เปิดตำนาน “พลเรือตรี” บุกแผนกวิชาการรบพิเศษ นาวิกโยธิน ด่าทอก่อนทำลายแท่นรับการเคารพ หลักสูตร “รีคอน” พบเมื่อปี 58 เคยมีพลทหารร้องเรียนว่า ถูกทารุณกรรมขณะเป็นทหารรับใช้ เจ้าตัวโต้กลับไม่จริง แค่ให้วิ่งรอบบ้าน แถมกล่าวหาช่วยตัวเองต่อหน้าภรรยา คดีอยู่ในชั้นศาล
จากกรณีที่ พล.ร.ต.เบญจพร บวรสุวรรณ นายทหารนอกราชการ ได้ขับรถเข้าไปที่แผนกวิชาการรบพิเศษ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อบ่ายวันที่ 17 พ.ย. แล้วด่าทอเจ้าหน้าที่ในแผนก ก่อนทำลายแท่นรับการเคารพ พร้อมทั้งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 ของหน่วยไปด้วย เนื่องจากไม่พอใจที่ ร.ต.ตถาพร บวรสุวรรณ หรือ โบกัส อายุ 23 ปี บุตรชาย ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกหลักสูตรการรบพิเศษแขนงการลาดตระเวน สะเทินน้ำสะเทินบก และจู่โจม นาวิกโยธิน หรือ รีคอน ซึ่งเป็นหลักสูตรรบพิเศษ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และพ้นสภาพการเป็นนักเรียนหลักสูตรรีคอน เพราะอาการบาดเจ็บไม่สามารถฝึกต่อตามเกณฑ์ที่กำหนด
ต่อมา วันที่ 20 พ.ย. อดีตนักเรียนหลักสูตรรีคอน ร่วมพบปะและให้กำลังใจครูฝึกหลักสูตรรีคอน หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ กรณีอดีตทหารเรือระดับนายพลเดินทางไปพบครูฝึกและทำลายสิ่งของ รวมทั้งแท่นรับการเคารพของครูฝึก โดยอดีตนักเรียนหลักสูตรรีคอนและครูฝึก ได้พร้อมใจกันกล่าวทบทวนคำปฏิญาณตนของนักรบรีคอน ก่อนแยกย้ายไปปฏิบัติภารกิจตามปกติ
พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยให้ตรวจสอบขัอมูลทั้งสองฝ่ายอย่างรอบด้าน
หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินได้ชี้แจงว่า ขณะนี้เหตุการณ์ได้คลี่คลายแล้ว และทางหน่วยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามความถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย พร้อมทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และขวัญกำลังใจของครูฝึก ดังนั้นจึงขอให้เป็นเรื่องภายในหน่วยงานที่จะดำเนินการแก้ไข โดยไม่ต้องการให้เรื่องบานปลาย หลักสูตรรีคอนถือเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่มีความสำคัญ มีเกียรติและศักดิ์ศรี โดยยังคงรักษามาตรฐานการฝึกต่อไป พร้อมทั้งปรับปรุงให้มีความเหมาะสม
ขณะที่เฟซบุ๊กแผนกวิชาการรบพิเศษชี้แจงเพิ่มเติม ว่า กรณี ร.ต.ตถาพร นักเรียนรบพิเศษ หมายเลข 78 ออกจากการฝึกนั้น ไม่ได้รับการบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายจากครูฝึก แต่บาดเจ็บจากการฝึก โดยได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ต.พลูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 9 พ.ย. โดยมีอาการเจ็บหน้าอกข้างซ้าย นพ.จีรภัสร์ สมรรคบุตร แพทย์ประจำโรงพยาบาลฯ ลงความเห็นว่ากล้ามเนื้อกระดูกซี่โครงอักเสบ และเห็นว่าสามารถเข้ารับการฝึกต่อได้ และได้กลับเข้ามารับการฝึก
จนกระทั่งในระหว่างการฝึกปัญหาต่อเนื่อง 60 ชั่วโมง ร.ต.ตถาพร ได้รับบาดเจ็บเป็นครั้งที่ 2 ทางหลักสูตรได้ส่งตัวเข้าทำการรักษาพยาบาล นพ.อัครวี สุทธิโชติกุล แพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรมแพทย์ทหารเรือ ลงความเห็นว่า กระดูกซี่โครงซี่ที่ 7-8 ขวาหัก และมีภาวะเป็นลมแดด กล้ามเนื้ออักเสบ ขณะปฏิบัติการฝึก จึงไม่สามารถเข้ารับการฝึกต่อไปได้
ขณะที่เฟซบุ๊ก "ปฐม. กาล." โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า ร.ต.ตถาพร ซึ่งเป็นหลานของตน ถูกครูฝึกลงโทษ กระทืบจนกระดูกซี่โครงหัก 2 ซี่ และเฆี่ยนด้วยหวายจนหลังเละ และเห็นว่า การฝึกให้มีความรู้ มีความอดทน มีความสามารถนำความรู้ไปสู้รบป้องกันประเทศได้ เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่ทำร้ายร่างกายกันเช่นนี้เพราะมันผิดกฎหมาย และเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ร.ต. เบญจพร เคยถูกนายเอนก พลทองวิจิตร ร้องทุกข์ต่อศูนย์บริการประชาชน ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2558 ระบุว่า เป็นทหารประจำการอยู่ที่ศูนย์การฝึกทหารใหม่สัตหีบ ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดส่งตัวมาช่วยทำงานบ้านให้กับ พล.ร.ต.เบญจพร ที่บ้านพักเลขที่ 136 หมู่ 2 ซอยวัดนครชื่นชุ่ม ถ.พุทธมณฑล สาย 4 ต.กระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครปฐม และถูกมอบหมายงานไม้ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีความชำนาญ จึงถูก พล.ร.ต.เบญจพร นำโซ่มาผูกเอวเข้ากับยางล้อรถยนต์ได้รับความทรมานร่างกายและจิตใจจนทนไม่ไหวและต้องหลบหนีออกมาจากบ้านพักเมื่อวันที่ 18 ส.ค. และได้ร้องไปถึงผู้เกี่ยวข้องเพื่อปลดโซ่ที่ล่ามออกแต่ไม่เป็นผล จึงมาร้องขอความเป็นธรรมเพราะไม่มีเจตนาที่จะหลบหนีทหารแต่อย่างใด และขอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเรื่องนี้เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย
ต่อมาวันที่ 21 ส.ค. 2558 ร.อ.สุรเชษฐ์ สุจารี ราชนาวีนายทหารพระธรรมนูญ นำตัวนายเอนก เข้าแจ้งความเอาผิดต่อ สภ.โพธิ์แก้ว ให้การเบื้องต้นว่า ถูกส่งตัวมาช่วยงานบ้านตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2558 แรก ๆ ก็ถูกต่อว่าทำ ร้ายร่างกายบ้างแต่ก็ทนได้ กระทั่งช่วงเวลา 02.00 น. วันที่ 19 ส.ค. 2558 ถูก พล.ร.ต.เบญจพร ใช้รองเท้าแตะแบบหนัง ตบที่หน้า ด้านละ 2 ที จากนั้นสั่งให้ตนเอาโซ่มาล่ามตัวเองไว้กับยางรถยนต์ กระทั่งเช้า พล.ร.ต.เบญจพร ออกไปนอกบ้าน พอตอนสาย ภริยาก็ออกจากบ้านไป โดยกำชับให้ตนอยู่เฉย ๆ ห้ามออกไปไหน แต่เห็นว่าสิ่งที่ถูกกระทำมันเกินกว่าเหตุ จึงแบกยางพร้อมโซ่หนีออกมา ไปปรึกษาพ่อที่บ้านย่านประเวศ ก่อนนำเรื่องไปเล่าให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้บังคับบัญชาจึงให้มาแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าว
วันที่ 22 ส.ค. 2558 พล.ร.ต.เบญจพร ชี้แจงว่า ที่ทารุณกรรมนายเอนกนั้นไม่เป็นความจริง การเรียกตัวให้มาช่วยงานที่บ้านเป็นการร้องขอของนายเอนกเอง ที่จะหารายได้พิเศษเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ยืนยันว่าที่บ้านของตนไม่มีโซ่ชนิดที่นายเอนกถูกคล้องตัว มีเพียงโซ่ที่ใช้ล่ามสุนัข ที่ผ่านมาลงโทษเพียงแค่วิ่งรอบบ้าน 10 รอบ เพราะไม่ตั้งใจฝึกร้องเพลงชาติเนื่องจากความจำสั้น นอกจากนี้ ยังพบว่า นายเอนกใช้อวัยวะเพศช่วยตัวเองใต้ต้นมะรุมข้างห้องนอนของภรรยาที่ชั้น 2 ขณะที่ภรรยาตนกำลังแต่งตัว เมื่อภรรยารู้ก็ปฏิเสธว่ายืนปัสสาวะ นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่นายเอนกกล่าวหาว่า ถูกกระทำล่ามโซ่และทารุณกรรม ตนไม่ได้อยู่ที่บ้านพัก แต่ไปทำธุระกับลูกสาวที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อย่างไรก็ตาม ฝั่งทนายความนายเอนกก็ระบุว่า การกล่าวหาของ พล.ร.ต.เบญจพร ไม่มีมูลความจริง
วันที่ 31 ส.ค. 2558 ทนายความนายเอนก ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์บริการประชาชน ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า นายเอนก ถูก พล.ร.ต.เบญจพร แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์และมีพฤติกรรมกระทำการลามกอนาจาร ไว้ที่ สภ.โพธิ์แก้ว จ.นครปฐม และกล่าวหาพลทหารเอนกในหลายเรื่อง ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมและไม่มีมูลความจริง และทราบว่ามีการเร่งรัดคดี สำหรับความเป็นอยู่ของพลทหารเอนก อยู่ภายใต้การดูแลของ เสธ.นายหนึ่ง ในช่วงเวลาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนในทางคดี โดยไม่ได้ถูกคุมขังและญาติยังสามารถติดต่อกับพลทหารเอนกได้
อย่างไรก็ตาม หลังตกเป็นข่าวไปพบว่าเรื่องเงียบหาย 30 มิ.ย. 2559 นายเอนก ร้องขอความเป็นธรรมต่อศูนย์บริการประชาชน ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ทนายความระบุว่า คดีนี้มีการส่งเรื่องต่อไปยังพนักงานอัยการแล้ว แต่มีการสั่งการให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น เมื่อติดตามความคืบหน้าก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะผู้ต้องหาเป็นนายพลผู้มีอิทธิพล จึงจำเป็นต้องมาขอให้นายกฯ ให้ความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวด้วย
กระทั่งวันที่ 25 ส.ค. 2559 ศาลแขวงนครปฐมนัดไกล่เกลี่ย (สมานฉันท์) ระหว่าง นายเอนก กับ พล.ร.ต.เบญจพร โดยบิดากล่าวว่า เชื่อมั่นในลูกชายว่าไม่มีเจตนาให้ร้ายหรือกลั่นแกล้งผู้บังคับบัญชา ด้วยลักษณะนิสัยและความประพฤติของลูกชายไม่น่าจะมีเหตุที่จะต้องทำเรื่องไม่ดีหรือผิดเพี้ยนจนถึงขั้นต้องถูกล่ามโซ่กัน ขณะที่ทนายความระบุว่า ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะผู้เสียหายไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะให้ฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าเสียอย่างไร ด้านคดีก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ข้อหาที่ได้แจ้งความไว้เบื้องต้นนั้นมี 3 ข้อหา คือ กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำให้สูญเสียอิสรภาพ, หมิ่นประมาท, และข่มขืนใจผู้อื่น แต่พนักงานอัยการฯ สั่งไม่ฟ้องในข้อหากักขังหน่วง คงฟ้องแค่ข่มขืนใจและทำร้ายร่างกาย