“ป๋าเปรม”ช่วยปลุกวงการศิลปะให้คึกคัก ระดมนักธุรกิจ หน่วยราชการ ที่มีจิตกุศลใจบุญประมูลผลงานศิลปะ 37 ชิ้น ของศิลปินศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยมได้เงินสูง 62.4 ล้าน เป็นทุนมอบนิสิต-นักศึกษา ระดับ “ตรี-โท-เอก” จาก 39 สถาบันทั่วประเทศ ที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม แต่ยากจน ได้ทุนทำศิลปะนิพนธ์จบการศึกษา วันรับทุนได้ร่วมโต๊ะกาลาดินเนอร์กับผู้สนับสนุน เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ“มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” ได้เปิดเผยว่า เมื่อค่ำ วันพุธที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา กองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ“มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” (กองทุนฯ) ได้จัดพิธีมอบทุนและประมูลประจำปี ๒๕๖๐ เป็นปีที่ ๑๗ โดยมี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษให้เกียรติเป็นประธาน ณ โรงแรม ดุสิตธานี
สำหรับปี2560 มีนิสิต-นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๑๗ คน มาจากสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนในการสร้างสรรค์ศิลปะ จำนวน ๓๙ แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับปริญญาตรีจำนวน ๙๔ ทุน ระดับปริญญาโท จำนวน ๑๘ ทุน และระดับปริญญาเอก จำนวน ๕ ทุน การมอบทุนในครั้งนี้ทำให้มีนิสิต-นักศึกษาศิลปะได้รับทุนจาก “ป๋า” นับแต่ปี 2543 ถึงปัจจุบันผู้ได้รับทุนรวมจำนวน ๑,๒๘๗ คน
จากการติดต่อพูดคุยกับนิสิต-นักศึกษาที่ได้รับทุนพบว่านิสิต-นักศึกษาที่ได้รับทุนและจบการศึกษาออกไปส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพเป็นครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ที่ประสบผลสำเร็จสูงสุด มีตำแหน่งเป็นรองคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ของมหาลัยชั้นนำของประเทศ และมีบางส่วนประสบผลสำเร็จมีชื่อเสียงเป็นศิลปินอิสระ
บุคคลเหล่านี้ได้กลับมาช่วยกองทุนฯ มาช่วยรุ่นน้องๆในรูปแบบต่างๆ เช่นการกลับมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานในกิจกรรมที่มีชื่อว่า “Art Camp” หรือ “ค่ายศิลปะสัญจร” โดยได้ออกค่ายศิลปะร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเพื่อนำไปจัดแสดงและจำหน่ายในนิทรรศการ Art Camp ที่หอศิลป์แห่งชาติ ที่จัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อนำรายได้นี้สมทบกลับเข้ากองทุนฯมอบให้นิสิต-นักศึกษารุ่นต่อไป
ขณะเดียวกันกลุ่มอดีตนิสิต-นักศึกษาที่ได้รับทุนที่เป็นครูอาจารย์หรือศิลปินอิสระที่มีชื่อเสียงก็ได้รับการคัดเลือกให้ส่งผลงานเข้าร่วมประมูลในงานประมูลประจำปีของกองทุนฯ ซึ่งในปีนี้มีจำนวน ๑๒ คน จากผลงานที่ได้เตรียมไว้ที่จะนำขึ้นประมูล ๓๗ ผลงาน
งานประมูลช่วงค่ำวันนั้น เริ่มด้วยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษได้ให้เกียรติมาเป็นประธานมอบเหรียญเชิดชูเกียรติให้กับนักธุรกิจและหน่วยราชการจำนวนทั้งสิ้น ๒๙ รายที่ร่วมประมูลผลงานศิลปะของกองทุนฯ มาอย่างต่อเนื่องทำให้กองทุนฯ มีเงินมอบทุนให้กับนิสิต-นักศึกษามาโดยตลอด
แล้วก็ต่อด้วยการประมูลทันที่โดยคุณเยาวณี นิรันดร ที่ปรึกษาบริษัท คริสตี้ส์ อ๊อกชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินการประมูล
การประมูลเริ่มขึ้นเมื่อเวลา ๒๐.๒๐ น.และเป็นไปอย่างคึกคักตลอดระยะเวลาชั่วโมงกว่าๆ เพื่อเสนอราคาประมูลให้ได้ผลงานของศิลปินแห่งชาติจำนวน ๙ ผลงาน ศิลปินอาวุโสที่มีชื่อเสียงและศิลปินรุ่นใหม่ที่เป็นอดีตนิสิต-นักศึกษา ๑๒ ผลงานไปสะสม โดยการแข่งขันการประมูลเสนอราคาสูงสู้กันนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าเป็นการสร้างกุศลให้กับนิสิต-นักศึกษาให้ได้รับทุนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ในการแข่งขันเสนอราคาประมูลในค่ำคืนนั้น ที่ต้องจ่ายสตางค์ไปเป็นเงินมหาศาลอันดับแรกคือ คุณสวัสดิ์ หอรุ่งเรื่อง เจ้าของวลีดัง “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ได้สร้างกุศลให้กับการประมูลครั้งนี้เป็นเงิน ๑๘,๓๐๐,๐๐๐ บาท สูงเป็นอันดับหนึ่ง และสูงเป็นปีที่ ๒ ติดต่อกันจากปี ๒๕๕๘ ที่เคยทำสถิติไว้ว่าได้ใช้เงินประมูลในงานนี้เป็นยอดเงินราว ๑๕ ล้านบาท
ส่วนนักสะสมศิลปะและนักสร้างกุศลอันดับที่ ๒ เป็นค่ายของ บริษัท คิงเพาเวอร์ ที่ คุณวิชัย ศรีวัฒน
ประภา ได้ส่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวน คุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา มาแทน คนหนุ่มไฟแรง ได้ใช้เงินสร้างกุศลไปเป็นยอด ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาทถ้วน และก็ยังครองตำแหน่งรองแชมป์เป็นปีที่ ๒ หลังจากที่ใช้เงินประมูลปี ๒๕๕๘ ไปราว ๑๐ ล้านบาท
แชมป์อันดับ ๓ เป็นของ“ไอร่า” (AIRA) ของคุณนลินี งามเศรษฐมาศ นักธุรกิจ นักสะสมศิลปะและ นักสร้างกุศลใช้เงินไป ๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งก็เป็นยังครองตำแหน่งอันดับ ๓ ของการประมูลรายการนี้ หลังจากที่ปี ๒๕๕๘ ได้ใช้เงินประมูลไปราว ๕ ล้านบาท
ส่วนอันดับ ๔ ของการประมูลรายการนี้เป็นของอดีตรัฐมนตรี พินิจ จารุสมบัติ ที่งานนี้มาสู้เพื่อให้ได้และก็ได้จริงกับผลงานของศิลปินแห่งชาติ ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง มียอดเงินประมูลรวมทั้งสิ้น ๔,๔๐๐,๐๐๐ บาท และอันดับที่ ๕ เป็นของ “ช่อง ๗ สี” ทีวีเพื่อคุณ โดยการนำของคุณพลากร สมสุวรรณ ที่นำทัพมาสร้างกุศลด้วยตัวเอง ทำบุญกับรายการนี้ ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท
สำหรับผลงานที่ทำยอดประมูลได้สูงสุดคือภาพหน้าปกของสูจิบัตรประมูลประจำปี ๒๕๖๐ ที่เป็นผลงานของ “จารุวัตร บุญแวดล้อม” อดีตเด็กทุนปีแรกที่จบจากคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร ผลงานมีชื่อว่า “ในหลวงของเรา” ที่คุณอัยยวัฒน์ “คิงเพาเวอร์” ต้องสู้กับ “อาหวัด”(สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง) ถึงได้ผลงานนี้ไปด้วยราคาประมูลสูงสุดที่ ๕,๕๐๐,๐๐๐ บาทถ้วน
เจ้าของผลงานชิ้นนี้ได้บอกเล่าถึงรายละเอียดการสร้างสรรค์งานว่าตนเองทำด้วยความรัก ด้วยความตั้งใจต้องการสร้างสรรค์ผลงานให้เห็นถึงความสง่างามในวัยเยาว์ของพระองค์ตามความประทับใจของศิลปินโดยศิลปินได้บอกเล่าถึงการทำงานในครั้งนี้อย่างไม่ปิดบังและไม่เคยเป็นมาก่อนว่า ขณะที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้น้ำตาลก็ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว ไม่รู้เหตุแต่ก็ต้องทำต่อจนจบ น้ำตาจึงได้หยุดไหล
สำหรับผลงานที่ประมูลได้ราคาอันดับที่ ๒ เป็นผลงานอันดับที่ ๒๗ ของการประมูล เป็นผลงานที่ได้รับการบริจาคมาจากคุณศักดิ์ชัย ยอดวาณิช ที่มีชื่อ “คีตราชันต์” ที่เป็นผลงานหล่อบรอนซ์ ของ ศิลปิน “วัชระ ประยูรคำ” ที่เป็นผลงานปลอบใจของ “อาหวัด”ที่อกหักมาจากผลงานที่แล้ว ก็มามีโชคได้ผลงานนี้ที่ราคา ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท
ส่วนผลงานที่ประมูลได้ราคาอันดับที่ ๓ เป็นผลงานขนาดใหญ่ของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติที่มีชื่อ “เสด็จออกบวช” ที่คุณนลินี งามเศรษฐมาศ แห่ง “ไอร่า” ประมูลได้ไปที่ราคา ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท ภาพผลงานโดยรวมมีพื้นสีเหลืองทองเป็นพื้นหลักที่สะท้อนถึง “ธรรมะ” มุมขวาเห็นคนจูงม้าขาวตัวงามแสดงถึงการออกเดิน มุมซ้ายมีใบโพธิ์สัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้ากระจายอยู่ราวกับต้นโพธิ์ สื่อความหมายให้เห็นการเดินทางสู่การบรรลุธรรมที่งดงาม เรียบง่าย ควรค่าแก่การสะสมเป็นอย่างยิ่ง
ผลงานในค่ำคืนวันนั้นถูกนำขึ้นประมูลมีจำนวน ๓๗ ผลงานที่เต็มได้ความคึกคักของเสียงเชียร์ สลับการเคาะราคาของผู้ทำประมูล จนเวลาล่วงเลยไปราว ๒๑.๓๐ น. เสียงค้อนเคาะประมูลจึงหยุดลง พร้อมเสียงประกาศถึงยอดรวมการประมูลในคืนนั้นว่ามียอดรวมทั้งสิ้น ๖๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท ที่เป็นยอดการประมูลสูงที่สุดของการประมูลครั้งนี้
นอกจากยอดเงินจำนวนมาหาศาลที่เป็นเงินกึ่งบริจาคเพื่อช่วยนิสิต-นักศึกษาเพื่อให้ได้รับทุนแล้ว นิสิตนักศึกษา ที่ได้รับทุนในปีนี้รวมทั้งสิ้น ๑๑๗ คน ยังได้มีโอกาสร่วมโต๊ะกับผู้ใหญ่ใจดี ที่เป็นนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของประเทศที่ยกมูลประมูลไป พร้อมกับได้รับฟังประสบการณ์ของแต่ละท่านที่บอกเล่าให้นิสิต-นักศึกษาได้รับฟังอย่างไม่มีช่องว่างระหว่างกันในเวลาชั่วโมงกว่าๆ ที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว สมเจตนารมณ์ของ “ป๋า” ที่ต้องการลงมาช่วยลดช่องว่างให้สังคม ต่อไป