วันนี้ (6 ธ.ค.) จะเป็นวันที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์ชื่อดัง เปิดตัวคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักระดับโลก “มิชลิน ไกด์” ฉบับกรุงเทพฯ (THE MICHELIN GUIDE BANGKOK 2018) เป็นครั้งแรก ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เวลา 19.30 น.
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ 144 ล้านบาท ให้ ททท.จัดทำโครงการมิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ ตามแผน 5 ปี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ และยกระดับร้านอาหารให้มีคุณภาพทั้งอาหารและบริหารระดับโลก
โดยปีนี้ ททท.ใช้งบประมาณไปจำนวน 9 แสนเหรียญสหรัฐ ปีต่อไปจะใช้จ่ายปีละ 8 แสนเหรียญสหรัฐ
สำหรับคู่มือ มิชลิน ไกด์ จะมีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ภาษา คือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จัดทำเป็นรูปเล่ม และฉบับดิจิตอลที่เว็บไซต์ https://guide.michelin.com/th/bangkok นับเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 6 ในเอเชียที่มีคู่มือมิชลินไกด์เป็นของตนเอง จากทั้งหมด 28 ประเทศทั่วโลก
ที่มาที่ไปของคู่มือ มิชลิน ไกด์ เกิดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2443 หรือเมื่อ 117 ปีก่อน เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ โดยแนะนำข้อมูลโรงแรม และปั๊มน้ำมัน ต่อมาได้ขยายไปที่ประเทศเบลเยียมเป็นประเทศที่ 2 จากนั้นได้เพิ่มข้อมูลร้านอาหารจึงได้รับความนิยมมาถึงปัจจุบัน
จากนั้นในปี พ.ศ. 2469 มิชลินได้ส่งคนไปยังร้านอาหารต่างๆ เพื่อจัดทำเรตติ้งเป็นดาว และเปิดเผยผลการจัดอันดับการให้ดาว ตั้งแต่ 0 ดาว สูงสุด 3 ดาว เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยจะมีผู้ตรวจการ “มิชลิน อินสเปกเตอร์” (Michelin Inspector) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 120 คนทั่วโลก
การให้ดาวจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1 ดาว หมายถึง ร้านอาหารที่ดีสำหรับประเภทนั้นๆ, 2 ดาว หมายถึง ร้านอาหารยอดเยี่ยม คุ้มค่าแก่การมารับประทาน และ 3 ดาว หมายถึง สุดยอดร้านอาหารเด่น และคุ้มค่าที่จะไปลิ้มลองสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ผู้ตรวจการ “มิชลิน อินสเปกเตอร์” มีหน้าที่ไปรับประทานอาหาร แล้วจัดทำรายงานส่งไปยังบริษัทฯ เพื่อพิจารณาการให้ดาว โดยจะต้องปิดบังฐานะของตนเองอย่างใกล้ชิด เสมือนเป็นลูกค้าธรรมดา ถึงขนาดที่ว่าเวลาสำรองที่นั่ง หากร้านอาหารรู้ตัวว่ามาจากมิชลิน ฝ่ายคณะกรรมการจะต้องยกเลิกการจองทันที
นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าแค่มิชลินให้ดาวแล้วจะจบ ร้านอาหารนั้นๆ จะต้องพัฒนาตนเองให้อยู่ในมาตรฐาน โดยคณะกรรมการจะต้องมารับประทานอาหารอีก 4 ครั้ง เมื่อต้องการพิจารณาว่าจะเพิ่มหรือลดดาว และหากต้องการเพิ่มดาวสูงสุด 3 ดาว จะต้องกลับไปที่ร้านอีก 10 ครั้งเพื่อความแน่นอน
แน่นอนว่า หากร้านไหนถูกลดอันดับดาว หรือไม่ได้ดาวในปีถัดไปก็จะกระทบถึงชื่อเสียงของร้านแน่นอน
สำหรับร้านอาหารที่มิชลินจะจัดอันดับการให้ดาว ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ร้านอาหารหรูหรา หรือร้านอาหารสไตล์ตะวันตกเท่านั้น เพราะยังมีการจัดอันดับยันร้านติ่มซำ เช่น “ทิมโฮวาน” (Tim Ho Wan) จากเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้รับมิชลิน 1 ดาว
หรือจะเป็นร้านอาหารข้างทาง (สตรีทฟูด) ก็เคยให้ดาวครั้งแรกที่สิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2559 กับร้าน “ฮิลล์สตรีท ไถหว่า พอร์ก นูเดิล” ย่านคราวด์ฟอร์ด เลน และร้าน “ฮ่องกง โซยะซอส ชิกเกน ไรซ์ แอนด์นูเดิล” ย่านสมิทสตรีท ทั้งสองร้านต่างก็ได้รับมิชลิน 1 ดาวเช่นกัน
สำหรับร้านอาหารในไทยที่จะประกาศผลในเย็นวันนี้ ต้องรอลุ้นว่าร้านไหนจะได้ไป คนไทยและชาวต่างประเทศจะได้มีโอกาสลองลิ้มชิมรสร้านอาหารที่จัดอันดับสักครั้งว่าสมราคากับที่จัดอันดับหรือไม่