ไทยกับจีนมีความผูกพันและติดต่อกันมาอย่างยาวนาน มีการติดต่อค้าขายกันโดยตลอด และมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทย กระทั่งมีคำกล่าวว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้พัฒนาเป็นรูปธรรมมากขึ้นในหลายๆ ด้าน แม้จะมีระบบการปกครองแตกต่างกัน และในอนาคตประเทศไทยก็จะมีรถไฟความเร็วสูงที่ใช้นวัตกรรมสุดล้ำจากจีนมาให้บริการในประทศไทย โดยเริ่มจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดนครราชสีมาเป็นสายแรก
ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะผู้แทนสื่อมวลชนไทยในนามของสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน นำโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชานจีนเพื่อศึกษาดูงานรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และ สำนักข่าวซินหัว เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างจีนกับไทย เยี่ยมชมโรงงานรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีนแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
เยี่ยมชมฐานการผลิตและวิจัยของบริษัท CRRC QINGDAO SIFANG CO., LTD. ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนในเขต Chengyang ของเมืองชิงเต่า ชมกระบวนการออกแบบและการผลิตของอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ขบวนรถมีอุปกรณ์การขนส่งทางรถไฟที่สมบูรณ์แบบและทันสมัย ซึ่งจีนจัดเป็นประเทศอันดับแรกของโลกนับตั้งแต่ศตวรรษ 1990
จีนเริ่มมีการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูงบนพื้นฐานของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แม้ในเขตที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์อันสลับซับซ้อน รวมถึงภูมิอากาศที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ สะสมเทคโนโลยีควบคู่กับการศึกษาเรียนรู้จากรถไฟที่ทันสมัยทั่วโลก พร้อมกับการสร้างนวัตกรรมด้วยตนเอง โดยยึดหลักสภาพความเป็นจริงของชาติ จึงได้พัฒนารถไฟความเร็วสูงที่สมบูรณ์แบบ วิจัยและผลิตอุปกรณ์ ระบบความปลอดภัย การโยธาก่อสร้างและการบริหารดำเนินการ ต่างก็อยู่ในระดับแนวหน้าของโลก
งานวิจัยและผลิตของการรถไฟความเร็วสูงของจีนสามารถตอบสนองทั้งด้านความเร็ว ประหยัดทั้งทางด้านต้นทุนและเวลา รวมถึงด้านโลจิสติกส์ ตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้บริโภค และในอนาคต ทางบริษัทฯ ก็จะมีการพัฒนาระบบความเร็วให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีกจนถึง 600 km/h อีกด้วย
นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เผยถึงวัตถุประสงค์ของโครงการในครั้งนี้ว่า ต้องการจะเสริมสร้างให้นักข่าวไทยได้รู้จักประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมา คนไทยใกล้ชิดกับคนจีนมาก แต่ถ้าถามถึงนักข่าวไทยรู้จักเรื่องของจีนนั้นถือว่ายังน้อยมาก เป็นเพราะว่าสื่อไทยรับข้อมูลผ่านสื่อตะวันตกเป็นหลัก และอุปสรรคอีกข้อหนึ่งก็คือเรื่องภาษา
“การที่ตั้งสมาคมขึ้นมา เพราะว่ามีการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดให้นักข่าวไทยได้รู้จักกิจกรรมที่เกี่ยวกับเมืองจีน เช่น เวลามีประเด็นสำคัญๆ ก็จะจัดงานสัมมนา ในช่วงสองปีก่อน ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ก็จัดสัมมนาใหญ่ซึ่งมีทุกปีและในระหว่างปีก็มีกิจกรรมเล็กเป็นเสวนาโต๊ะกลม เช่น เสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน เพราะว่าสองปีที่ผ่านมา มีประเด็นเรื่องทัวร์ 0 เหรียญ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยมาเป็นอันดับ 1 จึงให้ความสำคัญหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย
“ในส่วนของนักข่าว ปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกอยู่ 100 คน เราไม่ได้เน้นปริมาณมาก ซึ่งใน 100 คน มีสมาชิกจีนอยู่ประมาณ 30% ที่เหลือนอกนั้นเป็นนักข่าวไทยจากหลากหลายสาขา มีทั้งทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์รายวัน แม็กกาซีน หรือออนไลน์ ถามว่าครบทุกสื่อเลยไหม? ตอบว่ายัง แต่ว่าสื่อหลักๆ ตอนนี้ก็เข้ามาเป็นสมาชิกซึ่งสมาคมฯ ได้ก่อตั้งมาแล้ว 3 ปี โดยเริ่มจากปี 2014
“สำหรับการมาเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถไฟความเร็วสูงในครั้งนี้ ผมได้เห็นเรื่องการพัฒนาการขนส่งของจีนดีมากและรวดเร็วมากจากในอดีต ตอนนี้ก็ถือว่าจีนเป็นเบอร์ 1 ของเรื่อง High speed และเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก ในอดีตคือญี่ปุ่น แต่เดี๋ยวนี้ถือว่าจีนแซงหน้าไปไกลแล้ว ต้องเรียกว่าเป็นความคาดหวังของหลายๆ ประเทศ ที่จะใช้ไปในเรื่องการพัฒนาระบบการขนส่ง เพราะเดี๋ยวนี้หลายประเทศไปพัฒนาการขนส่งทางด้านรถยนต์
“ในขณะที่จีนพัฒนาการขนส่งทางด้านราง ทางด้านรถยนต์ ปัญหาก็คือการจราจรทุกเมืองใหญ่่เจอปัญหาหมด การขนส่งทางราง เป็นการแก้ปัญหาได้ส่วนหนึ่ง เมื่อจีนสามารถพัฒนาเรื่องความเร็วได้และสามารถลดต้นทุนได้ เชื่อว่าจะตอบโจทย์ได้ระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในประเทศเท่านั้น แต่จะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของ “อิ๊ไตอิ๊ลู่” One Belt One Road หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เป็นการขายความคิดในการเชื่อมโยงการขนส่งคมนาคมระหว่างประเทศ เมื่อนำเรื่องนี้มาใช้ร่วมกัน จึงกลายเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ซึ่งผมก็อยากจะนั่งรถไฟจากไทยมาถึงจีนเช่นกัน
“ส่วนโครงการจัดสัมมนา “อิ๊ไตอิ๊ลู่่” One Belt One Road หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจระหว่างไทย-จีน ทางสมาคมฯ มีแผนจะจัดเป็นงานนิทรรศการและสัมมนาใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและให้เห็นภาพที่ชัดเจน โดยมีเรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ เพราะค่อนข้างเป็นรูปธรรมของการเชื่อมโยงภูมิภาค อย่างเร็วคือกลางปีหน้่าซึ่งอาจยังต้องรอดูความพร้อมและความชัดเจนอีกทีครับ”
ทางด้าน “จาง เฉิง” (ZHANG CHENG) รองผู้อำนวยการแผนกการเมือง สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการเป็นเจ้าภาพเชิญสื่อมาวลชนมาประเทศจีนในครั้งนี้ว่า อยากจะส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกันก็อยากจะให้พี่น้องประชาชนชาวไทยมีความรู้จักกับรถไฟความเร็วสูงจีนมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ “Ding Lei” Analyst ของสำนักข่าวชินหัว Xinhua News Agency กล่าวว่า “แผนกของฉันคือ Xinhua Silk Road ซึ่งเน้นที่ Belt and Road Initiative การเดินทางครั้งนี้ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย, สมาคมผู้สื่อข่าวไทย - จีน และ “Silk Road” ซินหัวภายใต้สำนักข่าวซินหัวได้ให้ความร่วมมือกัน นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถไฟความเร็วสูง ฉันได้ใช้รถไฟความเร็วสูงนับไม่ถ้วน แต่ครั้งนี้ต่างออกไปเป็นการเยี่ยมชมโรงงาน ทำให้รู้สึกประทับใจกับเทคโนโลยีและรู้สึกเป็นความภาคภูมิใจของจีน และยินดีที่ได้ต้อนรับทุกคนค่ะ”
นอกจากคณะผู้แทนสื่อมวลชนไทยได้เยี่ยมโรงงานผลิตรถไฟความเร็วสูงของบริษัท CRRC QINGDAO SIFANG CO., LTD. โดยได้รับเกียรติในการการต้อนรับจาก Mr. Gong Ruiming รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายธุรกิจในต่างประเทศ ของบริษัทฯ ที่เมืองชิงเต่าแล้ว ในระหว่างที่อยู่ปักกิ่งก่อนที่จะเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงมาเมืองชิงเต่านั้น คณะผู้แทนสื่อมวลชนยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมหน่วยงานสำคัญๆ ของจีน เช่น สำนักงานของสำนักข่าวชินหัว Xinhua News Agency และ สถานีโทรทัศน์ CCTV รวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินของศูนย์กาชาดสากลปักกิ่ง (999) โดยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย - จีน และ สำนักข่าวซินหัว Xinhua News Agency เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมืออันดีระหว่างจีนและไทยเพิ่มมากขึ้น
สำนักงานของสำนักข่าวชินหัว Xinhua News Agency
สถานีโทรทัศน์ CCTV ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
รวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือฉุกเฉินของศูนย์กาชาดสากลปักกิ่ง (999)
เรื่อง/ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
(ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Mr.Zhao Bing สำนักข่าวซินหัว)