เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ “พี่นวล” ผีตายทั้งกลมรายใหม่ ที่กำลังอาละวาดหนักในเรื่องราคาเครื่องลางของขลัง แต่เป็นเรื่องของผีอมตะ ครองอันดับความนิยมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนปัจจุบัน แต่เป็นผีที่ไม่เคยหลอกใคร มีแต่ช่วยให้คนรวยไปตามกัน สามีแม่นาคพระโขนงก็ไม่ได้ชื่อ “มาก” ถ้า “พี่มาก” เป็นพระเอก แสดงว่าเป็นเรื่องแต่งทั้งนั้น เช่นเดียวกับ “พันท้ายนรสิงห์” ถ้าเมียชื่อ “นวล” ก็เป็นบทประพันธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เรื่องจริงกับเรื่องแต่งต่างกันตรงนี้
มีข้อสงสัยที่ถามกันมาทุกยุคทุกสมัยว่า “แม่นาค” เป็นเรื่องจริงหรือนิยายกันแน่ เป็นแบบเดียวกับ “ขุนช้าง-ขุนแผน” หรือเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องแต่งแล้วทึกทักกันจนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง
ในหนังสือ “สยามประเภท” ฉบับวันศุกร์ ที่ ๑ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ.๒๔๔๑) สมัยรัชการที่ ๕ หรือเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว ได้มีผู้อ่านเขียนเป็นโคลง ถามนายกุหลาบ ตฤษณานนท์ บรรณาธิการคนดังของยุคนั้น ว่า
“โคลงถามเรื่องปีศาจนางนากพระโขนง”
ขอถามกุหลาบเถ้าเมธา หน่อยพ่อ
เป็นเรื่องโบราณมากล่าวแสร้
เท็จจริงพ่ออาจสามารถตอบ ได้แน
เพราะเรื่องเก่าแก่แท้เล่ารู้ระบือเมือง
นางนากปีศาจนั้นเป็นไฉน หนะพ่อ
หรือว่ากล่าวลวงไถลหลอกล้อ
แต่ไม่ค่อยใกล้ไกลเพียงพระ โขนงนอ
เท็จจริงอธิบายข้อนั่นนั้นอย่างไร
ความลือเล่าครั้งโบราณมา
อาจช่วยผัวทำนาก็ได้
เพราะว่าปีศาจสามารถดุ นักแฮ
รู้แน่คงตอบให้ค่อยรู้ราวความ
ปราชญ์แท้ ณ รอบรู้แน่นา
หรือว่าสิ้นปัญญาหมดตู้
แต่เชื่อว่าครูบาคงตอบ ได้นอ
แม้ไม่รู้อย่ารู้ตอบให้เห็นจริง
ซึ่งนายกุหลาบได้ตอบว่า
“จะเป็นวันเดือนปีใดจำไม่ได้ เป็นคำพระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณ เล่าถวาย เสด็จอุปัชฌาย์ว่า ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ อำแดงนาก บุตรขุนศรี นายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เป็นภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกรรฐ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี อำแดงนากมีครรภ์คลอดบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่มผู้สามีจึงนำศพไปไว้ที่วัดมหาบุด ที่พระศรีสมโภชเป็นผู้สร้างตั้งแต่ท่านยังเป็นมหาบุดในรัชกาลที่ ๒ ศพอำแดงนากฝังไว้ที่นั่นไม่มีปีศาจหลอกหลอนผู้ใด เป็นแต่พระศรีสมโภชเจ้าของวัดมหาบุด เล่าถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสว่า นายชุ่ม ทศกรรฐ์ เป็นคนมั่งมี เป็นตาน้อยของนายสนเศรษฐี บุตรนายชุ่มมีชายหญิงหลายคน แต่ล้วนยังไม่มีสามีภริยาทั้งสิ้น บุตรนายชุ่มหวังทรัพย์สมบัติของบิดา เกรงว่าบิดาจะมีภรรยาใหม่ จะกระจายทรัพย์สมบัติเสียหมด พวกลูกจะอดตาย พวกลูกจึงทำอุบายใช้คนไปขว้างปาชาวเรือตามลำคลอง ริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนากมารดา กระทำเป็นผีดุร้ายหลอกคน จนถึงช่วยนายชุ่มถีบระหัดน้ำเข้านา และวิดน้ำกู้เรือของนายชุ่มที่ล่มก็ได้ บุตรชายแต่งเป็นหญิงให้คล้ายอำแดงนากมารดา ทำกริยาเป็นผีดุร้ายให้คนกลัวทั้งลำคลองพระโขนง เพื่อประโยชน์จะกันเสียไม่ให้ผู้หญิงมาเป็นภรรยานายชุ่มบิดา พระศรีสมโภชผู้สร้างวัดมหาบุดเล่าถวายเสด็จอุปัชฌาย์แต่เท่านี้ บุตรนายชุ่ม ทศกรรฐ์หลายคนได้เล่าถวายเสด็จอุปัชฌาย์ว่า ตนได้ทำมารยาเป็นปีศาจอำแดงนากมารดาหลอกชาวบ้านจริง ดั่งพระศรีสมโภชกราบทูลสมเด็จพระอุปัชฌาย์ทุกประการ ความวิถารนอกจากนี้ไม่ทราบถนัด ได้ทราบชัดแต่ว่าบุตรนายชุ่ม ทศกรรฐ์ ชื่อ แบน บวชเป็นพระสมุห์ของสมเด็จพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์แบนผู้นี้ผูกคอตายที่ถานวัดพระเชตุพนเดี๋ยวนี้”
ได้ความว่า เรื่องแม่นาคพระโขนง แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่ลูกๆของแม่นาคสร้างเรื่องขึ้นมา เพื่อให้ผู้หญิงอื่นกลัวที่จะมาเป็นเมียใหม่ของพ่อ แย่งเอาทรัพย์สมบัติไป แต่แม้จะตีพิมพ์เรื่องนี้ไปแล้ว ว่าเรื่องแม่นาคพระโขนงเป็นเรื่องคนหลอกคน ไม่ใช่ผีหลอกคน แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งความเชื่อในเรื่องแม่นาคเป็นผีอาละวาดลงได้ และเชื่อกันมากว่า ๑๐๐ ปีจนถึงวันนี้
อิทธิฤทธิ์ของแม่นาคนั้นมีเล่ากันไว้มากมายหลายเรื่อง ซึ่งทุกเรื่องล้วนแต่ทำให้ขนหัวลุกสยองขวัญ โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้วัดมหาบุศย์ ที่ฝังศพแม่นาค อย่างเช่นคนที่เดินผ่านวัดมหาบุศย์ในตอนค่ำ แม้จะมากันหลายคนและจุดไต้ถือคบขจัดความมืดที่น่ากลัวกันแล้ว ก็ยังได้เห็นแม่นาคหยอกล้อกับลูกที่วิ่งเล่นอยู่แถวนั้นเป็นประจำ บางทีลูกแม่นาคก็เอาเท้าเกี่ยวกิ่งไม้ไว้ แล้วห้อยหัวลงมาแลบลิ้นปลิ้นตาหลอกล้อกับคนที่เดินผ่าน
คนที่เดินผ่านบ้านแม่นาคซึ่งกลายเป็นบ้านร้าง แม้ตะวันยังไม่ทันตกดิน ก็จะได้ยินเสียงคนตำน้ำพริก เมื่อหันไปดูก็จะเห็นแม่นาคเป็นคนตำ และทำสากหลุดมือตกลงมาที่ใต้ถุน แม่นาคก็เอื้อมมือยืดยาวลงมาเก็บขึ้นไป ใครที่เห็นภาพนี้ก็ต้องขนหัวลุกโกยกันสุดชีวิต
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เคยเล่าถึงแม่นาคไว้ว่า เมื่อตอนเป็นเด็กอายุราว ๑๐ ขวบ มีผู้ใหญ่พาไปวัดมหาบุศย์ พอขึ้นไปบนศาลาการเปรียญหลังใหม่ที่ทำด้วยไม้ ก็ได้เห็นฝ้าเพดานที่ฉาบปูนขาวไว้ใหม่ๆ มีรอยเท้าเปื้อนโคลนย่ำไว้หลายรอย ท่านสมภารชี้ให้ดูแล้วบอกว่าเป็นรอยเท้าแม่นาค มาย่ำไว้แบบห้อยหัวเดิน
ส่วนเรื่องแม่นาคพระโขนงที่เป็นหนังสือ ละครร้อง หรือภาพยนตร์ สามีแม่นาคไม่ได้ชื่อ นายชุ่ม ผู้แสดงโขนเป็นตัวทศกรรฐ์ แต่ชื่อ ทิดมาก เป็นทหารเกณฑ์ ก็เพราะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าของคณะละครปรีดาลัยที่โด่งดังในยุครัชกาลที่ ๖ ได้ทรงนิพนธ์ดัดแปลงจากเรื่องที่ร่ำลือกันขึ้นใหม่ตอนนำมาแสดงเป็นละครร้อง ให้เป็นเรื่องรักเศร้ามีรสมีชาติขึ้น โดยให้ทิดมากถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารขณะข้าวใหม่ปลามัน เมียกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆ เมื่อได้กลับมาเยี่ยมบ้านอีกทีเมียก็ท้องแก่อุ้ยอ้าย ลุกเดินลำบากแล้ว แต่อยู่ดูแลเมียได้ไม่กี่วันก็ต้องกลับกรมกอง จากนั้นก็ถูกส่งขึ้นเหนือไปถึงเมืองยอง ไม่มีทางติดต่อกับทางบ้าน ได้กลับมาครั้งนี้ก็กระทันหันจึงไม่ได้ส่งข่าวให้ใครรู้ล่วงหน้า พอขึ้นจากเรือจ้างที่ท่าน้ำวัดมหาบุศย์ แม้จะแปลกใจที่ไม่เห็นคนเล่นน้ำกันที่ท่าวัดอย่างแต่ก่อน ทิดมากก็คิดว่าคงเพราะใกล้ดึกแล้ว จึงรีบจ้ำตัดสวนมุ่งตรงไปบ้านไม่อยากจะแวะทักทายใคร