xs
xsm
sm
md
lg

ใสๆ วัยรุ่นชอบ พระเอกลิเกดาวรุ่ง “อั่งเปา – ธนูทอง” ตัวแทนท่องเที่ยววิถีไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิด “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” หรือ “Amazing Thailand Tourism Year 2018” ระดมความร่วมมือภาครัฐและเอกชนสร้างความสมดุลด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีความพร้อมบนพื้นฐานของเอกลักษณ์ไทย ดังนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี จึงขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย จัดพรีเซนเตอร์ “ลิเก” สุดเก๋ไก๋ โปรโมตฤดูกาลการท่องเที่ยว “เขาพะเนินทุ่ง” อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมท่องเที่ยว มีการขยายตัวสูง และมีบทบาทความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ จึงเกิดการสร้างงานและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถพัฒนาและเติบโตอย่างมีคุณภาพยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงประกาศให้ปี 2561 เป็น “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” หรือ “Amazing Thailand Tourism Year 2018” ระดมความร่วมมือภาครัฐและเอกชนสร้างความสมดุลด้านการท่องเที่ยว ทั้งนี้รัฐบาลยังส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีความพร้อมบนพื้นฐานของเอกลักษณ์ไทย
ด้าน ททท. สำนักงานเพชรบุรี ขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย จัดพรีเซนเตอร์ “ลิเก” สุดเก๋ไก๋ โปรโมตฤดูกาลการท่องเที่ยว “เขาพะเนินทุ่ง” ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่เห็นแล้วต้องสะดุดตาสะดุดใจกับความสามารถของหนุ่มน้อยลิเกไทย ที่คิดว่าไปจ้างมาจากวิกลิเกมืออาชีพคณะไหน

เราพาไปทำความรู้จักกับ “อั่งเปา” หรือ “ธนูทอง ศิริวงศ์” พรีเซนเตอร์ท่องเที่ยววิถีไทยสไตล์เพชรบุร ให้หายสงสัยกันว่า เขามีที่มาอย่างไร ทำไมถึงสามารถร้องและรำลิเกได้เก่งและงดงามเพียงนี้

ธนูทอง ศิริวงศ์ (อั่งเปา) อายุ 21 ปี กำลังศึกษาปริญญาตรี ปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา คณะวิทยาการจัดการ สาขาการท่องเที่ยวและการโรงเเรม
“พื้นเพผมเป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา อ.เมือง ต.หน้าเมือง เป็นคนแปดริ้วครับ อยู่ใกล้กับวัดหลวงพ่อโสธร ตอนเด็กเป็นคนเองค่อนข้างจะขี้อาย แต่ก็กล้าแสดงออกอยู่บ้างครับ เคยขึ้นเวทีครั้งแรกตอนนั้นอยู่อนุบาล 2 คุณแม่ให้แต่งตัวออกแขกโชว์ แต่ยังร้องลิเกไม่ได้ แค่ออกไปโชว์ตัวเฉยๆ พอจะร้องได้ก็ช่วงประมาณ ป.1 ถึง ป. 2 ครับ ร้องได้บ้างนิดๆ หน่อยๆ ใช้วิธีครูพักลักจำเพราะไปกับแม่บ่อยๆ นั่งข้างเวทีได้ฟังก็พอจำได้ครับ


“ตอนแรกก็ไม่ได้ชอบลิเกมากครับ แต่พออายุสิบกว่าปี ก็คิดว่าเป็นอาชีพของเราที่เราต้องสืบสานต่อไป เพราะเป็นอาชีพของครอบครัวที่ต้องมีคนสืบสาน และที่บ้านก็ไม่มีใครแล้ว นอกจากผม ตอนแรกมีคนบอกเหมือนกัน แต่ก็ไม่ค่อยเชื่อ พอมาเรียนหนังสือเยอะๆ ก็อยากจะไปตามเพื่อน พอเราไปแสดงแล้วได้ตังค์ ก็เริ่มภูมิใจและเริ่มชอบ ซึ่งแต่เดิมที่บ้านเป็นคณะลิเกตั้งแต่รุ่นคุณตาอยู่แล้ว คุณแม่ก็สืบทอดต่อมา และก็คุณน้าซึ่งเป็นน้าชายในรุ่นปัจจุบัน


“คณะลิเกของเราชื่อว่า “คณะขวัญชนก ไก่ฟ้า พรเทวา” ซึ่งแต่ก่อนมีคนในคณะเยอะมากและมีงานเข้ามาเยอะมาก ในช่วงที่ผมเด็กๆ ผมก็จะไปกับแม่บ่อยๆ และเริ่มฝึกลิเกจริงจังตั้งแต่ประมาณ ม.1- ม.2 ซึ่งแม่กับน้าเป็นผู้ฝึกให้ โดยเริ่มแรกต้องฝึกร้องให้เป็นก่อน คือร้องกับระนาด ต้องร้องให้ได้คีย์ได้จังหวะของตะโพนก่อน แล้วพอร้องได้แล้วจากนั้นก็เริ่มฝึกรำครับ”

แล้วเข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับ ททท. เพชรบุรีครั้งนี้ได้อย่างไรคะ
เนื่องจากว่าผมเรียนอยู่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา คณะวิทยาการจัดการ สาขาการท่องเที่ยวและการโรงเเรม และเป็นนักศึกษามาฝึกงานของที่นี่ พอดีว่าท่าน ผอ.อัครวิทย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการ สำนักงานเพชรบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทราบมาว่าผมมีความสามารถทางด้านลิเก ก็เลยเลือกเอามาโปรโมตการท่องเที่ยว ซึ่งได้ทั้งสองทาง คือได้ทั้งด้านการท่องเที่ยวและทางวัฒนธรรมของลิเกด้วยครับ


วัยรุ่นสมัยนี้มองว่าศิลปะการแสดงลิเกเป็นอย่างไร
เท่าที่ผมสัมผัสมา เพื่อนๆ ที่เคยเห็น เขาจะมองเหมือนกับว่าเป็นเรื่องที่เชยแล้ว ล้าสมัย และเวลาไปแสดงก็จะไม่ค่อยเห็นวัยรุ่นไปดูจะเห็นก็แต่คนสูงอายุที่มาดูกัน ถ้าเอาหลักความจริงในปัจจุบันนี้ ผู้ที่ไปดูก็จะมีอายุเยอะแล้วประมาณ 60 ปีขึ้นไป วัยรุ่นน้อยมากครับที่จะมาดู ถ้ามาดูก็จะเป็นเด็กน้อยเลย คือยายจูงหลานมาดู
แต่ในส่วนของผม ผมไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว เพราะคิดว่าเป็นศิลปวัฒนธรรมคือ “ลิเก” เขาเรียกว่า “นาฏดนตรี” เริ่มจะหายและหมดไปแล้ว คณะลิเกแถวบ้านลูกหลานเขาก็ไม่สืบต่อกันแล้วครับ คณะลิเกก็หายไปเลย เพราะไม่มีคนสืบสาน ก็จบไปหลายคณะเยอะมากครับ แถวบ้านผมเรียกว่าเป็นซอยลิเก แต่ปัจจุบันมีคณะลิเกเหลือประมาณ 2-3 คณะเท่านั้นเองครับ

จะมีวิธีการสืบสานคณะลิเกของตนเองด้วยวิธีใด
การสืบสานก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคครับ การเล่นก็ต้องเล่นแบบกระชับ ไม่เป็นเหมือนสมัยก่อนที่ช้าๆ เพราะว่าคนดูเขาจะเบื่อ ถ้าเป็นเรื่องเศร้า ก็จะให้มีอารมณ์ขันปนอยู่บ้าง หรือร่วมสมัย ซึ่งก็จะเป็นการยากหน่อย เพราะการเล่นลิเกจะเป็นการฟ้อนรำ บ่งบอกถึงความอ่อนช้อย คนสมัยใหม่เขาก็จะดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ
แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดง ลิเกก็จะเริ่มน้อยลงจะมีคอนเสิร์ตเป็นฉบับกระเป๋าเข้ามาเกี่ยวด้วย มีการร้องเพลงให้ครึกครื้นขึ้น และต่อด้วยการร้องลิเกอีกสักนิดหน่อย ส่วนคณะของผมก็มีด้วย แต่ว่าทางด้านลิเกคณะ ผมก็จะเป๊ะกว่า มีบางคณะเหมือนกันครับที่ออกเป็นด้านดนตรี เป็นคอนเสิร์ตเลย ส่วนทางด้านลิเกจะไม่ค่อยแน่นเท่าครับ คนดูเขาก็จะชอบแบบนั้นมากกว่า ซึ่งเป็นรูปแบบคอนเสิร์ต
ในส่วนที่ผมจะสืบสานต่อ ก็จะมีน้องชายคนหนึ่งซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.4 ซึ่งเล่นลิเกมาตั้งแต่เล็กๆ เหมือนกันครับ ถ้าเด็กๆ แถวบ้าน คุณตาเขาก็จะจับมาร้องรำ มาดัด แต่พอโตแล้ว เด็กเขาเริ่มมีความคิด ก็เริ่มจะเปลี่ยน ก็ต้องช่วยกันปลูกฝังให้น้องอีกทางหนึ่ง ซึ่งถ้าทางเดียวก็คงไม่ได้ ต้องมีหลายหน่วยงามาช่วยกันสนับสนุนครับ ถ้าไม่อย่างนั้นศิลปะการแสดงนี้ก็จะหายไป อยากให้ทางรัฐบาลมาช่วยสนับสนุนช่วยโปรโมตหรือโฆษณา อนุรักษ์ ซึ่งลิเกก็มีอยู่ด้วยกันในหลายจังหวัด อยากให้คนที่ดูแลแต่ละจังหวัดอย่างสำนักศิลปวัฒนธรรมจังหวัดช่วยกันโฆษณาหรือสนับสนุน

รู้สึกอย่างไรบ้างกับอาชีพลิเกที่ทำอยู่ตอนนี้
สำหรับการแสดงลิเก ถือได้ว่าเป็นอาชีพเสริมของผมในระหว่างเรียน งานแสดงส่วนใหญ่ก็จะแสดงเป็นงานวัด งานทำบุญบ้าน งานไหว้ครูหรืองานประจำปี เคยแสดงในงานโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดของฉะเชิงเทรา ตอนนั้นก็เคยแสดงในงานโรงเรียนด้วยครับ ถ้าถามถึงความรู้สึกก็ต้องบอกว่าภูมิใจครับ เพราะว่าน้อยคนแล้วที่จะทำตรงนี้ ตอนนี้ให้วัยรุ่นร้อยคนมาแสดงออกแบบนี้ก็ไม่ได้ครับ ผมต้องสืบสานต่อไปในอนาคตด้วยครับ

ไอดอลลิเกที่เราชื่นชอบคือใคร
ที่ผมชอบเลยก็คือแม่ของผมเองครับ เพราะว่าแม่ผมเล่นได้ ทั้งเป็นตัวผู้ชายและผู้หญิง เพื่อนนางเอกด้วย เป็นนางเอกที่ต้องไปออกรบ ปลอมตัวเป็นผู้ชายด้วย คือเป็นสิ่งที่กระตุ้นผม ผมดูอยู่ก็น้ำตาร่วง อินไปด้วย (หัวเราะ) ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมครับ ส่วนใหญ่ผมจะแสดงต่อจากน้า ซึ่งน้าเป็นพระเอก และแม่ผมเป็นนางเอก ซึ่งก็คือตัวพระกับตัวนาง ซึ่งก็มีบางครั้งที่ผมแสดงคู่กับแม่ที่ผมต้องแสดงแทนน้าซึ่งเป็นพระเอกแสดงสักฉากสองฉาก ก็เปลี่ยนเป็นน้าแทน พิธีกรก็จะประกาศบอกว่าตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นน้าผมแสดงแล้ว เวลาแต่งหน้า ผมก็ดูคล้ายน้าและแม่ครับ (หัวเราะ)

สุดท้าย อยากให้คนไทยในยุคสมัยใหม่นี้หันมาดูลิเกบ้างครับ ไม่อยากให้สูญหายไป อย่างน้อยก็เป็นการช่วยกันอนุรักษ์ อย่าไปเหยียบย่ำอะไรที่เป็นของโบร่ำโบราณ ที่ปู่ย่าตายายสร้างมา อย่าลืมรากเหง้าว่ามาจากไหน ขอบคุณที่ช่วยอนุรักษ์ลิเก ขอบคุณแทนทุกๆ คนด้วยครับ

... สำหรับผู้ที่สนใจและต้องการสนับสนุนลิเกไทยของอั่งเปา “คณะขวัญชนก ไก่ฟ้า พรเทวา” สามารถติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 08-9400-8430 และ 09-0983-1776 หรือติดต่อที่ 258 ซ.ลิเก ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ. ฉะเชิงเทรา
เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม


กำลังโหลดความคิดเห็น