xs
xsm
sm
md
lg

ผลไม้ไทยที่นิยมทั่วโลกขณะนี้ สมัยกรุงศรีอยุธยาฝรั่งยังไม่รู้จักกันเลย! แต่ยอมรับว่าอร่อยกว่า!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ต้นทุเรียนที่ลาลูแบร์ว่ามีกลิ่นอันเลวร้าย
ในปี พ.ศ.๒๒๓๐ พระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ได้ส่ง ไซมอน เดอ ลา ลูแบร์ เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีภารกิจสำคัญที่จะเปลี่ยนศาสนาพระเจ้ากรุงสยามให้ได้ แม้ลาลูแบร์จะไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่ แต่จากการเป็นคนช่างบันทึก ซึ่งมักจะมีอยู่ในนิสัยชาวตะวันตกทุกคนที่เดินทางเข้ามาในยุคก่อนๆ ทำให้รู้เรื่องราวเหตุการณ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยามากจากบันทึกของชาวต่างประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะบันทึกของลาลูแบร์ที่ค่อนข้างละเอียดในแง่มุมต่างๆ แต่ทว่าด้วยความเข้าใจไม่ลึกซึ้ง ก็เลยทำให้ความจริงผิดเพี้ยนไปบ้าง

อย่างภาพประกอบในเรื่องนี้ ลาลูแบร์จำแล้วไปถ่ายทอดให้ช่างเขียนในยุโรปวาดออกมา รูปร่างหน้าตาของต้นทุเรียน ต้นกล้วย เลยออกมาแบบนี้ ส่วนคำบรรยายในหนังสือนั้น ยิ่งแสดงว่าลาลูแบร์รู้จักผลไม้เมืองสยามน้อยมาก โดยบรรยายไว้หลายอย่าง เช่น
ต้นกล้วยในสายตาราชทูตฝรั่งเศส
กล้วยหอม ชาวสยามเรียกว่า “กล้วยงาช้าง” มีขนาดเกือบเท่ามะเดื่อ แต่ยาวกว่าและเขียวกว่า ด้านข้างแบนและมีเหลี่ยม ออกเป็นเครือ หรือเรียกให้ถูกก็ออกเป็นพวง เมื่อถูกเผาก็อ่อนป้อแป้เสียรสหวานไป เหมือนแอปเปิลสุกคาต้น

ขนุน รูปร่างเหมือนแตงไทยขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยจะกลมนัก เนื้ออยู่ใต้เปลือกสีเทาตะปุ่มตะป่ำเป็นหนังหุ้มปกหนังสือ มีเม็ดในมากขนาดเกือบเท่าไข่นกพิราบ เมื่อเอาไปเผาหรือต้มรสชาติและความแน่นของเนื้อเหมือนเกาลัด ข้าพเจ้าว่าอร่อยกว่าเกาลัดเสียอีก ส่วนเนื้อมีสีเหลือง ฉ่ำและนุ่มกับเหนียวนิดๆ เราไม่รู้จักวิธีเคี้ยวมัน ได้แต่ดูดเอารสหวานเท่านั้น

ทุเรียน เป็นผลไม้ที่นิยมกันมาก แต่ข้าพเจ้าทนไม่ไหวกับกลิ่นอันเลวร้ายของมัน

สับปะรด รูปพรรณเหมือนลูกสนขนาดมหึมา มีเปลือกเป็นเกล็ดเล็กๆ ซ้อนกันอย่างมีระเบียบ เมื่อสุกดมดูกลิ่นเหมือนแอปเปิลสุก เชื่อกันว่าไม่เหมาะกับการบริโภค เพราะน้ำของมันกัดแม้แต่สนิมเหล็ก

มะม่วง มีรสชาติเหมือนผลพีชกับแอบริคอทรวมกัน ข้าพเจ้าเคยเห็นบางลูกมีขนาดใหญ่เท่ามือของเด็ก แต่เนื้อติดแน่นอยู่กับเมล็ดแบนๆ ต้องใช้ดูดเท่านั้น

มะพร้าว เป็นผลไม้จำพวกนัท แต่ใหญ่โตเกินกว่าจะเป็นนัทได้ ภายในมีน้ำรสดีอร่อยมาก เมื่อกะเทาะลูก น้ำจะกระเซ็นไปไกล
เครื่องแต่งกายขุนนางและชาวบ้านกับที่อยู่ของชาวสยาม
อย่างไรก็ตาม นิโคลาส แชร์แวส ชาวฝรั่งเศสอีกคน ได้บันทึกไว้ว่า
“ผลไม้ในกรุงสยาม ส่วนมากมีรสหวานแหลมกว่า และมีรสชาติดีกว่าผลไม้ของเรา”

แม้จะบันทึกไว้ด้วยความไม่เข้าใจ ใช้สายตาคนตะวันตกมองตะวันออกโดยไม่ได้ศึกษาให้
ลึกซึ้ง แต่เราก็ได้ประโยชน์จากบันทึกเหล่านี้ อย่างน้อยในเรื่องนี้เราก็ได้รู้ว่า กล้วย สับปะรด มะม่วง ซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วโลกในขณะนี้ แต่ตอนสมัยกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งยังไม่รู้จักกันเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น