xs
xsm
sm
md
lg

อันตัวพ่อชื่อว่าพระยาตาก ขอแต่เพียงกู้ชาติ ไม่สืบทอดอำนาจ! มุ่งแต่พระสัมโพธิญาณ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

พระบรมรูปวิปัสสนากรรมฐาน ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินที่วัดอินทาราม ธนบุรี
ในภารกิจกู้ชาติและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ชาตินั้น จะเห็นได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้า พระองค์ไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยที่จะนำหน้าทหารออกศึกสงครามเกือบตลอดราชการ แต่หลายครั้งพระองค์ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ทรงมุ่งในราชบัลลังก์ แต่ทรงมุ่งแสวงความสงบสุขในพระสัมโพธิญาณมากกว่า

พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงตอนที่ขับไล่อิทธิพลพม่าพ้นไปจากแผ่นดินไทย ทรงช้างออกตรวจสภาพกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า

“...ทอดพระเนตรเห็นอัฏฐิกเรวฬะคนทั้งปวงอันถึงพิบัติชีพตายด้วยทุพภิกขะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ดุจหนึ่งภูเขา และเห็นประชาชนซึ่งลำบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวชประดุจมีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติ จะเสด็จไปเมืองจันทบุรี จึงสมณพราหมณาจารย์เสนาบดี ประชาราษฎรชวนกันกราบทูลอาราธนาวิงวอน สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระบรมหน่อพุทธางกูรตรัสเห็นประโยชน์เป็นปัจจัยแก่พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณนั้นก็รับอาราธนา จึงเสด็จยับยั้งอยู่ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี”

ที่ทรงรับคำวิงวอนให้อยู่ช่วยเหลืออาณาประชาราษฎร์นั้น ก็ทรงมุ่งหวังในผลบุญที่จะเป็นปัจจัยไปสู่พระสัมโพธิญาณ

ในจดหมายเหตุรายวันทัพเมื่อครั้งไปตีเมืองพุทไธมาศ กรุงกัมพูชา ใน พ.ศ.๒๓๑๔ อาลักษณ์ได้จดในสมุดข่อย ซึ่งเก็บอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“จึงทรงพระสัตยาธิษฐาน สาบานต่อหน้าพระอาจารย์วัดเทริงหวาย พระสงฆ์หลายรูปว่า เป็นสัจแห่งข้าฯ ข้าฯทำความเพียร มิได้คิดแก่กายและชีวิต ทั้งนี้จะปรารถนาสมบัติพัสถานอันใดหามิได้ ปรารถนาแต่จะให้สมณชีพราหมณ์สัตว์โลกเป็นสุข อย่าให้เบียดเบียนกัน ให้ตั้งอยู่ในธรรมปฏิบัติ เพื่อจะเป็นปัจจัยแก่โพธิญาณสิ่งเดียว ถ้าแลผู้ใดสามารถจะอยู่ในราชสมบัติให้สมณพราหมณ์ประชาราษฎรเป็นสุขได้ จะยกสมบัติทั้งนี้ให้แก่บุคคลนั้นแล้ว ข้าฯจะไปสร้างสมณธรรมแต่ผู้เดียว ถ้ามิฉะนั้น จะปรารถนาศีรษะแลหทัยวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะให้แก่ผู้นั้น ถ้าแลมีสัจจะนี้ข้าฯมุสาวาท ขอให้ตกไปยังอบายภูมิเถิด”

พระเจ้าตากสินนั้นทรงใฝ่ในพระศาสนาอย่างมาก และไม่ทรงรังเกียจศาสนาอื่น ทรงพิจารณาแต่ความถูกต้องที่ควรปฏิบัติเท่านั้น

สังฆราชเลอบองได้รายงานไปกรุงปารีสตอนหนึ่งว่า

“เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ได้มีพระราชโองการให้เราไปเฝ้าอีก และในครั้งนี้ได้มีรับสั่งให้พระสงฆ์สำคัญๆกับพระจีนไปเฝ้าด้วย วันนั้นเป็นวันรื่นเริงทั่วพระราชอาณาจักร เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย พระเจ้าแผ่นดินกำลังสำราญพระทัย จึงได้ลงประทับเสื่อธรรมดาอย่างพวกเราเหมือนกัน ในชั้นแรกได้รับสั่งถามถึงการต่างๆหลายอย่าง แล้วจึงรับสั่งถามว่า การที่เราเป็นบาทหลวงและมีเมียไม่ได้ จะต้องเป็นอยู่อย่างนี้ชั่วชีวิตหรืออย่างไร เราจึงได้ทูลตอบว่า เมื่อเราอุทิศตัวให้แก่พระเป็นเจ้าแล้ว ก็ต้องเป็นอยู่เช่นนี้ชั่วชีวิต จะกลับกลายเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จึงรับสั่งว่า

“เราตั้งใจว่าจะให้พระสงฆ์ของเราเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต่อไปเมื่อพระสงฆ์ได้บวชแล้ว ห้ามมิให้สึกและห้ามมีเมีย”

ต่อมามีรับสั่งให้พระสงฆ์ บาทหลวงมิชชันนารี และนักบวชในศาสนาอิสลามมาโต้เถียงกันในเรื่องศาสนา พระสงฆ์ว่าการฆ่าสัตว์นั้นเป็นบาป แต่พวกเข้ารีตและศาสนาอิสลามเถียงว่าการฆ่าสัตว์ไม่เป็นบาป ขณะโต้เถียงนั้นพระเจ้าตากสินก็ประทับเป็นประธานและร่วมการโต้เถียงด้วย ครั้นทรงฟังความเห็นของพวกเข้ารีตและอิสลามว่าการฆ่าสัตว์ไม่บาป ก็ไม่พอพระทัย พอรุ่งขึ้นก็ออกประกาศพระราชโองการลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๓๑๗ ห้ามคนไทยและมอญไปเข้าพิธีของพวกมะหะมัดและพวกเข้ารีต ใครฝ่าฝืนมีโทษถึงประหารชีวิต ส่วนคนที่ชักชวนหรือไม่ห้ามปราม ก็มีโทษถึงประหารชีวิตด้วยเช่นกัน

ก่อนหน้านั้นพระเจ้าตากก็เคยถกปัญหานี้กับบาทหลวงคอร์มาแล้ว โดยรับสั่งถามว่าทำไมศาสนาคริสเตียนจึงยอมให้ฆ่าสัตว์ บาทหลวงคอร์ได้ทูลตอบว่า พระเยซูผู้เป็นนายของสิ่งทั้งปวง ได้สร้างสัตว์ไว้สำหรับเป็นประโยชน์แก่มนุษย์ ข้อนี้เป็นสิ่งที่เชื่อกันทุกประเทศ เพราะฉะนั้นจะผิดไม่ได้

เมื่อบาทหลวงคอร์สังเกตเห็นว่ามีความสนพระทัยที่จะฟัง จึงกราบทูลต่อไปอีกว่า ถ้าไม่ยอมให้ฆ่าสัตว์แล้วไม่ช้าโลกนี้ก็จะไม่มีมนุษย์อยู่ เพราะเหตุว่าสัตว์ กวาง จะมารับประทานหญ้าและพันธุ์ข้าวเสียหมด ทำให้มนุษย์อดอาหารตาย ปลาก็จะตายตามลำน้ำลำคลอง ทำให้น้ำและอากาศเหม็นโสโครก เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น

ในระหว่างที่บาทหลวงคอร์กราบทูลอยู่นั้น พระเจ้าตากสินทรงพลิกหนังสือทอดพระเนตรอยู่ แล้วรับสั่งว่า

“ศาสนาคริสเตียนจะไม่ดีอย่างไรได้ อะไรของเขาดีไปหมด จนกระทั่งกระดาษที่เขาใช้ก็ดี”

ในจดหมายของมองซิเออร์คอร์ที่รายงานไปยังฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๓๑๓ กล่าวไว้ว่า

“บรรดาคนทั้งหลายเรียกพระเจ้าตากว่าพระเจ้าแผ่นดิน แต่พระเจ้าตากเองว่าเป็นเพียงผู้รักษากรุงเท่านั้น พระเจ้าตากหาได้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆไม่ และในธรรมเนียมของเจ้าแผ่นดินฝ่ายทิศตะวันออกที่ไม่เสด็จออกให้ราษฎรเห็นพระองค์ ด้วยกลัวจะเสื่อมเสียพระเกียรติยศนั้น พระเจ้าตากไม่ทรงเห็นชอบด้วยเลย พระเจ้าตากทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่าคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงเกรงว่าถ้าเสด็จออกให้ราษฎรพลเมืองเห็นพระองค์และพระองค์มีรับสั่งด้วยแล้ว จะทำให้เสียพระราชอำนาจลงแต่อย่างใด เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรการทั้งปวงด้วยพระเนตรของพระองค์เอง และจะทรงฟังการทั้งหลายด้วยพระกรรณของพระองค์เองทั้งสิ้น พระองค์ทรงทนทานต่อความเหน็ดเหนื่อย ทั้งทรงกล้าหาญและพระปัญญาก็เฉียบแหลม มีพระนิสสัยกล้าได้กล้าเสียและพระทัยเร็ว ถ้าจะว่าก็เป็นทหารอันกล้าหาญคนหนึ่ง...”

เมื่อครั้งทำสงครามครั้งใหญ่กับพม่าที่อะแซหวุ่นกี้เป็นแม่ทัพมาตีเมืองพิษณุโลก อะแซหวุ่นกี้เดินแผนลึกขอพักรบและขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพใหญ่ของไทย แล้วกล่าวสรรเสริญว่า

“รูปก็งาม ฝีมือก็เข้มแข็ง สู้รบกับเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้”

ฟังดูก็รู้ว่าเป็นแผนที่จะตอกลิ่มให้เกิดความขัดแย้งภายใน แต่พระเจ้าตากสินกลับไม่ใส่พระทัยในเรื่องนี้ นอกจากจะไม่ทรงหวาดระแวงการชิงราชสมบัติแล้ว หลังสงครามครั้งนี้เมื่อกลับมาถึงกรุงธนบุรียังพระราชทานบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาจักรีขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พระราชทานพานทองเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม ใหญ่กว่าท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง
ชื่อบรรดาศักดิ์นี้ เป็นนัยว่าพระองค์มีพระราชประสงค์อะไรอยู่ในพระทัยแล้วในขณะนั้นก็ได้

หลังสงครามครั้งนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่พระองค์ยังทรงมีพระราชอำนาจเข้มแข็ง พระเจ้าตากสินก็ไม่ได้เสด็จไปราชการสงครามอีก ทรงมอบให้เป็นหน้าที่ของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์สองพี่น้องกรำศึกแทน ส่วนพระองค์ทรงหมกมุ่นในวิปัสนากรรมฐานตลอด ๕ ปีสุดท้ายของรัชกาล
ก่อนเกิดการจลาจลในกรุงธนบุรีเพียงเดือนเศษ มีพระราชดำรัสให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพถืออาญาสิทธิ์ เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นทัพหน้า พระเจ้าลูกยาเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์ องค์รัชทายาท เป็นกองหนุน ยกไปตีเมืองพุทไธเพชร กัมพูชา รับสั่งว่าเมื่อปราบปรามฟ้าทะละหะที่ก่อกบฏได้ราบคาบแล้ว ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกสถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอกรมขุนอินทรพิทักษ์อยู่ครองกรุงกัมพูชาสืบไป

พระองค์คงจะทรงรู้แล้วว่า พระเจ้าลูกยาเธอไม่เข้มแข็งพอที่จะดูแลประเทศชาติได้ จึงทรงเลือกผู้ที่เข้มแข็งกว่าให้ปกป้องคุ้มครองชาติ โดยไม่ยึดติดกับประเพณีสืบทอดอำนาจ

นี่ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณของมหาราชชาติไทยพระองค์หนึ่ง ทรงมุ่งที่จะกู้ชาติในยามที่เกิดวิกฤตสุดขีด ให้กลับคืนสู่ความมั่นคงร่มเย็นเป็นสุขอีกครั้ง โดยไม่ทรงลุ่มหลงในพระราชอำนาจและราชบัลลังก์ มุ่งแต่พระสัมโพธิญาณที่พระทัยใฝ่หา
ทว่าน่าเสียดาย อาจจะเป็นเพราะพระองค์ทรงกรำศึกสงครามมาอย่างหนัก และหมกมุ่นในทางอิทธิปาฏิหาริย์มากไป จึงทำให้พระสติฟุ้งซ่านฉุนเฉียว
แต่กระนั้น ความผิดพลาดในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ก็ไม่อาจหักล้างพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาติอย่างใหญ่หลวงได้ พระองค์จึงได้รับการยกย่องเทิดทูนเป็นมหาราชชาติไทยพระองค์หนึ่ง

คำจารึกในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินที่วัดอรุณราชวรารามและที่ถ้ำเขาขุนพนม นครศรีธรรมราช มีข้อความว่า

อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม
ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้เหมาะสม
เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น