xs
xsm
sm
md
lg

จากดาราเด็กในวันวาน กลายเป็นสาวสวยในวันนี้ “แพร-ณัฏฐธิดา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หากใครเคยได้รับชมผลงานละครและภาพยนตร์เมื่อช่วงประมาณ 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ ก็คงจะได้เห็นนักแสดงเด็กหญิงคนหนึ่ง ที่มาพร้อมกับความน่ารักน่าหยิก และรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงบทบาทต่างๆ ที่ได้ถ่ายทอดให้ผู้ชมได้รับชมในแต่ละเรื่องราว และกลายเป็นนักแสดงเด็กในความทรงจำอีกหนึ่งคนในยุคสมัยนั้น ก่อนที่เธอจะหายไปจากวงการเพื่อไปทำภารกิจของตนเองเป็นเวลากว่า 10 ปีต่อมา

มาในปัจจุบัน “แพร-ณัฏฐธิดา ดํารงวิเศษพาณิชย์” จากเด็กหญิงในวันวาน กลายสภาพมาเป็นหญิงสาวในวันนี้ ที่นอกจากจะมีรอยยิ้มอันเป็นภาพจำจากครั้งก่อนแล้ว การมาในวันนี้ของเธอก็ยังมาพร้อมกับความสดใสในช่วงวัยของหญิงสาว และบทบาทของนักแสดงหน้าใหม่ (อีกครั้ง) เช่นกัน ซึ่งเธอก็มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการเป็นนักแสดงด้วยว่า จะต้องเต็มที่กับทุกบทบาทที่ได้รับ โดยถือว่าทุกตัวละครที่เจ้าตัวได้รับนั้น ก็มีความสำคัญในทุกเรื่องราวที่เจ้าตัวได้ร่วมแสดง

 • อยากให้ช่วยย้อนความหลังนิดนึงครับว่า ในช่วงวัยเด็กที่คุณได้เริ่มทำงานในวงการตอนเด็กนั้นเป็นยังไงบ้าง

แพรเริ่มถ่ายละครมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ตอนแรกก็จับพวกงานโฆษณาก่อน ต่อมาก็เริ่มมาถ่ายละคร ทำมาเรื่อยๆ จนอายุ 12 ปี แล้วก็หยุด แล้วเพิ่งกลับเข้ามาตอนอายุ 20 ในตอนเด็ก เราก็รู้สึกว่า เวลาที่ทำงานก็ไม่ได้เหมือนว่าเราทำงานนัก เวลาที่เราอยู่ในกองถ่าย ก็จะเหมือนว่าเราออกไปเที่ยว ไปเล่น เหมือนไปเจอเพื่อนๆ คือส่วนใหญ่การทำงานในตอนนั้น ไม่ค่อยรบกวนเวลาเรียนนะ เราก็เรียนวันจันทร์-ศุกร์ ปกติ คือถ้าต้องหยุดจริงๆ ก็จะหยุดครึ่งวันหลังเลิกเรียน แล้วก็จะไปทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์แทน แล้วเราจะไม่ค่อยได้เที่ยวเล่นในวันสุดสัปดาห์นี้ เราก็จะไปอยู่กองถ่าย แล้วเวลาที่อยู่กอง อย่างที่บอกไปว่า มันไม่เหมือนทำงาน พี่ๆ กอง ก็จะมาเอ็นดูเรา มันก็จะมีความลำบากที่ว่า เราจะต้องตื่นเช้า บางทีนัดกองถ่าย 6-7 โมงเช้า แล้วกว่าจะเลิกอีกทีก็ 4 ทุ่ม

ในช่วงเวลานั้น เราไม่ได้มีความรู้สึกว่า จะต้องไปทำงานอีกแล้ว เราจะไม่รู้ว่า ไปถ่ายละคร ไปทำงานด้วยซ้ำ แต่เราจะมีความรู้สึกว่า เราไปเที่ยวเล่น เหมือนเราไปเจอคนอืกกลุ่มหนึ่งมากกว่า ถ้าเอาตามความทรงจำของเราเลย ก็เป็นเด็กซนๆ คนนึงเลยนะ แล้วพี่ๆ ทีมงานก็จะน่ารักมาก เขาก็จะเลิ้ยงเราเหมือนลูก ผลัดกันอุ้ม เหมือนเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เลยค่ะ อุ้มกันทั้งกอง หรืออย่างเพื่อนๆ นักแสดงด้วยกัน ก็จะพากันเล่น แต่จากนั้นก็ไม่ค่อยมีอะไรนะ เหนื่อยก็นอน หิวก็บอกผู้กำกับว่า พี่หนูหิวแล้ว ประมาณนี้

 • มองในมุมหนึ่ง ถือว่าเราโตจากช่วงวัยเดียวกันด้วยมั้ย

ด้วยความที่เราทำงานมาตั้งแต่เด็ก เราก็จะมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน แต่ ณ ตอนนั้น เราจะไม่รู้ตัว แต่เราจะถูกปลูกฝังว่า ต้องมีความรับผิดชอบ มีวินัย ตรงต่อเวลา นู่นนี่นั่น ก็ทำให้เรามีความคิดที่ว่าโตกว่ารุ่นเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ก็กลายเป็นปัญหาของแพรเช่นเดียวกัน ตรงที่ว่า เพื่อนรุ่นเดียวกันจะไม่ค่อยชอบ เขาจะมองเราว่าเรามีความคิดที่โตเกินไป ทำไมต้องอยากเป็นผู้ใหญ่ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ มันเป็นเพราะว่า เราคลุกคลีอยู่กับผู้ใหญ่เยอะมากกว่า เราได้รับมาทั้งความคิดและคำพูดที่จะโตเกินวัย

 • พอมาเจอเพื่อนๆ วัยเดียวกันในตอนนั้น ที่เขาไม่เข้าใจเรา ถือว่าค่อนข้างยากมั้ยครับ

1 ปีเลยค่ะ ที่ทะเลาะกับเพื่อน (ตอบทันที) คือจะเป็นแบบว่า เราไม่เข้าใจความคิดเพื่อน แต่เพื่อนเขาจะมองว่า เราไม่เข้ากลุ่มเขา คือไม่มาอยู่ด้วยกัน เขาก็จะเป็นแบบว่า ไม่ให้เราเข้ากลุ่มเดียวกับเขา แอนตี้ แต่เป็นแค่ปีเดียว พอมาเจอกลุ่มเพื่อนใหม่ เขาก็เข้าใจเรา แต่ตอนที่เจอปัญหานี่คือ ร้องไห้เลยค่ะ คอยบอกแม่ว่า ไม่อยากไปเรียนแล้ว คือเรารู้สึกว่า เราอยู่กองถ่ายแล้วทุกคนรักเรา แต่พอไปอยู่ที่โรงเรียน ทำไมถึงไม่มีใครมารักเราเลย แต่ก็ไม่ถึงขั้นซึมเศร้านะคะ ยังมีที่บ้านที่ใกล้ชิดนิดนึง ก็จะบอกว่า ถ้าไม่พอใจก็ย้ายไปอยู่อีกห้องก็ได้นะ พอย้ายไปอยู่อีกกลุ่มหนึ่ง เขาก็เข้าใจเรา

 • ปัจจัยที่บ้านที่คอยอบรมสอนเรา ก็มีส่วนด้วยมั้ย ที่ทำให้เราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้

ส่วนใหญ่ที่บ้านก็จะเป็นแนวว่า เอาจริงๆ ที่แพรทำงานมาตั้งแต่เด็ก ที่บ้านไม่เคยบังคับเลย คือด้วยความที่เราชอบเองด้วย มันก็จะเป็นแบบว่า ถ้าชอบก็ทำ ถ้าไม่ชอบเมื่อไหร่ก็หยุด ดังนั้นมันก็เหมือนอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ สนับสนุนหมดเลยที่บ้าน (ยิ้ม)

 • พอเวลาผ่านไป จากวัยเด็กเป็นวัยรุ่น อยู่ดีๆ เราก็หายออกจากวงการไปเลย ทำไมถึงเป็นอย่างงั้น

ใช่ค่ะมีช่วงที่หายไป เพราะว่า หนึ่ง มันเป็นช่วงของวัยก้ำกึ่งด้วยนะ ประมาณ 12-13 แล้วประกอบกับงานเริ่มลดลง เพราะว่าคาแรกเตอร์เริ่มหายาก ว่าจะเอาเราไปใส่ในบทไหน จะเป็นน้องก็ยังดูเด็ก จะเป็นลกก็โตเกินไป ก็เลยตัดสินใจว่ามาโฟกัสเรื่องเรียนก่อนดีกว่า พอเราเรียนไปจนถึงในระดับมหาวิทยาลัย จนพอที่จะนิ่งแล้ว ช่วงปี 4 เราก็กลับมารับงานอีกรอบหนึ่ง ปัจจัยที่หายไปคือเรื่องเรียน เป็นเหตุผลเดียว คือกลับมาเรียน แล้วงานก็ไม่เหมือนเดิม ส่วนปัจจัยอื่น เราคิดว่าไม่มีนะ ไม่ได้คิดว่าวงการเปลี่ยนไป คือรู้สึกว่าวงการเหมือนเดิมแหละ เพียงแต่ว่าตัวเราเองที่เปลี่ยนไป ดังนั้น เราเลยขอไปพักก่อนดีกว่า แต่ระหว่างนั้นเราก็มีรับงานอยู่เรื่อยๆ นะคะ เพียงแต่ว่ามันเป็นซีรีส์เล็กๆ เป็นรับเชิญ เพียงแต่ว่าคนอาจจะไม่ได้จำภาพตรงนั้น

 • เมื่อมองถึงความสำเร็จในวัยเด็ก เราได้เห็นอะไรในช่วงนั้น เมื่อเราเริ่มโตขึ้นครับ

เอาจริงๆ มองกลับไป ตัวเองไม่เคยรู้เลยว่า ตัวเองมีชื่อเสียงพอสมควร แต่พอเรามองกลับไปแล้ว ก็รู้ว่า เป็นดาราเด็กที่มีคนรู้จักเยอะมาก เราจะจำได้เลยว่า เวลาที่เราไปโชว์ตัวตามต่างจังหวัด พอลงจากรถตู้ ก็จะมีแบบว่า น้องๆ ที่เป็นนักเรียน แห่กรูกันมา เราก็จะจำความรู้สึกตรงนั้นได้ และอยากกลับมาทำงานเพื่อที่จะให้เห็นภาพตรงนั้นอีกรอบ แต่ก็มีบางช่วงที่มีเคว้งนะ เพราะเราเคยมีความรู้สึกว่า อย่างเวลาเดินห้าง จะมีคนที่แบบ ขอถ่ายรูปหน่อยนะคะ ขอลายเซ็นหน่อย แต่พอหายไป คนก็อาจจะไม่ลืม แต่เขายังจำภาพที่เรายังเด็กอยู่ เขาก็จะจำไม่ได้ เขาอาจจะแบบแค่คุ้นๆ แล้วก็ค่อนข้างกลัวว่า เราไม่รู้ว่าจะได้กลับมาในวงการอีกหรือเปล่า เพราะว่านักแสดงวัยรุ่นเยอะมาก แล้วทุกคนทั้งเก่ง และน่ารัก เราก็กลัวว่า มันอาจจะไม่มีที่ยืนสำหรับเราหรือเปล่า จนพอได้กลับเข้ามา เราต้องทำให้เต็มที่นะ เพื่อที่จะกลับไป ณ จุดจุดเดิม

 • เท่ากับว่า เหมือนกับแลกด้วยมั้ยว่า การทำงานผ่านไป แล้วได้มาเป็นคนปกติ ในช่วงเวลาต่อมา

ในช่วงนั้น แพรอาจจะไม่ค่อยเข้าใจความคิดของตัวเองนะ แต่ว่าตอนที่เราใช้ชีวิต เราก็รู้สึกว่า ดีเนอะ ไม่มีใครจำเราได้ รู้สึกมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่พอมันไปประมาณนึง เรารู้สึกว่าเราไม่ชินกับความว่างเปล่า เราไม่ชินกับความธรรมดาแล้วแบบว่า ไม่มีใครจำเราได้เลย รู้สึกว่า เหมือนไม่ใช่วิถีของเรา ด้วยความที่เราโตมากับกองถ่าย แสงสี อะไรอย่างงี้อยู่แล้ว ก็เลยคิดว่า ไม่น่าใช่ทางเรา (หัวเราะ) เลยกลับไปทำงานดีกว่า เพราะว่าความจริง ไม่ใช่คนในวงการจะไม่มีพื้นที่ส่วนตัวนะ ความจริงเขามี เพียงแต่ว่า เราต้องเลือกปฎิบัติตัวมากกว่า อย่างที่แพรบอกว่าใช้ชีวิตเต็มที่ แต่ก็มีที่คิดถึงแน่นอน

 • มองในมุมหนึ่ง เราค้นพบสัจธรรมด้วยมั้ย เมื่อเทียบกับดาราเด็กเมืองนอก
 
เราไม่ได้คิดขนาดนั้นนะ อาจจะเป็นเพราะว่า ช่วงที่เราหายไป เราก็ต้องมีอะไรทำ เรามีเรื่องเรียนที่ต้องรับผิดชอบ เราเรียนด้านสถาปัตย์ ซึ่งค่อนข้างหนัก เราก็ทำโปรเจกต์ตลอดเวลา เราก็รู้สึกว่า ช่วงชีวิตเรามันไม่ได้หายไปเลย พอเราเรียนจบปุ๊บ มันเหมือนมันเสร็จธุระของเรา แล้วเราก็เลยกลับมาทำงานของเราเหมือนเดิม เราเลยอาจจะไม่มีเวลามาคิดมาก ก็เลยคิดว่ายอมรับตัวเองได้ประมาณนึง ซึ่งแพรคิดว่าเป็นความโชคดีในระดับหนึ่งนะ ที่เราหายไปเป็น 10 ปี แล้วเป็นช่วงที่เราจะเรียนจบ และมีงานเข้ามาพอดี มันเป็นเหมือนจังหวะชีวิตที่มันลงตัวมากๆ สำหรับแพร

แต่ความรู้สึกแบบนั้น เราจะมีแค่ไม่เหมือนเดิม หมายถึงว่า เราไม่ถูกนิยมเหมือนเดิม อย่างตอนเด็กๆ เราจะยังมีความน่ารัก คนกรี๊ดกร๊าด แต่พอโตขึ้นมา มันเหมือนว่าเราเริ่มใหม่หมดเลย มันเหมือนเราเป็นนักแสดงหน้าใหม่คนหนึ่ง ซึ่งตอนแรกก็ค่อนข้างที่จะรับไม่เหมือนกันนะว่า ทำไมมันไม่เหมือนเดิม เพราะว่าเราคาดหวังว่ามันจะเหมือนเดิม พอมันไม่เหมือนเดิม มันก็ต้องมาปรับจูนความคิดกันใหม่ว่า เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยนนะ วงการมันเปลี่ยนนะ ก็ทำใจ และก็เรียนการแสดงใหม่ เวิร์กชอป และทุกอย่างมันใหม่หมดเลย ก็ทำใจยอมรับตรงนี้

 • ทีนี้พอเวลาลงตัวแล้ว ตอนที่เรากลับเข้ามาใหม่ๆ เรามีความรู้สึกประหม่ามั้ยครับ

ประหม่ามาก เพราะว่าอย่างที่บอก คนเยอะขึ้น มีนักแสดงที่เก่งและน่ารัก หน้าตาดี หุ่นดี แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสมากน้อยเท่าไหร่ ที่เราจะเข้าไป ณ จุดตรงนั้น ซึ่งตอนแรกที่เข้าไป เรายังมีความรู้สึกติดค้างที่ว่า เราคิดว่าเรายังทำได้ เราเล่นละครได้ ไม่ใช่เรื่องยาก มันเป็นเรื่องง่ายมาก แต่พอมาเล่นจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เราถูกว่า ถูกตำหนิ ว่าทำไมเล่นแบบนี้ เคยเป็นนักแสดงเด็ก แต่ทำได้เท่านี้เหรอ หลายอย่างเลยค่ะ ก็จะถูกกดดันเยอะ แล้วตอนนั้นความคิดในหัวเราจะเป็นแบบว่า เราผิดตรงไหน เราไม่เข้าใจ ตอนนั้นใช้เวลาครึ่งปีได้ ที่มาทบทวนตัวเองว่าทำไมถึงไม่ดี ทำไมเขาถึงว่าเรา ก็เลยเปิดใจยอมรับว่า รูปแบบในการแสดงมันไม่เหมือนเดิม เราเลยต้องไปเริ่มเรียนการแสดงใหม่ แล้วพอเวลาไปกองถ่าย เราก็คอยถามในเรื่องแอกติ้ง คือเหมือนว่าเปิดใจ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา แต่ตอนที่เรากลับเข้ามาแรกๆ มันก็จะมีอีโก้สูงอยู่ ว่า “เฮ้ย เราทำได้น่า” มันก็เลยไม่ดีไงคะ

 • พอได้กลับมาเรียนการแสดง คิดว่าเราได้อะไรจากตรงนี้บ้างครับ

คือนอกจากเทคนิคการแสดงใหม่ๆ แล้วก็วิถีการอยู่กับคนกอง พอเราโตขึ้น มันก็เปลี่ยนไป เพราะว่าตอนเป็นเด็ก เราทำอะไรก็ไม่ผิด พอโตขึ้นมา มันก็ไม่ใช่ มันมีทั้งในเรื่องการวางตัว ทั้งในเรื่องวินัย ไม่ใช่ว่า คุณจะมานั่งแบบชิลเลยก็ไม่ได้ คือคุณก็ต้องทำการบ้าน อ่านบท มันจะต้องมีวิธีในการวางตัว คือต้องโตขึ้น การพูดจา การให้ความเคารพคนที่เขาเป็นผู้ใหญ่กว่า เรื่องพวกนี้เราต้องระวังมากขึ้น ก็ค่อนข้างพลิกพอสมควร แล้วก็อย่างหนึ่งคือ เราต้องเปิดใจในสิ่งที่เรียนรู้ตลอดเวลา คือทุกวันนี้ ขณะที่ถ่ายละครไปเรื่อยๆ แต่เวลาที่ไปทุกๆ กอง ก็จะคอยถามว่า พี่อย่างงี้โอเคมั้ย เพราะแต่ละที่ในเรื่องการแสดงก็จะไม่เหมือนกัน ผู้กำกับแต่ละคน ความคิดก็จะไม่เหมือนกัน ทีนี้การแสดงมันไม่มีคำว่าผิดหรือถูก มันจะเป็นแบบว่า พี่อย่างงี้โอเคมั้ย มันคือความเข้าใจของเรากับผู้กำกับ ถ้ามันตรงกันเมื่อไหร่ มันก็จะออกมาดี

 • แน่นอนว่า ความแตกต่างระหว่างตอนเด็ก กับตอนนี้ คุณจัดการกับตรงนี้ยังไงครับ

อย่างที่แพรบอกไปว่า เปิดใจเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ ลดอีโก้ลง เพราะว่า เราเป็นนักแสดง เราต้องปรับตัวอยู่ในทุกสภาพอากาศ คือถ้าบทเรื่องนิ้มันแรง แล้วอีกเรื่องเราต้องเล่นเป็น comedy เราก็ต้องปรับให้ได้ มันไม่ได้เหมือนตอนเด็กที่มีแค่บทเดียว ที่เล่นกับแม่ในเรื่อง ตอนนี้มันไม่ใช่ มันมีตัวคาแรกเตอร์ ตัวละครเข้ามากำหนด คือมันก็เหนื่อยๆ เนอะ แต่ว่ามันก็เป็นงาน หน้าที่ของเรา ที่จะต้องผ่านมันไปให้ได้ แล้วในเรื่องการทำการบ้านมันก็ค่อนข้างสำคัญ เพราะเวลาที่เราไปเล่นกับนักแสดงคนอื่น ซึ่งถ้าเราบทไม่ได้แล้ว แล้วบางทีการแสดงมันยังไม่ดี บทได้ มันยังแก้กันได้ สมมติว่า การแสดงมันยังไม่ถูกใจผู้กำกับ อันนี้ปรับนิดนึงนะ แต่บทมันต้องได้ บทนี่คือพื้นฐานของนักแสดงเลย ที่นักแสดงที่ดีต้องไม่ลืมบท

 • เช่นเดียวกัน พอคุณได้กลับมา มันก็ทำให้คุณโตขึ้นด้วย

โตนะ คือความจริงมันโตแบบไม่รู้ตัว มันถูกหล่อหลอมมาเรื่อยๆ แล้วพอเรามายืน ณ จุดตรงนี้ แล้วมองย้อนกลับไปแค่เวลาไม่นาน เรารู้สึกเลยว่า ความคิดเราโตขึ้นมาก โตที่ว่าคือเราปรับความคิดเข้ากับสังคมได้ง่ายขึ้นมาก เพราะชีวิตกองถ่ายเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้อยู่กองนี้ อีกวันก็อยู่อีกกอง ก็คนละกลุ่มกันแล้ว เราก็เลยเหมือนว่า อยู่กับใครก็ได้ เรื่องมนุษยสัมพันธ์ที่มันจะดีกว่าตอนเด็กๆ นิดนึง อย่างเช่นว่า พอเวลาที่เราเล่นกับนักแสดง แล้วมันมีฉากเลิฟซีน ซึ่งถ้าต่างคนต่างมีกำแพงทิฐิกัน มันเล่นไม่ได้ มันต้องค่อนข้างเปิดใจและไว้ใจกัน คือพอทำงานไปเรื่อยๆ แพรรู้สึกว่า ต้องไว้ใจทุกคน ไว้ใจทั้งคู่แสดงของเรา ไว้ใจทีมกล้อง ไว้ใจทีมไฟ ทุกอย่างต้องไว้ใจแล้วเราจะไม่หวง เราจะไม่มาห่วงว่า มุมนี้จะไม่สวยนะ ต้องแสดงสีหน้าอย่างงี้หรือเปล่า คือมันต้องทิ้ง ทิ้งแล้วเล่นไปกับมัน คือต้องลดอีโก้อย่างที่บอก

 • อยากให้เล่าถึงหนังเรื่องนี้ (คิดถึง...ทุกปี : เข้าฉายในไทย 28 ธันวาคม นี้) หน่อยครับ ว่าการทำงานเป็นยังไงบ้าง

ตื่นเต้นนะ เพราะว่ามันเป็นหนังเรื่องแรกในตอนโต เป็นในบทบาทที่อยากเล่น คือ แนว Love-Comedy อยากเล่นแนวนี้ เพราะมันน่ารัก เล่นหนังที่ร่วมทุนกับประเทศเออีซี มันก็ค่อนข้างที่จะตื่นเต้นนิดนึง เพราะว่ามันค่อนข้างที่จะใหญ่เกินตัวเราหรือเปล่า ตอนแรกสุดเราก็มีความกังวลว่าเราจะเล่นออกมาดีมั้ย เพราะว่ามันเป็นหน้าจอใหญ่ๆ ที่ทุกคนจะเห็นรายละเอียดครบ แล้วไหนจะร่วมงานกับชาวต่างชาติอีก ก็มีความกังวลว่า การแสดงของเขากับของเราจะเหมือนกันมั้ย แล้วก็ในเรื่องของวัฒนธรรมภาษา เราก็กลัวว่าสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง แต่พอได้ไปทำงานจริงๆ คนที่แพรเล่นด้วย (ไว ฮัง : นักแสดงชื่อดังชาวกัมพูชา) เขาน่ารักมาก เขาจะมาปรึกษาเราในเรื่องแอกติ้งว่า เขาควรเล่นอย่างงี้ดีมั้ย ก็จะมีการตกลงกัน หรืออย่างเรื่องภาษาเขาก็ไม่มีปัญหา ก็จะได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

 • ในศาสตร์ของหนังก็ต่างจากศาสตร์ละคร จากที่ทำงานมา มันมีความยากยังไงครับ

ยากนะ คือเรารู้สึกว่า มันอิสระจนมันน่ากลัว เพราะว่าอย่างละครมันมีตัวละครที่มันจำกัดมาก แต่พอเป็นหนังปุ๊บ มันปล่อยมาก มีแค่ไดอะล็อก แต่เขาไม่ได้อธิบายอะไรมาเลยว่าเราต้องทำสีหน้าอะไรยังไง พอมันไม่มีคาแรกเตอร์มาปุ๊บ มันก็ยากแล้ว ทำยังไงดี เราก็ต้องมาคุยกับผู้กำกับแล้วว่า มันต้องทำตัวยังไง มีคาแรกเตอร์เป็นยังไง ความคิดเขาเป็นยังไง เหมือนว่าเราต้องทำความเข้าใจกับตัวละครตัวนี้ และก็เอาตัวเราใส่ไปครึ่งนึงไปกับตัวละครนี้ มันเลยสนุกกว่างานอื่นๆ เพราะว่ามันมึความเป็นตัวเองครึ่งนึงเลย แล้วก็พวกไดอะล็อกก็จะเป็นแค่ไกด์ไลน์เฉยๆ แล้วเราต้องประยุกต์มันไปเอง

 • มองในมุมหนึ่ง การได้มาทำงานด้านภาพยนตร์ ถือว่าได้เพิ่มทักษะการแสดงของเราด้วยมั้ย

ช่วยได้เยอะนะคะ ช่วยในเรื่องที่แบบว่า เข้าใจในความรู้สึกที่แบบว่า มนุษย์คิดหรือมนุษย์พูด บางทีสีหน้าเราไม่ได้เยอะ บางทีสีหน้าเราแค่นิ่งๆ แต่สายตาจะรู้ว่าเราไม่ชอบ อย่างสมัยก่อน มันจะเหมือนว่า เวลาที่เราเล่นละคร เราจะคิดภาพว่า ฉันจะทำหน้ายังไง จะทำท่าทางยังไงให้ดูรู้สึกว่า เราไม่ชอบคนนี้ แต่ว่ามันไม่ใช่เลย แต่เราต้องหาเหตุผลว่าทำไมเราไม่ชอบคนนี้ สมมติว่าเราไม่ชอบคนที่นั่งตรงนี้เลย เราต้องคิดว่าเขาทำอะไรให้เรา เราถึงไม่ชอบ แล้วสายตาเราจะออกไปเองโดยที่สีหน้าเราไม่ต้องทำอะไรเลย เราจะรู้สึกเรื่องอินเนอร์ข้างใน ซึ่งสนุกนะ เล่นหนังสนุกมาก

 • แล้วการเอามาประยุกต์จริงจากการทำงาน มีมั้ยครับ

(นิ่งคิด) อย่างที่บอกว่า ในเรื่องของการแสดง เราจะเอาเรื่องความคิดเราได้รับรู้จากการเล่นหนัง มาประยุกต์ใช้ในซีรีส์ ในละครมากขึ้น มันจะดสมจริงมากขึ้น จะเห็นได้ว่า คนที่เล่นหนังส่วนใหญ่ จะเล่นสมจริงมาก ซึ่งมันจะไม่เหมือนกับคนที่เล่นละคร ที่ละครเขาจะมีรูปแบบการวางหน้าที่แตกต่างจากหนัง หนังมันจะเหวอก็เหวอเลย จะไม่ค่อยห่วงสวยเท่าไหร่ ซึ่งคนที่เล่นหนังเขาจะอินมากนะ เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ด้วยความที่ถ่ายฉากหนึ่งที่ไม่เหมือนละคร รายละเอียดมันจะเยอะมาก ฉากหนึ่งจะถ่ายนาน 2-3 ชั่วโมง ซึ่งถ่ายแค่ฉากเดียว แต่ทำซ้ำๆ มันก็เลยจะแตกต่างจากละครที่บางทีมีไม่กี่เทกก็ผ่านแล้ว ซึ่งรายละเอียดก็แตกต่างจากหนังแล้ว ซึ่งในแง่ของการแสดงของเราถือว่าพัฒนาขึ้นมาเยอะเลย เพราะว่าถ้าเป็นละครมันก็จะเหมือนเดิมไงคะ แต่พอเป็นหนัง มันจะมองมุมต่าง ผู้กำกับก็จะมองมุมต่างจากละคร แต่ก็ต้องเรียนรู้กันต่อไปค่ะ ซึ่งถ้ามีแนวอื่นๆ อีก เราก็ยินดีที่จะเล่นนะ อยากเล่นให้ได้ทุกบทบาท รู้สึกว่ามันท้าทายตัวเอง

 • คุณเคยบอกว่า มีความรักในการแสดง ในอนาคตข้างหน้า เราคาดหวังกับความรักตรงนี้ยังไงครับ

สำหรับตัวเราเอง เราไม่เคยตั้งความหวังไว้สูงเท่าไหร่ คือเป็นคนที่ไม่ค่อยมองถึงอนาคตไกลๆ เพราะว่าเราไม่ชอบความผิดหวัง ซึ่งถ้าเราตั้งแล้วทำไม่ได้ เราจะรู้สึกว่าเราผิดหวังมาก ดังนั้น เราจึงรู้สึกว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด คือ ไม่ว่าจะเป็นตัวเอก หรือ สมทบ เรารู้สึกว่าตัวละครทุกตัวมันก็สำคัญ ไม่งั้นมันก็จะไม่มาอยู่ตรงนี้ เราคิดว่า เราเต็มที่กับทุกบท แล้วมันจะส่งผลดีต่อข้างหน้าเอง เพราะวันหนี่งเราคิดไม่ได้หรอกว่า อยากจะเป็นซูเปอร์สตาร์ คือทุกคนอยากจะประสบความสำเร็จกันหมด คือทุกคนอยากเป็นนักแสดงที่ดี อยากให้ทุกคนจดจำ อยากมีคนรัก ให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด แต่ว่าถ้าเราตั้งไว้สูง แล้วเราไปไม่ถึงเนี่ย เราก็จะกลายเป็นว่า ทำไม ผิดหวัง หดหู่ มันก็เหมือนช่วงที่เรากลับเข้ามา และเราตั้งเป้าหมายว่า ทุกคนจะรักเราเหมือนเดิม แต่กลายเป็นว่า คนแค่คุ้นหน้าเรา แต่ยังไม่รู้จักเราที่โตขึ้น ที่ไม่ใช่น้องดาราเด็กคนนั้น เราเลยรู้สึกว่า ทำทุกอย่างที่ได้รับมาให้ดีที่สุดพอแล้ว

 • มองในมุมหนึ่ง คืออยากให้ผู้ชมเขามามองตัวตนคุณนอกจากภาพจำที่ผ่านมา

คือเราโอเคอยู่แล้วนะ กับการที่มีคำว่า ดาราเด็กพ่วงท้าย เพราะว่าเราก็ภูมิใจที่มันเป็นหนึ่งในตัวเราอยู่แล้ว อันนี้เราไม่ค่อยติดปัญหา แต่ว่า อยากจะให้คนเห็นว่า เราทำอะไรได้มากกว่านี้ ที่เรากลับเข้ามา เราใช้ความสามารถ แล้วก็อยากจะให้เขาเห็นฝีมือว่า เราเป็นนักแสดงที่ดีนะ ไม่ใช่เรากลับเข้ามาเพราะดาราเด็ก เรากลับเข้ามาเพราะการเป็นนักแสดงมากกว่า เราเลยบอกว่าอยากจะเล่นทุกบทบาท อยากจะให้คนดูเห็นในทุกบทบาทของเรา ว่าเราจะเป็นนักแสดงที่ดีคนหนึ่ง แล้วมันจะอยู่ได้ยาวในวงการ

 • ถ้าให้เปรียบกับชีวิตของเราตอนนี้ ให้เป็นอะไรสักอย่าง คิดว่าเราเป็นสิ่งอะไร

อันนี้ยากจัง (หัวเราะและนิ่งคิด) ถ้าให้เปรียบจริงๆ คงคิดว่าตัวเองเป็นกิ้งก่าแล้วกัน เพราะว่าพวกสัตว์เลื้อยคลานเขาจะมีการปรับตัวกับสภาพอากาศและสภาพพื้นที่ได้ดี แพรรู้สึกว่านักแสดงมันต้องเป็นอย่างงั้น คือมันต้องเปลี่ยนไปเรื่อย แล้วเราต้องยอมทิ้งตัวเองตลอดเวลาที่เราต้องเริ่มงานใหม่ ก็คือพร้อมรับทุกสถานการณ์ และพร้อมเดินหน้าไม่ว่าจะเป็นยังไง
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย และ Instagram : pearnattatida
ขอขอบคุณ : ร้าน "Talk of The Tree" Tree Square ซ.ลาดพร้าว 94 โทร : 02-935-6363

กำลังโหลดความคิดเห็น