xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เอาจริงสอบ ขสมก.ซื้อรถเมล์ฉาว พบพิรุธอื้อ...ทั้งคุณสมบัติและปั้นโหวต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นเรื่องจนได้ ป.ป.ช. ขานรับเรียกเอกชนสอบปากคำด่วน….ร้องเรียนผู้บริหาร ขสมก. เอื้อเอกชนขายรถเมล์ NGV. 489 คัน พร้อมยื่นเอกสารหลักฐานส่งมอบ ป.ป.ช. พบพิรุธหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องช่วยเหลือตัดตอนรับมอบเครื่องหยอดเหรียญ Cash Box 800 เครื่องจาก 2,600 เครื่อง ทั้งๆ ที่ผิดสเปกข้อ 4.5.ความเร็วนับเหรียญไม่ผ่าน….และเรื่องคุณสมบัติหลังพบปั้นเอกสารโชว์แต่ผลงานกลับไม่โชว์ใบกำกับภาษี ล่าสุด พบปั้นคะแนนโหวตช่วยเอกชนเห็นๆ ลักไก่ ซึ่งหน้า 6 ต่อ 4 เสียง หวังตัดวงจรอุปถัมป์กำราบแก๊งค์ป๋าดันให้ราบคาบ

ล่าสุด เมื่อบ่ายวานนี้ (24 ธ.ค.) นายสุรดิษฐ์ ศรีดามาส กรรมการบริษัท แม่โขงเทคโนโลยี จำกัด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าภายหลังจากได้ยื่นร้องเรียนต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เช้าวันที่ 22 ธ.ค. ป.ป.ช. ได้เรียกตนให้ปากคำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนในฐานะบริษัทฯเอกชนรายหนึ่งที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGV โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ซื้อซองประมูลทีโออาร์หวังประกวดราคาสู้กับเอกชนรายอื่นด้วยความเท่าเทียมกับ ในครั้งนั้น ขสมก. กำหนดราคากลางที่ 3,300 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า ขสมก. ได้ยกเลิกการประมูลครั้งนั้นไปโดยอ้างเหตุผลว่า ราคากลางต่ำไป และกลับมาเปิดประมูลอีกครั้งในเดือนกันยายน 2560 ขสมก. ได้ปรับราคากลางขึ้นเป็น 4,020 ล้านบาท ปรากฏว่า ไม่มีบริษัทใดเข้าร่วมประมูล รวมทั้งบริษํทฯตนเองด้วย เนื่องจากเงื่อนไขการส่งมอบรถสั้นเกินไปทีโออาร์ กำหนดไว้ให้จัดส่งรถ 20 คัน ภายใน 40 วัน โดยหลักวิศวกรรมศาสตร์ไม่มีบริษัทฯใดสามารถทำได้ โดยเฉพาะสเปกรถโดยสารของ ขสมก. เป็นรถชนิดพิเศษ พวงมาลัยขวาและชานต่ำ low floor จึงเป็นเหตุสงสัยว่า อาจมีการ lock spec ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งที่นำรถตามสเปกของ ขสมก. เข้ามาก่อนหน้านี้ตามที่เคยปรากฏเป็นข่าวซึ่งต่อมา ขสมก. ได้ยกเลิกการประมูลครั้งนั้นไป

​“กระทั่งวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ขสมก. เปิดการประมูลใหม่ โดยวิธีคัดเลือกพิเศษ แต่กลับไม่เชิญบริษัทฯแม่โขงทั้งๆ ที่ยื่นซื้อซองไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่เชิญบริษัทที่อยู่ในธุรกิจรถยนต์ที่มีศักยภาพ เช่น HINO ISUZU เชิดชัย บ้านโป่ง แต่กลับไปเชิญบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ในแวดวงธุรกิจพลังงานไม่เคยอยู่ในธุรกิจรถยนต์เลย โดยเฉพาะบริษัทแม่โขงเทคโนโลยี่ของตนซึ่งมีความพร้อม และมีความตั้งใจแต่ ขสมก กลับไม่เชิญ” นายสุรดิษฐ์ กล่าว

ผลปรากฏว่า กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานบริษัท ช ทวี กับ บริษัท สแกนอินเตอร์ ได้ยื่นเสนอราคา เพียงรายเดียว ในราคาประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคากลาง 10% และมีการต่อรองราคาสุดท้ายเป็น 4,221 ล้านบาท สูงกว่าราคากลาง 201 ล้านบาท หรือประมาณ 5% ซึ่ง ขสมก. อ้างว่า โดยระเบียบพัสดุปี 2560 เปิดช่องให้สามารถรับได้สูงกว่าราคากลางไม่เกิน 5% ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ประมาณเดือนมิถุนายน 2559 บริษัท ช ทวี ได้เข้าประมูลโครงการดังกล่าว และเสนอราคา 3,800 ล้านบาท โดยที่อัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลานั้นอยู่ที่ 35 บาท/USD ณ ปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32 บาท/USD ถูกลงกว่าประมาณ 10% และยังทำให้ภาษีนำเข้าถูกลงอีกด้วย และเงื่อนไขการส่งมอบผ่อนคลายมากขึ้น และสามารถส่งเป็นล็อตได้โดยจ่ายเงินเป็นล็อต ทำให้สามารถหมุนเงินได้ทันเวลาอีกด้วย

กรรมการบริษัทแม่โขงกล่าวต่อไปว่า ตนยังขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีที่บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถส่งมอบงานเครื่องหยอดเหรีญญ Cash Box ได้ตามสัญญาและมีทีท่าว่าจะไม่สามารถส่งงานให้ ขสมก. มูลค่า 1.6 พันล้านบาทได้ แต่ก็แปลกใจที่ ขสมก. ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่มีการตรวจสอบทั้งๆ ที่เอกชนรายนี้ติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญไม่ตรงสเปก ที่ตามกำหนดไว้ในทีโออาร์ ข้อ 4.5.ความเร็วในการตรวจรับเหรียญไทยเครื่องต้องนับได้ 5 เหรียญภายใน 1 วินาที ซึ่งปรากฏเป็นข่าวครึกโครมตามสื่อต่างๆ กล่าวกันว่า ขสมก. พยายามบ่ายเบี่ยงคุณสมบัติเครื่องหยอดเหรียญข้อดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายนี้ไม่ต้องตกเป็นผู้ทิ้งงานและอาจหมดสิทธิ์เข้าประมูลจัดซื้อรถโดยสาร NGV เนื่องจากเป็นความต้องการของ ขสมก. เองที่จะแก้ไขสัญญา ทั้งที่เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างภาครัฐกับเอกชนไม่ใช่เด็กเล่นขายของที่คิดจะทำอะไร จะแก้ไขอะไรก็ทำกันได้ตามใจชอบอย่างนั้นหรือ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญเรื่องคุณสมบัติของ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งตนได้มอบหลักฐานที่เกี่ยวข้องโยงใยร่วมกันเป็นขบวนการไว้กับ ปปช.แล้ว กรณีนี้เชื่อว่า มีขบวนการป๋าดันรู้เห็นเป็นใจในการตรวจสอบช่วยเหลือให้เอกชนรายนี้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามกำหนดในทีโออาร์.โดยเฉพาะข้อ 5.7 “ต้องมีผลงานการจำหน่ายรถโดยสาร ให้กับหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนภายในประเทศ หรือต่างประเทศ ต้องมีผลงานการให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่สามารถใช้งานกับก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) กับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชนภายในประเทศหรือต่างประเทศ

ปรากฏว่า บริษัท ช ทวี ได้แสดงผลงานการจำหน่ายโดยมีสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำหน่ายให้กับ บริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด และแต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ขสมก. รายหนึ่งร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกที่มีใจเป็นธรรม พบว่า บริษัท มารัตน์ฯ ไม่มีใบอนุญาติประกอบการขนส่งรถโดยสาร และจนถึงปัจจุบันบริษัท มารัตน์ฯ ไม่เคยมีการครอบครอง หรือถือครองกรรมสิทธิ์รถโดยสารเลยแม้แต่คันเดียวส่วนผลงานการซ่อมบำรุงทางกลุ่มนิติบุคคลได้แสดงผลงานของ บจก.ช ทวี ดอลลาเชียน จำกัด ที่มีผลงานจาก บริษัท บริการเดินรถสยาม จำกัด ซึ่ง บริษัท บริการเดินรถสยาม จำกัด เป็นบริษัทที่ให้บริการรถร่วม ในเขตกรุงเทพฯ มีอู่และช่างซ่อมเป็นของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น เพราะเหตุใดจำเป็นต้องจ้าง บจก.ช.ทวี ดอลลาเชียน จำกัดเป็นผู้ซ่อมบำรุง จึงสมควรที่จะพิสูจน์ด้วยการให้ บริษัท ช ทวี แสดงใบกำกับภาษีระหว่างกันเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการซื้อขายรถโดยสารกันจริง และมีผลงานด้านการซ่อมบำรุงจริง มิฉะนั้นจะเข้าข่ายแสดงผลงานอันเป็นเท็จต่อหน่วยงานราชการ กรณีนี้อาจมีการสร้างเอกสารอันเป็นเท็จโยงใยเป็นขบวนการจึงต้องมีการตรวจสอบว่า ก่อนวันประมูลตามผลงานที่อ้างถึงนั้นมีการทำธุรกรรมตามอ้างนั้นจริงหรือไม่? มีการออกใบกำกับภาษีตามสัญญาซื้อขายหรือไม่? หรือมีการแอบอ้างผลงานอันเป็นเท็จแสดงต่อหน่วยงานราชการหรือไม่? และเจ้าหน้าที่ที่ที่ตรวจสอบคุณสมบัติปล่อยผ่านมาได้อย่างไร? หากละเลยหน้าที่ก็อาจเข้าข่ายรับรองผลงานอันเป็นเท็จ

นายสุรดิษฐ์ กล่าวต่อไปอีกว่า อีกประเด็นคงหนีไม่พ้นเรื่องลักไก่รับรองมติที่ประชุมบอร์ด ขสมก.ซึ่งมีการตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะมีการปั้นเรื่องคะแนนโหวตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนตามที่เป็นข่าวไปแล้วนั้น เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายณัฐชาติ ประธานบอร์ด ได้แถลงข่าวว่า บอร์ด ขสมก. มีมติอนุมัติผลประกววดราคาที่ 6 ต่อ 4 เสียงเห็นชอบให้เอกชนรายนี้เป็นผู้ผ่านการพิจารณาจัดซื้อรถ NGV.ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเชิญเอกชนมาลงนามสัญญากับ ขสมก. ในวันที่ 28 ธันวาคมนี้ นายสุรดิษฐ์ กล่าวเปิดเผยต่อไปว่า “ไม่เข้าใจว่าบอร์ดแถลงข่าวไปได้ยังไงว่า บอร์ดมีมติอนุมัติเห็นชอบ 6 เสียงไม่เห็นชอบ 4 เสียง เพราะจริงๆ แล้วเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. มีบอร์ดเข้าร่วมประชุมเพียง 7 ท่าน ขาดประชุม 3 ท่าน คือ 1. นายธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยเที่ยวบิน PG709 ไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2560 ซึ่งในวันที่ 20 ธันวาคม ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแน่นอน 2. พลโท วราห์ บุญญะสิทธิ์ เพิ่งเดินทางกลับมาจาก ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยเที่ยวบิน BR0068 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2560 ด้วยความเหนื่อยล้าจึงไม่ได้เข้าประชุมทั้งวันที่ 18 ธ.ค และวันที่ 20 ธ.ค. ด้วยทั้ง 2 นัด และ 3. นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ไม่ได้เข้าร่วม จึงขอให้ ป.ป.ช. การตรวจสอบบันทึกการประชุมเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้โดยเร็ว”

“ไม่ทราบว่าบอร์ดเอาวิธีการนับโหวตมาจากโลกไหน เพราะตามหลักทั้งในและต่างประเทศวิธีการนับผลโหวตต้องนับจากผู้เข้าร่วมประชุมและถือเอาเสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายชนะ ผู้ไม่เข้าร่วมจะเอามานับเป็นผลโหวตไม่ได้ต้องถือว่าสละสิทธิ์ไม่ออกเสียงหรือไม่ขอมีส่วนร่วมโหวต จึงขอเรียกร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รีบดำเนินการสอบสวนอย่างเร่งด่วนอย่าปล่อยให้แก๊งป๋าดันลอยนวลต่อไปเด็ดขาด” นายสุรดิษฐ์ กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น