xs
xsm
sm
md
lg

พบหนังราชสีห์ของพระเจ้าเอกทัศน์! นายกำปั่นอังกฤษนำมาถวาย พร้อมสละชีพป้องกันกรุงศรีอยุธยา!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ราชสีห์ ในป่าหิมพานต์รอบพระเมรุมาศ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา
เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๕๖ ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ กับนายฤทธิรณรงค์ กราบทูลว่า หญิงหม้ายวัยชราคนหนึ่ง ชื่อ สา บ้านอยู่ใกล้วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีหนังสัตว์แปลกประหลาดผืน ๑ ว่าเป็นหนังราชสีห์ของพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงมอบหมายให้สามีของนางเก็บไว้ให้ดีก่อนที่พระองค์จะถูกพม่าจับไป จึงโปรดให้เรียกเถ้าสามาสอบถาม ได้ให้การว่า

ข้าพระพุทธเจ้า เถ้าสา อายุได้ ๘๕ ปี เดิมเมื่อครั้งอยุธยา ข้าพระพุทธเจ้าอยู่กับนายอู ผัวข้าพระพุทธเจ้า ณ ป่าทอง ในกรุงเก่า ผัวข้าพระพุทธเจ้าเป็นขุนหมื่นอยู่ในกรมรักษาพระองค์ ครั้นพม่าล้อมเมืองเอาไฟเผา ข้าพระพุทธเจ้ากับผัวเข้าไปอยู่ในพระราชวังพระที่นั่งสุริยามรินทร์กับพระเจ้าลูกเธอเจ้าชาย ๓ เจ้าหญิง ๑ สี่พระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าจำพระนามหาได้ไม่ เมื่อเสด็จหนีออกจากกรุง ข้าพระพุทธเจ้ากับผัวก็ตามเสด็จออกมาด้วย ครั้นถึงประตูดิน ผัวข้าพระพุทธเจ้าจึงส่งหนังอันนี้ให้ข้าพระพุทธเจ้า เห็นกระดาษห่ออยู่ข้างนอกหลายชั้น บอกว่าเมื่อเสด็จพระราชดำเนินออกมาจากพระมหาปราสาทนั้น พระเจ้าเอกทัศน์ได้ส่งหนังอันนี้ให้แล้วตรัสว่า หนังราชสีห์นี้เก็บไว้ให้ดีอย่าให้พม่าเอาไปได้ ข้าพระพุทธเจ้าก็รับเอาหนังราชสีห์อันนี้ห่อผ้าซ่อนไว้กับตัวข้าพระพุทธเจ้า ผัวข้าพระพุทธเจ้าจึงเอาบาตรเหล็กซึ่งใส่เครื่องทรงไปซ่อนไว้ในกอไผ่ หลังวัดหน้าพระเมรุ พออ้ายพม่าจับเอาพระเจ้าเอกทัศน์ไป จึงตรัสเรียกผัวข้าพระพุทธเจ้าไปด้วย

ข้าพระพุทธเจ้ากับพี่น้อง ๕ คน หนีเข้าซ่อนอยู่ในโบสถ์วัดขุนเมืองใจ ประมาณ ๙ วัน ๑๐ วันพี่น้องข้าพระพุทธเจ้าเอาเรือมารับที่ประตูดิน ข้าพระพุทธเจ้าก็พากันลงเรือหนีลงมาอยู่กับเถ้าอิน ณ วัดปากน้ำ คลองบางหลวง ข้าพระพุทธเจ้าจึงแก้กระดาษออกดู เห็นผ้าสักหลาดห่อหนังราชสีห์ คลี่ดูแล้วก็ห่อไว้ดังเก่า ประมาณปี ๑ ผัวข้าพระพุทธเจ้าตามมาพบที่วัดปากน้ำ ถามว่าหนังราชสีห์ซึ่งให้ไว้ยังดีอยู่ฤๅ ข้าพระพุทธเจ้าบอกว่ายังอยู่ดี ต่อมาประมาณ ๓ ปี ๔ ปี ผัวข้าพระพุทธเจ้าที่บวชเป็นภิกษุอยู่วัดปากน้ำก็ถึงแก่กรรม ต่อมาประมาณ ๑๑ ปี ๑๒ ปี ฝนตกรั่วถูกหีบที่ใส่ของไว้ ข้าพระพุทธเจ้าระลึกขึ้นได้จึงเปิดหีบดู แล้วจึงเอาหนังอันนี้ออกตากแดด พอสมีม่วงเดินมาเห็นหนังที่ตากอยู่ ถามว่าหนังอะไร ข้าพระพุทธเจ้าบอกว่าหนังราชสีห์ สมีม่วงจึงว่าดีแล้วข้าจะช่วยเก็บไว้ให้ แล้วข้าจะเลี้ยงยายให้ทานกินไปกว่าจะตาย ข้าพระพุทธเจ้าก็เอาหนังราชสีห์ส่งให้สมีม่วง จากนั้นประมาณ ๙ วัน ๑๐ วันสมีม่วงหาให้ทานข้าวปลาข้าพระพุทธเจ้ากินไม่ ข้าพระพุทธเจ้าโกรธจึงทวงเอาหนังราชสีห์คืน ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง สมีม่วงก็หาคืนให้ข้าพระพุทธเจ้าไม่ แต่กลับเอาหนังอันนี้ไปให้แก่นายสัง ๆ จึงเอามาให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า

ณ วัน ๖ เดือน ๘ แรม ๕ ค่ำ เถ้าสาได้เอาหนังราชสีห์มา ณ เรือนนายฤทธิรณรงค์ พบแต่บิดานายฤทธิ์ ๆ จึงว่าหนังอันนี้เห็นประหลาด น่าจะเป็นของต้องพระราชประสงค์ ครั้นรุ่งเช้านายฤทธิรณรงค์กับหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ไปหาข้าพระพุทธเจ้า เอาหนังกับตัวข้าพระพุทธเจ้าขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นความสัตย์จริงของ ข้าพระพุทธเจ้าเท่านี้

ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗ รวม “เกร็ดพงศาวดาร” ไว้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังได้ทรงอธิบายเรื่องหนังราชสีห์นี้ไว้ในท้ายเรื่องว่า

หนังที่กล่าวถึงในคำให้การนี้ ไม่ปรากฏว่าแล้วไปอยู่ที่ไหนต่อมา แต่ไม่ได้ใช้ในราชการ จึงเข้าใจว่าเมื่อถามคำให้การแล้ว จะไม่ทรงเชื่อถือว่าเปนหนังราชสีห์ แลไม่เชื่อคำให้การเถ้าสาว่าเปนความจริงด้วย เพราะที่เรียกกว่าหนังราชสีห์นั้นแต่ก่อนมา ถือกันว่ารูปร่างอย่างที่เขียนกันไว้แต่โบราณ เช่นเขียนในดวงตราพระราชสีห์เปนต้น เห็นเปนของไม่มีจริง ฤๅที่ยอมรับว่ามี คนก็เชื่อว่ามีในป่าพระหิมพานต์ อันมนุษย์จะพบเห็นได้ด้วยยาก มีเรื่องราวหนังสือพงษาวดารเหนือ ว่าขุนสิงหฬสาครไปได้หนังราชสีห์มาครั้งหนึ่ง ก็เปนเรื่องพิฦกกึกกือน่ากลัวอันตรายมาก พ้นวิไสยที่ใครจะไปทำอย่างขุนสิงหฬสาครได้อิก คติความคิดที่มาถืออย่างประเทศอื่นว่า ไลออน ฤๅ สิงโต นี้เองคือราชสีห์ ฉนี้ พึ่งมาปรากฏต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ แต่มีความปลาดอยู่ในเรื่องพระราชพงษาวดารว่า เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศที่เรียกพระที่นั่งสุริยามรินทรนั้น แขกฤาฝรั่ง ชื่อ อะลังกะปูนี ได้เอาสิงโตเข้ามาถวาย ถ้าหากเกิดความเชื่อถือในครั้งนั้นว่า สิงโต ฤา ไลออนเปนอย่างเดียวกับราชสีห หนังราชสีห์ที่มีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ก็เห็นจะเปนหนังสิงโตตัวนั้นเอง แต่ที่เถ้าสาว่าตัวไปได้มาอย่างไรนั้นเปนคนละเรื่อง เหลือวินิจฉัย.

ส่วนแขกหรือฝรั่งที่ชื่ออะลังกะปูนีที่เอาสิงโตเข้ามาถวายนี้ ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็มีกล่าวไว้ว่า ในขณะเกิดสงครามไทย-พม่า ครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตกในปี พ.ศ.๒๓๑๐ มีเรือกำปั่นอังกฤษลำหนึ่งชื่อ อลังกปูนี บรรทุกผ้าสุหรัดเข้ามาขายที่กรุงศรีอยุธยา ได้รับการขอร้องให้ช่วยไทยรบพม่าด้วย เพราะกำลังของพม่าที่ยกมาครั้งนี้มีจำนวนมาก

เรืออลังกปูนีเป็นประเภทเรือสลุบ หรือเรือกำปั่นขนาดเล็ก ใช้สำหรับลำเลียงสินค้า ขณะนั้นก็มีสินค้าอยู่เต็มลำ นายเรือจึงขอขนสินค้าขึ้นฝากไว้บนบกเพื่อเคลื่อนไหวได้คล่อง แล้วล่องลงมาที่กรุงธนบุรี ลอยลำอยู่ที่ปากคลองบางกอกใหญ่ ใช้ปืนใหญ่ที่รายอยู่ตามแคมเรือยิงถล่มกองทัพพม่าที่ยึดเมืองธนบุรีอยู่ พม่าได้ใช้ปืนใหญ่บนป้อมวิชัยประสิทธ์ที่ยึดไว้ยิงต่อสู้ นายเรือเห็นว่ากำลังปืนเป็นรองพม่า จึงถอยกลับไปกรุงศรีอยุธยา ขอยืมปืนที่ใหญ่กว่ามาติดแทน

เมื่อกำปั่นอังกฤษถอยไปแล้ว พม่าก็รุกไปตั้งค่ายที่บางกรวย ตรงข้ามวัดเขมา หมายจะตีเมืองนนทบุรีต่อไป

พอได้ปืนชุดใหม่กำลังแรงกว่าเก่ามา นายกำปั่นอังกฤษก็ขอให้ พระยายมราช ผู้รักษาเมืองนนทบุรี จัดทหารพายเรือยาวลากเรือกำปั่นล่องลงมาในเวลากลางคืน ยิงถล่มค่ายพม่าที่บางกรวยอีก เกือบสว่างจึงถอยเรือกลับไปนนทบุรี ทำเช่นนี้อยู่หลายคืน จนกองทัพพม่าล้มตายลงเป็นจำนวนมาก และไม่อาจรุกคืบหน้าไปยึดเมืองนนทบุรีได้

พม่าโดนถล่มจนไม่มีทางสู้ จึงคิดอุบายหลอกให้ข้าศึกหลงผิด ฉะนั้นในคืนต่อมาพอถูกระดมยิง พม่าก็ทำเป็นแตกหนีทิ้งค่าย ทั้งอังกฤษและไทยก็สำคัญว่าพม่าหนีจริง จึงจอดเรือเข้าฝั่งเริงร่าบุกเข้าค่ายหมายจะจับเชลย ฝ่ายพม่าที่แอบอยู่ในสวนหลังค่าย เห็นไทยกับอังกฤษหลงกล จึงกรูกันออกมาล้อม ไล่ฆ่าฟันทหารไทยตายเป็นจำนวนมาก ล้าต้าของเรืออังกฤษ ซึ่งเป็นตำแหน่งคุมบัญชีเรือ ตายในที่รบ กัปตันเห็นดังนั้นจึงพาคนวิ่งกลับขึ้นเรือแล้วชักใบออกทะเลไป ทิ้งสินค้าไว้ที่กรุงศรีอยุธยา ได้แต่ปืนใหญ่ไปแทน

ฝ่ายพระยายมราชที่รักษาเมืองนนทบุรี เห็นกำปั่นอังกฤษหนีไปแล้วก็ทิ้งเมือง พาทหารถอยไปกรุงศรีอยุธยา กองทัพของพม่าก็ยึดได้เมืองนนทบุรี แล้วรุกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาต่อไป

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของเกร็ดพงศาวดาร เอามาเล่าเพื่อให้เห็นบรรยากาศฉากหนึ่งในอดีต ที่ถูกจารึกไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น