xs
xsm
sm
md
lg

จัดฉลองยาวทั้งปี กรุงธนบุรีครบ ๒๕๐ ปี! เริ่มเป็นราชธานีอย่างแสนสาหัส ถึงไม่มีข้าวจะกิน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค *-* “”


ทุกวันที่ ๒๘ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ได้มีการจัดงานขึ้น ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ เพื่อเทิดพระเกียรติต่อพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐต่อประเทศชาติ และจัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ แต่ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ นี้จะพิเศษกว่าทุกปี ด้วยครบรอบ ๒๕๐ ปีของการกอบกู้เอกราช และสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาย่อยยับจนไม่สามารถฟื้นกลับสู่สภาพเดิมได้

คณะกรรมการจัดงานฉลองกรุงธนบุรี ๒๕๐ ปี จึงกำหนดจัดงานครั้งนี้อย่างยาวนาน ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๐ ไปจนถึงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ เป็นเวลาถึง ๑ ปีเต็ม เมืองธนบุรี เป็นเมืองเก่าที่สร้างมาไล่หลังกรุงศรีอยุธยาไม่นาน เดิมเรียกกันว่า “บางกอก” ซึ่งสันนิษฐานที่มาของชื่อนี้ไว้หลายทาง

บ้างก็ว่ามาจากภาษามลายู “Benkok” ที่แปลว่า คดโค้ง เพราะแต่ก่อนแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนี้คดมาก และภาษามลายูเป็นภาษาของนักเดินเรือในยุคนั้น บ้างก็ว่าชื่อนี้มาจากคำว่า “มะกอก” ซึ่งเป็นไม้ป่าที่ขึ้นเป็นดงในย่านนี้ และชาวโปรตุเกสฝรั่งชาติแรกที่บุกเบิกย่านตะวันออกเป็นผู้เริ่มใช้คำว่า “Bangkok” และหมายถึงทั้งสองฝั่งแม่น้ำ

เดิมเมืองธนบุรีอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดศาลาสี่หน้า ซึ่งก็คือ วัดคูหาสวรรค์ ริมคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมจะเลี้ยวคดเข้าคลองบางกอกน้อย ผ่านคลองตลิ่งชัน คลองบางกอกใหญ่ ไปคดลงใต้ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน การเดินทางต้องเสียเวลาอ้อมในช่วงนี้ถึงวันเต็มๆ ในรัชสมัยพระไชยราชาธิราช ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙ จึงทรงให้ขุดคลองลัดจากปากคลองบางกอกน้อยในปัจจุบันไปทะลุโค้งตรงปากคลองบางกอกใหญ่ เพื่อย่นระยะทางที่ต้องเดินเรืออ้อม เมื่อคนเดินทางได้สะดวก น้ำก็เดินตรงได้สะดวกด้วย จนเซาะตลิ่งกว้างออกไปเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำสายเดิมที่กระแสน้ำไม่ผ่านก็ตื้นเขินกลายเป็นคลอง

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา มีการติดต่อค้าขายทางทะเลมากขึ้น ทรงยกเมืองบางกอกขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน พระราชทานนามว่า “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร” และทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงวิตกที่ชาติมหาอำนาจตะวันตกแพร่อิทธิพลเข้ามาทางทะเล โดยเฉพาะฮอลันดา นอกจากจะทรงย้ายพระราชวังไปอยู่เมืองลพบุรีให้ลึกจากทะเลเข้าไปแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ยังขอให้ราชทูตเชอวาเลียร์ เดอ โชมองต์ จากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ช่วยสร้างป้อมตามวิทยาการแบบตะวันตกขึ้นที่เมืองลพบุรีและเมืองหน้าด่านธนบุรี ซึ่งท่านราชทูตได้ให้ เดอ ลามาร์ วิศกรที่มาในคณะเป็นผู้ออกแบบ และสมเด็จพระนารายณ์ยังทรงขอตัว นายเรือโทเชอวาเลียร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารในคณะทูต พร้อมทหารฝรั่งเศสอยู่รักษาป้อมที่กรุงธนบุรีด้วย

ป้อมที่กรุงธนบุรีนั้นสร้างขึ้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำ โดยฝั่งตะวันตกสร้างขึ้นที่ปากคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองทัพเรือในปัจจุบัน ส่วนฝั่งตะวันออกสร้างตรงข้ามกัน คือที่ตั้ง ร.ร.ราชินีล่างขณะนี้ ทั้งสองป้อมให้ชื่อว่า “ป้อมวิชเยนทร์” ตามชื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีชาวกรีก ผู้มีบทบาทสำคัญในตอนนั้นและเป็นแม่กองงานสร้าง ติดตั้งปืนใหญ่และขึงโซ่เหล็กถึงกันขวางแม่น้ำ ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชาได้ส่งทหารมาขับไล่ทหารฝรั่งเศสของนายพลเดฟาร์ชที่รักษาป้อม ทหารฝรั่งเศสมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอรักษาป้อมทั้งสองฝั่ง นายพลเดฟาร์ชจึงให้ทำลายป้อมฝั่งตะวันออกบางส่วนไม่ให้เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายไทย แล้วย้ายมารวมกันที่ป้อมฝั่งตะวันตก

ในการกู้ชาติของพระเจ้าตากสินนั้น ทรงเตรียมกองทัพที่เมืองจันทบุรีตลอดฤดูมรสุม พอเข้าเดือน ๑๑ ก็ต่อเรือรบและเกณฑ์เรือสำเภาของพ่อค้าจีนได้ ๑๐๐ กว่าลำ รวบรวมทหารได้ราว ๕,๐๐๐ คน จึงเคลื่อนทัพเรือชักใบมุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา ด่านแรกก็คือเมืองธนบุรี ที่พม่าแต่งตั้งนายทองอิน คนไทยที่ฝักใฝ่พม่าเป็นผู้รักษาเมือง พอนายทองอินทราบข่าวว่าพระยาตากยกทัพล่วงปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามา ก็ส่งม้าเร็วแจ้งข่าวไปยังอยุธยาให้สุกี้พระนายกอง ที่ค่ายโพธิ์สามต้นรู้ตัว แล้วจัดคนขึ้นประจำป้อมวิชเยนทร์และเชิงเทินเมืองธนบุรีเตรียมสู้ แต่คนไทยในกองกำลังของนายทองอินเมื่อรู้ว่าพระยาตากมากู้ชาติก็ไม่มีใครอยากรบด้วย ช่วยกันจับนายทองอินคนทรยศส่งให้พระยาตาก พระยาตากจึงสั่งประหารชีวิต จากนั้นก็รีบรุดไปกรุงศรีอยุธยาในคืนนั้น

สุกี้แม่ทัพพม่ารู้ว่าเมืองธนบุรีแตกและกองทัพพระยาตากกำลังมุ่งมา ก็ส่ง มองญ่า ปลัดทัพคุมพลมอญไทยมาตั้งรับที่เพนียดหน่วงเวลาไว้ เพื่อเตรียมการทางค่ายโพธิ์สามต้นให้พร้อม แต่คนไทยในกองทัพมองญ่ารู้ว่าพระยาตากมากู้ชาติก็พากันหลบหนีออกมาร่วมพระยาตาก มองญ่ากลัวจะถูกจับส่งให้พระยาตากเหมือนนายทองอิน จึงหลบหนีไปค่ายโพธิ์สามต้น

สุกี้พระนายกองที่พม่าแต่งตั้งให้รักษากรุงศรีอยุธยานี้เป็นคนมอญ เดิมรับราชการกับไทย แต่แปรพักตร์ไปร่วมกับกองทัพพม่าคราวที่มาตีกรุงในครั้งนี้ และมีความดีความชอบที่สามารถตีค่ายบางระจันแตกหลังจากแม่ทัพพม่าหลายคนต้องพ่ายตายในที่รบ

พระยาตากไปถึงค่ายโพธิ์สามต้นในตอนเช้า เข้าตีค่ายทางด้านตะวันออกเพียง ๒ ชั่วโมงก็เข้ายึดได้ แต่ค่ายด้านตะวันตกสุกี้ตั้งรับเอง มีกำแพงแข็งแรงเพราะ เนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่า รื้ออิฐวัดมาสร้างค่าย พระยาตากจึงให้หยุดพักเตรียมบันได แล้วให้ทหารพักผ่อนเอาแรงเสียคืนหนึ่ง สุกี้เตรียมรับมืออยู่ทั้งคืนก็ไม่เห็นทหารไทยเข้าโจมตี แต่พอเช้าต่างพักผ่อน พระยาตากก็นำทหารเข้าบุกค่ายสุกี้ ไม่ทันถึงเที่ยงก็ตีแตก สุกี้วีรบุรุษของพม่าผู้พิชิตค่ายบางระจันตายในที่รบ ที่เหลือต่างเตลิดหนีไป รวมทั้งมองญ่าปลัดทัพ ซึ่งต่อมาไปร่วมกับก๊กของกรมหมื่นเทพพิพิตที่นครราชสีมา

เมื่อเข้าไปในค่ายพบพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่เจ็บป่วยเดินทางไกลไม่ได้ ถูกคุมตัวอยู่ในค่าย ยังไม่ถูกส่งตัวไปกรุงอังวะ แต่อยู่ในสภาพน่าเวทนา ส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะแล้ว ส่วนพระเจ้าเอกทัศน์ พม่าไปพบทรงหลบซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ที่บ้านจิก ข้างวัดสังฆาวาส อดพระกระยาหารมา ๑๐ วันแล้ว เมื่อหามมาค่ายโพธิ์สามต้นก็สิ้นพระชนม์ สุกี้ระลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่ทรงชุบเลี้ยงมาจึงนำพระศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ หน้าวัดมงคลบพิตร อันเป็นที่ทำพระเมรุท้องสนามหลวง คิดว่าเหตุการณ์สงบจะจัดถวายพระเพลิง

ค่ายของสุกี้แตกในวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๑๐ ถือได้ว่าอำนาจของพม่าสูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เอกราชและอธิปไตยกลับคืนมา รวมเวลาที่ถูกพม่ายึดครองประมาณ ๗ เดือน

พระยาตากขึ้นช้างออกสำรวจกรุงศรีอยุธยา พบแต่ภาพสลดใจเหมือนดังคำที่กล่าวกันว่า “กลายสภาพจากเมืองทองเป็นเมืองถ่าน” พม่าเผาทำลายปราสาทราชวังและวัดวาอารามจนยากที่จะหาพระราชทรัพย์มาฟื้นคืนได้ใหม่ อีกทั้งกรุงศรีอยุธยาก็กว้างขวางเกินกำลังกองทัพเล็กๆของพระองค์จะกระจายคนออกป้องกันได้เมื่อมีข้าศึกมาประชิด

นอกจากนี้ พระเจ้าตากสินมีความชำนาญในทางเรือและมีกองเรือพร้อม เมืองธนบุรีก็มีชัยภูมิที่เหมาะจะใช้กองทัพเรือในการรบ หากพลาดพลั้งก็อาจใช้กองทัพเรือถอยออกทางทะเลไปหาที่ตั้งหลักใหม่ได้สะดวก พม่าไม่มีขีดความสามารถที่จะออกทะเลตามได้

คืนนั้นทรงเข้าพักแรมที่พระที่นั่งทรงปืน สุบินว่ากษัตริย์แต่ก่อนมาขับไล่ไม่ให้อยู่ รุ่งเช้าจึงเล่าฝันให้คนทั้งหลายฟัง และว่า

“เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหน เราไปสร้างกรุงธนบุรีอยู่กันเถิด”

กล่าวกันว่า เรื่องนี้เป็นกุศโลบายของพระองค์ ที่จะย้ายราชธานีโดยไม่เปิดโอกาสให้ใครคัดค้านได้

ก่อนออกจากกรุงศรีอยุธยา พระยาตากให้ขุดพระศพพระเจ้าเอกทัศน์มาบรรจุลงพระโกศที่สร้างพอสังเขป และตามหาพระสงฆ์ที่ยังพอมีเหลือมาทำพระราชพิธีถวายพระเพลิงตามเยี่ยงกษัตริย์แต่ก่อนมา แล้วอพยพผู้คนทั้งหมดลงมาเมืองธนบุรี
ราชอาณาจักรไทยสมัยกรุงธนบุรี
พระยาตากเห็นว่าป้อมวิชเยนทร์ฝั่งตะวันตกอยู่ในสภาพดี กว้างขวางพอจะเป็นที่ประทับได้โดยไม่ต้องสร้างใหม่ ทั้งบริเวณภายในกำแพงเมืองธนบุรีก็กว้างเพียง ๑ ตารางกิโลเมตร พอเหมาะกับกองกำลังที่มีอยู่ จึงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ แต่เรียกกันทั่วไปว่า พระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ พระเจ้าตากสิน

พระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ขุดคูพระนครขึ้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยฝั่งตะวันตกขุดแยกจากคลองบางกอกใหญ่ข้างวัดโมลีโลกยารามขึ้นไปทางเหนือ ผ่านหลังจัดแจ้ง วัดเครือวัลย์ ไปทะลุคลองมอญ แล้วขุดต่อผ่านหน้าวัดพระยาทำ ผ่านหลังวัดบางหว้าใหญ่ไปทะลุคลองบางกอกน้อย ปัจจุบันคูเมืองนี้ตื้นเขินกลายเป็นที่ระบายน้ำเสีย และไม่สามารถทะลุถึงคลองบางกอกน้อยได้เพราะมีการถมสร้างทางรถไฟ

ส่วนฝั่งตะวันออก ขุดตั้งแต่ตรงข้ามป้อมวิชเยนทร์ซึ่งพระราชทานนามใหม่เป็น “ป้อมวิชัยประสิทธิ์” ไปทะลุแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือ ปัจจุบันเรียกว่า “คลองคูเมืองเดิม” จากปากคลองตลาด ผ่านหน้ากระทรวงมหาดไทยไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตรงกับคูเมืองฝั่งตะวันตกทั้ง ๒ ด้าน

กรุงธนบุรีจึงมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง เรียกกันว่า “เมืองอกแตก” เช่นเดียวกับเมืองพิษณุโลก

นอกจากนี้ยังให้ขุดที่สวนเดิมนอกคูเมืองออกไปทั้งสองฟาก ให้เรียกว่า “ทะเลตม” ไว้สำหรับทำนาใกล้พระนคร แม้มีข้าศึกยกทัพมาก็จะได้ใช้บริเวณนี้สร้างค่ายต่อรบข้าศึกได้สะดวก

ขณะที่พระเจ้าตากสินทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีนั้น อาณาบริเวณนี้เกือบไม่มีพลเมืองอาศัยอยู่ เพราะต่างต้องอพยพลี้ภัยพม่าไปหลบซ่อนอยู่ตามป่า เรือกสวนไร่นาไม่มีโอกาสได้ทำ พระสงฆ์ก็ไม่มีที่จะบิณฑบาต บางพวกก็ซ่องสุมกันออกแย่งชิงอาหารจากคนที่สะสมไว้ ถ้าวัดดัชนีความสุขของคนไทยยามนั้น ต้องถือว่าต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อรู้ข่าวว่าพระยาตากปราบปรามขับไล่อิทธิพลพม่าพ้นไปจากแผ่นดินไทยแล้ว มาสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี ราษฎรทั้งหลายจึงมุ่งมาสู่เมือง

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชเลขากล่าวว่า

“ลุศักราช ๑๑๓๐ ปีชวดสัมฤทธิศก จึงท้าวพระยาข้าราชการจีนไทยผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง ก็ปรึกษาพร้อมกันอัญเชิญเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์ผ่านพิภพลีลา ณ กรุงธนบุรี ตั้งขึ้นเป็นราชธานีสืบไป ทรงพระกรุณาให้แจกจ่ายอาหารแก่ราษฎรทั้งหลาย ซึ่งอดโซอนาถาทั่วสีมามณฑล เกลื่อนกล่นกันมารับพระราชทานมากกว่าหมื่น บรรดาข้าราชการฝ่ายพลเรือนไทยจีนทั้งปวงนั้น ได้รับพระราชทานข้าวสารเสมอกันคนละถังกินคนละยี่สิบวัน ครั้งนั้นยังหาผู้ใดทำไร่นาไม่ อาหารกันดารนัก และสำเภาบรรทุกข้าวสารมาแต่เมืองพุทไธมาส จำหน่ายถังละสามบาท สี่บาท ห้าบาทบ้าง ทรงพระกรุณาให้ซื้อแจกคนทั้งปวงโดยพระราชอุตสาหะโปรดเลี้ยงสัตว์โลก พระราชทานชีวิตไว้มิได้อาลัยแก่พระราชทรัพย์ แล้วแจกจ่ายเสื้อผ้าเงินตราแก่ไพร่ฟ้าประชาชนจักนับมิได้ และทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยงแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยครบตามตำแหน่งถานานุศักดิ์เหมือนแต่ก่อน แล้วโปรดตั้งเจ้าเมืองกรมการให้ออกไปครองหัวเมืองใหญ่น้อยซึ่งอยู่ในพระราชอาณาจักรใกล้ๆ นั้นทุกๆ เมือง ให้ตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมอาณาประชาราษฎรซึ่งแตกฉานซ่านเซ็นไปนั้น ให้กลับมาอยู่ภูมิลำเนาเหมือนแต่ก่อนทุกบ้านทุกเมือง...”

อาหารนับเป็นสิ่งมีค่ายิ่งในยามนั้น การพระราชทานอาหารจึงเหมือนพระราชทานชีวิต บรรดาราษฎรต่างพากันแซ่ซ้องสาธุการ เบียดเสียดกันเข้าห้อมล้อมชมพระบารมีจนเกือบชิดช้างพระที่นั่ง ทำให้พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรที่อาจถูกช้างเหยียบหรือทำร้าย จึงมีพระราชดำรัสเตือนฝูงชนว่า

“อย่าเข้ามาใกล้ ลูก เดี๋ยวช้างมันจะทำร้ายเอา”

พระราชดำรัสอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาต่อไพร่ฟ้าประชาราษฎร์นี้ ทำให้เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจแก่ราษฎรโดยทั่วกัน และเมื่อความอดอยากหิวโหยหมดไป กำลังใจกลับคืนมา บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุข ราษฎรจึงลงมือทำนาฟื้นฟูเรือกสวนกันอีกครั้ง

นอกจากนี้เมื่อยามว่างศึก ยังทรงเกณฑ์ให้ทหารและข้าราชการไปทำนา โดยให้เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุสีห์ พระยาธรรมา คุมไพร่พลไปทำนาที่ทะเลตมฟากตะวันออก แถวทุ่งบางกะปิและสามเสน ให้พระยายมราช พระยาราชสุภาวดี คุมพลไปทำนาที่ทะเลตมฟากตะวันตก แถวทุ่งกระทุ่มแบน หนองบัว แขวงเมืองนครชัยศรี

ขณะนั้นข้าวสารราคาสูงมากเนื่องจากขาดแคลนและความต้องการก็มีสูง บรรดาสำเภาค้าต่างเร่งรีบไปบรรทุกข้าวสารจากประเทศใกล้เคียงเข้ามาขาย เมื่อปริมาณมีมากราคาก็ลดลง จนเมื่อข้าวที่ราษฎรและข้าราชการปลูกเริ่มเก็บเกี่ยวได้ วิกฤตการณ์ด้านอาหารก็ค่อยๆคืนสู่ความเป็นปกติ ความอดอยากหิวโหยหมดไป ดัชนีความสุขกระเตื้องขึ้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิเคราะห์บทบาทของพระเจ้าตากสินไว้ว่า

“เจ้ากรุงธนบุรีตั้งตัวเป็นเหมือนอย่างเถ้าแก๋ฤากงสี คนทั้งปวงเหมือนกุลี เถ้าแก๋เป็นผู้หาข้าวหาปลา จำหน่ายให้แก่พวกกุลีแจกเลี้ยงกันกิน เงินจะได้มาทางใดไม่ว่า เจ้ากรุงธนบุรีเป็นผู้ซื้อข้าวมาแจก เฉลี่ยเลี้ยงชีวิตกันในยามขัดสน อิ่มก็อิ่มด้วยกัน อดก็อดด้วยกัน ครั้นเมื่อได้ทำไร่ไถนาบริบูรณ์ขึ้นแล้ว ไม่ต้องแจกข้าว แต่เมื่อใดขุดทรัพย์ได้ก็ยังต้องถวายช่วยราชการแผ่นดิน ซื้อข้าว ปลา ซื้อเกลือขึ้นฉางเป็นเสบียงกองทัพ ซึ่งเป็นการป้องกันรักษาอันตรายทั่วกันหมดเหมือนกัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น