xs
xsm
sm
md
lg

พระเจ้าสายน้ำผึ้ง-พระนางสร้อยดอกหมาก เรื่องเหลือเชื่อที่บันทึกไว้ในพงศาวดาร! สืบได้ถึงราชวงศ์ที่ครองกรุงอโยธยา!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

ด้านหน้าวัดพนัญเชิงเป็นที่บรรจบของแม่ ๒ สาย น้ำป่าสักกับเจ้าพระยา
เรื่องราวของพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยกอกหมาก เป็นเรื่องยากที่คนยุคนี้จะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง หลายคนคิดว่าเป็นนิยายรักปรัมปรา หรือเป็นนิทานจักรๆวงศ์ๆเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องราวของพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมากก็มีบันทึกไว้ในพงศาวดาร ไม่ได้ปรากฏอยู่ในหนังสือนิทาน หรือเล่าถ่ายทอดกันมา และนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ยังค้นพบว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นกษัตริย์ที่ครองกรุงอโยธยามาก่อนพระเจ้าอู่ทอง

พระนามของพระเจ้าสายน้ำผึ้งปรากฏอยู่ในรายพระนามกษัตริย์เมืองอโยธยา หรือมีชื่อเต็มว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร ซึ่งเป็นเมืองที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกของกรุงสุโขทัย และปรากฏชื่อเป็นเมืองแฝดคู่กับกรุงละโว้มาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๑๗๐๐

ในพระราชพงศาวดารเหนือ และพงศาวดารฉบับ “คำให้การของขุนหลวงหาวัด” ระบุรายพระนามกษัตริย์เมื่องอโยธยาว่ามี ๑๙ พระองค์ พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นลำดับที่ ๑๒ และนักประวัติศาสตร์ยุคใหม่ยังพบว่า กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงอโยธยาก็คือ พระเจ้าอู่ทอง ซึ่งทรงย้ายราชธานีข้ามฟากแม่น้ำมาสร้างกรุงศรีอยุธยา

นักประวัติศาสตร์ค้นพบว่า คติในการสร้างวัดของกรุงอโยธยา นิยมหันหน้าลงแม่น้ำ ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยาหันหน้าไปทิศตะวันออก วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงอโยธยาอย่างเช่น วัดมเหยงค์ วัดกุฎีดาว วัดใหญ่ชัยมงคล และพนัญเชิงที่มีเรื่องพระเจ้าสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมากเป็นประวัติของวัด ต่างหันหน้าลงแม่น้ำทั้งนั้น

นักประวัติศาสตร์ยังพบอีกว่า กษัตริย์ของกรุงอโยธยาเปลี่ยนราชวงศ์กันบ่อย เพราะมีความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมกันมาก ผู้ที่เป็นกษัตริย์จะต้องเป็นผู้สะสมบุญบารมีมาตั้งแต่ชาติปางก่อน จึงไม่ถือการสืบราชบัลลังก์ทางสันตติวงศ์ อย่างที่ไปควานหาเอาพระเจ้าสายน้ำผึ้งมาเป็นกษัตริย์

น่าแปลกใจที่ในยุคของอโยธยา มีความใกล้ชิดกับจีนมาก ส่วนความสัมพันธ์กับกรุงละโว้และกัมพูชาห่างเหินไป พงศาวดารหลายฉบับกล่าวถึงการแต่งงานโอรสธิดาของกษัตริย์กับคนจีน อย่างเช่นพระเจ้าสายน้ำผึ้งก็ได้ธิดาพระเจ้ากรุงจีนที่เสนอมาให้เอง ทั้งยังมีเรื่องราวที่ว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นเป็นบุตรของขุนนางจีน
เรื่องราวของพระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมาก เต็มไปด้วยอภินิหารจนยากที่จะเชื่อได้ แต่ถ้ากลั่นกรองเอาการ “ระบายสี” ให้น่าตื่นเต้น ตามรสนิยมของคนสมัยเมื่อ ๑,๐๐๐ ปีที่แล้วออก ก็พอจะเห็นเรื่องราวสอดคล้องกับที่นักประวัติศาสตร์ได้ศึกษาค้นคว้าระบุไว้

อย่างการหากษัตริย์ที่จะสืบทอดราชบัลลังก์ ที่ไม่ได้ใช้ประเพณีสืบสันตติวงศ์ พงศาวดารเหนือกล่าวว่า

“...ครั้นสิ้นกษัตริย์ หามีผู้ใดจะบำรุงพระพุทธศาสนาและอาณาประชาราษฎร์ไม่ พราหมณ์ปุโรหิตคิดกันว่า จะเสี่ยงเรือสุพรรณหงส์เอกไชยกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไป...”

ครั้นไปถึงตำบลหนึ่ง พบเด็กเลี้ยงโค ๔๗ คนเล่นกันอยู่ คนหนึ่งขึ้นนั่งบนจอมปลวกว่าราชการ แล้วสั่งลงโทษคนที่เล่นเป็นข้าราชการ ให้เพชฌฆาตแสดงท่าประหารตามคำสั่งด้วยไม้ขี้ตอก ปรากฏว่าหัวก็ขาดจริง เหล่าพราหมณ์ปุโรหิตที่ออกมาเสี่ยงหาคนไปเป็นกษัตริย์ผ่านมาถึงตรงนั้นพอดี อีกทั้งเรือสุพรรณหงส์เอกไชยก็หยุดดื้อๆ เมื่อเห็นว่าเด็กเลี้ยงโคหัวขาดไปด้วยไม้ขี้ตอกอย่างอัศจรรย์ ตามคำประกาศิตของหัวโจกที่นั่งว่าราชการอยู่บนจอมปลวก จึงคิดว่าใช่แน่ ต่างเป่าแตรสังข์ แตรงอน แตรฝรั่งขึ้นพร้อมกัน แล้วรับเอาหัวโจกเด็กเลี้ยงโคผู้นั้นไปครองราชย์สมบัติ มีพระนามว่า เจ้าดวงกฤษณราช แต่พระนาม “พระเจ้าสายน้ำผึ้ง” พงศาวดารเหนือเล่าไว้ตอนที่กำลังจะเสด็จไปเมืองจีนว่า

“จุลศักราช ๓๙๕ ปีมะเมีย เบญจศก ครั้น ณ วันเดือน ๑๒ แรม ๑๑ ค่ำได้ศุภวารฤกษ์ดี จึงยกพยุหไปทางชลมารคพร้อมด้วยเสนาบดี เสด็จมาถึงแหลมวัดปากคลอง พอน้ำขึ้นจึงประทับเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด ทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบัน จึงทรงพระดำริว่า จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร เดชะบุญญาภิสังขารของเรา เราจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ด้วยกันเสร็จ ขอให้น้ำผึ้งย้อยหยดลงมากลั้วเอาเรือรีบขึ้นไปประทับแทบกำแพงแก้วนั้นเถิด พอตกพระโอษฐ์ลงดังนั้น น้ำผึ้งก็ย้อยลงมากลั้วเอาเรือพระที่นั่งรื้อขึ้นไปถึงที่ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นประจักษ์แก่ตาแล้ว เสด็จนมัสการจึงเปลื้องเอาพระภูษาทรงสักการบูชาพระพุทธปฏิมากรนั้นเสร็จแล้ว เสด็จลงเรือพระที่นั่งถอยลงมาดังเดิม พระสงฆ์สมภารลงมาถวายชัยมงคลว่า มหาบพิตรพระราชสมภารจะสำเร็จความปรารถนา จะครองไพร่ฟ้าอยู่เย็นเป็นสุขทั่วทิศ จึงถวายนามว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง...”

ส่วนเรื่องของพระนางสร้อยดอกหมาก พงศาวดารเหนือเล่าว่า

“ขณะนั้นพระเจ้ากรุงจีนได้บุตรบุญธรรมในจั่นหมากเอามาเลี้ยงไว้ ให้นามชื่อว่า นางสร้อยดอกหมาก ครั้นวัฒนาการเจริญขึ้น จึงให้หาโหรมาทำนายว่า ลูกกูคนนี้จะควรคู่ด้วยกษัตริย์เมืองใด โหรพิเคราะห์ดูหาเห็นว่าจะอยู่แห่งใดไม่ เห็นอยู่แต่ทิศตะวันตกกรุงไทย มีบุญญาภิสังขารมากนัก เห็นจะควรกับพระราชธิดา จึงกราบทูลว่าจะได้กับพระเจ้ากรุงไทยเป็นแน่...”

เมื่อโหรชี้ตัวเนื้อคู่ของพระราชธิดามาเช่นนี้ พระเจ้ากรุงจีนจึงมีพระราชสาส์นให้ขุนแก้วการเวท ถือเข้ามาถึงพระเจ้ากรุงไทย ข้อความในพระราชสาส์นก็แจ้งพระราชประสงค์ไม่อ้อมค้อมว่า

“...ด้วยเราจะยกพระราชธิดาให้เป็นพระอัครมเหสี ให้เสด็จออกมารับโดยเร็ว...”

พระเจ้าสายน้ำผึ้งตอนนั้นก็ได้ลูกสาวมอญขายผ้ามาเป็นเอกอัครมเหสีอยู่แล้ว แต่เมื่อพระเจ้ากรุงจีนพระราชทานลาภลอยมาเช่นนี้ จะปฏิเสธไปก็ใช่ที่ พงศาวดารเหนือกล่าวว่า

“...ครั้นได้แจ้งในพระราชสาส์นดังนั้นก็ดีพระทัย จึงตรัสว่าเดือน ๑๒ จะยกออกไป ให้ตอบแทนข้าวของไปเป็นอันมาก ทูตทูลลากลับไป...”

ครั้นถึงเดือน ๑๒ แรม ๑๑ ค่ำจึงได้ยกพยุหไปทางชลมารค และแวะอธิษฐานที่หน้าวัด จนได้พระนามพระเจ้าสายน้ำผึ้งดังกล่าวมา พระองค์จึงรับสั่งให้ท้าวพระยาพฤฒามาตย์ทั้งหลายและเสนาบดีที่ตามมาส่งเสด็จถึงหน้าวัด ให้กลับไปรักษาพระนคร ส่วนพระองค์ก็ทรงเรือพระที่นั่งเอกไชยลำเดียวออกปากอ่าวไปเมืองจีน

ด้วยอำนาจพระราชกุศลที่ได้สร้างมาแต่ปางหลัง ก็เสด็จไปโดยสะดวกจนถึงเขาไพ่ในเมืองจีน พวกคนจีนเห็นดังนั้นก็แปลกใจที่เสด็จข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยเรือลำเล็กที่ใช้ตามแม่น้ำลำคลองเท่านั้น จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระเจ้ากรุงจีน ฝ่ายพระเจ้ากรุงจีนได้ทราบอิทธิฤทธิ์ของว่าที่พระราชบุตรเขยแล้วก็แปลกพระทัยเช่นกัน ส่งเสนาบดีผู้ใหญ่ให้ไปจัดที่พักแรมไว้ที่อ่าวนาค ๑ คืน อ่าวเสืออีก ๑ คืน แล้วให้แอบดูว่ามีบุญญาธิการจริงหรือไม่ประการใด

ทั้งสองคืนที่พระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับแรมอยู่ในเมืองจีนก่อนจะเข้าเฝ้านั้น เสนาบดีผู้ใหญ่ของจีนที่มาแอบดูก็ได้ยินเสียงดุริยางคดนตรีครึกครื้น ด้วยเทพยดาบันดาลขึ้น จึงนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระเจ้ากรุงจีนจึงทรงทราบว่า ว่าที่พระราชบุตรเขยมีบุญญาธิการแน่ตามที่โหรทำนายไว้ จึงแต่งขบวนมารับเสด็จเข้าวัง ส่วนอาณาประชาราษฎร์ต่างก็ร่ำลือถึงบุญญาธิการชองพระเจ้ากรุงไทยไปทั่ว

เมื่อจัดการอภิเษกพระนางสร้อยดอกหมากกับพระเจ้าสายน้ำผึ้งแล้ว พระเจ้ากรุงจีนก็แต่งสำเภา ๕ ลำ พร้อมกับบรรทุกเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นอันมาก ให้คนถึง ๕๐๐ คนมาส่งพระราชธิดาถึงกรุงอโยธยา ไม่ได้ปล่อยให้มาโดยเรือเอกไชยตามลำพัง

ขบวนสำเภาจีนฝ่าคลื่นลม ๑๕ วันก็มาถึงกรุงไทย ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยกับพระราชาคณะราษฎรเทพนิกรก็โสมนัสยินดีกันทั่ว จึงเตรียมการรับเสด็จเป็นงานใหญ่ พระราชาคณะฐานานุกรม ๑๕๐ รูปไปรับที่เกาะ จึงเรียกเกาะนั้นว่าเกาะพระมาตั้งแต่บัดนั้น แล้วเชิญเสด็จมาจอดเรือที่ท้ายเมืองปากแม่น้ำเบี้ย เหล่าเสนาบดีและพระราชาคณะจึงเชิญเสด็จเข้าพระราชวัง

คงจะเป็นเพราะทิ้งเอกอัครมเหสีไปเมืองจีนเสียหลายวัน พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงให้พระนางสร้อยดอกหมากที่ฮันนีมูนกันมากลางทะเล ๑๕ วัน ๑๕ คืน คอยอยู่ในสำเภาก่อน เสด็จเข้าวังไปเพียงพระองค์เดียว เมื่อทรงจัดการเรื่องตำหนักซ้ายตำหนักขวาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันรุ่งขึ้นจึงส่งเถ้าแก่นำเรือพระที่นั่งมารับพระนางสร้อยดอกหมาก แต่เมื่อไม่เห็นพระสวามีออกมารับด้วยพระองค์เอง ราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนจึงเกิดอาการงอน

พระนางรับสั่งกับเถ้าแก่ไปว่า ข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยกันอย่างยากลำบาก เมื่อถึงบ้านถึงเมืองแล้วไม่มารับด้วยพระองค์เอง นางก็จะไม่เข้าไป

พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงทราบข้อความที่นางกล่าว ก็รู้ว่านางงอน จึงรับสั่งอย่างสัพยอกว่า

“มาถึงนี่แล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามเถิด”

นางรู้ข้อความนี้ก็เข้าใจว่ารับสั่งอย่างจริงจัง จึงเสียพระทัยเป็นอย่างมาก

ฉะนั้น เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งแต่งขบวนแห่ไปรับในตอนเช้าด้วยพระองค์เอง นางจึงทูลด้วยอารมณ์งอนไม่หายว่า

“ไม่ไป...”

“ไม่ไปก็อยู่ที่นี่แหละ” พระเจ้าสายน้ำผึ้งยังสัพยอกนางอีก

พอตกพระโอษฐ์เช่นนั้นนางจึงกลั้นใจตายทันที ท่ามกลางความตกตะลึงของพสกนิกรไทยจีน ต่างร่ำไห้กันเซ็งแซ่

พงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่า

“จุลศักราช ๔๐๖ ปีมะโรงศก จึงเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ สถาปนาเป็นพระอาราม ให้นามชื่อวัดพระเจ้าพระนางเชิงแต่นั้นมา”

และพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ บันทึกไว้ว่า

“ลุศักราช ๖๘๖ ชวดศก แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง...”

หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง จึงมาสร้างหลังจากที่สร้างวัดถึง ๒๘๐ ปี

เกี่ยวกับชื่อวัดอนุสรณ์พระนางสร้อยดอกหมากนี้ มีปัญหากันมาตลอด มีการเรียกเพี้ยนไปต่างๆ นานา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกกันว่า “วัดพระพแนงเชิง” บ้าง “วัดพระเจ้าพแนงเชิง” บ้าง “วัดพระนางเชิง” บ้าง แต่โดยมากเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดพแนงเชิง”

คำว่า “พแนงเชิง” เป็นคำไทยโบราณ มีความหมายว่า “นั่งขัดสมาธิ” ปัจจุบันมีชาวภาคใต้ยังใช้อยู่บ้าง แต่ก็เพี้ยนไปเป็น “แพงเชิง” ซึ่งหมายถึงขัดสมาธิเช่นกัน

“วัดพแนงเชิง” หรือ “วัดพระเจ้าพแนงเชิง” จึงหมายถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือ “หลวงพ่อโต” หรือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่ใหญ่ที่สุดและเก่าที่สุด ซึ่งอยู่ในวัดนี้

แต่ก็ยังมีผู้สันนิษฐานอีกว่า ชื่อวัดนี้อาจจะมาจากที่พระนางสร้อยดอกหมากนั่งขัดสมาธิกลั้นใจตาย เพราะผู้หญิงจีนคงไม่นั่งพับเพียบแบบไทย คนไทยเห็นเป็นเรื่องแปลกที่พระนางนั่งขัดสมาธิแบบผู้ชาย ก็อาจนำมาเรียกเป็นชื่อวัดก็ได้

อย่างไรก็ดี ในปี ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เรียก “วัดพนัญเชิง” เลยยุติลงที่ชื่อนี้

เรื่องราวของพระเจ้าสายน้ำผึ้งและพระนางสร้อยดอกหมาก จึงเป็นส่วนหนึ่งของประวัติวัดพนัญเชิง และเป็นต้นกำเนิดของวัดนี้ ซึ่งยังคงยั่งยืนมาตั้งแต่ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน พร้อมด้วย “พระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง...” หรือ “หลวงพ่อโต”

คราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ จนกรุงศรีอยุธยาย่อยยับ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับบันทึกไว้ตรงกันว่า

“...ด้วยอายุแผ่นดินของกรุงพระนครศรีอยุธยาถึงกาลขาด จึงอาเพศให้เห็นประหลาดเป็นนิมิต พระประธานในวัดพระนางเชิงน้ำพระเนตรไหลลงมาจนถึงพระนาภี...”

อภินิหารยังมีคู่อยู่กับประเทศไทยตลอดมา
เจ้าแม่สร้อยดอกหมากองค์เก่าในศาล
เจ้าแม่สร้อยดอกหมากองค์จำลองในศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น