xs
xsm
sm
md
lg

ป้อมปราการปากน้ำเจ้าพระยาที่ยังเหลือ! บางป้อมกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวดีเด่น!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมพระจุลจอมเกล้า
ปากแม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในอดีต เป็นช่องทางที่เรือรบข้าศึกจะเข้ามาโจมตีเมืองหลวง ทั้งกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ จึงต้องมีการสร้างป้อมปราการตั้งปืนใหญ่เรียงรายไว้เป็นระยะ บ้างก็สร้างคู่กันทั้งสองฝั่ง และขึงโซ่เหล็กกั้นขวางลำน้ำไว้เพื่อสกัดกั้นเรือข้าศึก

ครั้นกาลเวลาผ่านไป สถานการเปลี่ยนแปลง ป้อมปราการเหล่านี้ก็หมดความสำคัญลง หลายแห่งกีดขวางการขยายตัวของเมือง จึงถูกรื้อเพื่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างอื่นขึ้นแทน แต่อีกหลายป้อมก็ยังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปร่างหน้าตาของป้อมปืนโบราณที่เคยปกปักษ์รักษาบ้านเมืองมา นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และได้เปลี่ยนสถานะไปตามยุคสมัย กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในปัจจุบัน

ป้อมแรกที่อยู่ใกล้ปากน้ำมากที่สุดก็คือ “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นป้อมที่ทันสมัยที่สุด สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี่เอง ซึ่งในระยะเวลานั้น เป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในยุโรป ประเทศที่มั่งคั่งจากอุสาหกรรมด้วยเครื่องจักรได้แก่งแย่งกันขยายอำนาจเพื่อออกหาแหล่งวัตถุดิบ จนเกิดลัทธิอาณานิคมขึ้น ประเทศในเอเชียอาคเนย์ที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ญวน ลาว เขมร พม่า มลายู และสิงคโปร์ ถูกยึดครองไปหมดแล้ว ไทยจึงตกอยู่ในอันตราย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภว่า ป้อมปืนต่างๆที่เมืองสมุทรปราการ ซึ่งใช้ป้องกันข้าศึกที่มาทางทะเลนั้น ล้วนแต่เป็นป้อมปืนเก่าที่ล้าสมัยและทรุดโทรมมาก ไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ จึงมีพระบรมราชโองการให้ปรับปรุงและซ่อมแซมป้อมเก่าเหล่านั้น ทั้งยังให้จัดสร้างป้อมปราการที่ทันสมัยขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ที่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก

ป้อมพระจุลจอมเกล้าถูกสร้างขึ้นเมื่อต้นปี ๒๔๒๗ แล้วเสร็จเมื่อต้นปี ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปทรงทดลองยิงปืนประจำป้อมด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๔๓๖ และพระราชทานชื่อป้อมนี้ ๒ ชื่อให้เสนาบดีเลือก ดังมีพระราชหัตถเลขาถึงคณะเสนาบดีตอนหนึ่งว่า

“...ป้อมนี้ได้สร้างขึ้นใหม่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ อยากให้ชื่อป้อมจุฬาลงกรณ์ ฤา พระจุลจอมเกล้า คล้ายกับป้อมทั้งปวงซึ่งเขาใช้ชื่อเจ้าแผ่นดินมีอยู่บ้าง เช่น ฟอตวิลเลี่ยม เมืองกัลกัตตา เปนต้น ทั้งครั้งนี้ได้สำเร็จเพราะทุนรอนซึ่งฉันจะอุดหนุนดังนี้ ก็ยังมีความปรารถนากล้า ถ้าท่านทั้งปวงเหนสมควรแล้ว ขอให้เลือกนามใดนามหนึ่งเปนชื่อป้อมนี้ให้เปนที่ชื่นชมยินดี และเปนชื่อเสียงของฉันติดอยู่สืบไปภายน่า...”

ป้อมพระจุลฯมีลักษณะเป็นหลุม ๘ หลุมเรียงกันไปตามชายฝั่ง ภายในหลุมแต่ละหลุมติดปืนที่เรียกกันว่า “เสือหมอบ” คือสามารถยืดฐานโผล่ปืนขึ้นมาเหนือปากหลุมได้ ปากกระบอกกว้าง ๑๕๒ มิลลิเมตร ลำกล้องยาว ๔.๘๖๔ เมตร หรือเป็น ๓๒ เท่าของความกว้างปากกระบอก หนัก ๕ ตัน รัศมียิงไกลสุด ๘.๐๖๔ เมตร สั่งมาจากบริษัท เซอร์ ดับบลิว จี อาร์มสตรอง จำกัด ประเทศอังกฤษ เป็นปืนใหญ่บรรจุกระสุนท้ายรุ่นแรก นับเป็นป้อมปืนทันสมัยที่สุดในยุคนั้น

หลังจากสร้างป้อมพระจุลฯเสร็จไม่นาน ในตอนพลบค่ำของวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ เรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำก็ลองดี อาศัยช่วงฝนตกหนักให้เรือสินค้าของฝรั่งเศสซึ่งชำนาญล่องน้ำนำล่องผ่านกระโจมไฟเข้ามา เมื่อทหารจากป้อมมองเห็นก็เป่าแตรประจำสถานีรบ และยิงกระสุนกระสุนเปล่าเตือนไป ๒ นัด แต่เรือรบฝรั่งเศสยังคงเดินหน้าไม่หยุด ป้อมพระจุลฯจึงยิงกระสุนจริงไปตกข้างเรือ เรือรบฝรั่งเศสกลับชักธงรบและยิงตอบโต้กลับ จึงเกิดการดวลปืนเรือกับปืนป้อมขึ้น เรือนำล่องถูกยิงจนต้องวิ่งเข้าเกยฝั่ง แต่กัปตันลงเรือเล็กไปขึ้นเรือรบ และนำล่องจนเรือรบทั้ง ๒ ลำผ่านมุมยิงของป้อมพระจุลฯเข้ามาได้

เมื่อวันเวลาผ่านไป ป้อมพระจุลฯถูกทอดทิ้งให้รกร้าง น้ำขังท่วมฐานปืนในหลุมจนเกิดสนิม ริมฝั่งก็มีต้นโกงกางขึ้นปิดบังป้อมกับปากอ่าวจนมองไม่เห็นกัน ต่อมาในปี ๒๕๒๔ กองทัพเรือจึงปรับปรุงขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นำอาวุธแต่ละสมัยของกองทัพเรือมาจัดแสดง รวมทั้งได้นำ “เรือรบหลวงแม่กลอง” ซึ่งเป็นเรือฝึกนักเรียนนายเรือ สร้างผู้บัญชาการทหารเรือมาหลายคน ยกขึ้นไว้บนฝั่ง เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้ประชาชนขึ้นชม จนได้รับรางวัลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เป็นสถานท่องเที่ยวดีเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ ประจำปี ๒๕๔๓

ที่ปากน้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ยังมีป้อมปืนโบราณที่สร้างมาก่อนป้อมพระจุลจอมเกล้าอีกหลายป้อม ในปี ๒๓๖๒ องต๋ากุน เจ้าเมืองไซ่ง่อน ซึ่งเข้ายึดครองเขมรอยู่ ได้เกณฑ์ทั้งคนญวนและคนเขมรผลัดละ ๑๐,๐๐๐ คน ขุดคลองจากทะเลสาบเสียมราฐมาออกที่เมืองบันทายมาศ เป็นคลองกว้าง ๒๔ เมตร ลึก ๓.๕ เมตร ฝ่ายไทยเห็นว่าญวนขุดคลองมาออกใกล้ไทยเช่นนี้ อาจเตรียมการยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯและหัวเมืองชายทะเลได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชดำริว่า ที่เมืองสมุทรปราการยังไม่มีที่มั่นป้องกันที่มั่นคง จึงโปรดให้พ ระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ เป็นแม่กองร่วมกับพระยาสุริยวงศ์โกษา ลงไปจัดการสร้างป้อมขึ้นทางฝั่งตะวันออก ๔ ป้อม คือ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมกายสิทธิ์ ชักปีกกาถึงกัน และสร้างตึกดินไว้เครื่องศาสตราวุธพร้อมฉางข้าว ส่วนที่เกาะกลางน้ำหน้ามืองสมุทรปราการ ก็ให้สร้างป้อมขึ้นอีกป้อมหนึ่ง มีพื้น ๒ ชั้น เรียกว่า ป้อมผีเสื้อสมุทร และที่ฝั่งด้านตะวันตกตรงกัน ก็สร้างขึ้นอีกหนึ่งป้อม ชื่อ ป้อมนาคราช

อนึ่ง ข้างเหนือป้อมผีเสื้อสมุทร มีหาดทรายเกิดขึ้นกลางน้ำ ทรงพระราชดำริจะสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่หาดทรายนี้ แต่ยังไม่ทันได้สร้างในรัชกาลที่ ๒ มาสร้างพระเจดีย์กลางน้ำในรัชกาลที่ ๓ และทรงสร้างป้อมขึ้นอีก ๓ ป้อม คือ ป้อมตรีเพชร ป้อมคงกะพัน และป้อมเสือซ่อนเล็บ

ป้อมรุ่นนี้ได้ผุพังไปตามกาลเวลา ปัจจุบันคงเหลืออยู่ในสภาพดีเพียงป้อมเดียว คือ ป้อมผีเสื้อสมุทร ซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ แต่ไม่ได้อยู่กลางน้ำเหมือนเมื่อตอนสร้าง เข้ามาชิดริมฝั่งด้านตะวันตก เพราะแผ่นดินจากฝั่งงอกออกไป ตอนนี้มีเพียงคลองเล็กๆที่เป็นท่าเรือจากพระสมุทรเจดีย์ข้ามไปสมุทรปราการคั่นอยู่เท่านั้น ส่วนพระสมุทรเจดีย์ หรือพระเจดีย์กลางน้ำในอดีตนั้น ได้เชื่อมเป็นฝั่งตะวันตกหลายปีแล้ว

ส่วน ป้อมนาคราช ที่เคยอยู่ริมฝั่งตะวันตกนั้น ขณะนี้อยู่ห่างฝั่งออกมา เหลือเพียงกำแพงป้อมเป็นช่วงๆ อยู่ด้านหลังของ โรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ เป็นกำแพงด้านหลังของโรงอาหารโรงเรียน ยาวออกไปถึงชุมชนที่อยู่ของชาวบ้าน และหายไปในวังกุ้งซึ่งอยู่ในที่ราชพัสดุ เชื่อกันว่าด้านปลายของป้อมนี้ยังมีป้อมอีกป้อมหนึ่ง ชื่อ ป้อมพับสมุทร หรือ ทับสมุทร มีอิฐโบราณก้อนใหญ่กลาดเกลื่อนอยู่ทั่วไปในบริเวนนี้ ชาวบ้านนำมาปูเป็นทางเดิน บ้างก็ใช้ก่อสร้างทางระบายน้ำของวังกุ้ง ทั้งยังพบแผ่นศิลาหนา สลักรูปนาคราชขดอยู่ตรงกลางและลงยันต์ ฝังอยู่ เชื่อว่าเป็นแผ่นศิลายันต์ของป้อมนาคราช

ถัดจากเมืองสมุทรปราการเข้ามา ยังมีป้อมปราการอยู่อีกกลุ่มหนึ่งอยู่ในเขตอำเภอพระประแดง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ เช่นกัน และสร้างมาก่อนป้อมของเมืองสมุทรปราการ

เมืองพระประแดงเป็นเมืองโบราณที่สร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ เป็นเมืองหน้าด่านด้านทะเลของขอม มาในสมัยกรุงศรีอยุธยา แผ่นดินได้งอกออกไปจนเมืองพระประแดงอยู่ห่างทะเล พระเจ้าทรงธรรมจึงให้ย้ายเมืองไปสร้างใหม่ที่ปากแม่น้ำตรงไหลออกทะเลที่ตำบลเจ้าพระยา แม่น้ำสายนี้จึงได้ชื่อว่า “แม่น้ำเจ้าพระยา” ตามชื่อตำบล และเรียกชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “เมืองสมุทรปราการ” ส่วนเมืองพระประแดงก็ถูกทอดทิ้งเป็นเมืองร้างไป

เนื่องจากแม่น้ำสายนี้ไหลคดอ้อมเมืองพระประแดง พระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดให้ขุดคลองลัดช่วงนี้ขึ้น เรียกกันว่า “ลัดต้นโพธิ์” เพื่อให้การเดินทางระหว่างเมืองสมุทรปราการกับกรุงศรีอยุธยาสะดวกรวดเร็วขึ้น

ต่อมาในปี ๒๓๕๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงดำริว่า ที่ลัดต้นโพธิ์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไปกะที่จะสร้างเมืองใหม่เพื่อป้องกันข้าศึกที่จะมาทางทะเล ลงมือทำป้อมเสร็จไปเพียงป้อมเดียว นอกนั้นยังค้างอยู่ ควรจะทำต่อให้แล้วเสร็จ จึงโปรดให้สมเด็จพระอนุชา กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่กองสร้างเมืองใหม่ในเขตเมืองพระประแดงเดิม โดยตัดเอาท้องที่แขวงกรุงเทพฯบ้าง แขวงเมืองสมุทรปราการบ้าง รวมกันตั้งเป็นเมืองใหม่ พระราชทานนามว่า “นครเขื่อนขันธ์” ให้ย้ายครอบครัวมอญพรรคพวกพระยาเจ่งที่อพยพเข้ามา แบ่งชายฉกรรจ์ ๓๐๐ คนพร้อมครอบครัวลงไปอยู่ ให้ สมิงทอมา บุตรพระยาเจ่ง หรือ เจ้าพระยามหาโยธา ต้นตระกูลคชเสนีย์ เป็น พระยาเขื่อนขันธ์ รามัญชาติ ราชเสนาบดี ศรีสิทธิสงคราม ไปรักษาเมือง พร้อมตั้งกรรมการเมืองทุกตำแหน่ง

ป้อมที่สร้างขึ้นริมฝั่งเจ้าพระยารุ่นนี้มี ๘ ป้อม สร้างที่ฝั่งตะวันออดก ๓ ป้อม มี ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย ป้อมปีศาจสิง ป้อมราหูจร และป้อมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ อีก ๑ ป้อม คือ ป้อมวิทยาคม รวมเป็น ๔ ป้อม ส่วนที่สร้างฝั่งตะวันตก มี ๕ ป้อม คือ ป้อมแผลงไฟฟ้า ป้อมมหาสังหาร ป้อมศัตรูพินาศ ป้อมจักรกรด และป้อมพระจันทร์พระอาทิตย์ ชักปีกกาถึงกัน ด้านหลังก็มีกำแพงล้อมรอบ ตั้งยุ้งฉางและตึกดินสำหรับไว้ศาสตราวุธ ในแม่น้ำก็ทำทุ่นผูกโซ่เหล็กขึงกั้นแม่น้ำ ใช้ซุงร้อยไว้เป็นช่วงๆ

นอกจากนี้ ตอนที่ไปสร้างป้อมที่เมืองสมุทรปราการ ยังโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กองไปสร้างป้อมที่นครเขื่อนขันธ์เพิ่มขึ้นอีกป้อมหนึ่ง คือ ป้อมเพชรหึงษ์ ซึ่งขณะนี้ไม่เหลือซาก กลายเป็นสถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพพระประแดงไป ทั้งยังทรงให้ขุดคลองลัดขึ้นอีกคลองหนึ่ง จากด้านหลังของเมืองไปทะลุออกคลองตาลาว เรียกกันว่า คลองลัดหลวง ซึ่งทำให้นครเขื่อนขันธ์มีชื่ออีกชื่อว่า ปากลัด

ปัจจุบัน ป้อมของนครเขื่อนขันธ์เหลืออยู่เพียงฟากละป้อมเท่านั้น คือฟากตะวันออกเหลือป้อมปู่เจ้าสมิงพราย อยู่ที่ปลายถนนปู่เจ้าสมิงพราย ในเขตโรงพยาบาลพระประแดง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลโรคเรื้อน กำแพงป้อมบางส่วนที่เหลืออยู่ได้กลายเป็นกำแพงด้านหน้าของโรงพยาบาล ส่วนตัวป้อมอยู่ด้านหลัง ปืนประจำป้อมถูกถอดออกไปตั้งเรียงรายประดับริมแม่น้ำ

ส่วนฝั่งตะวันตกก็เหลือแต่ป้อมแผลงไฟฟ้า แม้สภาพของป้อมจะอยู่ในสภาพค่อนข้างดี แต่ก็ถูกทอดทิ้งให้รกร้าง ด้านหน้าเป็นตลาดสด ถูกตกแต่งให้ดูดีหน่อยตอนมีงานสงกรานต์พระประแดง

ป้อมปืนโบราณเหล่านี้ ส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ซึ่งประเทศอยู่ในช่วงที่ว่างศึก ไม่มีศัตรูเข้ามารุกราน แต่การป้องกันประเทศนั้นไม่ใช่มาจัดเตรียมกันเมื่อข้าศึกยกมา การเตรียมพร้อมที่จะรับมือผู้รุกรานได้ทุกเมื่อนี้ ยังทำให้ข้าศึกเกรงขามไม่กล้าเข้ามารุกรานบ้านเมืองด้วย
ริมฝั่งแม่น้ำของโรงพยาบาลพระประแดง
ห้องเก็บกระสุนของป้อมปู่เจ้าสมิงพราย
ประตูเข้าป้อมแผลงไฟฟ้า
บริเวณร่มรื่นของป้องแผลงไฟฟ้า
ป้อมผีเสื้อสมุทรสมัย ร.๕ ติดปืนในหลุมเหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น