เรื่องราวของพระองค์เจ้าขุนเณร มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์น้อยมาก กล่าวแต่เพียงว่าเป็นพระโอรสของพระเจ้าขุนรามณรงค์ พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาในปี ๒๓๑๐ ทั้งยังไม่มีอนุสรณ์สถานปรากฏอยู่เลย หมู่บ้านที่พระองค์เจ้าขุนเณรไปฝังตัวหาข่าวตอนสงคราม ๙ ทัพ ซึ่งชาวบ้านตั้งชื่อว่า “บ้านเจ้าเณร” พร้อมทั้งด่านกรามช้าง พุตะไคร้ เมืองท่ากระดาน เมืองศรีสวัสดิ์ ย่านปฏิบัติการณ์ของพระองค์เจ้าขุนเณร ต่างก็จมอยู่ใต้น้ำเมื่อสร้างเขื่อนใหญ่ในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเขื่อนนี้ได้ชื่อครั้งแรกว่า “เขื่อนเจ้าเณร” ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “เขื่อนศรีนครินทร์”
ใน “สงคราม ๙ ทัพ” ซึ่งเป็นสงครามครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ พม่าได้ระดมกำลังมหาศาลยังกับน้ำท่วมป่ายกเข้ามาทุกทิศ หวังไม่ให้ไทยได้ผุดได้เกิดอีก แต่ไทยเราอยู่ในระยะตั้งตัวใหม่ กำลังก็ยังไม่พอที่จะต้านพม่าได้ อีกทั้งกำแพงเมืองอย่างกรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่มี จึงต้องใช้ยุทธวิธีออกไปต้านข้าศึกในชัยภูมิที่เราได้เปรียบ แต่ยุทธวิธีที่สำคัญในชัยชนะครั้งนั้น ก็คือส่งกองโจรที่นำโดยพระองค์เจ้าขุนเณรออกไปดักปล้นกองส่งเสบียง จนกองทัพพม่าขาดแคลนอาหารไม่มีแรงจะรบ เมื่อแพ้สงครามแล้วก็ยังไม่มีแรงจะเดินกลับบ้าน
ที่น่าทึ่งกว่านั้นก็คือ หลังจากสร้างวีรกรรมไว้ใน “สงคราม ๙ ทัพ” สมัยรัชกาลที่ ๑ ในปี ๒๓๒๘ นี้แล้ว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเกิดกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์ขึ้นในปี ๒๓๖๙ เอกสารของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ในชื่อ “อานามสยามยุทธ” ได้กล่าวถึงบทบาทของพระองค์เจ้าขุนเณรไว้อีกว่า
“...ได้โปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์ เป็นแม่ทัพใหญ่ นำกำลังเข้าประชิดทหารลาวที่ค่ายส้มป่อย เจ้าหน่อคำ แม่ทัพใหญ่ค่ายส้มป่อย นำทหารเข้าตีค่ายทหารไทย พระยาเสน่หาภูธร และ พระยาวิสูตรโกษา แม่ทัพหน้า ยกทหารออกต้านทานสัประยุทธ์ ยิงแทงฟันกันเป็นสามารถ ยังไม่แพ้ชนะกันทั้งสองฝ่าย ไทยไพร่พลน้อยกว่าลาวจึงล่าทัพเข้าค่ายปีกกา ปิดประตูค่ายรักษามั่นไว้ กรมหมื่นนเรศร์ฯกับกรมหมื่นเสนีย์ฯ แม่ทัพใหญ่ ได้ข่าวจากม้าเร็วว่ากองทัพหน้าถูกทหารลาวล้อมไว้ จึงยกกำลังเข้าไปแก้ไขสถานการณ์อย่างรวดเร็วโดยประมาท จึงถูกพระยาแสนหาญกับพระน่านมือเหล็ก แม่ทัพกองซุ่มของลาว คุมทหารแปดพันคนซุ่มอยู่ข้างป่าดงตะเคียน ยกพลเข้าโจมตีกองทัพของกรมหมื่นทั้งสอง ต่อสู้ตะลุมบอนฟันแทงกันด้วยอาวุธสั้นทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไทยเสียเปรียบจึงถูกทหารลาวล้อมไว้อีกทัพหนึ่ง
ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณร ซึ่งเป็นแม่ทัพนายกองโจร ยกกองทัพพม่าทวายไทยไปซุ่มตีกองลำเลียงลาวอยู่ในป่าหลังค่ายทุ่งส้มป่อย ขณะนั้นพลลาวในค่ายทุ่งส้มป่อยออกเที่ยวหาเผือกมันกินเจ็ดคน กองโจรไทยม้าเร็วขี่ม้าเข้าล้อมจับได้ทั้งเจ็ดคน มาถามได้ความว่า เจ้าหน่อคำเป็นแม่ทัพใหญ่นำทหารพันแปดร้อยยกไปตีกองทัพไทย และให้ท้าวเพี้ยคุมพลทหารพันหนึ่งอยู่รักษาค่าย แล้วเจ้าหน่อคำจัดการระวังรักษาทางป่าและหนองน้ำลำธารเป็นสามารถ พระองค์เจ้าขุนเณรทราบดังนั้นก็ตกพระทัย เกรงว่าพลลาวมากนักจะยกไปตีไทย ไทยมีพลน้อยจะเสียท่วงทีแก่ข้าศึกลาว พระองค์เจ้าขุนเณรมีความวิตกนัก จึงดำริอุบายที่จะไปช่วยกองไทยฝ่ายกองหน้าที่ถูกล้อมอยู่นั้น จะทำเป็นประการใดดี แต่ทรงดำริอยู่ช้านานจึงคิดได้เป็นกลอุบายอย่างหนึ่ง จึงเรียกลาวเจ็ดคนที่จับมาได้นั้นเข้ามา ตรัสว่า “กูจับมึงทั้งเจ็ดคนนี้ได้ โทษมึงถึงตายทั้งสิ้น แต่กูจะไม่ฆ่า จะยกโทษให้พ้นความตายทั้งเจ็ดคน แต่จะยึดพวกมึงไว้หกคนก่อน แล้วจะให้พวกไทยแต่งตัวเหมือนลาว ปลอมหาบคอนแทนพวกมึงทั้งหกคน รวมเป็นเจ็ดคนทั้งพวกมึงคนหนึ่ง จะให้พวกมึงพาพวกไทยหกคนเข้าไปในค่ายในเวลาวันนี้ อย่าให้ลาวในค่ายรู้เหตุการณ์ได้ ถ้าสำเร็จประสงค์ของกูแล้ว กูจะปูนบำเหน็จให้ถึงขนาดกับความชอบของมึง ซึ่งจะรับอาสาทำการตามกูสั่งนี้ได้หรือไม่ได้ว่ามา”
ฝ่ายลาวเจ็ดคนต่างคนต่างก็กราบลงแล้วทูลว่า “ซึ่งท่านให้ชีวิตพวกข้าพเจ้าเจ็ดคนไว้ครั้งนี้นั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดแล้วมิได้ พวกข้าพเจ้าทั้งเจ็ดคนพร้อมใจกันจะขอรับอาสาปฏิบัติทำตามถ้อยคำท่านนั้นทุกประการ”
พระองค์เจ้าขุนเณรจึงตรัสรับสั่งพระณรงค์สงคราม ให้เป็นแม่กองอาทมาดทะลวงฟัน คุมพลทหารห้าร้อยถืออาวุธสั้นและมีคบเพลิงสำหรับทุกตัวคน จะได้เผาค่ายลาว ให้ยกไปซุ่มอยู่ตามชายป่าห่างค่ายลาวประมาณ ๔๐ เส้น ๕๐ เส้น พอควรการให้ทันท่วงที ถ้าเห็นลาวพาไทยหกคนเข้าไปในค่าย เผาค่ายเจ้าหน่อคำได้แล้ว ให้พระณรงค์สงครามยกทัพอาทมาดรีบเร่งต้อนพลโห่ร้องกระหน่ำสำทับหนุนเนื่องกันเข้าไปหักค่ายให้พังลงแล้ว ไฟเผาค่ายลาวสว่างขึ้น พลทหารลาวเจ้าหน่อคำก็จะตกใจพะว้าพะวังทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ก็จะถอยทัพล่าไปเอง ไทยอยู่ในที่ล้อมก็จะออกได้ แล้วจะเป็นทัพกระหนาบด้วย พระองค์เจ้าขุนเณรจึงจึงตรัสสั่งให้ไทยหกคนที่แต่งเป็นลาวนั้นว่า “ถ้าเข้าค่ายลาวได้ ให้ไล่ฆ่าฟันลาวในค่าย คลุกคลีตีลาวไปอย่าให้ลาวทันตั้งตัวหาอาวุธได้ ให้นำคบเพลิงเผาค่ายลาวขึ้นด้วย”
ฝ่ายพระองค์เจ้าขุนเณรคุมทหารอาทมาดห้าร้อยคนถืออาวุธสั้นยาวครบทุกคน ยกไปซุ่มแอบอยู่ตามชายป่าข้างทิศใต้ ห่างค่ายลาวข้าศึกที่ทุ่งส้มป่อยประมาณ ๕๐ เส้น ทหารไทยหกคนกับลาวหนึ่งคนเป็นเจ็ดคน แต่งเป็นลาวคาบคอนพากันเดินไปถึงประตูค่ายเจ้าหน่อคำเป็นเวลาเย็นจวนจะค่ำ เห็นนายประตูกำลังรับประทานข้าวอยู่ จึงชักดาบออกฟันนายประตูตายพร้อมกันสี่คน แล้วจึงวิ่งเข้าค่ายได้ก็ไล่ฟันลาวไปจนถึงกลางค่าย บ้างก็นำคบเพลิงเผาค่ายขึ้นหลายแห่ง พลทหารลาวในค่ายจะจับไม่ถนัดเพราะแต่งกายเป็นลาวเหมือนกัน ต่างคนต่างก็ตกใจหารู้ว่าเหตุมาแต่ทางไหน บ้างเข้าดับไฟ บ้างไล่ติดตามค้นหาผู้ร้ายภายในค่ายเป็นอลหม่าน พระองค์เจ้าขุนเณรและพระณรงค์สงครามทั้งสองกองที่ซุ่มอยู่นั้น ครั้นเห็นแสงไฟสว่างขึ้นที่ค่ายลาว จึงยกพลโห่ร้องเดินตามกัน หนุนเนื่องเข้าตีค่ายลาว พลทหารไทยพังค่ายเข้าไปในค่ายได้ ไล่ฆ่าพันลาวตายเป็นกองๆ ช้างงาในค่ายซึ่งตกน้ำมันอยู่นั้น ครั้นเห็นแสงไฟสว่างก็ตกใจ แตกปลอกออกไล่แทงผู้คนล้มตายแล้วแล่นเข้าป่าไปในค่ำวันนั้น
ฝ่ายพระยาไชยสงคราม ท้าวสุวรรณ ท้าวหมี สามนายคุมพลทหารลาวพันหนึ่งอยู่รักษาค่ายที่ทุ่งส้มป่อย เห็นเชิงศึกกระชั้นตีเข้ามาในค่ายได้โดยเร็วดังนั้นก็ตกใจ จะรวบรวมทหารให้เป็นหมวดเป็นกองออกต่อสู้ก็ไม่ได้ ด้วยรี้พลแตกตื่นตกใจมากจะกดไว้ไม่อยู่ จึงปล่อยให้แตกแหกค่ายหนีไปซ่อนภายในป่าทั้งนายไพร่ได้บ้าง ที่ตายก็มาก ที่เหลือตายก็มี”
ด้วยเชิงศึกและปฏิบัติการแบบกองโจรของพระองค์เจ้าขุนเณรในครั้งนี้ ได้แก้สถานการณ์ที่เพลี่ยงพล้ำของกองทัพไทย ให้กลับเป็นฝ่ายบดขยี้ข้าศึกจนซมซานแตกทัพไปอย่างงงๆว่าเกิดอะไรขึ้น ด้วยความดีความชอบในครั้งนี้ กรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นแม่ทัพหลวง ได้ตรัสกับแม่ทัพนายกองว่า
“พระองค์เจ้าขุนเณรเขาเคยได้ทำการศึกสงครามชำนิชำนาญมาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่ครั้งท่านเสด็จไปตีพม่าที่เขาชะงุ้มราชบุรี ครั้งนั้นเจ้าขุนเณรเขาได้เป็นนายทัพกองโจรไปตีกองลำเลียงพม่า เขาเคยมีชัยชนะมาแล้ว”
พร้อมทั้งตรัสเรียกพระองค์เจ้าขุนเณรให้เข้าเฝ้า พระราชทานพระแสงดาบฝักทองคำองค์หนึ่งเป็นรางวัล
เป็นที่น่าสังเกตว่า สงคราม ๙ ทัพ เกิดในปี ๒๓๒๘ แต่สงครามกับเจ้าอนุ เกิดในปี ๒๓๖๙ ห่างกันถึง ๔๑ ปี
ในสงคราม ๙ ทัพ พระองค์เจ้าขุนเณรก็คงมีพระชนม์ไม่น่าต่ำกว่า ๒๐ ชันษา ฉะนั้นในสงครามกับเจ้าอนุวงศ จึงไม่น่าจะต่ำกว่า ๖๑ ชันษา
การที่เอาคนที่อายุกว่า ๖๐ มาเป็นนายทัพกองโจร ย่อมแสดงว่าพระองค์เจ้าขุนเณรยังคงรักษาความเก่งกล้าในตำแหน่งแม่ทัพกองโจรตลอดมา ถือดาบออกสร้างวีรกรรมเช่นเดียวกับในวัยหนุ่ม
ถือได้ว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าขุนเณร เป็นยอดนายทัพกองโจรที่เก่งกล้า และเป็นแบบฉบับของสงครามกองโจรที่ฝ่ายเสนาธิการทหารได้ศึกษากันตลอดมา ซึ่งเป็นอีกชีวิตหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่มีพระคุณอย่างใหญ่หลวงต่อแผ่นดินที่เราอยู่อาศัยในวันนี้