นิตยสาร คู่สร้างคู่สม ขึ้นชื่อว่าเป็นนิตยสารคู่บ้านคู่เรือนอีกเล่มหนึ่งของเมืองไทย ที่ผ่านการรับใช้นักอ่านหนังสือ ทุกเพศทุกวัยมากว่า 37 ปี ซึ่งแน่นอนว่า การจากไปของหนังสือหัวนี้ ก็ย่อมสร้างความเสียดายให้กับผู้อ่านที่เป็นทั้งแฟนขาจรหรือขาประจำอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะนิตยสารเล่มนี้ มอบทั้งสาระ ความรู้ ความบันเทิง หรือแม้กระทั่งความทะเล้น ก็มีมาให้อ่านนานนับสิบปี จนเป็นที่ยอมรับมาทุกรุ่นทุกสมัย

ซึ่งคอลัมน์หลักของนิตยสารเล่มดังกล่าว นั่นคือ ดูดวงพยากรณ์ราศีต่างๆ ที่ถือได้ว่าเป็นตัวชูโรงและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กับนิตยสารเล่มนี้ ผู้อยู่เบื้องหลังของคอลัมน์นี้ นั่นคือ รองศาสตราจารย์ ดร.อัมพร สุขเกษม อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ซึ่งทุ่มเทในการทำคอลัมน์ดังกล่าว ผ่านการค้นคว้าทางด้านโหราศาสตร์ไทย ผสมกับการเขียนในเชิงภาษาไทยให้เข้าใจโดยง่าย จนทำให้เป็นที่ยอมรับในการทำนายพยากรณ์อยู่หลายครั้ง จนกลายเป็นอีกหนี่งคอลัมน์ในความทรงจำของนักอ่านนิตยสารชาวไทยไปอีกหนึ่งหน้าก็ตามที

ฝันเป็นครู
เพื่ออยากให้ความรู้
ณ จังหวัดราชบุรี อัมพรในวัยเด็ก เติบโตขึ้นมาในครอบครัวชาวสวนชาวไร่ ก็ได้ใช้ชีวิตตามแบบฉบับเด็กบ้านนอกทั่วไปแบบปกติ จนกระทั่งได้รับการศึกษาในช่วงเวลานั้น ความคิดและความใฝ่ฝันที่ว่า อยากจะเป็นครูประชาบาล จึงเริ่มก่อตัวขึ้น เพื่อที่จะให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งจุดเริ่มต้นตรงนั้น ก็เริ่มขึ้น...
“เราเป็นเด็กบ้านนอก เราก็โตมาใช้ชีวิตปกติ แต่ก็มีความคิดที่จะเป็นครูนะ เพราะความใฝ่ฝันก็คือการได้เป็นครูประชาบาล ส่วนที่อยากจะเป็นครู เพราะว่า บ้านผม โต๊ะตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับโรงเรียน ก็เห็นครูบาอาจารย์ที่ไปสอนเด็ก ซึ่งเราก็คิดว่าน่าจะดีกว่าไปทำสวนทำนา เหมือนกับชาวบ้านเขาเป็นกัน เราเลยสนใจที่จะมาเป็นครู แล้วอีกอย่างหนึ่ง พอได้มามีอาชีพครู เรารู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ให้อย่างเดียว ลูกศิษย์ลูกหา เราก็สั่งสอนอบรมไป ส่วนเบี้ยบ้ายรายทาง เราก็ไม่มีเบียดเบียนลูกศิษย์ มีแต่จะให้ แล้วก็เป็นอาชีพที่มันไม่บาป ก็เลยอยากจะเป็นครู เลยเรียนเป็นครู ทีนี้ เราเรียนจบแค่วุฒิ ปกศ.ต้น มันก็ยังไม่พอ ก็ไปเรียนเอาวุฒิ ปกศ.สูง ซึ่งเราก็เป็นนักเรียนทุนจากเพชรบุรี ให้มาเรียนต่อที่กรุงเทพ ฯ

“พอเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ แน่นอนว่า ด้วยความที่เป็นเด็กบ้านนอก แล้วก็เป็นนักเรียนทุน ก็ถือว่ามีความคาดหวังสูงด้วยเช่นกัน ก็บังคับจิตใจตัวเองด้วย เพราะว่าเราก็เป็นเด็กหอมาตั้งแต่เรียนที่เพชรบุรี ไม่มีใครปกครอง คือตอนที่อยู่บ้าน ก็ยังมีอาจารย์และผู้ปกครองคอยดูอยู่ คอยบังคับ แต่พอมาเรียนกรุงเทพฯ ก็เช่าบ้านอยู่ตรงตรอกบางไส้ไก่ ก็ดูแลควบคุมตัวเองมาตลอด ซึ่งเราก็เป็นเด็กที่ไม่เกเร ตั้งอกตั้งใจเรียน เพราะว่าพ่อแม่ก็ไม่มีเงินที่จะส่งมาให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือยนัก
“ตอนช่วงที่เรียนต่อเอา ปกศ.สูง ที่ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในปัจจุบัน) ซึ่งที่นี่ผมโชคดีที่ได้เพื่อนคือ คุณดำรง พุฒตาล เราก็คบกันมาตั้งแต่ครั้งนั้น คุณดำรงเขาเก่งภาษาอังกฤษ ส่วนผมก็ถนัดภาษาไทย ก็ผลัดกันลอกซึ่งกันและกัน (หัวเราะ) พอหลังเรียนจบจากที่นั่น ผมก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน) แล้วคุณดำรงก็ออกไปประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรืองในทางการทำงานสนามบิน และทำงานร่วมกับ พ.อ. การุณ เก่งระดมยิง ส่วนผมก็ไปเรียนเป็นครู ที่ประสานมิตร หลังจากเรียนจบ ก็ไปทำงานเป็นครูที่วิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี อยู่ที่สัตหีบ ทำงานอยู่ที่นั่น 1 ปี ก็กลับมาเรียนต่อปริญญาโทที่ ประสานมิตรเหมือนเดิม เราก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เป็นครูสอนภาษาไทยปกติ จนกระทั่งเรียนจบในระดับปริญญาโท

เรียนรู้ศาสตร์พยากรณ์
เพื่อต่อยอดศัพท์ทางวรรณคดี
หลังจบการศึกษาในระดับปริญญาโท อัมพรก็ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำวิชาภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปัจจุบัน) ซึ่งในช่วงเวลาที่เข้ารับราชการที่นี่เอง เขาก็พบว่าคำศัพท์ในวรรณคดีนั้น มีความหมายที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เขาจะเข้าใจได้ นั่นจึงทำให้ อัมพรได้พบกับพระสงฆ์รูปหนึ่ง และจากจุดนี้ที่ทำให้เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมในวิชาโหราศาสตร์ของไทย ณ ที่แห่งนั้น...
“ผมเป็นครูสอนวรรณคดีไทย แล้วในแต่ละเรื่อง ก็มีศัพท์เฉพาะตัวในวรรณกรรมเรื่องต่างๆ ซึ่งในตำราวรรณคดีไทย ก็อธิบายแบบตำราโหร หมายถึงอย่างงั้นอย่างงี้ แล้วโดยส่วนตัวรู้สึกว่า ยังไม่มีความรู้ในคำศัพท์พวกนี้มากพอ ผมก็ไปพบกับพระเดชพระคุณ พระอาริยานุวัฒน์ ซึ่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด ณ ขณะนั้น ผมเลยไปขอฝากเป็นลูกศิษย์ของท่าน แล้วท่านก็เมตตาผม และเมื่อมีโอกาสที่ผมเอาปิ่นโตไปถวายท่านครั้งใด ท่านก็กรุณาบอกศัพท์ให้กับผมว่า มันเป็นอย่างงี้ๆ นะ ผมได้ความรู้ และก็จำๆ ไว้ แล้วพอได้ไปสนทนาธรรมกับท่านบ่อยๆ ผมก็สนใจ เราก็หาตำราที่นักโหราศาสตร์ได้เขียนเป็นหนังสือขายตามตลาด ก็มาศึกษาเพิ่มเติมเองว่า คำในหนังสือโหราศาสตร์ กับ คำที่พระคุณเจ้าอธิบายมา มันเป็นยังไง
“จริงๆ ผมก็ไม่ได้จะตั้งใจศึกษาแบบลึกซึ้งหรอกครับ แต่ในเมื่อถ้าเป็นคำศัพท์ทางโหราศาสตร์ที่ยากแล้ว ผมจะสอนลูกศิษย์ยังไง จะบอกแค่ว่าแค่วันหนึ่งในวันโหราศาสตร์ เด็กก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมเลยรบกวนท่านเจ้าคุณ แล้วท่านก็เมตตาเรา ท่านก็สอนเรามาตลอด ว่าวันห้ามเป็นอย่างงี้นะ มีศัพท์เฉพาะตัวอย่างงี้นะ ซึ่งถ้าเราเรียนรู้แล้ว เราจะถ่ายทอดต่อยังไง ถ้าไม่ได้ไปเรียนมาก่อน ผมเป็นครูภาษาไทย คำเหล่านี้ก็ต้องรู้ ผมก็ไปถามพระคุณเจ้า ท่านก็เมตตาเรา
“ผมอยู่มหาสารคาม 10 กว่าปี ก็ไม่ได้ไปถามท่านทุกวันนะครับ แต่จะเป็นแบบว่า เวลาที่มีปัญหาเราก็ไปปรึกษาในแต่ละครั้งว่า หลวงพ่อครับ คำนี้เป็นยังไง คือค่อยๆ ศึกษาไป ก็เหมือนต่อยอดทางด้านวิชาการให้เราไป

ศึกษาแห่งศาสตร์
จนชำนาญเรื่องโหรไทย
“ถ้าตัดเรื่องวิชาการออกไป ผมว่าผมได้ความรู้เพิ่มเติม แล้วก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนฝูง อย่างเวลาที่พวกเขามาปรึกษาในเรื่องนี้ ผมก็ตั้งท่าเป็นอาจารย์เลย (หัวเราะเบาๆ) อธิบายให้ฟังไปตามลักษณะต่างๆ ซึ่งก็ตรงกับที่ ท่านเจ้าคุณสอน ผมก็เลยยึดเป็นหลักวิชาเลย หลังจากนั้น เราก็ไปหาตำราจากที่อาจารย์ด้านโหราศาสตร์ที่เขาเขียน ผมก็เอามาอ่านประกอบ ว่าเจ้าคุณอธิบายอย่างงี้ เหมือนกับได้ศึกษาเพิ่มเติมในคำบางคำในวรรณคดี แล้วพอลงลึกแล้ว ก็ได้ความรู้ทางด้านพยากรณ์ หมายความว่า จากที่เป็นครูสอนวิชาภาษาไทยปกติ เราก็สามารถอธิบายทำนายเหตุการณ์ได้ แล้วสิ่งที่เป็นความถนัดคือ การตั้งชื่อเด็ก เพราะว่าเราใช้ในเชิงภาษา ใช้ถ้อยคำ บวกกับหลักของเด็กที่เกิดในวันนั้น ห้ามอักษรต่างๆ ผมก็ได้ความรู้ในการตั้งชื่อเด็ก ซึ่งเราก็ศึกษาเฉพาะด้านโหราศาสตร์ไทยอย่างเดียว คือถ้าใครมาถามในศาสตร์อื่นๆ ขอบอกเลยว่า ไม่รู้จริงๆ จะรู้แค่ส่วนของไทยอย่างเดียว
“ผมว่ามันเป็นศาสตร์ที่เราสามารถศึกษาเองได้ แต่ถ้าจะให้แบบในเชิงลึกซึ้ง ก็ต้องมีครูโหรไว้สอน เพราะบางทีเราอาจจะเข้าใจคำผิด และทำให้เฉไฉไปได้ ก็มีการตักเตือนไปว่า คำนี้ไม่ใช่อย่างงี้ มันต้องหมายถึงอย่างงี้ คือในทางภาษาก็คือต้องตีความให้แตกฉานไปด้วย แล้วในทางวิชาการก็ต้องศึกษาให้ตรงกับหลักคำทำนายนั้น

ถูกชวนเป็นคอลัมนิสต์
จุดเริ่มของการทำนาย
เมื่อนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ โดยการบริหารงานโดย ดำรง พุฒตาล เริ่มทักทายผู้อ่านในช่วงต้นปี พ.ศ. 2523 ซึ่งผลตอบรับจากนักอ่านหนังสืออยู่ในขั้นที่ใช้ได้ จนเมื่ออัมพรถูกชักชวนให้มาร่วมเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือหัวดังกล่าว โดยเพื่อนสมัยเรียนอย่างดำรง ซึ่งจุดเริ่มของคอลัมน์สร้างชื่อ ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น
“ผมเห็นนิตยสารออกวางแผงมาได้สักพัก เขา (ดำรง) ก็ชวนผม ผมก็ถามเขาว่า “เฮ้ย รงค์ เราพอจะดูหมอเป็นนะ เราเขียนให้ได้” คือเราก็พอมีทักษะจากการเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยอยู่บ้าง แล้วก็มีวิชาโหราศาสตร์ คือเราพูดได้เลยว่าเราสนิทกับดำรงมาก ขนาดที่สอนอยู่ที่ประสานมิตร ผมไปเช่าหอพักแถวมหา’ลัย ดำรงก็ชวนไปอยู่บ้านเขาที่ซอยวัฒนา แต่ไม่ได้ไปอยู่ด้วยกันครับ แต่คือก็ไปคลุกคลีในการทำนิตยสาร ซึ่งก็ตัดสินใจไม่นาน ก็ได้เขียนคอลัมน์ในคู่สร้างคู่สม น่าจะประมาณ 2525-2526 เลยได้เขียนที่นี่ ส่วนนามปากกา อุตตราศาฒ ก็แปลว่า เดือนแปดหลัง คือในแต่ละปีของปฏิทินไทย มันจะมีเดือนแปด 2 ครั้ง แล้วผมเกิดในเดือนแปดหลัง เลยเอาคำนี้มาเป็นนามปากกา แล้วบังเอิญปีที่ผมเกิด มันมีเดือนแปด 2 ครั้ง ซึ่งเขาเรียกว่าปีอธิกมาศที่บอกไปเมื่อกี้ ซึ่งนามปากกานี้เราสัญญากับคุณดำรงว่า จะไม่ไปเขียนให้ที่ไหน นอกจากนิตยสารเล่มนี้

“เรื่องการเขียนก็คือดูตามแนวนิตยสารที่เขามี อย่างคอลัมน์พยากรณ์เขาเขียนยังไง เขียนเป็นราศี เป็นเดือน เราก็ไปทำนายตามนั้นว่าเป็นอย่างงี้ แล้วก็เขียนส่งให้ดำรง ราศีละ 1 หน้ากระดาษเอ 4 รวม 12 ราศี ก็เป็น 12 แผ่น ผมก็ทายหมด ทั้งความรัก การงาน การเงิน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น แล้วโชคเคราะห์ใน 1 เดือน คือก็ไม่ได้เป็นภาระมากนักนะ เขียนแค่ 12 หน้า ใน 1 เดือน มันก็พอรับได้ แล้วเวลาการเขียน เราก็ดูคนที่เกิดราศีในแต่ละเดือนว่า จะเกิดอะไรขึ้น ผมก็เขียนบอกในนั้น
“ในการแบ่งการทำงานก็ไม่ยากหรอกครับ คือการแบ่งเวลา ในส่วนงานวิชาการ เราก็ต้องทำให้เสร็จเสียก่อน จะได้ไปสอนเด็กได้ แบบเฉพาะหน้า แต่พอถึงช่วงกลางคืน เวลาที่เพื่อนเขาไปเล่นกีฬากัน เราก็เอาเวลาเหล่านั้นไปนั่งเขียน อารมณ์ประมาณว่าแบกตำราพยากรณ์มาประกอบการนั่งเขียนด้วย แต่ผมไม่ได้เอางานไปเขียนในที่ทำงานนะครับ แต่มันก็มีบางทีนะครับที่ส่งต้นฉบับไม่ทัน ตอนนั้น คุณขนิษฐา (พุฒตาล - น้องสาว คุณดำรง) เป็นคนทวงต้นฉบับ ประมาณว่า “อาจารย์ ต้นฉบับ” ผมก็เร่งมือหน่อย หรืออย่างเวลาที่เขียน บางทีก็มีเมสเซนเจอร์มารอเราในการเขียนต้นฉบับเลย บางทีเขาก็มาครึ่งวันก็มี ซึ่งเวลาเขียนเสร็จก็ลงไปตามนั้นเลย เพราะว่าเราใช้ภาษาไทยที่เรียนมาเรียบเรียงในแต่ละราศี

ผลงานถูกเผยแพร่
ผลตอบรับก็ตามมา
แม้ว่าการทำงานที่ มศว ประสานมิตร ซึ่งเป็นที่ทำงานประจำในเวลาต่อมาของอัมพร จะเป็นไปตามปกติ แต่ในภาคส่วนของคอลัมน์พยากรณ์ในนิตยสาร ก็ดูเหมือนว่าจะเริ่มเป็นที่พูดถึง (อย่างเงียบๆ) ถึงขนาดที่ว่า มีจดหมายจากนักอ่านมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเขียนถึงผลตอบรับหลังจากเผชิญโชคตามคำทำนายแตกต่างกันไป จนเรียกได้ว่าขึ้นแท่นเป็นคอลัมน์ยอดฮิตไปในที่สุด...
“ในระยะแรกนี่คือพอไปได้ คนก็เริ่มอ่านสนใจคอลัมน์นี้ คือก็มีถึงขนาดที่มีจดหมายจากผู้อ่านมาถึงเรา แต่ส่วนใหญ่จะผ่านจากคุณดำรงมากกว่า ว่าทายถูก ทายแม่น แต่จดหมายก็มาถึงผมก็มี แต่โดยส่วนตัว ผมไม่รับดูดวงแบบส่วนตัวเลย เคยมีจดหมายมาถึงผม เขาส่งวันเดือนปีเกิดทั้งของเขาและแฟนเขามาให้ แล้วทั้งสองคนก็มีอาชีพเป็นนายแพทย์และนางพยาบาลนะ เขาส่งมาถามผมว่า เขาจะเป็นเนื้อคู่กันมั้ย แต่ผมไม่ตอบจากที่เขาถามมา แต่ตอบกลับไปว่า คุณรักกันชอบกันมาเป็น 10 ปีแล้ว น่าจะรู้ใจกันมาบ้างแล้ว ดีกว่าให้มาดูวันเกิดแค่ 2-3 วัน แล้วมาตัดสินชีวิตคุณ ผมเลยไม่ตอบเขา ก็เข้าใจว่าเขาน่าจะโกรธนะ (หัวเราะเบาๆ)
“อย่างเวลาที่มีผู้อ่านส่งจดหมายมา ก็มีผลตอบรับอยู่บ้าง เช่น ผมทายว่าจะมีอุบัติเหตุ แต่เขาประมาท ก็ไม่เชื่อ จนเขาไปขี่มอเตอร์ไซค์แล้วก็ล้ม แล้วก็มีอยู่รายหนึ่ง เป็นลูกศิษย์แท้ๆ เลย เขาก็มาถามผมว่า ทำไมอาจารย์ไม่เขียนล่วงหน้า หนูกระเป๋าสตางค์หาย น่าจะทายเร็วกว่านี้ หรือว่ามีเหตุการณ์ที่คนอ่านเขาส่งการ์ดเชิญงานแต่งงานมาให้ เพราะว่าอ่านจากคอลัมน์แล้วมาเจอเนื้อคู่ แต่ถ้ามีถึงขั้นแรงๆ นี่คือไม่มี ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางบวกมากกว่า ประมาณว่าแม่น ซึ่งการที่เขาเขียนตอบกลับมาแบบนั้น มันก็เป็นต้นเหตุให้คุณดำรงขึ้นค่าตัวให้ผม (หัวเราะเบาๆ)

เขียนเรื่องพยากรณ์
แต่จุดหมายคือการเตือนสติ
“ผมก็เขียนมาอย่างนี้ โดยที่ไม่อยากเปิดเผย แล้วนักศึกษาก็ไม่รู้ด้วย เพราะว่าผมเป็นหมอดูก็จริง แต่ผมเชื่อว่า ความเป็นไปในชีวิต เป็นเพราะว่าเขาทำเอง ไม่ใช่มาจากดวง ในทางพระพุทธศาสนา เขาบอกว่า อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ กึ กริสฺสนฺติ ตารกา. ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจักทำอะไรได้ นี่คือคำกล่าวในพระพุทธศาสนาเลย แต่จริงๆ แล้ว คำพยากรณ์ทั้งหลาย มันก็เหมือนคำพยากรณ์อากาศน่ะครับ รู้ก่อน เพื่อป้องกัน และระมัดระวังไว้ คือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าไม่ให้ไปพลาดพลั้ง อย่างที่ผมเขียนว่า ระวังการตกบันได คุณก็เกาะราวบันไดอย่างแน่น ซึ่งก็เท่ากับว่าผมทายผิด เพราะว่าเขาระมัดระวังตัว
“คือก็อย่าไปเชื่อแบบหัวทิ่มหัวตำนะ อย่างบางคนก็เชื่อว่า ต้นไม้ต้นนี้ไม่เป็นสิริมงคลให้ตัดออกไป คือผมรู้สึกว่ามันเป็นการเชื่อที่ไม่มีเหตุผล ต้องเป็นการดูว่า ที่ต้องตัดออกไป เพราะว่ามันบังอะไรหรือเปล่า ถ้ามีเหตุผลก็ตัดออกไป ส่วนความรู้สึกต่อคอลัมน์ ก็ภูมิใจที่สามารถทำให้ย่อยศาสตร์ดังกล่าวให้คนอ่านได้เข้าใจง่าย และทำให้คนได้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น
“เคยมีคนทำการวิจัยในเรื่องนิตยสารที่วางแผงของบ้านเรานะ ว่าคอลัมน์ต่างๆ ที่คนนิยมอ่านที่สุด คือ คอลัมน์พยากรณ์ คือไม่ใช่แค่หนังสือคู่สร้างคู่สมนะ หนังสือประเภทอื่นก็มีคอลัมน์นี้ แล้วคนจะอ่านคอลัมน์นี้ก่อน แสดงว่าคนไทยเชื่อเรื่องนี้ เหมือนสะท้อนว่า คนไทยก็ยังมีความผูกพันเรื่องศาสตร์พยากรณ์นี้ แล้วมันสะท้อนว่า ถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจในการกระทำและผลที่ตัวเองทำ เพราะคอลัมน์ในนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์ของใคร ในนิตยสารอะไร ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสารผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีความเชื่อเรื่องนี้มากกว่าผู้ชาย ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

อำลาผู้อ่านทางหน้ากระดาษ
กับผลสะท้อนต่อสื่อสิ่งพิมพ์กับภาษาไทย
จวบจนกระทั่งมาในยุคปัจจุบัน ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งส่งผลมาถึงคอลัมน์ของเขาก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งการถูกลอกผลงานมาสู่โลกออนไลน์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นิตยสารหัวนี้ต้องอำลาผู้อ่านไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งอัมพรก็เปรียบเปรยถึงการอำลานี้ประหนึ่งเสียเพื่อนที่เขาคบหากันมานานกว่า 40 ปีไปด้วย ซึ่งนั่น อัมพรก็ได้สะท้อนทรรศนะถึงสื่อสิ่งพิมพ์และการอ่านในปัจจุบันของคนไทยด้วยเช่นกัน
“ผมรู้สึกว่าเหมือนเสียเพื่อนไป เพราะว่าผมได้รับใช้ผู้อ่านในการพยากรณ์ต่างๆ ทำให้เรามีเพื่อนหลายคน หลายประเภท แต่ว่า พอคู่สร้างคู่สมปิดตัวไป ผมก็เสียดายโอกาสที่จะรับใช้ประชาชนผ่านทางสื่อนี้ อีกอย่าง ก็รู้สึกใจหาย เสียดาย และต่อไปนี้ก็อาจจะไม่มีงานเขียนลักษณะอย่างนี้แล้ว แถมยุคนี้ก็เป็นยุคโซเชียล คนอ่านได้เร็วแล้ว ผมว่าการเขียนมันเป็นแก่นสารมากกว่า ถ้าคนไม่รักการอ่าน คือถ้าไม่มีการฝึกรุ่นต่อไปให้รักการอ่านจากหนังสือเป็นเล่ม เพราะหนังสือมันเป็นสื่อกลางระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน แต่เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ผู้อ่านก็ถอยลง ผู้เขียนก็หมดกำลังใจที่จะเขียน แล้วมันก็จะทำให้แคบลง เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือ ต้องสร้างคนอ่านที่กระหายที่จะอ่านหนังสือ แล้วก็ต้องสร้างคนเขียนที่จะกระหายในการเขียน และมีฝีมือดีจริงๆ เป็นปัญหาของสังคม

ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับภาษาไทยมาอย่างช้านาน อัมพรก็ได้ให้ทรรศนะถึงเรื่องของภาษา และการนำเสนอภาษาไทยของสื่อมวลชน ในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ ด้วยคำกล่าวที่ว่า...
“ผมว่าภาษามันเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนตามสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น เรื่องที่เกิดคำใหม่ๆ มันจึงไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่ว่าการเกิดคำใหม่ๆ เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจกับคนที่เขาพูดให้ได้ อย่างคำว่า จุงเบย คนฟังก็ต้องเข้าใจความหมายด้วย คือทั้งของใหม่ก็รับไว้ แต่ของเขาก็เก็บไว้ ส่วนการรณรงค์ก็คือ พยายามใช้ภาษาให้ถูกต้องออกทางสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างมีเหตุการณ์อยู่เหตุการณ์หนึ่ง เขานำเสนอข่าวแบบไม่ระมัดระวัง อย่างคำว่า ใน กับ ภายใน มันใช้ต่างกัน ซึ่งเขานำเสนอว่า พบศพชายลึกลับอยู่ภายในบ้านเลขที่นี้ ซึ่งต้องใช้คำว่าในบ้าน เพราะว่า คำว่าในมันอยู่ข้างในอยู่แล้ว ส่วนคำว่าภายใน มันจะเป็นขอบเขตจำกัดต่างๆ ซึ่งต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพราะถ้าใช้ผิดคำเดียว ความหมายเปลี่ยนเลย ซึ่งถ้าสื่อออกไปให้มวลชนเข้าใจสารที่เราต้องการแสดงออกไป มันก็ประสบความสำเร็จแล้ว
“สิ่งที่ผมอยากจะฝากก็คือ อย่าให้คำทำนายใดๆ มาเป็นตัวบังคับชีวิตของเรา อย่าเชื่อหมอดูแบบหัวปักหัวปำ แล้วก็ขอฝากภาษาไทย ขอให้พวกเราจงใช้อย่างพิถีพิถัน อย่าไปใช้ตามภาษาอื่น เพราะเป็นการให้เกียรติตัวเอง และให้เกียรติภาษาไทยด้วย เพราะถ้าใช้ภาษาให้ดีและถูกต้อง มันจะมั่นคง ไม่อย่างงั้นก็บิดเบือนไปมา
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วชิร สายจำปา
ซึ่งคอลัมน์หลักของนิตยสารเล่มดังกล่าว นั่นคือ ดูดวงพยากรณ์ราศีต่างๆ ที่ถือได้ว่าเป็นตัวชูโรงและเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้กับนิตยสารเล่มนี้ ผู้อยู่เบื้องหลังของคอลัมน์นี้ นั่นคือ รองศาสตราจารย์ ดร.อัมพร สุขเกษม อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทยและตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ซึ่งทุ่มเทในการทำคอลัมน์ดังกล่าว ผ่านการค้นคว้าทางด้านโหราศาสตร์ไทย ผสมกับการเขียนในเชิงภาษาไทยให้เข้าใจโดยง่าย จนทำให้เป็นที่ยอมรับในการทำนายพยากรณ์อยู่หลายครั้ง จนกลายเป็นอีกหนี่งคอลัมน์ในความทรงจำของนักอ่านนิตยสารชาวไทยไปอีกหนึ่งหน้าก็ตามที
ฝันเป็นครู
เพื่ออยากให้ความรู้
ณ จังหวัดราชบุรี อัมพรในวัยเด็ก เติบโตขึ้นมาในครอบครัวชาวสวนชาวไร่ ก็ได้ใช้ชีวิตตามแบบฉบับเด็กบ้านนอกทั่วไปแบบปกติ จนกระทั่งได้รับการศึกษาในช่วงเวลานั้น ความคิดและความใฝ่ฝันที่ว่า อยากจะเป็นครูประชาบาล จึงเริ่มก่อตัวขึ้น เพื่อที่จะให้ความรู้แก่เด็กนักเรียน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ซึ่งจุดเริ่มต้นตรงนั้น ก็เริ่มขึ้น...
“เราเป็นเด็กบ้านนอก เราก็โตมาใช้ชีวิตปกติ แต่ก็มีความคิดที่จะเป็นครูนะ เพราะความใฝ่ฝันก็คือการได้เป็นครูประชาบาล ส่วนที่อยากจะเป็นครู เพราะว่า บ้านผม โต๊ะตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับโรงเรียน ก็เห็นครูบาอาจารย์ที่ไปสอนเด็ก ซึ่งเราก็คิดว่าน่าจะดีกว่าไปทำสวนทำนา เหมือนกับชาวบ้านเขาเป็นกัน เราเลยสนใจที่จะมาเป็นครู แล้วอีกอย่างหนึ่ง พอได้มามีอาชีพครู เรารู้สึกว่าเป็นอาชีพที่ให้อย่างเดียว ลูกศิษย์ลูกหา เราก็สั่งสอนอบรมไป ส่วนเบี้ยบ้ายรายทาง เราก็ไม่มีเบียดเบียนลูกศิษย์ มีแต่จะให้ แล้วก็เป็นอาชีพที่มันไม่บาป ก็เลยอยากจะเป็นครู เลยเรียนเป็นครู ทีนี้ เราเรียนจบแค่วุฒิ ปกศ.ต้น มันก็ยังไม่พอ ก็ไปเรียนเอาวุฒิ ปกศ.สูง ซึ่งเราก็เป็นนักเรียนทุนจากเพชรบุรี ให้มาเรียนต่อที่กรุงเทพ ฯ
“พอเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ แน่นอนว่า ด้วยความที่เป็นเด็กบ้านนอก แล้วก็เป็นนักเรียนทุน ก็ถือว่ามีความคาดหวังสูงด้วยเช่นกัน ก็บังคับจิตใจตัวเองด้วย เพราะว่าเราก็เป็นเด็กหอมาตั้งแต่เรียนที่เพชรบุรี ไม่มีใครปกครอง คือตอนที่อยู่บ้าน ก็ยังมีอาจารย์และผู้ปกครองคอยดูอยู่ คอยบังคับ แต่พอมาเรียนกรุงเทพฯ ก็เช่าบ้านอยู่ตรงตรอกบางไส้ไก่ ก็ดูแลควบคุมตัวเองมาตลอด ซึ่งเราก็เป็นเด็กที่ไม่เกเร ตั้งอกตั้งใจเรียน เพราะว่าพ่อแม่ก็ไม่มีเงินที่จะส่งมาให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือยนัก
“ตอนช่วงที่เรียนต่อเอา ปกศ.สูง ที่ วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในปัจจุบัน) ซึ่งที่นี่ผมโชคดีที่ได้เพื่อนคือ คุณดำรง พุฒตาล เราก็คบกันมาตั้งแต่ครั้งนั้น คุณดำรงเขาเก่งภาษาอังกฤษ ส่วนผมก็ถนัดภาษาไทย ก็ผลัดกันลอกซึ่งกันและกัน (หัวเราะ) พอหลังเรียนจบจากที่นั่น ผมก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปัจจุบัน) แล้วคุณดำรงก็ออกไปประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จ เจริญรุ่งเรืองในทางการทำงานสนามบิน และทำงานร่วมกับ พ.อ. การุณ เก่งระดมยิง ส่วนผมก็ไปเรียนเป็นครู ที่ประสานมิตร หลังจากเรียนจบ ก็ไปทำงานเป็นครูที่วิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี อยู่ที่สัตหีบ ทำงานอยู่ที่นั่น 1 ปี ก็กลับมาเรียนต่อปริญญาโทที่ ประสานมิตรเหมือนเดิม เราก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เป็นครูสอนภาษาไทยปกติ จนกระทั่งเรียนจบในระดับปริญญาโท
เรียนรู้ศาสตร์พยากรณ์
เพื่อต่อยอดศัพท์ทางวรรณคดี
หลังจบการศึกษาในระดับปริญญาโท อัมพรก็ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำวิชาภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปัจจุบัน) ซึ่งในช่วงเวลาที่เข้ารับราชการที่นี่เอง เขาก็พบว่าคำศัพท์ในวรรณคดีนั้น มีความหมายที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เขาจะเข้าใจได้ นั่นจึงทำให้ อัมพรได้พบกับพระสงฆ์รูปหนึ่ง และจากจุดนี้ที่ทำให้เขาได้ศึกษาเพิ่มเติมในวิชาโหราศาสตร์ของไทย ณ ที่แห่งนั้น...
“ผมเป็นครูสอนวรรณคดีไทย แล้วในแต่ละเรื่อง ก็มีศัพท์เฉพาะตัวในวรรณกรรมเรื่องต่างๆ ซึ่งในตำราวรรณคดีไทย ก็อธิบายแบบตำราโหร หมายถึงอย่างงั้นอย่างงี้ แล้วโดยส่วนตัวรู้สึกว่า ยังไม่มีความรู้ในคำศัพท์พวกนี้มากพอ ผมก็ไปพบกับพระเดชพระคุณ พระอาริยานุวัฒน์ ซึ่งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด ณ ขณะนั้น ผมเลยไปขอฝากเป็นลูกศิษย์ของท่าน แล้วท่านก็เมตตาผม และเมื่อมีโอกาสที่ผมเอาปิ่นโตไปถวายท่านครั้งใด ท่านก็กรุณาบอกศัพท์ให้กับผมว่า มันเป็นอย่างงี้ๆ นะ ผมได้ความรู้ และก็จำๆ ไว้ แล้วพอได้ไปสนทนาธรรมกับท่านบ่อยๆ ผมก็สนใจ เราก็หาตำราที่นักโหราศาสตร์ได้เขียนเป็นหนังสือขายตามตลาด ก็มาศึกษาเพิ่มเติมเองว่า คำในหนังสือโหราศาสตร์ กับ คำที่พระคุณเจ้าอธิบายมา มันเป็นยังไง
“จริงๆ ผมก็ไม่ได้จะตั้งใจศึกษาแบบลึกซึ้งหรอกครับ แต่ในเมื่อถ้าเป็นคำศัพท์ทางโหราศาสตร์ที่ยากแล้ว ผมจะสอนลูกศิษย์ยังไง จะบอกแค่ว่าแค่วันหนึ่งในวันโหราศาสตร์ เด็กก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมเลยรบกวนท่านเจ้าคุณ แล้วท่านก็เมตตาเรา ท่านก็สอนเรามาตลอด ว่าวันห้ามเป็นอย่างงี้นะ มีศัพท์เฉพาะตัวอย่างงี้นะ ซึ่งถ้าเราเรียนรู้แล้ว เราจะถ่ายทอดต่อยังไง ถ้าไม่ได้ไปเรียนมาก่อน ผมเป็นครูภาษาไทย คำเหล่านี้ก็ต้องรู้ ผมก็ไปถามพระคุณเจ้า ท่านก็เมตตาเรา
“ผมอยู่มหาสารคาม 10 กว่าปี ก็ไม่ได้ไปถามท่านทุกวันนะครับ แต่จะเป็นแบบว่า เวลาที่มีปัญหาเราก็ไปปรึกษาในแต่ละครั้งว่า หลวงพ่อครับ คำนี้เป็นยังไง คือค่อยๆ ศึกษาไป ก็เหมือนต่อยอดทางด้านวิชาการให้เราไป
ศึกษาแห่งศาสตร์
จนชำนาญเรื่องโหรไทย
“ถ้าตัดเรื่องวิชาการออกไป ผมว่าผมได้ความรู้เพิ่มเติม แล้วก็ได้ช่วยเหลือเพื่อนฝูง อย่างเวลาที่พวกเขามาปรึกษาในเรื่องนี้ ผมก็ตั้งท่าเป็นอาจารย์เลย (หัวเราะเบาๆ) อธิบายให้ฟังไปตามลักษณะต่างๆ ซึ่งก็ตรงกับที่ ท่านเจ้าคุณสอน ผมก็เลยยึดเป็นหลักวิชาเลย หลังจากนั้น เราก็ไปหาตำราจากที่อาจารย์ด้านโหราศาสตร์ที่เขาเขียน ผมก็เอามาอ่านประกอบ ว่าเจ้าคุณอธิบายอย่างงี้ เหมือนกับได้ศึกษาเพิ่มเติมในคำบางคำในวรรณคดี แล้วพอลงลึกแล้ว ก็ได้ความรู้ทางด้านพยากรณ์ หมายความว่า จากที่เป็นครูสอนวิชาภาษาไทยปกติ เราก็สามารถอธิบายทำนายเหตุการณ์ได้ แล้วสิ่งที่เป็นความถนัดคือ การตั้งชื่อเด็ก เพราะว่าเราใช้ในเชิงภาษา ใช้ถ้อยคำ บวกกับหลักของเด็กที่เกิดในวันนั้น ห้ามอักษรต่างๆ ผมก็ได้ความรู้ในการตั้งชื่อเด็ก ซึ่งเราก็ศึกษาเฉพาะด้านโหราศาสตร์ไทยอย่างเดียว คือถ้าใครมาถามในศาสตร์อื่นๆ ขอบอกเลยว่า ไม่รู้จริงๆ จะรู้แค่ส่วนของไทยอย่างเดียว
“ผมว่ามันเป็นศาสตร์ที่เราสามารถศึกษาเองได้ แต่ถ้าจะให้แบบในเชิงลึกซึ้ง ก็ต้องมีครูโหรไว้สอน เพราะบางทีเราอาจจะเข้าใจคำผิด และทำให้เฉไฉไปได้ ก็มีการตักเตือนไปว่า คำนี้ไม่ใช่อย่างงี้ มันต้องหมายถึงอย่างงี้ คือในทางภาษาก็คือต้องตีความให้แตกฉานไปด้วย แล้วในทางวิชาการก็ต้องศึกษาให้ตรงกับหลักคำทำนายนั้น
ถูกชวนเป็นคอลัมนิสต์
จุดเริ่มของการทำนาย
เมื่อนิตยสาร ‘คู่สร้างคู่สม’ โดยการบริหารงานโดย ดำรง พุฒตาล เริ่มทักทายผู้อ่านในช่วงต้นปี พ.ศ. 2523 ซึ่งผลตอบรับจากนักอ่านหนังสืออยู่ในขั้นที่ใช้ได้ จนเมื่ออัมพรถูกชักชวนให้มาร่วมเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือหัวดังกล่าว โดยเพื่อนสมัยเรียนอย่างดำรง ซึ่งจุดเริ่มของคอลัมน์สร้างชื่อ ก็เริ่มต้นจากตรงนั้น
“ผมเห็นนิตยสารออกวางแผงมาได้สักพัก เขา (ดำรง) ก็ชวนผม ผมก็ถามเขาว่า “เฮ้ย รงค์ เราพอจะดูหมอเป็นนะ เราเขียนให้ได้” คือเราก็พอมีทักษะจากการเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยอยู่บ้าง แล้วก็มีวิชาโหราศาสตร์ คือเราพูดได้เลยว่าเราสนิทกับดำรงมาก ขนาดที่สอนอยู่ที่ประสานมิตร ผมไปเช่าหอพักแถวมหา’ลัย ดำรงก็ชวนไปอยู่บ้านเขาที่ซอยวัฒนา แต่ไม่ได้ไปอยู่ด้วยกันครับ แต่คือก็ไปคลุกคลีในการทำนิตยสาร ซึ่งก็ตัดสินใจไม่นาน ก็ได้เขียนคอลัมน์ในคู่สร้างคู่สม น่าจะประมาณ 2525-2526 เลยได้เขียนที่นี่ ส่วนนามปากกา อุตตราศาฒ ก็แปลว่า เดือนแปดหลัง คือในแต่ละปีของปฏิทินไทย มันจะมีเดือนแปด 2 ครั้ง แล้วผมเกิดในเดือนแปดหลัง เลยเอาคำนี้มาเป็นนามปากกา แล้วบังเอิญปีที่ผมเกิด มันมีเดือนแปด 2 ครั้ง ซึ่งเขาเรียกว่าปีอธิกมาศที่บอกไปเมื่อกี้ ซึ่งนามปากกานี้เราสัญญากับคุณดำรงว่า จะไม่ไปเขียนให้ที่ไหน นอกจากนิตยสารเล่มนี้
“เรื่องการเขียนก็คือดูตามแนวนิตยสารที่เขามี อย่างคอลัมน์พยากรณ์เขาเขียนยังไง เขียนเป็นราศี เป็นเดือน เราก็ไปทำนายตามนั้นว่าเป็นอย่างงี้ แล้วก็เขียนส่งให้ดำรง ราศีละ 1 หน้ากระดาษเอ 4 รวม 12 ราศี ก็เป็น 12 แผ่น ผมก็ทายหมด ทั้งความรัก การงาน การเงิน ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น แล้วโชคเคราะห์ใน 1 เดือน คือก็ไม่ได้เป็นภาระมากนักนะ เขียนแค่ 12 หน้า ใน 1 เดือน มันก็พอรับได้ แล้วเวลาการเขียน เราก็ดูคนที่เกิดราศีในแต่ละเดือนว่า จะเกิดอะไรขึ้น ผมก็เขียนบอกในนั้น
“ในการแบ่งการทำงานก็ไม่ยากหรอกครับ คือการแบ่งเวลา ในส่วนงานวิชาการ เราก็ต้องทำให้เสร็จเสียก่อน จะได้ไปสอนเด็กได้ แบบเฉพาะหน้า แต่พอถึงช่วงกลางคืน เวลาที่เพื่อนเขาไปเล่นกีฬากัน เราก็เอาเวลาเหล่านั้นไปนั่งเขียน อารมณ์ประมาณว่าแบกตำราพยากรณ์มาประกอบการนั่งเขียนด้วย แต่ผมไม่ได้เอางานไปเขียนในที่ทำงานนะครับ แต่มันก็มีบางทีนะครับที่ส่งต้นฉบับไม่ทัน ตอนนั้น คุณขนิษฐา (พุฒตาล - น้องสาว คุณดำรง) เป็นคนทวงต้นฉบับ ประมาณว่า “อาจารย์ ต้นฉบับ” ผมก็เร่งมือหน่อย หรืออย่างเวลาที่เขียน บางทีก็มีเมสเซนเจอร์มารอเราในการเขียนต้นฉบับเลย บางทีเขาก็มาครึ่งวันก็มี ซึ่งเวลาเขียนเสร็จก็ลงไปตามนั้นเลย เพราะว่าเราใช้ภาษาไทยที่เรียนมาเรียบเรียงในแต่ละราศี
ผลงานถูกเผยแพร่
ผลตอบรับก็ตามมา
แม้ว่าการทำงานที่ มศว ประสานมิตร ซึ่งเป็นที่ทำงานประจำในเวลาต่อมาของอัมพร จะเป็นไปตามปกติ แต่ในภาคส่วนของคอลัมน์พยากรณ์ในนิตยสาร ก็ดูเหมือนว่าจะเริ่มเป็นที่พูดถึง (อย่างเงียบๆ) ถึงขนาดที่ว่า มีจดหมายจากนักอ่านมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเขียนถึงผลตอบรับหลังจากเผชิญโชคตามคำทำนายแตกต่างกันไป จนเรียกได้ว่าขึ้นแท่นเป็นคอลัมน์ยอดฮิตไปในที่สุด...
“ในระยะแรกนี่คือพอไปได้ คนก็เริ่มอ่านสนใจคอลัมน์นี้ คือก็มีถึงขนาดที่มีจดหมายจากผู้อ่านมาถึงเรา แต่ส่วนใหญ่จะผ่านจากคุณดำรงมากกว่า ว่าทายถูก ทายแม่น แต่จดหมายก็มาถึงผมก็มี แต่โดยส่วนตัว ผมไม่รับดูดวงแบบส่วนตัวเลย เคยมีจดหมายมาถึงผม เขาส่งวันเดือนปีเกิดทั้งของเขาและแฟนเขามาให้ แล้วทั้งสองคนก็มีอาชีพเป็นนายแพทย์และนางพยาบาลนะ เขาส่งมาถามผมว่า เขาจะเป็นเนื้อคู่กันมั้ย แต่ผมไม่ตอบจากที่เขาถามมา แต่ตอบกลับไปว่า คุณรักกันชอบกันมาเป็น 10 ปีแล้ว น่าจะรู้ใจกันมาบ้างแล้ว ดีกว่าให้มาดูวันเกิดแค่ 2-3 วัน แล้วมาตัดสินชีวิตคุณ ผมเลยไม่ตอบเขา ก็เข้าใจว่าเขาน่าจะโกรธนะ (หัวเราะเบาๆ)
“อย่างเวลาที่มีผู้อ่านส่งจดหมายมา ก็มีผลตอบรับอยู่บ้าง เช่น ผมทายว่าจะมีอุบัติเหตุ แต่เขาประมาท ก็ไม่เชื่อ จนเขาไปขี่มอเตอร์ไซค์แล้วก็ล้ม แล้วก็มีอยู่รายหนึ่ง เป็นลูกศิษย์แท้ๆ เลย เขาก็มาถามผมว่า ทำไมอาจารย์ไม่เขียนล่วงหน้า หนูกระเป๋าสตางค์หาย น่าจะทายเร็วกว่านี้ หรือว่ามีเหตุการณ์ที่คนอ่านเขาส่งการ์ดเชิญงานแต่งงานมาให้ เพราะว่าอ่านจากคอลัมน์แล้วมาเจอเนื้อคู่ แต่ถ้ามีถึงขั้นแรงๆ นี่คือไม่มี ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางบวกมากกว่า ประมาณว่าแม่น ซึ่งการที่เขาเขียนตอบกลับมาแบบนั้น มันก็เป็นต้นเหตุให้คุณดำรงขึ้นค่าตัวให้ผม (หัวเราะเบาๆ)
เขียนเรื่องพยากรณ์
แต่จุดหมายคือการเตือนสติ
“ผมก็เขียนมาอย่างนี้ โดยที่ไม่อยากเปิดเผย แล้วนักศึกษาก็ไม่รู้ด้วย เพราะว่าผมเป็นหมอดูก็จริง แต่ผมเชื่อว่า ความเป็นไปในชีวิต เป็นเพราะว่าเขาทำเอง ไม่ใช่มาจากดวง ในทางพระพุทธศาสนา เขาบอกว่า อตฺโถ อตฺถสฺส นกฺขตฺตํ กึ กริสฺสนฺติ ตารกา. ประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจักทำอะไรได้ นี่คือคำกล่าวในพระพุทธศาสนาเลย แต่จริงๆ แล้ว คำพยากรณ์ทั้งหลาย มันก็เหมือนคำพยากรณ์อากาศน่ะครับ รู้ก่อน เพื่อป้องกัน และระมัดระวังไว้ คือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าไม่ให้ไปพลาดพลั้ง อย่างที่ผมเขียนว่า ระวังการตกบันได คุณก็เกาะราวบันไดอย่างแน่น ซึ่งก็เท่ากับว่าผมทายผิด เพราะว่าเขาระมัดระวังตัว
“คือก็อย่าไปเชื่อแบบหัวทิ่มหัวตำนะ อย่างบางคนก็เชื่อว่า ต้นไม้ต้นนี้ไม่เป็นสิริมงคลให้ตัดออกไป คือผมรู้สึกว่ามันเป็นการเชื่อที่ไม่มีเหตุผล ต้องเป็นการดูว่า ที่ต้องตัดออกไป เพราะว่ามันบังอะไรหรือเปล่า ถ้ามีเหตุผลก็ตัดออกไป ส่วนความรู้สึกต่อคอลัมน์ ก็ภูมิใจที่สามารถทำให้ย่อยศาสตร์ดังกล่าวให้คนอ่านได้เข้าใจง่าย และทำให้คนได้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้น
“เคยมีคนทำการวิจัยในเรื่องนิตยสารที่วางแผงของบ้านเรานะ ว่าคอลัมน์ต่างๆ ที่คนนิยมอ่านที่สุด คือ คอลัมน์พยากรณ์ คือไม่ใช่แค่หนังสือคู่สร้างคู่สมนะ หนังสือประเภทอื่นก็มีคอลัมน์นี้ แล้วคนจะอ่านคอลัมน์นี้ก่อน แสดงว่าคนไทยเชื่อเรื่องนี้ เหมือนสะท้อนว่า คนไทยก็ยังมีความผูกพันเรื่องศาสตร์พยากรณ์นี้ แล้วมันสะท้อนว่า ถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจในการกระทำและผลที่ตัวเองทำ เพราะคอลัมน์ในนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นคอลัมน์ของใคร ในนิตยสารอะไร ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสารผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีความเชื่อเรื่องนี้มากกว่าผู้ชาย ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกัน
อำลาผู้อ่านทางหน้ากระดาษ
กับผลสะท้อนต่อสื่อสิ่งพิมพ์กับภาษาไทย
จวบจนกระทั่งมาในยุคปัจจุบัน ด้วยวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ซึ่งส่งผลมาถึงคอลัมน์ของเขาก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งการถูกลอกผลงานมาสู่โลกออนไลน์ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นิตยสารหัวนี้ต้องอำลาผู้อ่านไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งอัมพรก็เปรียบเปรยถึงการอำลานี้ประหนึ่งเสียเพื่อนที่เขาคบหากันมานานกว่า 40 ปีไปด้วย ซึ่งนั่น อัมพรก็ได้สะท้อนทรรศนะถึงสื่อสิ่งพิมพ์และการอ่านในปัจจุบันของคนไทยด้วยเช่นกัน
“ผมรู้สึกว่าเหมือนเสียเพื่อนไป เพราะว่าผมได้รับใช้ผู้อ่านในการพยากรณ์ต่างๆ ทำให้เรามีเพื่อนหลายคน หลายประเภท แต่ว่า พอคู่สร้างคู่สมปิดตัวไป ผมก็เสียดายโอกาสที่จะรับใช้ประชาชนผ่านทางสื่อนี้ อีกอย่าง ก็รู้สึกใจหาย เสียดาย และต่อไปนี้ก็อาจจะไม่มีงานเขียนลักษณะอย่างนี้แล้ว แถมยุคนี้ก็เป็นยุคโซเชียล คนอ่านได้เร็วแล้ว ผมว่าการเขียนมันเป็นแก่นสารมากกว่า ถ้าคนไม่รักการอ่าน คือถ้าไม่มีการฝึกรุ่นต่อไปให้รักการอ่านจากหนังสือเป็นเล่ม เพราะหนังสือมันเป็นสื่อกลางระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน แต่เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ผู้อ่านก็ถอยลง ผู้เขียนก็หมดกำลังใจที่จะเขียน แล้วมันก็จะทำให้แคบลง เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราคือ ต้องสร้างคนอ่านที่กระหายที่จะอ่านหนังสือ แล้วก็ต้องสร้างคนเขียนที่จะกระหายในการเขียน และมีฝีมือดีจริงๆ เป็นปัญหาของสังคม
ขณะเดียวกัน ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์สอนเกี่ยวกับภาษาไทยมาอย่างช้านาน อัมพรก็ได้ให้ทรรศนะถึงเรื่องของภาษา และการนำเสนอภาษาไทยของสื่อมวลชน ในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ ด้วยคำกล่าวที่ว่า...
“ผมว่าภาษามันเปลี่ยนแปลงได้ เปลี่ยนตามสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น เรื่องที่เกิดคำใหม่ๆ มันจึงไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ แต่ว่าการเกิดคำใหม่ๆ เราก็ต้องศึกษาให้เข้าใจกับคนที่เขาพูดให้ได้ อย่างคำว่า จุงเบย คนฟังก็ต้องเข้าใจความหมายด้วย คือทั้งของใหม่ก็รับไว้ แต่ของเขาก็เก็บไว้ ส่วนการรณรงค์ก็คือ พยายามใช้ภาษาให้ถูกต้องออกทางสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ อย่างมีเหตุการณ์อยู่เหตุการณ์หนึ่ง เขานำเสนอข่าวแบบไม่ระมัดระวัง อย่างคำว่า ใน กับ ภายใน มันใช้ต่างกัน ซึ่งเขานำเสนอว่า พบศพชายลึกลับอยู่ภายในบ้านเลขที่นี้ ซึ่งต้องใช้คำว่าในบ้าน เพราะว่า คำว่าในมันอยู่ข้างในอยู่แล้ว ส่วนคำว่าภายใน มันจะเป็นขอบเขตจำกัดต่างๆ ซึ่งต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เพราะถ้าใช้ผิดคำเดียว ความหมายเปลี่ยนเลย ซึ่งถ้าสื่อออกไปให้มวลชนเข้าใจสารที่เราต้องการแสดงออกไป มันก็ประสบความสำเร็จแล้ว
“สิ่งที่ผมอยากจะฝากก็คือ อย่าให้คำทำนายใดๆ มาเป็นตัวบังคับชีวิตของเรา อย่าเชื่อหมอดูแบบหัวปักหัวปำ แล้วก็ขอฝากภาษาไทย ขอให้พวกเราจงใช้อย่างพิถีพิถัน อย่าไปใช้ตามภาษาอื่น เพราะเป็นการให้เกียรติตัวเอง และให้เกียรติภาษาไทยด้วย เพราะถ้าใช้ภาษาให้ดีและถูกต้อง มันจะมั่นคง ไม่อย่างงั้นก็บิดเบือนไปมา
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วชิร สายจำปา