เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็น ๑ ในจำนวน ๑๐๖ เจ้าพระยาของกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากจะมีความมหัศจรรย์มาแต่กำเนิดแล้ว ยังสร้างผลงานไว้มากมายหลายด้าน ทั้งการทูต การทหาร การเกษตร การก่อสร้าง จนถึงปราบโจร รับราชการอยู่ยาวนานถึง ๓ รัชกาล แต่ในที่สุดก็ต้องลาออกก่อนจะถูกรุมยำ เพราะความอิจฉา
เมื่อตอนเกิด ท่านมีรอยปานดำคล้ายฝ่ามือติดมาที่หน้าอก ซึ่งทำความแปลกใจให้บรรดาญาติมาก เพราะพี่สาวของท่านที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ ๓ ขวบ เป็นหลานรักของคุณยาย ตอนบรรจุศพ คุณยายเอาเขม่าไฟป้ายฝ่ามือเจิมไว้ที่หน้าอกหลานสาว พร้อมกับอธิษฐานว่า ขอให้หลานรักกลับมาเกิดเป็นหลานยายอีกสักชาติ และถ้าหากกลับมาเกิดจริง ก็ขอให้มีรอยเขม่าไฟที่ยายเจิมไว้นี้ติดมาเป็นพยานด้วย พี่ชายของท่านที่เกิดตามพี่สาวมาไม่มีรอยเขม่าไฟ มามีที่อกของหลานคนที่สาม แต่ก็น่าเสียดายที่คุณยายเสียชีวิตไปก่อนที่หลานคนนี้เกิด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) ซึ่งเป็นปู่ของมารดาท่าน เป็นผู้ตั้งชื่อหลานทวดคนนี้ว่า “เจิม” ตามรอยปานดำที่หน้าอก
พออายุได้ ๙ ขวบ เด็กชายเจิมเข้ารับการศึกษาที่สำนักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ พออายุ ๑๕ บิดาก็ได้นำไปฝากเข้าศึกษาในสำนักของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหม เพื่อเรียนวิชาการทหาร สถานที่แห่งนี้เป็นที่อบรมบรรดาลูกหลานของขุนนางให้เรียนรู้การรบและการนำทัพ
ในปี ๒๔๑๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงดำริให้ตั้งกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ขึ้น โปรดเกล้าฯให้ นายพันโทพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง) บิดาของท่าน เป็นผู้บังคับการกรม แต่มีความเชื่อกันในยุคนั้นว่า “ทหาร” ก็คือ “พวกสักเลก” ที่เกณฑ์มา เป็นเหมือนพวกไพร่ พวกทาส บรรดาผู้ดีมีสกุลจึงไม่ยอมให้บุตรหลานเป็นทหาร พระยาสุรศักดิ์มนตรีจึงนำความปรึกษากับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการและสมุหกลาโหม ขอตัวบุตรชายมาเป็นทหารมหาดเล็กคนแรกให้เป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นว่าลูกหลานของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังสมัครมาเป็นทหาร ซึ่งสมเด็จเจ้าพระยาฯก็เห็นด้วย
ด้วยเหตุนี้ เจิมจึงเข้าเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์หมายเลข ๑ ได้รับยศนายร้อยตรี ตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้มีบรรดาศักดิ์เป็น หลวงศัลยุทธสรกรร เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๑๔ อันเป็นการเริ่มต้นชีวิตราชการ
ในปีแรก หลวงศัลยุทธสรกรรได้มีโอกาสตามเสด็จประพาสเกาะชวา และเมื่อกลับจากเสด็จประพาสครั้งนั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯให้หลวงศัลยุทธฯเป็นอุปทูตร่วมคณะไปกับพระยาสมุทรบุรารักษ์ นำพระราชสาส์นขอบใจ พร้อมด้วยของขวัญและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปมอบผู้ว่าราชการเกาะชวาของฮอลันดา กับผู้ว่าราชการเกาะสิงคโปร์ของอังกฤษ ที่ได้ถวายการต้อนรับอย่างดี
หลวงศัลย์ฯ จึงได้เริ่มชีวิตนักการทูตอีกอย่าง นอกเหนือจากหน้าที่ทางทหาร
ในปีเดียวกันนั้น เนื่องจากความดีความชอบในการเป็นอุปทูตไปชวา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น จมื่นสราภัยสฤษดิ์การ
ในปี ๒๔๒๑ รัฐบาลสยามเกิดข้อบาดหมางกับ มร.โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย นายร้อยเอกจมื่นสราภัยสฤษดิ์การ ผู้บังคับกองร้อยทหารมหาดเล็ก ก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นอุปทูต ไปแจ้งเรื่องต่อรัฐบาลอังกฤษที่กรุงลอนดอนด้วย และจากผลงานของคณะทูตชุดนี้เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก จมื่นสราภัยสฤษดิ์การ จึงได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น จมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็กวรฤทธิ์
เสร็จสิ้นจากภารกิจทางด้านการทูต ในปี ๒๔๒๕ ซึ่งจะมีงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนจะถึงกำหนด แต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่เตรียมไว้รับแขกยังไม่เสร็จ จมื่นไวยวรนารถจึงได้รับโปรดเกล้าฯให้เข้ามาช่วยงาน มร.ครูบิช สถาปนิกชาวอังกฤษ เร่งรัดการก่อสร้าง จมื่นไวยฯได้ติดต่อกับพระยาสยามธุรพาหะ กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยที่กรุงลอนดอน ขอให้ช่วยหาเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปส่งมา พระที่นั่งจักรีฯจึงเสร็จทันงานพระราชพิธีสำคัญ
หลังจากงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี จมื่นไวยวรนารถได้รับโปรดกล้าฯเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งในยุคนั้นเรียกกันว่า “ผู้บังคับการทหารหน้า” ขณะเดียวกันกองทัพบกก็จะจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกขึ้น เพื่อรองรับพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารตามแบบอย่างอารยะประเทศ จมื่นไวยฯจึงได้ทูลขอพื้นที่ฉางข้าว ๗ ฉางพร้อมโรงสีของกองทัพ ที่เคยใช้เป็นที่สะสมเสบียงยามสงคราม ตั้งอยู่ใกล้ศาลหลักเมือง พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบ โปรดให้ มร.กราเซีย สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นผู้ออกแบบ หมดค่าก่อสร้างไปสี่แสนบาทเศษ เปิดใช้เป็นที่ทำการของกรมยุทธนาธิการ ซึ่งก็คือศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน
แม้จมื่นไวยฯจะทุ่มเทในการทำงาน รับราชการด้วยความซื่อสัตย์ เอาชีวิตรองพระบาท แต่กลับถูกกล่าวหาว่าคิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน ถึงขั้นวางแผนจะปลงพระชนม์
เรื่องเกิดจากนายทหารอิตาเลียน ๑ ใน ๒ คนที่เข้ามารับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย คือ ร้อยเอก ยี. เอ. เยรินี ซึ่งต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น พระสารสาสน์พลขันธ์ ได้แต่งตำราสำหรับสอนในโรงเรียนนายร้อยขึ้น ๒ เล่ม และต้องการจะสอนการทำระเบิดด้วย แต่ก็ไม่สามารถหาดินระเบิดได้ จนเมื่อมีโอกาสไปสิงคโปร์ ขากลับ ร.อ.เยรินี จึงซื้อดินปืนกลับเข้ามาด้วย เมื่อศุลกากรตรวจพบได้คุมตัว ร.อ.เยรินีไว้ จมื่นไวยฯจึงรับรองว่าจะนำมาใช้ในการศึกษาของโรงเรียนนายร้อย
เรื่องนี้รู้ไปถึงเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งไม่ชอบจมื่นไวยฯ จึงได้แต่งเติมเสริมเรื่องเป็นว่า จมื่นไวยฯจะเอาดินระเบิดมาทำกบฏ โดยจะซ่อนไว้ในปราสาทห้ายอด เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนางก็จะจุดชนวน ให้ทุกอย่างระเบิดเป็นจุล
แต่เสนาบดีและเจ้านายอีกหลายพระองค์ โดยเฉพาะกรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ ราชเลขานุการในพระองค์ และกรมหลวงภูธเรศธำรงศักดิ์ เสนาบดีนครบาล ได้กราบทูลความจริงให้ทรงทราบ จมื่นไวยฯจึงรอดหัวขาดไปได้
จมื่นไวยฯเป็นคนที่มีความคิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ และตัดสินใจทำอย่างรวดเร็วโดยไม่รอระเบียบการต่างๆแบบราชการ จึงเป็นผลให้เข้าเนื้อตัวเองอยู่เสมอ
อย่างเช่นการตั้งโรงไฟฟ้า จมื่นไวยฯก็เป็นคนแรกที่นำหลอดไฟฟ้าหลอดแรกมาจุดสว่างขึ้นในเมืองไทย อย่างที่เล่าไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้เป็นที่ฮือฮากันมาก จึงเรียกหุ้นเพื่อจะตั้งโรงผลิตไฟฟ้าขึ้น มีคนสนใจจะเข้าหุ้นด้วยเป็นอันมาก แต่เจ้าหมื่นฯถูกส่งตัวเป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อเสียก่อน โครงการนี้จึงฝ่อไป
การยกทัพไปปราบฮ่อที่เข้ามายึดทุ่งเชียงคำในปี ๒๔๑๗ นี้ เป็นการจัดขบวนทัพแบบยุโรปเป็นครั้งแรกของกองทัพไทย เมื่อตีทัพฮ่อแตกกระเจิงไปแล้ว จมื่นไวยฯยังต้องตั้งทัพอยู่ที่หลวงพระบางต่อไปอีก เพราะตอนนั้นฝรั่งเศสยึดญวนแล้วพยายามจะผนวกเอาลาวด้วย เลยต้องตั้งทัพคุมเชิงอยู่หลายปี จนได้เลื่อนยศและบรรดาศักดิ์เป็น พลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี และมีรับสั่งเรียกตัวกลับในปี ๒๔๓๒ โปรดให้เลื่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการทั่วไปและเป็นองคมนตรีด้วย
ในตอนที่ตั้งทัพอยู่หลวงพระบางนี้ ท่านได้ให้เจ้านายของลาวที่ถูกฮ่อเผาบ้าน ยืมเงินไปปลูกบ้านใหม่เป็นเงิน ๔๔,๐๐๐ บาท ก็ไม่ได้คืน จนเมื่อลาวตกเป็นของฝรั่งเศส ท่านได้ขอให้กรมพระสวัสดิ์ฯที่เป็นทูตไปเจรจา ช่วยทวงเงินจำนวนนี้ให้ด้วย แต่ก็ไม่ได้ผล รวมทั้งเงินที่ท่านขอยืมจากกระทรวงต่างๆ ตอนยกทัพไปปราบฮ่อเป็นเงินถึง ๑๒๐,๐๐๐ บาท ทางราชการก็ไม่ยอมจ่ายให้
ในปีที่กลับมานั้น ปรากฏว่ามีโจรผู้ร้ายชุกชุมใน ๑๐ จังหวัดแถว ชลบุรี พนัสนิคม จันทบุรี ระยอง ตราด ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา พนมสารคาม และสนามชัยเขต ทรงมอบให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นข้าหลวงใหญ่ไปปราบปราม
ท่านข้าหลวงได้ไปตั้งกองบัญชาการที่ชลบุรีซึ่งเป็นชุมโจรใหญ่ แบ่งกำลังออกเป็น ๑๐ หน่วย ออกสอบสวนผู้มีอิทธิพลและโจรแต่ละจังหวัด ได้บัญชีรายชื่อมา ๑,๖๐๐ คน จากนั้นก็ส่งกำลังออกจู่โจมพร้อมกันทั้ง ๑๐ จังหวัด ล่าบุคคลตามบัญชีชื่อมาได้เกือบครบ ท่านข้าหลวงจะสั่งประหารเสียก็ได้เพราะมีอาญาสิทธิ์อยู่แล้ว แต่ท่านกลับให้ส่งฟ้องศาล
ในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๕ พระยาสุรศักดิ์มนตรี ผู้เป็นนักการทหาร นักการทูต วิศวกรควบคุมการก่อสร้าง ข้าหลวงปราบโจร และองคมนตรีมาแล้ว ก็ได้งานใหม่ในวัย ๔๑ อีก โดยโปรดเกล้าฯให้เป็น เสนาบดีกระทรวงเกษตร ท่านนั่งติดเก้าอี้อยู่ได้ไม่ถึงปี ก็เกิดกรณี “ร.ศ.๑๑๒” พิพาทกับฝรั่งเศสขึ้น พระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้จัดตั้งกองอาสาพิเศษเพื่อเตรียมรบ และผู้บังคับการกองพันพิเศษอาสาสมัครนี้ ก็ไม่พ้นท่านเสนาบดีกระทรวงเกษตร
ท่านตั้งกองกำลังพล ๑,๐๐๐ คนอยู่ ๘ เดือน ก็ยังไม่มีโอกาสได้รบ และเมื่อจะสลายกองกำลังปล่อยอาสาสมัครกลับบ้าน จึงขอเบิกเงินเดือนไปทางกลาโหมเป็นจำนวน ๒๔,๐๐๐ บาท ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีงบประมาณจะจ่ายให้ ท่านจึงต้องเอาควายของกลางที่ยึดมาเมื่อครั้งปราบโจร ๑๐ จังหวัด ให้นายทหารคนละ ๒ ตัว พลทหารคนละ ๑ ตัว จูงกลับบ้านไป
จากการนั่งเก้าอี้เสนาบดีกระทรวงเกษตรก็เช่นกัน ที่ประชุมเสนาบดีมีมติให้กระทรวงเกษตรเปลี่ยนมาใช้เครื่องชั่งตวงวัดตามมาตราเมตริกแทนสัดทนานแบบเดิม ท่านเสนาบดีคนไม่ชอบรอระเบียบเยิ่นเย้อของราชการ จึงสั่งซื้อเครื่องชั่งตวงวัดมาเป็นเงิน ๒๔,๐๐๐ บาท แต่พอทำฎีกาขอเบิกเงินไปก็ถูกคัดค้าน และให้ริบเครื่องชั่งตวงวัดเหล่านั้นด้วย ท่านเลยต้องจ่ายเงินส่วนตัวไปอีก
ผลจากการรับราชการเป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตรมา ๕ ปี ท่านก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็น เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แต่มีหนี้สินติดค้างหลวงอยู่ถึง ๘๐,๐๐๐ บาท จะกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่อยากรบกวนพระราชหฤทัย จึงนำบ้านที่อยู่อาศัยตำบลศาลาแดง เนื้อที่ ๒๕ ไร่ซึ่งเป็นบริเวณโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบันด้วย ไปขอเคลียร์ชดใช้หนี้หลวง พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบต่อมาจึงรับสั่งให้ท่านอยู่ที่เดิมไปตลอดชีวิต
ในปี ๒๔๔๐ พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสยุโรป ท่านเจ้าพระยารู้ตัวดีว่ามีคนจ้องจะปัดแข้งปัดขาอยู่มาก เอาตัวรอดอยู่ได้ก็เพราะพระบารมีปกเกล้าฯ หากพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปนานเช่นนี้คงจะไม่แคล้วแน่ จึงขอลาออกจากราชการเสียเลย พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้พ้นจากตำแหน่งตามต้องการ แต่ให้รับเงินเดือนเสนาบดีไปตามเดิมเดือนละ ๘๐๐ บาทโดยไม่ต้องทำงาน
เมื่อพ้นหน้าที่ราชการท่านก็หันมาทำธุรกิจ เอาที่ดินตำบลบางรัก ๒ แปลงรวม ๒๐๐ ไร่ ที่เป็นถนนประมวญและถนนสุรศักดิ์ แยกจากถนนสีลมในปัจจุบันออกขาย เอาเงินไปลงทุนทำป่าไม้ที่ศรีราชาร่วมกับนายอากรเต็ง นายห้างกิมเซ่งหลี
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พวกเงี้ยวก่อจลาจลเข้ายึดเมืองน่าน พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ท่านเป็นแม่ทัพขึ้นไปปราบเงี้ยว กบฏเงี้ยวถูกท่านปราบไปราบคาบ แต่พอกลับมาท่านกลับถูกหุ้นส่วนทำป่าไม้ปราบจนหมดตัว ยื่นบัญชีให้ดูว่าขาดทุนไป ๗๕๐,๐๐๐ บาท
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ท่านยังได้รับโปรดเกล้าฯให้อยู่ในตำแหน่งอภิรัฐมนตรี และเมื่อมีประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุล รัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานนามสกุลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีว่า “แสงชูโต”
ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานยศจอมพลทหารบก ให้เป็นบำเหน็จสุดท้ายของชีวิต
จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี มีชีวิตอยู่ ๔ รัชกาล และรับราชการ ๓ รัชกาล ถึงอนิจกรรมในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ขณะมีอายุได้ ๘๐ ปี โดยที่ท่านไม่มีบุตรสืบสายเลือดเลย