xs
xsm
sm
md
lg

กาแฟสร้างชีวิต! ซีพี ออลล์ ทำจริงเพื่อชาวบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ซีพี รีเทลลิงค์ บริษัทในกลุ่ม ซีพี ออลล์ หนุนเกษตรกรจังหวัดน่าน เดินหน้าให้ความรู้ผู้ปลูกกาแฟ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน พร้อมรับซื้อเมล็ดกาแฟคุณภาพเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้วิธีแบบ ฮันนี่ โพรเซส (Honey Process) ทำให้กาแฟหอมและมีรสหวาน เพื่อนำมาชงเป็นกาแฟสดรสชาติละมุน จำหน่ายในร้านกาแฟ “ออลล์ คาเฟ่” (All Cafe) และร้านกาแฟ “มวลชน” มุ่งหวังสร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 400 ครัวเรือน

อำเภอบ่อเกลือตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ 40 สูงประมาณ 700-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่ราบลุ่มตามลำน้ำและหุบเขาแคบๆ เพียงร้อยละ 1.5 ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้เหมาะสำหรับการปลูกกาแฟ ประชาชนในหมู่บ้านห้วยขาบเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลั๊วะ มีฐานะยากจน ปลูกพืชไร่ไว้สำหรับบริโภค
เมื่อหันมาปลูกกาแฟโดยมี ซีพี รีเทลลิงค์ บริษัทในกลุ่ม ซีพี ออลล์ มารับซื้อกาแฟอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้ที่แน่นอนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยกันปลูกป่าอนุรักษ์ รักษาสภาพป่าที่แวดล้อมพื้นที่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์, รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด กล่าวว่า ซีพี รีเทลลิงค์ เป็นบริษัทในกลุ่ม ซีพี ออลล์ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟ โดยการให้ความรู้เรื่องการปลูกกาแฟเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจร่วมกับพืชต่างๆ ในพื้นที่หมู่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2556 โดยมุ่งเน้นที่พันธุ์อราบิก้า โดยซีพี รีเทลลิงค์ ได้ให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์การผลิตและด้านการตลาด โดยความร่วมมือและดูแลแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานจากภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้, กรมวิชาการเกษตร, กรมพัฒนาที่ดิน, กรมส่งเสริมการเกษตร, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ฯลฯ


“ประชาชนในหมู่บ้านห้วยขาบ มีอาชีพหลักคือการทำงานรับจ้าง หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงเข้าไปส่งเสริมด้านองค์ความรู้และวิธีการปลูกกาแฟ โดยแนะนำให้ปลูกพันธุ์อราบิก้าร่วมกับปลูกพืชชนิดอื่นๆ สำหรับฤดูกาลเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟที่หมู่บ้านแห่งนี้ อยู่ในช่วงเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยซีพี รีเทลลิงค์ จะเป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟที่ผลิตได้โดยให้ราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด 10 เปอร์เซ็นต์ และนำเมล็ดกาแฟที่ได้ไปแปรรูปเป็นกาแฟสดจำหน่ายที่ “ออลล์ คาเฟ่” (All Cafe) ภายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และ ร้านกาแฟ “มวลชน” ช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงสม่ำเสมอให้กับเกษตรกร”



ซีพี รีเทลลิงค์ ยังมีแนวคิดจะทำให้ธุรกิจขายกาแฟเป็นประโยชน์กับสังคมและชุมชน จึงได้จัด “โครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพเพื่อสังคมและชุมชน” ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 เป็นนโยบายการส่งเสริมการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง เปิดอบรมให้กับผู้สนใจเดือนละครั้ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของพื้นฐานการทำธุรกิจร้านกาแฟ ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่การพิจารณาทำเลที่ตั้งร้าน ซึ่งถือเป็นสิ่งปัจจัยสำคัญ การสำรวจตลาดและการเก็บข้อมูลของลูกค้าเพื่อวางแผนและออกแบบการให้บริการที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นับเป็นการวางรากฐานธุรกิจที่มั่นคง ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการอบรมไปแล้วจำนวน 79 รุ่น รวมกว่า 8,500 คน


นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินโครงการ 1 บาท ต่อ 1 แก้ว เป็นโครงการซีเอสอาร์ ที่นอกจากต้องการสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับคนไทยแล้ว ยังต้องการส่งต่อการรับไปสู่การให้อีกทอดหนึ่ง โดยหักรายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มกาแฟมวลชนทุกแก้วทุกเมนู 1 บาท ต่อ 1 แก้ว มอบเป็นเงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ให้กับวัดพระบาทน้ำพุ, วัดสวนแก้ว, และมูลนิธิสุทธาสิณีน้อยอินทร์เพื่อเด็กและเยาวชน ต่อไป


“การดำเนินโครงการเพื่อสังคมต่างๆ เหล่านี้ ซีพี รีเทลลิงค์ มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งยังร่วมพัฒนาในทุกกระบวนการผลิตกาแฟเพื่อเพิ่มคุณภาพและศักยภาพอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จไปด้วยกัน” ดร.นริศ กล่าว

ทางด้าน อาจารย์ปราโมทย์ หมู่พยัคฆ์ ผู้อำนวยการศูนย์ กศน.อำเภอบ่อเกลือ เผยว่า ที่มาของโครงการนี้คือโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ตามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาเยี่ยมบ่อเกลือทุกปี พระองค์ท่านทรงห่วงใยป่าไม้บ่อเกลือที่ถูกตัดทำลายไป พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งทุกปี วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ว่าให้เร่งปลูกป่าและทำให้ชาวบ้านมีรายได้ด้วย


“ความจริง เรามีโครงการปลูกป่าทุกปีอยู่แล้ว แต่ไม่รอด เพราะปลูกในพื้นที่โล่งไม่มีคนดูแล ก็เลยเสนอว่าชาวบ้านบ่อเกลือซึ่งมีพื้นที่ทำกินเยอะครอบครัวละประมาณ 15-30 ไร่ แต่เขามีเป็นแปลงๆ หมุนเวียนกันไปมีอยู่ 5 แปลง ปีแรกเขาจะปลูกแปลงที่หนึ่งก่อนแล้วเว้นไป สอง สาม สี่ ห้า แล้วกลับมาปลูกแปลงที่หนึ่งใหม่ ก็เลยบอกชาวบ้านว่าจะขอคืนพื้นที่สักหนึ่งแปลงเพื่อให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ ปลูกแล้วให้เป็นของเขาเอง เพราะที่ผ่านมาปลูกแล้วไม่ได้ใช้ จะเป็นของกรมป่าไม้ แต่นี่ให้เป็นของชาวบ้านเอง ปลูกเอง ดูแลเอง มันจะรอด แล้วต้องมีการจัดกระบวนการการเรียนรู้ด้วย

“ดังนั้น ที่มาของ กศน. ตรงนี้ก็คือมาให้ความรู้เรื่องกระบวนการปลูกต้นไม้ การดูแลป่าการหวงแหนป่า ถ้าชาวบ้านไม่มีรายได้ก็จะไม่ปลูกไม่มีแรงจูงใจ ก็เลยคิดว่าพืชที่ให้ผลเร็วที่สุดเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับชาวบ้านก็คือกาแฟ เพราะให้ผลผลิตภายใน 3 ปี ปลูกแล้วได้เงินเลย

“ผมอยากจะเรียนตรงๆ ว่า ซีพี รีเทลลิ้งค์ เป็นโอกาสที่จะทำให้ราชการทำงานสำเร็จ เพราะที่ผ่านมา ข้าราชการส่งเสริมให้ทำ แต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการขาย ทำให้ไปไม่รอด แต่เมื่อมารู้จัก ซีพี รีเทลลิ้งค์ ทำให้สามารถช่วยได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ตั้งแต่เริ่มคิด กลางน้ำคือให้ทุนเรื่องการซื้อเครื่องสีกาแฟ ซื้อโรงตากให้ และปลายน้ำก็คือรับซื้อ ซึ่ง ซีพี รีเทลลิ้งค์ จะรับซื้อกาแฟทุกเมล็ดเลย คิดว่าคงจะไปทำกาแฟหลายๆ ระดับ และตรงนี้ก็เป็นที่มาของชื่อกาแฟมวลชนด้วย เกิดจากที่นี่


“เราเริ่มปลูกกาแฟในปี 2556 จนถึงปี 2559 ปลูกไปแล้วประมาณแสนกว่าต้นรอดอยู่ประมาณแปดหมื่นกว่าต้น ถือว่าดีมาก กาแฟเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปี 2558 จนปีนี้ประมาณการไว้ 15 ตัน และเกิดประโยชน์กับชาวบ้าน ชาวบ้านเริ่มดีใจ เริ่มมีรายได้มากขึ้น จึงมีชาวบ้านเข้ามาร่วมมากขึ้นเพราะเห็นจากผลที่ได้รับ และเริ่มจะคัดเลือกคน เนื่องจากทางผู้ใหญ่ได้กราบกราบทูลฯ ให้ กศน. ปลูกและทำเรื่องนี้ บนดอยทุกดอยของบ่อเกลือใน 23 หมู่บ้าน มีครูอยู่ 50 กว่าคนอยู่ในพื้นที่ ซึ่งครูเป็นที่รักของชาวบ้านดูแลเอาใจใส่ชาวบ้าน ก็จะเป็นคนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านเพราะครูได้รับการอบรมจากกรมวิชาการเกษตร จากกรมพัฒนาที่ดิน และไปถ่ายทอดให้กับชาวบ้านอีกทีหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมต่างๆ นี้เข้าไปไม่ได้ ครูก็จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความรู้จากหน่วยงานต่างๆ อันนี้คือกลยุทธของการทำงาน ขณะนี้กลายเป็นความหวัง ความสำเร็จของโครงการ


“เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 สมเด็จพระเทพฯ ท่านเสด็จมา และ เชิญ ดร.นริศ มาเฝ้าด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจ กราบทูลกันต่อหน้าพระพักตร์เลย และชงกาแฟถวาย พระองค์ท่านทรงชิมไป 2 แก้วแล้วถามว่าจะซื้อแน่นะ เพราะท่านก็ไม่มั่นใจ ท่านรับสั่งสุดท้ายก่อนจะเสด็จไป ว่าทำ MOU กันเลยนะ เพื่อความมั่นใจ แต่ผมก็มั่นใจ เลยไม่ได้ทำ MOU กัน (หัวเราะ)



“ตอนนี้มี 23 หมู่บ้านที่ทำกาแฟอยู่ในพื้นที่ ก็จะพยายามกระจายไป ผมกล้ายืนยันได้ว่าเป็นความสำเร็จของโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ คือสร้างป่าด้วย สร้างรายได้ด้วย เพราะกาแฟก็เป็นพืชยืนต้น และปัจจุบันมี 1,700 กว่าไร่ ก็แปลว่ายุติการเผาป่าไปได้ 1,700 ไร่ เพราะต้องดูแลป่า ทำแนวกันไฟ และดูแลกาแฟของเขาด้วย ซึ่งจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองทางครับ”
เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
(ขอบคุณภาพบางส่วนจาก CP All)





กำลังโหลดความคิดเห็น