xs
xsm
sm
md
lg

“โลหะปราสาท” สร้าง ร.๓ เสร็จ ร.๙! แห่งเดียวในโลกที่เหลืออยู่!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

โลหะปราสาทหลังลานเจษฎาบดินทร์
ถ้าผ่านไปทางผ่านฟ้า หัวถนนราชดำเนินกลาง จะเห็นโบราณสถานที่เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของกรุงเทพมหานครอีกอย่าง คือ “โลหะปราสาท” สิ่งก่อสร้างที่แปลกตา วันนี้เป็นสีทองเหลืองอร่าม และวิจิตรงดงามด้วยศิลปะไทย อยู่ด้านหลังลานเจษฎาบดินทร์ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโลหะปราสาทหลังนี้ไว้ ซึ่งเป็นโลหะปราสาทหลังที่ ๓ ของโลก และเป็นหลังเดียวที่ยังคงเหลืออยู่

โลหะปราสาทหลังแรกสร้างขึ้นในสมัยพระพุทธองค์ โดย นางวิสาขา สร้างขึ้นถวายพระพุทธเจ้าให้เป็นที่พักสงฆ์ และเนื่องจากปราสาทหลังนี้มียอดเป็นโลหะจึงเรียกกันว่า “โลหะปราสาท” ตามที่ชาวชมพูทวีปในยุคนั้นเรียกอาคารที่มีส่วนบนเป็นโลหะ

ต่อมาราว พ.ศ.๓๘๗ พระเจ้าทุฏฐคามมณีอภัย กษัตริย์ผู้ครองกรุงลังกา ได้จำลองแบบโลหะปราสาทหลังแรกที่อินเดียนี้ไปสร้างที่ลังกาบ้าง เป็นอาคารหลังใหญ่โต ด้านหนึ่งกว้างถึง ๗๕ เมตร มีเสาหินพันกว่าต้นรองรับตัวปราสาทซึ่งเป็นเรือนไม้ ฝังประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง สูง ๙ ชั้น ชั้นหนึ่งๆ มียอดชั้นละ ๑๐๐ ยอด มีห้องทั้งหมด ๑,๐๐๐ ห้อง หลังคามุงด้วยอิฐทองแดง เรียกว่า“โลหะปราสาท” อีกเหมือนกัน
ยอดโลหะปราสาทขณะถูกรมดำ
โลหะปราสาทของลังกานี้ใช้เป็นที่จำพรรษาของสงฆ์ตามลำดับชั้น โดยองค์ที่มีสมณะสูงสุดจะต้องขึ้นไปอยู่ชั้นบนสุด และลดลั่นลงมาตามลำดับ แต่เนื่องจากหลังคามุงด้วยทองแดงจึงถูกฟ้าผ่าเป็นประจำ ในที่สุดก็เกิดไฟไหม้จนหมด เหลือแต่เสาหิน ๑,๖๐๐ ต้นในพื้นที่ ๕,๖๒๕ ตารางเมตร

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภจะสร้างพระอารามเพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี จึงโปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยายมราช (บุนนาค ยมนาค) อธิบดีกรมนครบาล เลือกหาสถานที่สร้างพระอาราม ซึ่งเจ้าพระยายมราชได้เลือกเอาสวนผลไม้ริมกำแพงเมืองด้านตะวันออก เนื้อที่ ๒๕ ไร่เป็นที่สร้าง เมื่อนำแผนที่ขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ทรงพอพระราชหฤทัย และทรงกำหนดให้มีสิ่งก่อสร้างประกอบด้วย พระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ โลหะปราสาท และกุฏิสงฆ์ หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก ก่อกำแพงอิฐ ๓ ด้าน คือด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ และทิศตะวันตก ส่วนทิศใต้ทำเขื่อนที่คลองหลอด ซึ่งเชื่อมคลองคูเมืองเดิมกับคลองรอบกรุง และเป็นคลองที่กั้นอาณาเขตวัดราชนัดดากับวัดเทพธิดาราม

โปรดเกล้าฯให้ เจ้าพระยายมราช กำกับการสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ
บันไดเวียนภายในปราสาท
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ขณะดำรงตำแหน่ง พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา อธิบดีก่อสร้างว่าการช่างสิบหมู่และช่างศิลา เป็นแม่กองกำกับการสร้างโลหะปราสาท

พระมหาโยธา กำกับการสร้างกุฏิเสนาสนะ กำแพง เขื่อน ตลอดจนตัดถนนทะลุกำแพงพระนครลงสู่ท่าน้ำที่คลองรอบกรุง

สำหรับโลหะปราสาทนั้นได้ทรงส่งช่างจำนวนหนึ่งเดินทางไปลังกา เพื่อศึกษาแบบโลหะปราสาทของพระเจ้าทุฎฐคามมณีอภัยมาสร้าง แต่ทว่าสำเภาไปอับปางกลางทางตายหมดทั้งลำ ทรงส่งช่างชุดใหม่ไปอีก จึงสำเร็จตามพระราชประสงค์

ช่างได้ออกแบบโดยศึกษาจากซากโลหะปราสาทของลังกา และตามลักษณะที่พรรณนาไว้ในหนังสือมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา แต่ได้ปรับปรุงลักษณะให้เป็นสถาปัตยกรรมไทย และลดขนาดลงให้มีส่วนกว้างเพียงด้านละ ๒๓ วา เป็นอาคาร ๗ ชั้น ลดขนาดกันขึ้นไป ชั้นที่ ๓ และที่ ๕ เป็นคูหาและระเบียงรอบ ในชั้นที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นคูหาจตุรมุขมียอดเป็นบุษบกชั้นละ ๑๒ ยอด ส่วนชั้นที่ ๗ เป็นยอดปราสาทจตุรมุข สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รวมยอดทั้งหมด ๓๗ ยอด มีความหมายถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ๓๗ ประการ ซึ่งเป็นปัจจัยให้หลุดพ้นไปสู่นิพพาน ที่เรียกว่า “โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ”
ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุชั้นบนสุด
การนำแบบโลหะปราสาททั้งของอินเดียและลังกามาสร้างใหม่นี้ นอกจากจะทรงศรัทธาในบวรพุทธศาสนา ทะนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังทรงสนพระทัยในสิ่งแปลกที่หาดูได้ยาก จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างไว้คู่บ้านคู่เมือง อย่างเช่นสำเภาที่วัดยานนาวา ซึ่งทรงคาดการณ์ว่าสำเภาจะต้องสูญสิ้นไปด้วยเรือกลไฟ ส่วนการสร้างโลหะปราสาทนอกจากจะถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังจะให้เป็นศิลปกรรมอันวิจิตร แสดงถึงความเป็นยุคทองของศิลปกรรมในรัชสมัยของพระองค์ด้วย

การก่อสร้างโลหะปราสาทซึ่งได้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๘๙ พอมาถึงวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ การก่อสร้างวัดราชนัดดารามยังแล้วเสร็จไม่สมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็สวรรคต ทำให้งานก่อสร้างทุกอย่างต้องชะงักลง แม้ในรัชกาลที่ ๔ จะมีการก่อสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ตลอดจนกุฏิเสนาสนะของวัดราชนัดดาแล้วเสร็จ แต่โลหะปราสาทก็คงค้างคาอยู่แค่นั้นตลอดมา

งานก่อสร้างโลหะปราสาทที่ค้างอยู่ก็คือ ได้สร้างจากรากฐานไปจนถึงชั้นที่ ๗ มียอดครบ ๓๗ ยอดแล้ว แต่ยังมิได้โบกปูน ส่วนตรงกลางก็โล่งจากพื้นล่างจนถึงยอด มีซุงต้นใหญ่ต่อเป็น ๒ ท่อนปักไว้ ๑ ต้น เจาะรูเสียบลูกเดือยเป็นบันไดวน ๖๗ ขั้นเป็นทางขึ้น แต่ยังไม่มีขั้นบันได และยังไม่ได้ถือปูน จึงได้รับผลกระทบจากธรรมชาติ เช่นน้ำฝน ทั้งแช่ขังและอมความชื้น ทำให้มีวัชพืชขึ้นปกคลุม ชอนไชรากไปทั่ว

ใน พ.ศ.๒๕๐๖ หลังจากโลหะปราสาทถูกทอดทิ้งมานานถึง ๑๐๐ กว่าปี รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยทำการบูรณะสร้างต่อให้เสร็จ เพื่อเชิดชูโบราณสถานทางพระพุทธศาสนาให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมืองต่อไป โดยอนุมัติงบประมาณ ๖ ล้านบาท

จากการสำรวจพบว่าโลหะปราสาทอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ปูนก่ออิฐและศิลาแลงหมดสภาพ หลายแห่งพังทลาย บ้างก็แตกร้าวทรุดเอียง แม้แต่ซุงเสาบันได แกนกลางยังผุจนไส้กลวง หมดสภาพเช่นกัน

กรมโยธาธิการได้ทำการบูรณะโดยศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นหลักในการเขียนแบบใหม่ ในที่สุดคณะกรรมการก็ได้ข้อสรุปว่า จะรักษารูปแบบและโครงสร้างเดิมไว้ให้มากที่สุด ส่วนใดที่ปรักหักพัง วัสดุเดิมเสื่อมสภาพ ก็ให้ทำขึ้นใหม่โดยลอกเลียนของเดิม ส่วนใดสูญหายไม่เหลือแม้แต่ซากก็ให้ทำขึ้นใหม่ และอนุรักษ์ยอดบุษบกไว้อย่างละ ๑ ยอดเพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างของเดิมและของใหม่ โดยกำหนดแผนบูรณะที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด คงอนุรักษ์ไว้แต่โครงสร้างเดิมเท่านั้น

โลหะปราสาทซึ่งเริ่มบูรณะ พ.ศ.๒๕๐๖ ในรัชกาลที่ ๙ ได้เสร็จสิ้นลงใน พ.ศ.๒๕๑๕ และมีการบูรณะซ่อมแซม ตกแต่งตลอดมา จะสังเกตเห็นว่าโลหะปราสาทจะเปลี่ยนสีไปเมื่อมีการบูรณะใหม่ในแต่ละครั้ง เดิมโลหะปราสาทเมื่อแรกสร้างนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริจะให้ยอดปราสาทซึ่งเป็นโลหะเป็นสีทอง แต่การสร้างไม่แล้วเสร็จในรัชกาล ต่อมาในปี ๒๕๓๙ จึงมีสร้างต่อเติมจนแล้วเสร็จ และมีการบูรณะอีกหลายครั้ง โดยรมดำยอดปราสาทไว้เพื่อกันสนิม ในปี ๒๕๕๘ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่ และปิดทองที่ส่วนยอดโลหะปราสาทเป็นสีทอง ตามพระราชดำริเดิมเมื่อแรกสร้าง

ปัจจุบัน ยอดบุษบกทั้งหมดของโลหะปราสาทเป็นทอง เปล่งประกายดูงามเด่นสะดุดตา ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โลหะปราสาทอีกมุมหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น