึงขอเปิดอภิปรายไม้ไว้วางใจหลังจากที่ตั้งรัฐบาลได้ ๙ เดือน รัฐบาลก็เปิดให้อภิปรายในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๙๐ โดยไม่จำกัดเวลา ให้พรรคฝ่ายค้านอภิปรายได้เต็มอยาก เพราะเชื่อในฝีปากนายกฯ ทั้งยังสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง สั่งให้สถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดเสียงการอภิปรายในสภาโดยตลอด จนเป็นธรรมเนียมต่อมาเช่นกัน
การถ่ายทอดการอภิปรายในสภาครั้งแรกนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอันมาก ร้านค้าทั้งหลายต่างเปิดวิทยุกันสนั่น ประชาชนมุงฟังกันแน่น ในรัฐสภาเองก็มีประชาชนเข้าฟังจนล้นออกมาถึงสนามหญ้าหน้าสโมสร
ในตอนแรกของการอภิปราย นายกฯถวัลย์ยังตีโวหารหยอดฝ่ายค้านว่า
“...ข้าพเจ้าตั้งใจจะลาออกอยู่แล้ว แต่คุณควงเองเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าซักฟอก จะให้ข้าพเจ้าทำอย่างไรได้ ยังรบประชิดติดพันกัน ยังตีกลองรบกันอยู่ อย่างนี้จะให้ข้าพเจ้าลาโรงก่อนหรือ ท่านบรรเลงเพลงโอดครวญเสียก่อน แล้วข้าพเจ้าจะกราบลาท่านไป...”
ฝ่ายค้านได้ขุดคุ้ยหาช่องโจมตีในทุกเรื่องที่รัฐบาลทำมา บางอย่างก็ได้ความลับมาจากคนที่แปรพรรคออกไป แต่รัฐบาลก็ตอบโต้อย่างไม่ลดละ ทั้งยังไม่ยอมปิดประชุมปิดปากฝ่ายค้าน จนอภิปรายมาได้ ๘ วัน ๗ คืน ทำสถิติไว้ยาวนานที่สุด ฝ่ายค้านก็ยอมจำนนเองเป็นฝ่ายขอปิดประชุมว่าหมดเรื่องแล้ว
แม้การลงคะแนนในครั้งนี้ พรรครัฐบาลจะชนะอย่างท่วมท้น และเป็นผลให้นายกรัฐมนตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ได้รับฉายาว่า “นายกฯลิ้นทอง” เมื่อนายกฯถวัลย์ลาออกตามที่พูดไว้ สภายังลงคะแนนเลือก พล.ร.ต.ถวัลย์กลับมาเป็นนายกฯอีก แบบชนะคู่แข่งอย่างขาดลอย แต่การถูกฝีปากขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ถล่มอย่างยาวนานเป็นประวัติการณ์ และกระจายเสียงไปทั่วประเทศ ก็เป็นการสร้างความบอบช้ำให้รัฐบาลอย่างหนัก คนที่จ้องจะเป็น “ตาอยู่” ก็ถือว่าสุกงอมได้ที่แล้ว
เมื่อนักข่าวไปถามนายกฯถึงข่าวรัฐประหารที่มีอยู่อย่างหนาหูในตอนนั้น “นายกฯลิ้นทอง” ก็ตอบว่า
“ผมก็นอนรอปฏิวัติอยู่นี่แหละ ก็ไม่เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้น”
แต่ในคืนวันที่ ๘ พฤศจิกายนนั้น พล.ร.ต.ถวัลย์ไปร่วมงานลีลาศของสมาคมศิษย์เก่าสายปัญญา ที่สวนอัมพร ขณะเพลิดเพลินอยู่ในงานจนเลยเวลาเที่ยงคืนไป ๑ นาที นายตำรวจติดตามก็นำกระดาษเล็กๆแผ่นหนึ่งไปยื่นให้ถึงกลางฟลอร์ ทันทีที่เห็นข้อความในกระดาษ ใบหน้าที่แดงเรื่อด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ของท่านนายกฯ ก็เปลี่ยนเป็นขาวซีดทันที ในนาทีนั้นก็มีรถถังคันหนึ่งเบรกพรืดที่หน้าฟลอร์ลีลาศ ผู้มาฟลอร์ลีลาศด้วยรถถังออกควานหาตัวนายกฯทั่วฟลอร์ แต่ไม่พบเสียแล้ว คืนนั้นท่าน “นายกฯลิ้นทอง” ก็ใช้เรือประมงหลบรถถังไปอยู่ต่างประเทศ
ขอละลาบละล้วงอีกซักท่าน ที่มีฉายา “พระเตมีย์ใบ้” ซึ่งก็คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้เป็น “เสาหลักเมือง” ของการเมืองไทยในยุคนี้
ในต้นปี ๒๕๒๓ การขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภาเกิดขึ้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศลาออกกลางสภา นายกฯคนใหม่ที่สภาเลือกขึ้นแทน ก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
หลังจากเป็นนายกฯได้ไม่กี่วัน พลเอกเปรมก็ปรารภความในใจออกมาว่า
“ผมเองรู้สึกว่าเป็นเวรเป็นกรรมของผม ที่ต้องเข้ามารับตำแหน่งอันต้องแบกภาระหนักหน่วงที่สุด ผมไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย จะมีบ้างก็แค่เวลานอนเท่านั้น แต่บางทีนอนหลับอยู่ดีๆก็ถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาทำงานอีก ทำให้ผมแปลกใจว่า ทำไมใครๆถึงอยากเป็นนายกรัฐมนตรีกันเหลือเกิน ทั้งๆที่ไม่เห็นจะสบายตรงไหนเลย”
แต่ก็บ่นไปอย่างนั้นเอง หลังจากบ่นก็เป็นถึง ๘ ปี ๔ เดือน ๑๑ วัน ติดต่อกันยาวนานกว่าทุกคน
พลเอกเปรมมีสถานะของตำแหน่งที่มั่นคง ได้รับการสนับสนุนทั้งจากกองทัพและเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา จึงทำให้คนมีความคิดเห็นต่างเกิดความอึดอัด “ป๋า” จึงถูกทำรัฐประหารและถูกลอบสังหารครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวพันกับ “ลูกป๋า” ที่ไม่ได้ดังใจทั้งนั้น พลเอกเปรมคงจะเบื่อหน่ายกับการมีฝ่ายค้านในสภาและฝ่ายแค้นนอกสภา จึงประกาศเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖ ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก แต่การเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยเกิดไม่ลงตัวกันในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีใครยอมให้ใครเป็นนายกฯ พลเอกเปรมจึงถูกขอร้องให้รับตำแหน่งต่อไปเป็น “เปรม ๔” และ “ป๋า” ก็ถูกรัฐประหารอีกครั้ง ไม่ใช่ใครอื่น “ลูกนูญ” ของป๋านั่นเอง ซึ่งกลายเป็นกบฏไปภายใน ๑๐ ชั่วโมง
รัฐบาล “เปรม ๔” มาสิ้นสุดในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เมื่อรัฐบาลเสนอพระราชบัญญัติ ๙ ฉบับเข้าสภา แต่กลับแพ้พรรคฝ่ายค้านเมื่อลงมติ เพราะสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลตีรวนไปออกเสียงให้ฝ่ายค้าน พลเอกเปรมจึงยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๙ แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับเลือกตั้งมา ๑๐๐ เสียงจากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ๓๒๗ เสียง แต่ก็เกิดไม่ลงตัวอีกเช่นกัน จึงต้องไปเชิญให้พลเอกเปรมเป็นนายกฯต่อไปอีกสมัย
เป็นนายกฯติดต่อกันมาถึง ๘ ปีเศษ อาการเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปตามประสาคนขี้เบื่อ อยากจะลองของใหม่อยู่เรื่อยๆ จึงพากันค่อนแคะกระแนะกระแหนต่างๆนานา จนพลเอกเปรมไม่อยากอ่านหนังสือพิมพ์ให้เสียอารมณ์ และไม่ให้สัมภาษณ์นักข่าว ก็เลยถูกตั้งฉายาให้ว่า “พระเตมีย์ใบ้” ส่วนในสภา ส.ส.พรรครัฐบาลก็ตีรวนกันสะบัด ขนาดไม่ยอมรับมติพรรคของตัวเอง อันเป็นการขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย พลเอกเปรมจึงต้องยุบสภาอีกครั้ง
หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ปรากฏว่าพรรคที่เคยร่วมรัฐบาล “เปรม ๕” ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นส่วนใหญ่ พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด รับหน้าที่ได้แค่เป็นตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล ไปกล่าวเชิญพลเอกเปรมเป็นนายกฯอีกครั้ง ต่อหน้าหัวหน้าพรรคทั้งหลายที่ร่วมรัฐบาลกันมา พลเอกเปรมกล่าวขอบคุณ แล้วว่า
“ผมขอพอ ไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยประคับประคองประชาธิปไตยกันต่อไปด้วย”
พลันที่วาจาสง่างามนี้ออกไปสู่ประชาชน เสียงที่เคยบ่นด้วยความเบื่อหน่ายและเอือมระอา ก็กลับเป็นเสียงชื่นชมที่ไม่ยึดติดกับอำนาจ ทั้งยังสรรเสริญความสามารถของพลเอกเปรมที่วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง แม้ในยุคของพลเอกชาติชายที่ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า ก็กล่าวกันว่า เป็นเพราะการวางรากฐานมาดีในยุคของพลเอกเปรม
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของฉายานายกรัฐมนตรีในอดีต แต่ที่เล่าความเป็นมาของฉายา ก็คงเห็นกันแล้วว่าเขา “เล่นการเมือง” กันแบบเอาแพ้เอาชนะกันเพื่ออำนาจเท่านั้น ไม่คำนึงถึงความเสียหายของประเทศชาติ และความรู้สึกของประชาชน อยากจะเป็นประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้ง แต่ใจยังไม่เป็น ไม่ยอมให้คนที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชานมากที่สุดว่าเป็นผู้ชนะ ต้องไปเชิญคนนอกมาเป็น ถ้าได้อย่าง “ป๋าเปรม” มา ก็ดีไป แต่ถ้าอย่างครั้ง “พลเอกสุจินดา” มา ก็ยุ่งอีก ส่วนคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ข้างเวที ก็คอยดูจังหวะ เพื่อจะเป็น “ตาอยู่” เข้าชิงพุงปลาไปกิน
ถ้าจะมีการปฏิรูปประเทศไทย ก็ขอให้ปฏิรูปการเมืองแบบนี้ อย่าให้กลับมาอีกเลย