xs
xsm
sm
md
lg

ขุนนางคนกล้าทูลถวาย ร.๕ ทหารเป็นแค่กิ่ง! พ่อบ้านต้องบำรุงการค้า หาเงินมาเลี้ยงคนในบ้าน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
ในระบอบราชาธิปไตย พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชอำนาจที่จะบันดาลลาภ ยศ หรือโทษ ให้ใครก็ได้ตามพระราชอัธยาศัย จะมีขุนนางสักกี่คนจะกล้ากราบบังคมทูลเสนอความคิดเห็น คนที่กล้าเตือน ชี้แนะ หรือคัดค้าน ก็เห็นมีแต่ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เพียงคนเดียว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพอพระราชหฤทัยที่มีขุนนางคนกล้าและจริงใจเช่นนี้

เจ้าพระยาพระเสด็จฯ มีนามเดิม ม.ร.ว.เปีย มาลากุล เป็นบุตรของ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นโอรสของ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาปราบปรปักษ์ โอรสองค์ที่ ๔๙ ของรัชกาลที่ ๒ เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่งเสมียนสามัญ กรมศึกษาธิการ ขณะมีอายุ ๑๗ ปี ได้เงินเดือนๆละ ๓๐ บาท แต่งงานกับ นางสาวเสงี่ยม วสันตสิงห์ ธิดา หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ ซึ่งอยู่ในวัย ๑๗ เท่ากัน มีบุตรธิดาด้วยกันถึง ๑๐ คน

หลังแต่งงานได้เพียง ๓ เดือน เสมียนหนุ่มก็ต้องเดินทางไปต่างประเทศในฐานะของเลขานุการของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เพื่อส่งเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ไปศึกษาที่ยุโรป และถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์แด่พระเจ้ากรุงเยอรมันนี ออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ค พร้อมทั้งประธานาธิบดีของฝรั่งเศส แล้วยังต้องดูงานด้านการทหารทั้งยุโรป อินเดีย และพม่าต่อ

เมื่อกลับมาได้ไม่นาน ก็ต้องเป็นเลขานุการของ สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ไปถวายพระราชสาสน์เยี่ยมเยียนพระเจ้ากรุงญี่ปุ่น แล้วเสด็จไปจีนและญวนอีก

กลับมาครั้งนี้ ได้รับโปรดเกล้าฯบรรดาศักดิ์เป็น หลวงไพศาลศิลปะศาสตร์ ย้ายมาเป็นเลขานุการของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงเข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๓๕ อันเป็นวันก่อตั้งกระทรวงด้วย

ช่วงนี้ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระมนตรีพจนกิจ มีเวลาอบอุ่นอยู่กับครอบครัวบ้าง แต่ก็เพียงปีเดียวเท่านั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ขอตัวไปทำหน้าที่อภิบาลและถวายการสอนหนังสือไทยพระเจ้าลูกยาเธอที่อังกฤษ โดยบรรจุเข้ารับตำแหน่งเลขานุการสถานทูตไทยในลอนดอน

ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่าเห็นใจคุณพระหนุ่มเป็นที่สุด ที่ต้องจากภรรยาสาวไปถึง ๗ ปีเต็ม ไม่มีโอกาสได้เห็นหน้ากันเลย ขณะที่บุตรชายคนโตอายุได้ ๓ ขวบ และคนเล็กครบ ๑ ขวบในวันเดินทางพอดี

ความจริงคุณพระมีสิทธิที่จะนำลูกเมียไปอยู่ด้วยกันที่อังกฤษ แต่เสด็จปู่เกรงว่าหลานที่ไปเติบโตเมืองนอกจะเป็นฝรั่ง ไม่รู้จักขนบธรรมเนียมไทย เลยไม่อยากให้ไป เป็นผลให้คุณพระต้องจากลูกเมียอีกครั้ง และเป็นครั้งยาวนานที่สุดในชีวิต

ตำแหน่งของตุณพระ แม้จะเป็นเลขานุการของสถานทูตไทย แต่หน้าที่อันแท้จริงก็คือ พระอภิบาลของพระเจ้าลูกยาเธอที่ศึกษาอยู่ในยุโรป ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ไปศึกษาทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ฮอลันดา และรัสเซีย ซึ่งคุณพระก็ต้องถวายการอภิบาลทุกพระองค์ และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์

ยิ่งกว่านั้น เมื่อ พระยามหาโยธา (นกแก้ว คชเสนี) บุตรเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ขุนนางเชื้อสายมอญ ซึ่งเป็นอุปทูต ขอลากลับ กระทรวงต่างประเทศก็แต่งตั้งให้พระยาวิสุทธฯเข้ารับตำแหน่งแทน โดยไม่ได้เพิ่มเงินเดือนหรือมีค่ารับรองให้ ทำให้ท่านเจ้าคุณมีภาระหนักขึ้น ที่ยังต้องใช้เงินของตัวเองเป็นค่าเลี้ยงรับรองและออกงานสังคม จนไม่มีเงินส่งมาให้ครอบครัว ทำให้เจ้าคุณหงุดหงิดมาก จึงมีหนังสือเข้ามากราบทูลพระเจ้าอยู่หัวตามลักษณะของตัวเองที่เป็นคนโผงผางและจริงใจอย่างน่ากลัว ด้วยข้อความว่า

วันที่ ๒ เมษายน ร.ศ.๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๔๐)
ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าฯ
ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบถวายบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้าจะได้มีหนังสือฉบับหนึ่งถวายให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เพื่อได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพพระกรุณาโดยทางราชการ เพื่อข้าพระพุทธเจ้าจะขอพระราชทานกราบบังคสทูลถวายบังคมลาออกจากราชการสถานทูตให้เด็ดขาด คงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในการส่วนพระองค์อย่างเดียว ในบัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นสมควรถือโอกาสแห่งพระมหากรุณาธิคุณนั้น กราบบังคมทูลพระกรุณาเหตุผลแห่งความคับแค้นใจที่ไม่สมัครทำงานของราชาธิปไตยด้วยเหตุผลใด คือตัวข้าพระพุทธเจ้าเดิมได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้โดยเสด็จพระบรมโอรสาธิราชแต่เมื่อครั้งยังมิได้ดำรงฐานันดรนี้นั้น ให้ออกมาอยู่ปฏิบัติสนองพระเดชพระคุณ ความดำเนินไปแห่งการที่จัดชั้นนั้น ผลักให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในตำแหน่งตรีทูต เป็นแต่ฝากชื่ออยู่ มาเมื่อพระยามหาโยธากราบบังคมลากลับ ราชาธิปไตยก็จัดการตามธรรมเนียมที่จัดอย่างง่ายที่สุด ซึ่งไม่ต้องคิดอ่านโดยโอบอ้อมอารีหรือรู้คนดีคนชั่ว รู้กำลังงานของคน หรือรู้ทุนรอนของคนเพียงใด เกณฑ์ให้ข้าพระพุทธเจ้าเข้ารับราชการแทนไปตามหน้าที่เท่านั้น ปราศจากจัดการให้สมกำลังการงานและกำลังทุนทรัพย์ และความที่ทำดีทำชั่วของคน ข้าพระพุทธเจ้าก็ทนทานสนองพระเดชพระคุณมาจนป่านนี้ มาบัดนี้โปรดเกล้าฯให้พระยามหาโยธาออกมาในการรับเสด็จสนองพระเดชพระคุณอีกครั้ง จึงเป็นโอกาสอันดีที่ข้าพระพุทธเจ้าจะกราบถวายบังคมลาออกจากราชการทูตให้เด็ดขาด ด้วยประการเหล่านี้คือ
ถ้าพระยามหาโยธากลับมาอีก จะต้องเป็นอุปทูตแทนตำแหน่งอุปทูตที่ข้าพระพุทธเจ้าจะต้องรับ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสิ้นกำลังทุนรอนที่จะปกครองผู้คน และรักษาที่หลวง ของหลวง ทั้งยังไม่มีทุนรอนอันพอที่จะรักษาเกียรติยศและดำรงความเป็นหลักฐานให้สมแก่หน้าที่ราชการ
ตั้งแต่รับราชการมาในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ไม่เคยอยู่ใต้อำนาจขุนนาง และเป็นเด็ดขาดที่จะไม่กรานตนเข้าใต้อำนาจขุนนางตลอดไปจนตราบชีวิตจะหาไม่ เพราะขุนนางทุกวันนี้มีอยู่ ๓ สถาน โดยมากคือขุนนางผู้ใหญ่วัยวุฒิอันควร ก็ปราศจากคุณวุฒิ มักจะใช้แต่ทิษฐิดึงดัน ไม่ถือแต่ชอบผิดชั่วดีเป็นประมาณ ขุนนางหนุ่มที่มีบุญมักเชื่อยศ เชื่อตระกูล มิได้เชื่อความรู้และความชอบธรรม ฝ่ายขุนนางที่มีความรู้วิชา รู้ชอบผิด ก็มักจะเป็นผู้น้อย ซึ่งไม่มีโอกาสจะมาเป็นนายได้อยู่เอง เหตุเช่นนี้คือเป็นความรังเกียจผู้ใหญ่ของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งนัก
ไม่สมัครที่จะทะเลาะวิวาทกับราชาธิปไตย เพราะราชาธิปไตยในทุกวันนี้ยังอยู่ในฐานไม่เอื้อเฟื้อที่จะจัดการให้ดีโดยละเอียด ๑ ไม่รอบคอบ ๑ ไม่เอาใจใส่โอบอ้อมอารี ๑ ไม่รู้คนดีคนชั่ว ๑ ไม่รู้การงานที่เขาทำ ๑ ไม่รู้กำลังกายและกำลังทุนรอนของผู้น้อย ๑ เหตุเหล่านี้จึงเป็นสิ่งตรงข้ามอยู่กับการ คือถ้าใครทำการให้ข้าราชการดีเรียบร้อยเป็นแบบแผนเป็นประมาณ ต้องวิวาทกับราชาธิปไตย ถ้าใครจะรักษาความวิวาทมิให้มีแก่ราชาธิปไตย ต้องปล่อยให้เป็นไปในฐานสุดแล้วแต่การจะสับปรับผันแปรไป
เหตุฉะนี้ ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระมหากรุณาปกเกล้าฯ ชุบเลี้ยงให้สนองพระเดชพระคุณ
อยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยเฉพาะ และมอบกายถวายชีวิตต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สนองพระเดชพระคุณอยู่ตามกำลังของผู้น้อย ปราศจากยศศักดิ์อันใหญ่โต หรือสิ่งใดที่จะเป็นเครื่องประดับยศศักดิ์ต่อไป ขอแต่กำลังที่จะพระราชทานได้เลี้ยงชีวิตและครอบครัวเท่านั้น ดังนี้จะเป็นพระราชบำเหน็จอันเย็นใจที่จะเลี้ยงชีวิตอยู่สนองพระเดชพระคุณสืบบุตรภริยาต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า
วิสุทธสุริยศักดิ์

การวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะปึงปังโครมครามเช่นนี้ นับเป็นเรื่องที่รุนแรงพอสมควร และไม่มีใครกล้าทำมาก่อน แต่พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงรับฟังสิ่งที่เจ้าคุณระบายความอัดอั้นตันใจออกมาด้วยน้ำพระทัยอันกว้างขวาง ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบเพียงสั้นๆว่า

“เราเห็นอยู่ว่าความลำบากที่กล่าวนั้น จะมีแก่ตัวเจ้าจริง แต่จะของดไว้ไม่ตอบเด็ดขาด กว่าจะได้ทราบการทั้งปวงให้ตลอดก่อน”

หลังจากนั้น ท่านเจ้าคุณยังได้มีหนังสือมากราบทูลสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า นับตั้งแต่ออกไปรับราชการต่างประเทศ ท่านได้ส่งเงินมาให้ภรรยาปีละ ๒๐ ชั่งทุกปี แต่ปีที่ผ่านมาซึ่งถูกเกณฑ์ให้รับหน้าที่อุปทูต ต้องควักเนื้อในงานรับรองต่างๆ จนไม่มีเงินจะส่งมาให้ทางบ้าน จึงขอพระเมตตาจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ชุบเลี้ยงบุตรและภรรยาสัก ๒ ปี ซึ่งสมเด็จพระพันปีหลวงได้มีหนังสือตอบไปเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ร.ศ.๑๑๖ ว่า

ถึงพระยาวิสุทธ
ด้วยได้รับหนังสือ ซึ่งฝากลูกคนเล็กมาให้แล้วนั้น
ฉันมีความยินดีและเต็มใจจะอุดหนุนแก่บุตรและภรรยาตามประสงค์ ขอให้ตั้งหน้ารับราชการทางโน้นเถิด ในส่วนเงินที่ต้องส่งเข้ามาเลี้ยงบุตรภรรยา ฉันจะรับให้จนกว่าจะได้กลับมากรุงเทพฯ เมื่อฉันได้รับหนังสือก็ได้เรียกเสงี่ยมมารับเงินไปแล้วเป็นเงิน ๒๕ ชั่ง และถ้ามีธุระอันใดที่เห็นว่าฉันจะช่วยได้ ขอให้บอกเข้ามาเถิด คงจะช่วยไปตามธุระที่ควร เพราะพระยาวิสุทธิก็นับว่าเป็นผู้มีคุณต่อฉันอยู่ แลความรักใคร่ระหว่างฉันกับกรมหมื่นปราบเป็นอย่างไร ก็คงทราบอยู่แล้ว
อนึ่ง ฉันมีปรารถนาจะให้พระยาวิสุทธบอกข่าวคราวลูกตรงถึงตัวฉันเอง ไม่เป็นทางราชการ เป็น
ส่วนเฉพาะตัวที่ควรจะพูดให้เป็นกันเอง จะเป็นที่พอใจมากขอฝากลูกทั้งสองจงมาก ขอได้เมตตาช่วยว่ากล่าวตักเตือนในสิ่งที่ผิดอย่าให้เป็นไปได้ แลแนะนำในสิ่งที่ชอบที่ควร ขออย่าให้เป็นการเผินๆ และเป็นอย่างทางการ ขอให้กล่าวประหนึ่งว่าลูกหลาน อย่าได้มีความเกรงใจเลย ถึงแม้ว่าเวลานี้จะไม่เป็นที่พอใจของลูก นานไปเมื่อรู้สึกดีชั่วตลอดแล้ว ก็คงจะนึกถึงคุณในการที่จะได้รับคำแนะนำโดยความรักนี้เป็นแน่

(พระปรมาภิไธย) เสาวภาผ่องศรี

เมื่อหมดความกังวลทางครอบครัวแล้ว พระยาวิสุทธฯก็ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับงานอย่างเต็มที่ และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่ง อัครราชทูตพิเศษประจำราชสำนักอังกฤษ ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม และอเมริกา เป็นผู้จัดการรับเสด็จฯพระพุทธเจ้าหลวงที่อังกฤษครั้งเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.๒๔๔๐ เป็นราชทูตพิเศษในพิธีราชาภิเษกสมเด็จพระนางเจ้าวิเลมินา แห่งฮอลแลนด์ เป็นอุปทูตสยามไปร่วมประชุมความสงบราบคาบ ณ กรุงเฮก

ตลอดเวลาที่ปฏิบัติราชการต่างประเทศครั้งนี้นาน ๗ ปี พระยาวิสุทธฯได้มีหนังสือกราบทูลและโต้ตอบกับพระเจ้าอยู่หัวเป็นระยะ รายงานถึงความประพฤติและนิสัยใจคอของพระเจ้าลูกยาเธอทุกพระองค์ที่อยู่ในความดูแล ทั้งเสนอแนะว่าควรจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ท่านได้กราบทูลถึงการนอนตื่นสายของพระเจ้าลูกยาเธอ อันเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขมิให้อับอายฝรั่ง จนพระบรมราชินีนาถต้องขอให้ทูลกับพระองค์โดยตรง ตามพระราชหัตถเลขาข้างต้น

พระยาวิสุทธฯยังได้แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจต่อพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาโต้ตอบด้วยความเป็นนักประชาธิปไตย ที่จะรับฟังความคิดเห็นของข้าราชบริพารในพระองค์ โดยไม่ถืออำนาจราชศักดิ์แต่อย่างใด

ในจดหมายของพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ฉบับลงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) มีข้อความกราบทูลตอนหนึ่งว่า

“...ครั้นพระเจ้าลูกยาเธอชั้นใหญ่ ๔ พระองค์ออกมาทรงศึกษาในประเทศยุโรปนี้แต่สิบปีกว่ามาแล้ว ในสมัยนั้นสยามประเทศเป็นเวลามีสุขปราศจากยุคเข็ญ การเล่าเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอชั้นนี้ก็ไม่สู้จะเป็นการกวดขันจำเพาะเจาะจงในทางใด วิธีใด มาตั้งแต่ ร.ศ.๑๑๒ ล่วงมาแล้ว ประเทศสยามได้รับความเบียดเบียนจากราชศัตรูภายนอกล่วงล้ำเข้ามาขู่เข็ญด้วยอำนาจศาสตราวุธ ใจของชาวสยามจึงบังเกิดความรู้สึกชอกช้ำและสะดุ้งสะดุดถึงความที่ละเลยมาแล้ว เป็นเหตุให้ทราบกำลังของบ้านเมืองที่จะต่อต้านความย่ำยีบีทา มาในระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมงกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ได้เสด็จออกมาทรงเล่าเรียน ณ ประเทศนี้มาโดยลำดับ สมัยนี้ความเห็นที่จะจัดการทรงศึกษาจึงรื้อขึ้นเป็นทหารเกือบจะหมด โดยมูลเหตุที่ได้รับความเจ็บแสบมาสดๆ ประกอบกับทางประพฤติของฝรั่งซึ่งหยิบเอามาใช้เป็นถ้อยคำว่า “ขัตติยต้องเป็นทหารหมด” จนจะทำให้พระอารมณ์และความนิยมเลื่อมใสของพระราชกุมารทั้งหลายซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ในเวลาเล่าเรียน และกำลังอ่อนโยนไปง่ายนั้น ฟั่นเฟือนซู่ซ่าไปทางทหารฝ่ายเดียว ความเห็นเช่นนี้เป็นความเห็นอันไม่รอบคอบ และไม่ใช่ความเห็นของพ่อบ้าน หรือความเห็นของผู้จะเป็นพ่อบ้านได้ จึงมองมองไปแต่ทางเดียวไม่ทั่วถึง และยิ่งจะเอามาใช้เป็นวิถีทางแนะนำพระราชกุมารผู้ซึ่งจะทรงเรียนวิธีการดำรงพระองค์อยู่ในที่เป็นพ่อบ้าน จัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองหาสมควรไม่ การปกครองประเทศของบรมกษัตริย์ก็ไม่ผิดอันใดกับการปกครองสถานบ้านของคฤหบดีผู้หนึ่ง ต่างแต่เขตบ้านเป็นเขตเมืองเล็กกับใหญ่เท่านั้น คฤหบดีย่อมมีทางผลประโยชน์ได้เสียมาเลี้ยงดูผู้คนอันเป็นบริวารของตนฉันใด ราชาธิปไตยก็ย่อมต้องจัดทำนุบำรุงการค้าขายและสรรพวิชาที่จะหาผลประโยชน์และทรัพย์สินเงินทองเข้าบ้านเมืองฉันนั้น พ่อบ้านดีก็ย่อมจัดให้มีความสั่งสอนบุตรหลานและบริวารผู้คนในบ้านของตน รู้วิชาและความประพฤติดี ใครเกะกะเป็นพาลก็ดัดสันดานปราบปรามเสื่อมร้ายด้วยอาญา ใครวิวาทบาดหมางกันก็พิจารณาว่ากล่าวตัดสินด้วยยุติธรรม เพื่อตัดความข่มเหงคะเนงร้ายซึ่งกันและกัน ราชการของพระมหากษัตริย์ก็ฉันนั้น คือต้องให้ความรู้ความประพฤติดีแก่ประชาราษฎรในอาณาเขต และต้องจัดการปราบปรามโจรผู้ร้าย วางบทกฎหมายบังคับบัญชาด้วยราชอาญาและราชบำเหน็จอันยุติธรรม การทหารเป็นแต่การกิ่งเดียวของพ่อบ้าน (ว่าโดยผู้ที่อยู่บ้านป่าเมืองดอน) ได้แก่ การที่ต้องมีคนหนุ่มชาย กำลังและอาวุธไว้ต่อสู้ผู้ร้ายปล้นหรือเพื่อนบ้านข่มเหง เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้โดยง่ายว่าการพลเรือนย่อมเป็นการใหญ่ และสำคัญมากมายหลายประการ

ทหารต้องมีเครื่องนุ่งห่มเสื้อผ้าศาสตราวุธ และเสบียงทั้งเบี้ยหวัดเงินเดือน ได้มาจากไหน ทหารของประเทศทุกวันนี้มิใช่เอากำลังและฝีมือไปตีชิงเขามาได้ตามบ้านเล็กเมืองน้อยเช่นทหารแต่ก่อน ซึ่งเรียกว่าทัพโจร หรือศึกเขมร ก็เห็นได้ว่าพลเรือนย่อมเป็นกำลังของทหาร

การพลเรือนย่อมเรียกว่าเป็นหน้าที่สำหรับทะนุบำรุงบ้านเมือง การทหารเป็นการที่จะป้องกันความย่ำยีของราชศัตรูภายนอก การพลเรือนเป็นทางราชการอันพึงกระทำอยู่เสมอ ไม่มีวันสิ้นสุดหยุดเว้น การทหารถ้าไม่มีทัพศึกศัตรูอันใดแล้ว ทหารก็ไม่ต้องการ ทหารเพราะเหตุใดที่ต้องการมี ต้องการไว้สำหรับบ้านเมืองเสมอ ก็เพราะเผื่อการสงครามที่อาจมีมาในวันหนึ่งวันใดก็ได้ ทหารที่ต้องการอยู่เสมอก็เพราะเหตุเช่นนั้น แต่ใช่ว่าทหารจะมีได้ บริบูรณ์ได้ ปราศจากความบริบูรณ์ของการพลเรือนมาเป็นกำลังก็หาไม่...”

เจ้าคุณวิสุทธิฯได้สรุปกราบทูลว่า

“...ถ้าพระราชกุมารทั้งหลายจะลุ่มหลงทรงเล่าเรียนแต่การทหารเสียทั้งหมดตามความเห็นและความนิยม เช่นได้กราบทูลมาในเบื้องต้นจดหมายฉบับนี้แล้ว แรงของความคิดและวิชาที่จะจัดการบ้านเมืองก็จะไปมีกำลังยิ่งยวดอยู่ในหมู่ที่ตั้งใจจะให้ข้าวสุกอย่างเดียว อีกประเดี๋ยวจะแลเห็นว่าน้ำในหม้อไม่เดือด และไฟก็ดับ...”

ทั้งยังกราบทูลเสนอแนะว่า

“...สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทิฆัมพร (กรมหลวงราชบุรีราเมศวร์) พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์บุรฉัตรไชยากร และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ สามพระองค์นี้ ข้าพระพุทธเจ้ามุ่งหมายไว้ว่า คงจะเหมาะกับราชการกรมท่า โยธาธิการ และพระคลัง ฝ่ายพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) นั้น ได้กะไว้แต่ก่อนว่าจะให้ทรงเรียนการทหารเรือ เห็นด้วยเกล้าฯว่าเหมาะอยู่แล้ว เพราะหน้าที่นี้ยังน้อยนัก...”

ในระบอบราชาธิปไตยนั้นยากที่จะมีขุนนางกล้าถวายความเห็นในเรื่องเช่นนี้ แต่สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงเป็นนักประชาธิปไตยที่ยอมรับความเห็นของชนทุกชั้น ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบเจ้าคุณวิสุทธิฯว่า

“...ปัญหาซึ่งวิตกข้อ ๒ ในเรื่องการเล่าเรียนของลูกตามที่พระยาวิสุทธิได้คิดเห็นและกล่าวแล้วในหนังสือฉบับหลัง ได้นึกมานานแล้วว่าลูกอย่างเยี่ยมๆ กล่าวคือมกุฎราชกุมาร ชายบริพัตร เล็ก (พระมงกุฎเกล้าฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ เจ้าฟ้าจจักรพงษ์) ก็เป็นทหารทั้ง ๓ คน คนแรกจะต้องทำการพลเรือนมากกว่าทหาร อีก ๒ คนถ้าหากว่าได้รับราชการฝ่ายพลเรือน ก็คงจะเป็นอย่างที่ได้ราชการมั่นคงแท้ เมื่อเป็นทหารเสียทั้งนั้น กลับมามีโอกาสที่จะหาความดีในทางทหาร เมืองเราไม่มีช่องทางที่จะผาดโผนได้เหมือนการพลเรือน ก็นึกเสียดายอยู่บ้าง

แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้คิดปลงตกตลอดอยู่แล้ว จึงไม่มีความเดือดร้อน กลับเห็นว่าเป็นทางดี คือการเล่าเรียนในประเทศยุโรปที่เป็นโปรเฟสชันแนล จำจะต้องเริ่มแต่อายุ ๑๘ ปีล่วงไปแล้วทั้งสิ้น เมื่อก่อน ๑๗ ปี จะเป็นทหารก็ดี พลเรือนก็ดี จะต้องเรียนหนังสือและเรียนเลขเป็นเบื้องต้น ถ้าเป็นทหารต้องเรียนเลขหนักขึ้น จะต่างกันอีกบ้างก็ในเรื่องการปกครองแลเรื่องการทหาร แต่ความประพฤติกายอย่างดิสปลิน ข้างฝ่ายทหารดีกว่าพลเรือน ต้องหัดอยู่ในบังคับบัญชาตนขึ้นไปจนถึงบังคับบัญชาคน ต้องดริลเป็นเครื่องบำรุงกาย แต่ข้างฝ่ายพลเรือนมีแต่ซักซ้อมฝีปากแลพนันขันต่อ อยู่ลำลองสบายมาก ฝ่ายการทหารมีระเบียบเรียบร้อยดีกว่า

เมื่อเด็กทั้ง ๒ ฝ่ายนี้อายุล่วง ๑๘ ปีขึ้นไปแล้ว ทางเล่าเรียนจึงแยกกันออกเป็นคนละทาง คือฝ่ายทหารก็เรียนไปส่วนทหาร ฝ่ายพลเรือนก็เรียนทางกฎบัตรกฎหมาย...”

พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาอีกตอนหนึ่งว่า

“...แต่ข้างฝ่ายพลเรือนนั้น ไม่มีหลักการอันใดนอกจากความอุสาหะแลความพอใจของผู้เรียนนั้นเอง เพราะถ้าจะไปอยู่ในคอเลชก็ต้องหาครูมาสอน ถ้าตัวอุตสาหะเรียนก็รู้ ไม่อุตสาหะก็ไปไม่ถึงไหน เหมือนปล่อยให้เดินด้วยกำลังตนเอง ก็เด็กมีอายุเพียง ๑๘ ปีขึ้นไปหา ๒๐ จะหาที่มีสติปัญญาที่เรียกว่าดีวิลอปเต็มที่เป็นอย่างดีก็มีน้อย จะหาที่ไม่เพลิดเพลินไปด้วยเล่นก็มีน้อย ได้สนทนากับผู้ที่เข้าใจในการเล่าเรียนทั้งปวงมักจะกล่าวว่า การเล่าเรียนกฎหมายมักไปดีจริงต่อเมื่ออายุ ๒๐ ทั้งสิ้น เด็กภายใต้อายุ ๒๐ ก็เป็นแต่เรียนไปซนๆเช่นนั้น เพราะฉะนี้ การเล่าเรียนของเจ้านายฝรั่งซึ่งเป็นตัวสำคัญจะเป็นเจ้านายไปในภายหน้า เขาจึงจับให้เรียนการทหารเสียก่อน ต่อเมื่อเสร็จการเรียนในทางทหารอายุ ๒๑-๒๒ ปี จึงให้กลับมาเรียนกฎหมายฝ่ายพลเรือน...”

พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ ได้ย้ายกลับเข้ามาเมืองไทยในปี พ.ศ.๒๔๔๒ มีโอกาสได้ใช้ชีวิตอบอุ่นกับครอบครัวอย่างยาวนานเป็นครั้งแรก พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินถนนดำรงรักษ์ให้ และพระราชทานชื่อบ้านที่เจ้าคุณสร้างว่า “วิสุทธิคาม” โปรดฯให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ และรั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนี้เมื่อปลายสมัยรัชกาลที่ ๕

ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯให้เป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการที่รั้งตำแหน่งอยู่ และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

ตลอดเวลา ๒ ปีที่เป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ท่านเจ้าพระยาพระเสด็จฯได้สร้างผลงานให้แก่วงการศึกษาไทยไว้มากมาย และแต่งตำราไว้หลายเล่ม โดยเฉพาะเล่มที่ถูกกล่าวขานกันมากที่สุดจนถึงวันนี้ คือ “สมบัติผู้ดี”

ท่านได้ล้มป่วยลงจนอาการเหนือความสามารถของแพทย์ไทยจะรักษาได้ จึงขอลาไปรักษาตัวที่เกาะชวาของฮอลันดา แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จึงกลับมามารักษาต่อที่กรุงเทพฯ และลาออกจากราชการในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ในปีต่อมาจึงถึงแก่กรรมในขณะอายุได้เพียง ๔๙ ปีเท่านั้น

ในการประชุมครั้งที่ ๓๘ เมื่อปี ๒๕๕๘ ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ลงมติให้ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เป็นบุคลสำคัญของโลก

นอกจากนั้น สิ่งที่ท่านได้สืบทอดไว้ให้วงการศึกษาไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ ศาสตราจารย์ ม.ล.ปิ่น มาลากุล บุตรชายคนที่ ๔ ของท่าน ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการถึง ๔ สมัยติดต่อกัน ได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่วงการศึกษาไทยอีกมากมายเช่นกัน ส่วนท่านผู้หญิงเสงี่ยม มีชีวิตยืนยาวถึง ๘๙ ปี เพิ่งเสียชีวิตใน พ.ศ.๒๕๐๓ มีโอกาสเห็นบุตรชายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเช่นเดียวกับบิดา แต่ท่านว่า

“รัฐมนตรีสู้เสนาบดีไม่ได้ เพราะเข้าๆ ออกๆ กันบ่อย”

ก็จริงอย่างที่ท่านว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น