ชีวิตที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำรงอยู่ของชาติไทย นอกจากจะเป็นกำลังสำคัญของพระเจ้าตากสินในการกอบกู้อิสรภาพจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาแล้ว ยังเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นอย่างมั่นคงมาจนบัดนี้ด้วย แต่ครั้งหนึ่งพระองค์ก็เกือบถูกลงโทษถึงตาย เพียงเพราะเข้าใจผิดในเรื่องเล็กน้อย ดีที่เคยทำความดีความชอบไว้จนพระเจ้าตากสินมีรับสั่งว่า ถึงทำความผิดอย่างไรก็จะไม่ประหาร จึงทรงให้ตัดสินโทษของตัวเอง
ชีวิตในประวัติศาสตร์พระองค์นี้ ก็คือ เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท “วังหน้า” ในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก เจ้าพระยาสุรสีห์ฯรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร มีตำแหน่งเป็น นายสุดจินดา หุ้มแพร เมื่อพระเจ้าตากสินนำทหารกล้าจำนวน ๕๐๐ คนตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าออกไปส้องสุมกำลังที่จันทบุรี นายสุดจินดาก็ลอบหนีออกมาจากกรุงเช่นกัน ไปหาพี่ชายที่เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และตามหา นางนกเอี้ยง มารดาพระเจ้าตากสินได้ที่เมืองเพชรบุรี นำไปพบพระยาตากที่จันทบุรี และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการกอบกู้อิสรภาพ จนเมื่อพระเจ้าตากสินขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว นายสุดจินดาได้รับโปรดเกล้าฯเป็น พระมหามนตรี ตำแหน่งเจ้ากรมพระตำรวจขวา จึงได้ไปรับพี่ชายมารับราชการด้วย
สาเหตุที่เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชมีโทษถึงตายในสมัยกรุงธนบุรีนั้น เกิดจากเจ้าพระยาสุรสีห์ฯมีเรื่องจะต้องกราบทูล จึงตามไปขอเข้าเฝ้าขณะที่พระเจ้าตากสินทรงนั่งกรรมฐานอยู่ที่พระตำหนักแพในพระบรมราชวัง โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ทองอยู่) นั่งกำกับอยู่ด้วย พระยาพิทักษ์ภูบาลซึ่งเฝ้าอารักขาอยู่ได้โบกมือห้ามไว้ แต่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯเข้าใจว่าโบกมือให้เข้าได้ จึงย่องเข้าไป
พระยาพิทักษ์ฯเห็นดังนั้นก็เกรงว่าตนจะมีความผิดที่ปล่อยให้ใครเข้าไปถึงพระองค์ในขณะที่นั่งกรรมฐาน แม้จะเป็นผู้ใกล้ชิดเช่นเจ้าพระยาสุรสีห์ฯก็ตาม จึงสั่งให้ทหารควบคุมตัวไว้ และค้นตัวจนทั่ว แต่ก็ไม่พบอาวุธใดๆ
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกริ้ว ตรัสกับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯว่า ทำอย่างนี้จะลอบเข้ามาปลงพระชนม์หรือ ในเมื่อเป็นขุนนางผู้ใหญ่ก็ย่อมจะต้องรู้ธรรมเนียมของราชสำนักดี แต่เห็นว่าเจ้าพระยาสุรสีห์มีความดีความชอบมาก่อน จึงอนุญาตให้ลงโทษตัวเอง
เจ้าพระยาสุรสีห์ฯจึงพิพากษาตัวเองด้วยหัวใจเด็ดเดี่ยวว่า...ความผิดครั้งนี้ โทษถึงริบราชบาตร เฆี่ยนเก้าสิบที แล้วประหารชีวิต
พระเจ้าตากสินรับสั่งว่า ได้เคยปฏิญาณไว้แต่ครั้งที่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯพาแม่ไปส่งให้ที่จันทบุรีว่า ถึงทำความผิดอย่างไรก็จะไม่ประหาร
เจ้าพระยาสุรสีห์กราบทูลว่า เมื่อไม่ประหารก็ให้เฆี่ยนหกสิบทีแล้วเอาไปขังคุกจนกว่าจะตาย
พระเจ้าตากสินก็ว่า เอาไปขังคุกไว้ตลอดชีวิต แล้วจะเอาใครไว้ใช้เล่า
พระยาสุรสีห์ก็กราบทูลอีกว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้เฆี่ยนหกสิบที แล้วปลดออกจากตำแหน่งลงเป็นไพร่
พระเจ้าตากสินก็รับสั่งว่า ถ้าเป็นไพร่ ก็จะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน มีเรื่องอะไรขึ้นมาจะปรึกษาใคร
เจ้าพระยาสุรสีห์ฯจึงกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้ลงพระอาญาเฆี่ยนหกสิบที แล้วโปรดเกล้าฯให้อยู่ตำแหน่งเดิมต่อไป
พระเจ้าตากสินจึงทรงยอมจำนน ตกลงพระราชหฤทัยลงโทษตามที่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯพิพากษาตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย ให้เจ้าพนักงานจับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯมัดมือคร่อมกับเสา แล้วเรียกหวายจากพนักงานมาทรงเฆี่ยนด้วยพระหัตถ์เอง
เรื่องนี้เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เก็บความเคียดแค้นไว้ที่สมเด็จพระวันรัต ซึ่งเชื่อว่าจะต้องเป็นผู้ใส่ความจนทรงกริ้ว ฉะนั้นเมื่อผลัดแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชย์ และเจ้าพระยาสรุสีห์ฯได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ตำแหน่งอุปราช จึงได้โอกาสชำระแค้น กราบทูลให้สึกสมเด็จพระวันรัต เฆี่ยน ๓๐๐ ที แล้วให้เอาไปประหารชีวิต แต่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ ๒) ซึ่งเป็นลูกศิษย์สมเด็จพระวันรัตทูลขอชีวิตไว้ พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ไว้ชีวิตสมเด็จพระวันรัตที่ถูกสึกมาเป็นนายทองอยู่ และถูกเฆี่ยนไปแล้ว ให้เป็นหลวงอนุชิตพิทักษ์ สังกัดกระทรวงมหาดไทย