xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยพีบีเอส” ย้ำซื้อหุ้นกู้เอกชนเจตนาสุจริต - “กฤษฎีกา” แค่เสนอแนะไร้อำนาจชี้ขาดไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไพโรจน์ พลเพชร” กรรมการนโยบายไทยพีบีเอส แจงผลหารือกฤษฎีกา ซื้อหุ้นกู้เอกชนไม่สอดคล้องกฎหมายแม่ (พ.ร.บ.ส.ส.ท.) เป็นเพียงข้อเสนอแนะ ไม่ใช่องค์กรชี้ขาด ย้ำเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าทำได้ ไร้เจตนาทุจริต ไม่มีผลเอาผิดย้อนหลังและไม่มีใครต้องรับผิดชอบ เล็งทบทวนใหม่ทั้ง พ.ร.บ. - ระเบียบการเงินฯ เพื่อรองรับความต้องการใช้งบเพิ่มขึ้นในอนาคต



วานนี้ (17 พ.ย.) นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ตอบโจทย์” ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส ถึงกรณีข้อหารือปัญหาข้อกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การนำรายได้ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยไปหาประโยชน์ ดำเนินรายการโดย นายวราวิทย์ ฉิมมณี

ผู้ดำเนินรายการกล่าวถามว่า กรณี นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. (ในขณะนั้น) ซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ซึ่งถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง จนถูกวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมหรือไม่ จนกระทั่ง ผอ.ได้ลาออกไป แต่ทั้งนี้การซื้อหุ้นกู้ก็อาศัยระเบียบที่ว่าด้วยการเงิน การบัญชี และการงบประมาณของไทยพีบีเอส ซึ่งคณะกรรมการนโยบายเป็นคนออกระเบียบนี้มา ปรากฏว่า ตอนนี้มีความคืบหน้า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือทางกฎหมายของไทยพีบีเอสว่าระเบียบที่ว่าด้วยการเงินการบัญชีและการงบประมาณไม่สอดคล้องกับกฎหมายแม่ของไทยพีบีเอส นั่นคือ พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ. ส.ส.ท.) ผลทางกฎหมายต่อจากนี้คืออะไร

นายไพโรจน์ ตอบว่า แท้จริงแล้วคณะกรรมการนโยบายได้หารือไปยังกฤษฎีกา เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันของ สตง.เนื่องจากเห็นว่าการออกระเบียบนี้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่ แต่ทางเรายังเชื่อระเบียบที่ออกมาเป็นไปตามกฎหมายแม่ เมื่อเห็นไม่ตรงกันเลยต้องให้หน่วยงานรัฐออกมาให้ความเห็น เลยเสนอข้อหารือไปยังกฤษฎีกา

เมื่อหารือแล้วเขาเชิญทั้ง 2 ฝ่ายไปชี้แจง ตนก็ยกเหตุผลว่าเราเอารายได้ที่มีอยู่ไปหาดอกผล ซึ่งมีระเบียบของ ส.ส.ท.อยู่ว่าไปทำอะไรได้บ้าง เช่น ฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ แล้วก็มีอยู่ข้อนึงระบุว่าสามารถทำกิจกรรมอื่นหรือลงทุนอย่างอื่น ซึ่งประเด็นสำคัญต้องคำนึงความเสี่ยง ผลตอบแทน และโดยความเห็นของคณะกรรมการนโยบายถามว่ากฎหมายแม่ให้ออกได้ไหม มาตรา 28 บอกว่า คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจในการออกระเบียบว่าด้วยการเงิน บัญชี และการงบประมาณ

ซึ่งกฤษฎีกามองว่าการซื้อหุ้นกู้เอกชนไม่ได้ระบุในกฎหมาย ไม่มีการเขียนอย่างชัดเจน โดยกฤษฎีกาตีความเปรียบเทียบกับองค์กรอื่น ๆ ซึ่งองค์กรอื่นมีการเขียนไว้ชัดเจน เช่นถ้าจะไปลงทุนหุ้นกู้ ต้องเขียนในกฎหมายชัดเจน แต่สำหรับ พ.ร.บ. ส.ส.ท.มาตรา 9 เขียนไว้ว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมีข้อนึงเขียนไว้กว้างมาก ระบุว่า “ดำเนินการอื่นที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร” วัตถุประสงค์ขององค์กรก็คือ เราต้องทำวิทยุโทรทัศน์ ต้องผลิตสื่อ ฉะนั้นคิดว่าเอาเงินที่มีอยู่ไปดำเนินการอื่นได้

นายไพโรจน์ กล่าวต่ออีกว่า โดยหลักการณ์กฤษฎีกาเป็นแค่การให้คำปรึกษา แต่ต้องดูว่ามีเหตุผลไหม เราเห็นมีเหตุผล ว่าระเบียบนี้ต้องมาทบทวนใหม่ทั้งหมด หยุดใช้ไปทั้งหมด แล้วต้องตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาเปรียบเทียบและดูเรื่องนี้ให้ชัดเจน

เรามองว่าพันธบัตรรัฐบาล ก็เช่นเดียวกับหุ้นกู้ เราเป็นเจ้าหนี้ แต่เขาบอกว่าไม่ได้ อันนี้ที่ต้องศึกษา ว่าภาครัฐกับเอกชนต่างกันไหม วัตถุประสงค์ไม่ได้แสวงหากำไร แต่เพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานขององค์กร

นายไพโรจน์ กล่าวว่า เราเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าทำได้ แต่เราไม่เคยซื้อหุ้นกู้มาก่อน ที่ผ่านมาฝากเงินเป็นหลัก ครั้งแรกที่ซื้อหุ้นกู้ เลยเกิดปัญหา

ผู้ดำเนินรายการถามว่า เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงบอกว่า ผอ.ทำได้ ไม่ผิด วันนี้กฤษฎีกาเห็นว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ต้องย้อนผลสอบไปไหมว่า ผอ.ไม่สามารถทำได้แล้ว

นายไพโรจน์ ตอบว่า ไม่ต้องเปลี่ยนผลการตรวจสอบ เพราะเชื่อโดยสุจริตใจว่าระเบียบนั้นถูกแล้ว ไม่ได้มีเจตนาทุจริต เราพิจารณาจากสถานการณ์ขณะนั้น แต่หลังจากนี้ก็ทำไม่ได้

เมื่อถามว่า คณะกรรมการนโยบายแค่ทบทวนหรือต้องแสดงความรับผิดชอบอะไรไหม นายไพโรจน์ กล่าวว่าโดยการกระทำไม่ผิดกฎหมาย ทำตามกฎหมายในขณะนั้น ถ้ากฤษฎีกาชี้มาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วทำอีกสิจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กฤษฎีกาบอกเพียงว่าไม่สอดคล้อง อีกทั้งกฤษฎีกามีอำนาจเพียงเสนอแนะ ยังไม่ใช่องค์กรชี้ขาดว่าผิดถูก

ต่อข้อถามว่าทำไมไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะ มีภาษีเหล้าเบียร์บุหรี่รองรับ การหารายได้ใช่หน้าที่หรือเปล่า นายไพโรจน์ กล่าวว่า เราฝากเงินได้ดอกเบี้ย ซื้อหุ้นก็ได้ดอกผล ต่างกันตรงไหน ทำเพื่อบรรลุภารกิจ ไม่ได้แสวงหากำไร ถามว่าต่างตรงไหน ไม่ต่าง แต่ความเห็นก็ว่ากันไป หุ้นกู้เอกชนกู้จากเราแล้วให้ดอกเบี้ย ดอกผลกับดอกเบี้ยเหมือนกันไหม

ทั้งนี้ หุ้นกู้ในตอนนั้นได้ขายไปแล้ว ตั้งแต่มีการท้วงติง ได้กำไรไม่ขาดทุนด้วย และไม่มีลงทุนเพิ่ม

ส่วนเรื่องงบประมาณ 2 พันล้านต่อปีพอไหม กฎหมายแม่พูดชัดเจนว่า 3 ปีอาจต้องทบทวน และเสนอไปยังกระทรวงการคลังว่าพอหรือไม่ ซึ่งเราเคยเสนอไปที่คลังแล้ว คลังบอกต้องแสวงหาเอง เพิ่มงบอาจไม่ได้

ผู้ดำเนินรายการถามปิดท้ายว่า กฤษฎีกาไม่มีอำนาจชี้ขาด แต่คณะกรรมการนโยบายได้บทเรียนครั้งใหญ่เลยไหม นายไพโรจน์ กล่าวว่า อาจต้องทบทวน พ.ร.บ. ด้วย ว่าเราจะทำให้ชัดเจนเหมือนคนอื่นไหม เพราะอนาคตอาจจำเป็นต้องมีเงินเพิ่มขึ้น ไม่ทบทวนเฉพาะระเบียบแต่ต้องทบทวนทั้งหมด พ.ร.บ. สอดคล้องพอดีกับเวลา 10 ปีว่าต้องทบทวน มีอะไรบ้างที่ทำมาแล้วเป็นอุปสรรค

กำลังโหลดความคิดเห็น