xs
xsm
sm
md
lg

เขมรถิ่นลี้ภัย นิยมกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

ป้ายเขมรขอต้อนรับ
ในเวลานี้มีผู้ต้องหาและผู้ต้องโทษในคดีอาญาหลายคนหลบหนีไปลี้ภัยอยู่ในเขมร ไม่ว่าในคดีอาชญากรรมหรือคดีการเมือง ต่างก็นิยมใช้เขมรเป็นถิ่นลี้ภัย แม้แต่คนระดับนายกรัฐมนตรีก็เลือกเอาเขมรเป็นช่องทางออกใน “ช่องทางธรรมชาติ” ทั้งทางบกและทางทะเล และไม่ได้นิยมกันแต่ในยุคนี้ ใช้กันมา
ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว

ในระยะไม่ช้าไม่นานมานี้มีใครบ้างคงไม่ต้องเล่า เพราะเป็นข่าวดังอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านี้ อย่างนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุด จนมีฉายาว่า “นายกฯตลอดกาล” คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็เลือกใช้ช่องทางนี้ เมื่อถูกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ลูกน้องคนสนิทวัดรอยเท้า เข้ายึดอำนาจในคืนวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ จอมพล ป.ได้เผ่นออกจากทำเนียบกลางดึก ห้อตะบึงธันเดอร์เบิร์ด รถสปอร์ตสัญชาติอเมริกันคู่ใจ มุ่งไปจังหวัดตราด จากนั้นก็นั่งรำพึงไปในเรือว่า “ต่อไปนี้ชีวิตผมคงมีแต่น้ำกับฟ้า” ไปขึ้นเกาะกง พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามนายกรัฐมนตรี ได้ทำหน้าที่จนถึงที่สุด ไปแจ้งที่ค่ายทหารว่า จอมพล ป.มาขอลี้ภัยการเมือง ให้ช่วยแจ้งสมเด็จนโรดมสีหนุให้ด้วย ทหารลงมาดูหน้าจอมพล ป.ในเรือ เห็นว่าตัวจริงเสียจริง จึงรีบแจ้งไปพนมเปญ แต่ตอนนั้นสมเด็จนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชาที่ลงจากราชบัลลังก์มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประทับรักษาพระองค์อยู่ที่ปารีส จอมพล ป.เลยต้องนอนค่ายทหารเกาะกงอยู่ ๒ คืน พอสมเด็จสีหนุทรงทราบจึงทูลมายังสมเด็จนโรดมสุรามฤต กษัตริย์กัมพูชาผู้เป็นพระราชบิดา ขอให้ต้อนรับจอมพล ป.ในฐานะแขกของพระองค์ เพราะสนิทสนมคุ้นเคยและเคยช่วยเหลือพระองค์ทุกครั้งที่เสด็จไปเมืองไทยยามคับขัน กษัตริย์กัมพูชาจึงส่งเรือรบมารับถึงเกาะกงไปเมืองเสียมราฐ แล้วต่อรถยนต์ไปพนมเปญ ซึ่งสมเด็จนโรดมสุรามฤตจัดให้พักที่พระราชวังของสมเด็จนโรดมสีหนุ ก่อนที่จอมพล ป.จะไปบวชที่พุทธคยา อินเดีย และไปใช้ชีวิตสงบบั้นปลายจนอสัญกรรมที่ชานกรุงโตเกียว

ตอนที่เรือรบออกจากเกาะกงมาถึงเสียมราฐ ต้องนั่งเรือกรรเชิงและลุยน้ำขึ้นฝั่ง จอมพล ป.ในชุดสากลได้ถอดรองเท้าแขวนพาดบ่า แต่ยังมีอารมณ์ขันเปรยขึ้นว่า “เหมือนนโปเลียนถูกปล่อยเกาะ”

เมื่อตอนที่จอมพล ป.ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ได้กำจัดศัตรูทางการเมืองมากมาย ตั้งศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิตไปถึง ๑๘ คน แต่ศัตรูคนสำคัญ คือ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ๑ ใน ๔ ทหารเสือคณะราษฎร ผู้วางแผนยึดอำนาจ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แต่แปรพักตร์ไปเข้ากับกลุ่มอำนาจเก่า มีลูกศิษย์ลูกหาและคนรักใคร่มาก ซึ่งล้วนแต่เป็นทหารคนถืออาวุธกันทั้งนั้น จึงได้รับความเกรงใจเป็นพิเศษ ยื่นข้อเสนอให้ว่าจะขึ้นศาลหรือจะลี้ภัย พระยาทรงฯเลือกข้อหลัง จึงถูกจับขึ้นรถไฟสายอรัญประเทศไปลี้ภัยในเขมร พระยาทรงฯไม่ได้สะสมเงินไว้ตอนมีอำนาจ เสนาธิการจากเยอรมันผู้ปราดเปรื่อง คนวางแผนพลิกแผ่นดินเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงต้องผจญชีวิตยากแค้นถึงขั้นโม่แป้งทำขนมกล้วยขาย และจบชีวิตที่ชานกรุงพนมเปญในอีก ๖ ปีต่อมา ด้วยโรคของความยากจน


ก่อนหน้าพระยาทรงฯจะลี้ภัยไปเขมร พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ได้ก่อกบฏและปราชัยจากการปราบปรามของ พ.ท.หลวงพิบูลสงครามคนเดียวกันนี้ ได้ขึ้นเครื่องบินเล็กหนีไปลี้ภัยในไซ่ง่อน ซึ่งตอนนั้นยังรวมกับเขมรเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศส จากนั้นก็มีนายทหารที่แตกทัพอีก ๓๔ คนเดินทางผ่านศรีโสภณและพนมเปญไปสมทบ ลี้ภัยอยู่ที่นั่นถึง ๑๑ ปีจึงได้รับอภัยโทษกลับมาในสมัยรัฐบาลพลเรือน

เรื่องอื้อฉาวของการลี้ภัยไปเขมรอีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อหม่อมเจ้าหญิงในตระกูลปราโมช หอบทรัพย์สมบัติพร้อมคณะละครหลวงทั้งคณะ ลงสำเภาชักใบหนีไป หลังคลังแสงวังหลวงระเบิดอย่างปริศนา

ผู้ลี้ภัยที่เป็นสตรีรายนี้ ก็คือ หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ธิดาพระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ โอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นต้นตระกูลปราโมช เสด็จพ่อได้นำท่านหญิงฉวีวาดถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯตั้งแต่เด็ก และได้รับการเลี้ยงดูในวังหลวงเสมือนเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่ง เพราะเป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว แต่คนในวังพากันค่อนขอดเรียกว่า “ลูกเธอปลอม”

พอโตเป็นสาว ท่านหญิงฉวีวาดเป็นสตรีที่สวยงาม และมีความคิดทันสมัยตามการเปลี่ยนแปลงของยุคนั้น แต่ก็เป็นคนมีอารมณ์ฉุนเฉียว ตามนิสัยที่เกเรมาตั้งแต่เด็ก คนที่รับรู้รสชาตินี้อย่างดีคือพระองค์เจ้าคัคณางยุคล โอรสในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งหลงรักท่านหญิงและส่งเครื่องเพชรเครื่องทองมากมายเป็นของหมั้น ซึ่งหม่อมเจ้าฉวีวาดก็รับไว้และตอบรับจะแต่งงานกับพระองค์เจ้าคัคณางฯ แต่มาทราบว่าพระองค์เจ้าคัคณางฯมีหม่อมอยู่แล้ว คือหม่อมสุ่น ท่านหญิงผู้ต้องการมีผัวเดียวเมียเดียวแบบตะวันตก จึงยื่นคำขาดให้พระองค์เจ้าคัคณางฯเลิกกับหม่อมสุ่นเสียก่อน แต่หม่อมเจ้าคัคณางฯว่าไม่สามารถทิ้งหม่อมสุ่นได้ แต่จะยกหม่อมเจ้าฉวีวาดเป็นเมียหลวง พอได้ฟังตรงนี้ ท่านหญิงก็นำของหมั้นทั้งหมดสาดออกไปทางหน้าต่าง แล้วไล่พระองค์เจ้าคัคณางฯไป การแต่งงานจึงเป็นอันเลิกล้ม

เมื่อมีเรื่องขุ่นแค้นกับคนวังหลวง หม่อมเจ้าฉวีวาดก็ประชดด้วยการไปสนิทสนมกับวังหน้า ซึ่งกำลังมีเรื่องระหองระแหงกัน จนได้แต่งงานกับพระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ โอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ต่อมาตึกดินซึ่งเป็นคลังแสงของวังหลวงเกิดระเบิดขึ้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้า ร้อนพระองค์เกรงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯต้องทรงสงสัยว่าวังหน้าส่งคนไประเบิดแน่ จึงไปพึ่งนายโธมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ขอหลบภัยอยู่ในบ้านกงสุล แต่ไม่รู้ว่าหม่อมเจ้าฉวีวาดไปเกี่ยวข้องเรื่องนี้อย่างไร ท่านหญิงได้ขนทรัพย์สินส่วนตัว พร้อมกับเอาคณะละครรำของเจ้าจอมอำภา พระมารดาของกรมขุนวรจักรธรานุภาพ ซึ่งเป็นคณะละครที่เป็นครูของคณะละครในวังหลายคณะขณะนั้น รวมทั้งเครื่องแต่งกายและเครื่องดนตรีครบ ลงสำเภาชักใบหนีไปเมืองเขมร ทางวังหลวงส่งเรือกลไฟตามไป แต่เรือก็เกิดเสีย หม่อมเจ้าฉวีวาดจึงหนีไปได้

ขณะนั้นสมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ หรือ นักองราชาวดี ซึ่งประสูติและเติบโตในกรุงเทพฯ เป็นพระสหายในวัยเยาว์กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดมาในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา จึงทรงต้อนรับท่านหญิงอย่างดีในฐานะเจ้านายของไทย และที่หม่อมเจ้าฉวีวาดนำคณะละครไปก็มีจุดมุ่งหมายอยู่แล้ว เพราะนักองราชาวดีโปรดละครอย่างมาก ละครคณะนี้จึงช่วยฝึกละครของราชสำนักเขมรให้รำแบบไทย จนเป็นต้นแบบละครเขมรมาจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ทรงชื่นชมและเสน่หาท่านหญิงฉวีวาดอย่างมาก โปรดให้เป็นพระราชเทวี และมีบุตรกับท่านหญิง ๑ องค์ คือ พระองค์เจ้าพานคุลี

หม่อมเจ้าหญิงฉวีวาดลี้ภัยอยู่ในเขมรตลอดสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๖ จึงกลับมา บวชชีอยู่พักหนึ่ง ก่อนสึกออกมาใช้ชีวิตสงบ และสิ้นชีพิตักษัยในวัย ๘๐ ชันษา

ในวัยชรา ท่านหญิงฉวีวาดมีโอกาสได้เลี้ยงดูหลานป้าที่ชื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โอรสของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ ซึ่งเป็นอนุชาของท่าน

ตอนสมัยกรุงแตกใน พ.ศ.๒๓๑๐ พงศาวดารบันทึกไว้ว่า เจ้าศรีสังข์ โอรสองค์หนึ่งของ “เจ้าฟ้ากุ้ง” เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กวีเอกของกรุงศรีอยุธยา พระชนมายุ ๒๒ พรรษา ก็ลี้ภัยไปเขมรเช่นกัน บาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งเกี่ยวพันการกับการหนีของเจ้าศรีสังข์ ได้เขียนรายงานไปยังกรุงปารีสว่า เจ้าศรีสังข์ไปหลบซ่อนอยู่ในป่า ๓ เดือน จนพม่ายกทัพกลับไปหมดแล้วจึงออกมาที่บางกอก จากนั้นก็เดินทางไปบางปลาสร้อย เมืองชลบุรี พระเจ้าตากสินทรงทราบว่ามีเชื้อพระวงศ์องค์หนึ่งมาอยู่ที่นั่น จึงส่งเรือมารับจะให้ไปจันทบุรี แต่พวกเข้ารีตคริสต์ที่มีความใกล้ชิดชอบพอกับเจ้าศรีสังข์ เกรงว่าเจ้าศรีสังข์จะมีอันตราย จึงพาหนีไปถึงเมืองคันเคาในเขตญวนแล้วต่อไปเขมร พักอยู่กับคณะบาทหลวงซึ่งพาเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินเขมร เมื่อทรงทราบว่าเจ้าศรีสังข์เป็นเชื้อพระวงศ์สายตรงของไทย จึงต้อนรับอย่างดี สร้างที่ประทับให้ พระเจ้าตากสินทรงทราบว่าเจ้าศรีสังข์หนีไปอยู่ที่เมืองคันเคา จึงส่งสาสน์ไปถึงเจ้าเมืองพร้อมพระราชทานปืนให้ ๒ กระบอก ขอให้ส่งตัวเจ้าศรีสังข์กลับมา เจ้าเมืองคันเคาจึงให้บาทหลวงไปตามเจ้าศรีสังข์ พร้อมกับจับบาทหลวงเป็นตัวประกัน เจ้าศรีสังข์รับสั่งว่า “การที่พระยาตากส่งของดีๆมาให้เจ้าเมืองคันเคานั้น ก็เท่ากับซื้อศีรษะข้าพเจ้า”

พงศาวดารเขมรกล่าวว่า เจ้าศรีสังข์เข้าพึ่งบารมีสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี จนสิ้นพระชนม์ที่เขมรในปี ๒๓๑๔

อีกรายในสมัยกรุงศรีอยุธยาเหมือนกัน ตอนพระเจ้าปราสาททองยังเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ อยากจะขึ้นเป็นกษัตริย์ ทุกอย่างก็ปลอดโปร่งหมดแล้ว มีแต่ ออกญาเสนาภิมุข หรือ ยามาด้า เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ที่จงรักภักดีต่อทายาทพระเจ้าทรงธรรม ยังเป็นก้างขวางคอ จึงส่งยามาด้าไปเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชให้พ้นทาง ออกญาเสนาภิมุขเดิมเป็นคนหามเกี้ยวขุนนางญี่ปุ่น เป็นกลาสีเรือเผชิญโชคมาเป็นใหญ่ในเมืองไทย พอได้เป็นเจ้าเมืองก็ย่ำยีข่มเหงราษฎรจนชาวนครเดือดร้อนแสนสาหัส พอดีออกญาเสนาภิมุขไปปราบกบฏปัตตานีมีบาดแผลกลับมา พระเจ้าปราสาททองพระราชทานยามาให้จากกรุงศรีอยุธยา พอ ออกพระมริต น้องชายเจ้าเมืองคนเก่าซึ่งรู้แผนใส่ยาให้ ๒-๓ ชั่วโมงต่อมายามาด้าก็ตาย โอชิน บุตรชายวัยแค่ ๑๘ ปี และมีตำแหน่งเป็น ออกขุนเสนาภิมุข จึงขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน ก่อนอื่นก็จับเจ้าเมืองคนเก่าฆ่า เพราะเชื่อว่าสังหารบิดาของตน จากนั้นก็ข่มเหงย่ำยีราษฎรยิ่งกว่าพ่อเสียอีก เหิมเกริมถึงขนาดจะตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ชาวนครศรีธรรมราชจึงพากันทิ้งเมืองไปส้องสุมหน่วยต่อต้านอยู่ในป่า เมื่อในเมืองร้างผู้คน ซามูไรญี่ปุ่นจึงต้องออกไปหาอาหารนอกเมือง เลยถูกชาวบ้านซุ่มโจมตี เมื่อไม่มีชาวบ้านให้รีดนาทาเร้น หาอาหารก็ลำบาก ออกขุนเสนาภิมุขเห็นว่าอยู่ต่อไปก็มีแต่เสียเปรียบ อาจถูกล้อมตีไม่วันใดก็วันหนึ่ง จึงพาเหล่าซามูไรลงสำเภาชักใบไปเขมร

ที่อื่นก็ไม่ไป แสดงว่าเขมรเหมาะกับการลี้ภัยจริงๆ

นี่ว่ากันเฉพาะรายดังๆ ที่ไม่ดังยังมีอีกหลายราย ส่วนที่หิ้วกระเป๋าเสื้อผ้าจะเข้าไปหลบภัยในเขมร แล้วถูกจับแค่ด่านปอยเปตก็มี เพราะบุญบารมีไม่ถึง เขมรจึงถือได้ว่าเป็นถิ่นลี้ภัยของคนไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนบัดนี้ก็ยังได้รับความนิยมจากทั้งนักการเมืองและอาชญากร ซึ่งเขมรก็ยินดีต้อนรับเช่นเดียวกับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซด์ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น