xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าสัวร้อยล้านที่มาจากลูกกรรมกร “ทินพันธุ์” แห่ง “เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากเด็กบ้านแตกสาแหรกขาด ตุหรัดตุเหร่เซซัดอย่างไร้หวัง และแล้ว “หนังสือ” จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิต ขับเคลื่อนความคิด ให้เขาฮึดสู้ ก่อนก้าวสู่สมรภูมิธุรกิจ ริเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวด้วย “ข้าวมันไก่” และกลายเป็นเจ้าสัวอายุน้อยได้ ด้วย “เฉาก๊วย”

เชื่อว่า นาทีนี้ “เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง” น่าจะเข้าไปอยู่ในลิสต์ของอร่อยสำหรับหลายๆ คนไปแล้วเรียบร้อย นั่นยังไม่นับถึงว่า นี่คือของหวานทานเล่นซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุดในเวลานี้ จนขึ้นชื่อเป็นหนึ่งในสินค้าของดีแห่งเมืองนครปฐม

แต่กว่าจะเกิดของดีของเด็ดที่สร้างรายได้ระดับร้อยล้านให้กับเจ้าของกิจการ มันผ่านการพิสูจน์และลงมือทำมาอย่างมุ่งมั่นอดทนของคนคนหนึ่งซึ่งบอกกล่าวกับเราอยู่หลายหนว่า ถ้าเราไม่ยอมแพ้ และทำให้เต็มที่ วันหนึ่งย่อมเป็นของเรา
... “หมู - ทินพันธุ์ วัฒนอัครโภคิน” ...

แกร่งเต็งหนึ่ง ไม่ต้องประกาศ
เปิดฉากหมูบางซื่อไอ้หนูหัวใจเพชร

“ไม่รู้เลยว่าวันข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร แต่คือเราเตรียมพร้อม เพื่อวันหนึ่งโอกาสเข้ามา จะได้คว้า วันนี้ดี วันข้างหน้าอาจจะไม่ดีก็ได้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวันข้างหน้ามันจะเกิดอะไรขึ้น เรื่องที่พ่อแม่แยกทางกันก็เช่นเดียวกัน ถ้าผมไปนั่งน้อยใจว่าทำไมเราไม่มีอย่างโน้นอย่างนี้เหมือนใครเขา ไม่มีพ่อแม่ เป็นเด็กบ้านแตก ผมไม่ได้สร้างความพร้อมไว้ อนาคตมันก็จะไม่ดีอยู่แล้ว นั่นคือสิ่งที่ผมเรียนรู้หลังจากปล่อยให้ชีวิตเป็นไปอย่างนั้น

“แต่พอรู้และทำให้ดี มันก็ดีได้ของมันเอง ไม่ใช่เพราะโชค แต่สิ่งต่างๆ ที่เข้ามา ทำให้เราดีขึ้น คือตัวเราที่ทำตัวให้พร้อมเสมอ”

ชายเบื้องหน้ากล่าวอย่างคนเจนจบชีวิตที่ผ่านการเคี่ยวกรำจนได้ที่ ในสมรภูมิชีวิตที่ต้องย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา

“สมุทรปราการก็เคยไป สิงห์บุรีก็อยู่มาแล้ว เพราะพอพ่อแม่แยกทางกันตอน 4 ขวบ พ่อทำงานก่อสร้าง ก็ต้องเดินทาง แม่ทำร้านเสริมสวย ก็ต้องทำงาน เลยไม่มีเวลาเลี้ยง ชีวิตอาจจะดูเหมือนลำบาก แต่ก็ไม่ได้ลำบากมากถึงขั้นไม่มีกิน แต่ก็ไม่ได้มีเหมือนคนอื่นเขา เช่น จ่ายค่าเทอมก็จ่ายคนสุดท้ายเสมอ เรื่องที่หนักในวัยนั้น เป็นเรื่องความโดดเดี่ยวมากกว่า เราอยู่กับญาติๆ สุดท้าย อาเห็นว่าอยู่ที่ต่างจังหวัดอาจจะไม่ได้รับโอกาสที่ดีในเรื่องของการศึกษา ก็เลยรับอุปการะให้มาอยู่ด้วยที่บางซื่อ กรุงเทพฯ

“ผมจึงเตรียมตัวอยู่เสมอๆ และพอสมควร และด้วยวิถีชีวิตคล้ายๆ ตัวคนเดียว เพราะอาก็มีภาระหน้าที่ต้องทำงาน ก็เหมือนอยู่คนเดียวตั้งแต่เด็กๆ ชีวิตอิสระ เพื่อนชวนไปไหนก็ไป เพราะเราคลุกคลีกับเพื่อน ก็เกเร มีเรื่องชกต่อยบ่อย อาจารย์ก็ลงมติกันหมดให้ออก แต่มีอาจารย์ฝ่ายปกครองท่านหนึ่งซึ่งสงสาร เพราะว่ารู้ว่าที่บ้านเรามีปัญหา เขาเลยขอให้โอกาสเราอีกครั้ง”

แลกกับข้อแม้ที่ต้องตื่นแต่เช้ามาเซ็นชื่อที่ห้องปกครองตอนตี 5.30 น. พร้อมกับทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถู ก่อน 07.55 เพื่อเข้าแถว ในขณะที่ขากลับบ้าน ก็ต้องให้คุณอาลงนามกำกับยืนยันเวลาเช่นเดียวกัน

ทว่านั่นกลับทำให้เขาได้สัมผัสเรียนรู้ถึงการกำหนดชะตาชีวิตที่ไม่ได้เกิดจากพรมลิขิตฟ้า หากแต่เกิดจากปัญญาที่มาจากการอ่าน

“เวลาว่าง 2 ชั่วโมง เราขอแก แต่แกก็ไม่ให้ไปไหน ก็เลยหยิบหนังสือในห้องปกครองมาเริ่มอ่าน ทีนี้มันก็มีหลายๆ เรื่องที่เราไม่รู้ (ยิ้ม) ก็อ่านไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ จนบังเอิญไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จของป้าคนหนึ่งที่จบเพียงแค่ ป.4 ต้นทุนชีวิตไม่ต่างอะไรจากเรา แต่เขาสามารถทำธุรกิจขายขนมหม้อแกง จนรวยหลายล้านบาท เราก็เกิดคำถามในใจ เราจบมากกกว่า ป. 4 อีก เราก็อาจจะทำได้นี่หว่า ก็ทำให้เราสงสัยว่าในหนังสือมันมีหลายๆ เรื่องที่เราไม่รู้ ก็เลยปลูกฝังตั้งแต่ตอนนั้นมาว่า เราไม่รู้อะไร ก็พยายามจะอ่านหนังสือ”

ทั้งตำราเรียน วรรณกรรม วิชาการ หลักจิตวิทยา หนังสือฮาวทูเคล็ดลับพิชิตความสำเร็จ ล้วนสะท้อนผ่านเข้าสองตาคู่นี้ ส่งผลให้...ไม่เพียงแค่เรื่องผลการเรียนที่ดีขึ้นตามลำดับจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ในคณะวิศวะ เป็นอันดับ 2 ของโรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยา ชีวิตยังเข้าใจอะไรๆ มากขึ้นด้วย

“อย่างเรื่องพ่อแม่ แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่กับท่าน แต่ไม่ใช่ว่าท่านไม่รักเรา ท่านต้องไปหยิบยืมเงินมาส่งเสียเรา ยอมโดนดูถูกนินทา เพราะไม่มีเหมือนคนอื่นเขา ถ้าเราไม่มีความรู้ ไม่มีทุน ไม่มีพ่อแม่ที่มีเงินมากมาย เราก็ต้องขัน ก็ต้องทำมากกว่าคนอื่น ถ้าผมทำเท่ากับคนอื่น หรือน้อยกว่า ก็ไม่มีทางที่ผมจะไปถึงจุดๆ นั้นอย่างพวกเขา

“เลยตั้งใจเรียน เพราะไม่ต้องคิดก็รู่ว่าอนาคตจะเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นไปได้ยากมาก การที่ผมสอบได้ก็ทำให้ผมแม้จะไม่ได้ทุน แต่ค่าเทอมก็ถูกมาก พ่อก็พอส่งได้ 3,000 บาท ใช้วันละ 100 บาท ก็พอกินพอเหลือเก็บ พอขึ้นปีสองก็ได้เริ่มไปหุ้นกับเพื่อนทำร้านน้ำปั่น ร้านถ่ายเอกสาร แต่ไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่ เนื่องจากเราไม่เข้าใจ เราทำด้วยความสนุก”

ในขณะที่ชีวิตทินพันธุ์กำลังไปได้สวยกับเวลาอีกแค่หนึ่งปีในรั้วมหา’ลัย บททดสอบใหม่ก็เกิดขึ้น

“เรียนวิศวะก็ดี หลายคนคิดอย่างนี้ (ยิ้ม) แต่ที่ผมลาออกเพราะได้ไปฝึกงานที่ โรงงานยางรถยนต์ ผมรู้สึกว่าผมเรียนวิศวะ เราเรียนมาอย่างหนัก คำนวณอย่างดี ฟิสิกส์ มันไม่ได้ใช้เลย อีกอย่าง เราเรียนมา ก็ตั้งใจว่าจะได้ทำงานที่สร้างครอบครัว ช่วยพ่อแม่ให้สบาย ไม่มีหนี้สิ้น มีบ้าน มีรถ แต่ตอนไปฝึกงานเป็นวิศวกร เราดูแล้วว่าเงินเดือนเราไม่น่าจะพอไหวที่จะทำตามเป้าอย่างนั้น แค่พอตัวเองรอด

“และที่สำคัญ ชีวิตในนั้นมันก็แย่ กลิ่นพวกสารเคมีต่างๆ มากมาย กว่าจะทำถึงขั้นนั้นคงอาจจะอยู่ไม่ถึง ก็เลยเลือกที่จะออก ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าออกมาทำธุรกิจซึ่งเป็นเส้นทางที่คนสำเร็จเขาทำกัน ยังไม่มี ก็โดนเพื่อนและอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่าบ้าไปแล้ว แต่ไม่รู้จะบอกเขาอย่างไร เพราะเรายังไม่สำเร็จในตอนนั้น แต่ผมเชื่อมั่นว่ามันต้องดีกว่าการที่ผมไปเรียนแล้วไปทำงานตรงนั้นแน่ๆ เรารู้สึกอย่างนั้น”

แต่การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด แม้ว่าจะยุติศึกษาด้านวิศวะ กระนั้นเขาก็ยังขวนขวายเรียนรู้จากมหา’ลัยชีวิตจริง

“การที่ลาออก มันก็มีข้อดี คือทำให้ผมเหมือนหมาตกน้ำ ต้องดิ้นรน ทำให้สำเร็จ ถ้าเราไม่สำเร็จก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร ด้วยวุฒิแค่นั้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ไม่ดี รอเรียนให้มันจบไปดีกว่าแล้วมาสร้าง”

ทินพันธุ์ยังคงกระปรี้กระเปร่ากับการบอกเล่าถึงคืนวันเก่าก่อน และไม่ใช่แค่มีความสุขเมื่อคิดย้อน หากแต่เป็นชีวิตที่คิดไม่ผิด

“ในระหว่างที่ออกจากมหา’ลัย ก็มีพี่ชวนไปทำงานสนามบอลของเขา เราก็ทำทุกอย่าง ทั้งรดน้ำสนาม เช็ดลูกบอล ล้างห้องน้ำ ฯลฯ จนก็มีเงินเก็บ 2 - 3 หมื่นบาท กับแฟน บังเอิญวันหนึ่งไปนั่งกินข้าวมันไก่ร้านประจำที่สนิทกัน แล้วเจ้าของร้านเขาหาคนเซ้งร้าน เราได้ยินอย่างนั้น เราก็อยากจะเซ้ง เพราะจะได้เริ่มต้นธุรกิจอย่างที่เราต้องการเสียที แต่ค่าเซ้งทั้งหมดหนึ่งแสนสองหมื่นบาท ก็ต้องไปยืมเงินที่บ้านแฟน เพราะโอกาสมาถึงแล้ว ทั้งทำเลที่ตั้งหน้ามหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตนครปฐม เครื่องอุปกรณ์ต่างๆ หาแบบนี้ไม่ได้อีก

“ก็มาทำข้าวมันไก่ ขายดี กำไรวันละ 2 - 3 พันบาทต่อวัน วันไหนขายดีๆ 4 - 5 พันบาท หลังจากนั้นก็เปิดสาขา 2 ขาย 23 ชั่วโมงเลย ปิดร้านเพื่อทำความสะอาดร้าน ล้างจานแค่ชั่วโมงเดียวพอ ขายดีมาก ขายเฉลี่ยวันละหนึ่งหมื่นบาท เดือนหนึ่งตกกำไร 4 - 5 หมื่นบาท

“แต่ก็พบปัญหาเรื่องสุขภาพอีก เพราะเรานอนวันละแค่ 2 - 3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ระหว่างนั้นก็เลยศึกษาหาอ่านอะไรเพิ่มเติมเพื่อสร้างโอกาส ก็ไปเจอเรื่องของคนที่ทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้า ธุรกิจเขาดีมาก เราก็อยากทำค้าขายที่ไม่ต้องมานั่งค้าขายที่ทำไปแล้วต้องมาจ่ายกับค่าสุขภาพซึ่งมันไม่คุ้มกัน และก็ไม่ตอบโจทย์ที่เราต้องการจะสร้างรากฐานให้ครอบครัวสบายจนถึงที่สุด หากผิดพลาดล้มป่วย เราก็ต้องล้มอีก ผมอยากให้ผมเป็นคนที่จน ที่ด้อยโอกาสคนสุดท้ายดีกว่า”

“เพราะความสุข ผมไม่ได้มองว่าเงิน ผมมองคนข้างหลัง คนที่ผมรัก มันคือความสุขของเรามากกว่า”

และด้วยความมุ่งมั่นและศรัทธาถึงความสุขของคนเบื้องหลัง คิดได้ดังนั้น จึงตัดสินใจเดินทางกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้งเพื่อลงคอร์สเรียนการทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยไม่รู้เลยว่าการเดินทางครั้งนี้จะพลิกชีวิต และเปลี่ยนจากเจ้าของร้านกิจการข้าวมันไก่สู่เจ้าของโรงงานเฉาก๊วยเต็งหนึ่ง

มารู้ตัวอีกที พื้นที่ของจังหวัดนครปฐมแห่งนี้ก็กลายเป็นนครแห่งแรกของอาณาจักรเฉาก๊วยเต็งหนึ่งที่ใครๆ ต่างรู้จัก

ในร้อนมีเย็น
ทุก(ข์)ปัญหามีทางออก มีโอกาสเสมอ
เฉาก๊วยคนเล็กต้องใหญ่ 2

• จากที่ตั้งใจมาเรียนธุรกิจนำเข้าและส่งออก ไปไงมาไง ถึงได้มาลงเอยที่เฉาก๊วย

ในระหว่างที่เรียน ตอนนั้นต้องประหยัดเพราะค่าใช้จ่ายในส่วนของร้านเอย พ่อแม่เอย ยังไม่หมดซะทีเดียว ก็จำได้ว่าเพื่อนสนิทบวชเป็นพระอยู่ที่วัดไผ่ตัน ย่านสะพานควาย เลยไปหาและขออาศัยอยู่ที่วัด แลกกับการช่วยงานวัดหลังเลิกเรียน ทีนี้มีอยู่วันหนึ่ง มีญาติโยมมาถวายใส่บาตรขนมหวานด้วยเฉาก๊วยแล้วเหลือเผื่อให้เรา หลังจากเหนื่อยเดินทางกลับมาจากเรียน เราชิมแล้วรู้สึกว่าอร่อยมาก เนื้อเหนียวนุ่ม เราก็เกิดไอเดียอยากไปต่อยอดสินค้าที่ร้าน ไปทำเป็นนมสด ชานม ชาเขียว แต่ไปหาซื้อแล้วไม่มี หาในอินเตอร์เน็ตก็ไม่มี เลยลองโทรไปหาเขาเลยว่าจะขอซื้อเนื้อเฉาก๊วยอย่างเดียว เขาก็บอกว่าไม่ขาย เขาขายแต่เฉาก๊วยในน้ำเชื่อมพร้อมรับประทานอย่างเดียว สำเร็จรูป เราก็เลยลองทำเอง

ในระหว่างที่หาข้อมูล เราก็ไปหาอ่านของเจ้าที่เราชิมว่าเขาทำอย่างไรถึงอร่อย ถึงเหนียวนุ่ม ทีนี้ดันไปอ่านเจอว่าเขาขายดีมากในช่วงหน้าร้อน ขายวันละ 2 แสนถุง ก็ไม่รู้ขายถุงเท่าไหร่ แต่กินของเขาแก้วละ 15 บาท คิดเล่นๆ ก็น่าจะขายส่ง 10 บาท สองแสนถุง วันหนึ่งสองล้าน เดือนหนึ่งก็ 60 ล้าน ปีหนึ่ง 700 กว่าล้านบาท โอ๊ย…ไม่มีคู่แข่งอีก ไม่มีคนมาแบ่งตลาด ทั้งๆ ที่สินค้าขายดีอย่างนี้ ในตำราที่เรียนต้องมีคู่แข่งทั้งนั้นทุกวงการ วงการน้ำดื่ม โค้กมีเป๊บซี่ วงการโทรศัพท์มีไอโฟนมีซัมซุง ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ ขอแค่นิดเดียว 10 เปอร์เซ็นต์ก็พอ คิดแค่นั้นหัวใจพองโต

• จากจุดที่มองเห็นลู่ทาง เราเริ่มสร้างยังไงต่อ

ก็ไปเรียนทำ เพราะอยากรู้ว่ามันเหนียวได้อย่างไร แล้วก็กลับมาลองทำที่ชั้น 2 ของร้านข้าวมันไก่ ต้มเฉาก๊วยไปด้วยขายไปด้วย ซึ่งยากมาก ทำให้เหนียวยากที่สุดแล้ว ลำบากที่สุดแล้ว เพราะว่าผมยังไม่รู้เลยว่าทำแล้วมันจะเหนียวได้อย่างไร แล้วมันเหนียวได้แต่เหนียวแบบยั่งยืนต่อๆ ไป เท่าๆ กัน ยากที่สุด ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ได้

• ขณะยังไม่แน่ใจ ก็ยังทำต่อ

ที่ทำก็เพราะเรารู้ว่า เราทำเพื่อใคร เพื่อครอบครัว แม้ว่ามันเหมือนเราเดินบนทางที่ไม่เห็นแสงไฟเลย แต่ผมเชื่อว่าวันหนึ่งมันต้องดีขึ้น ดีกว่านี้ ก็ฝืนทำมันมา คือเรารู้ว่าชีวิตที่มันไมมี ไม่ดี มันต้องดีกว่านี้ ถ้าเราตั้งใจทำมัน ถ้าเราเชื่อมั่นว่าถ้าเรายังทำอยู่ วันข้างหน้า ต้องมีวันของเรา แม้ไม่รู้ว่าวันไหน แต่มันต้องดีแน่ๆ ถ้าเราไม่ยอมแพ้

เราไมมี เราก็ต้องทำอย่างนี้แหละ อย่างตอนนั้นโดนร้องเรียนจากรอบข้างว่าทำงานเสียงดังและส่งกลิ่น โดนสั่งให้ปิดทันที ช่วงที่ทำส่งโรงงาน ผมนึกว่าจบแล้ว แต่บังเอิญวันนั้น ขณะที่ทางราชการกำลังกลับ คนส่งแก๊สก็ขับมาเห็นพอดีแล้วถามเราว่าเป็นอะไร เราก็บอกว่าต้องหยุดแล้ว เขาปิดโรงงาน เขาก็บอกว่าเดี๋ยวช่วยหา เพราะเขามีที่ทางอยู่ แต่ไปถึงก็ไม่ได้ ก็ต้องหากันอีกกับพี่คนขับส่งแก๊สคนนั้น จนได้ที่ปัจจุบันในระยะเวลาสั้นๆ สิ่งนี้ทำให้เชื่อว่า ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ปัญหามันก็คือโอกาส ทุกครั้งที่ผมมีปัญหา มันจะมีโอกาสซ่อนอยู่ในปัญหานั้นตลอด ถ้าไม่มีปัญหา ก็จะไม่มีโอกาส

• หลังจากนั้น ยังไงต่อ

ก็ใช้ระยะเวลาเรียนรู้เฉาก๊วยทั้งหมด 1 ปี 365 วันเต็มๆ ต้มไม่เคยหยุด ทำร้านข้าวมันไก่ไปด้วย ว่างก็ขึ้นมาต้ม ล้างจานรอ ขายของรอ เพราะมันรอต้มทั้งหมด 12 ชั่วโมง เคี่ยวให้ยางมันออกให้หมดและเอายางนั้นไปกวนแล้วหั่นออกมาเป็นเนื้อ ทำอย่างนั้นจนแฟนสงสาร แต่ก็อย่างที่บอกไปเมื่อสักครู่ เราเชื่อว่ามันต้องได้ ถ้าเราตั้งใจ วันหนึ่งมันต้องได้ ก็ทิ้งเงินตรงนั้นไปเป็นแสนบาท แต่มันก็ได้จนได้ ลูกค้าบอกว่าอร่อย แต่ก็ยังไม่ถือว่าผ่านแล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าจะขายใคร เราขายได้แค่ในร้านเรา ขายในร้าน วันหนึ่ง 30 - 40 กระปุก ไม่ดีเท่าไหร่ ฝากขายในร้านอาหารในละแวกจังหวัดบ้าง อีกอย่าง เราไม่มีแบรนด์ จะอยู่ได้กี่วัน มันดูไม่น่าเชื่อถือเชื่อใจ

• แล้วปฏิวัติตัวเองอย่างไร ได้จนเป็นขายส่งรายใหญ่

พอเรื่องผลิตภัณฑ์เราได้ที่แล้ว ลูกค้าที่ทานบอกว่าดี อร่อย ก็คิดว่าถ้าเรายังขายอยู่อย่างนี้ ก็คงไม่มีความน่าเชื่อถือและสู้เจ้าตลาดไม่ได้ ไปแบ่งส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ที่เคยหมายตาไว้นั้นไม่ได้ ก็คิดย้อนกลับไปตอนที่เราอยากได้แบบเปล่าๆ เอาไปปรุง เพราะเราคิดว่าเราจะทำให้มันหลากหลายที่สุด ให้กลุ่มเราหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านบุฟเฟต์ ร้านชานมไข่มุก กาแฟโบราณ ก็เลยทำแต่เนื้อเฉาก๊วยขาย

จังหวะนั้นเฟซบุ๊กเข้ามาพอดีปี 2554 ก็ซีนเฉาก๊วยแพ็คใส่ถุง ซีนน้ำแข็งแพ็คใส่ถุง ส่งอีเอ็มเอสให้เขาฟรีๆ ชิมฟรี เขากินแล้วเหนียวจริง อร่อยจริง หลายๆ ที่ที่เราส่งไปให้ชิม ก็เชื่อมั่นว่ามันขายได้ ช่วงปี 2555 ก็เริ่มมีคนสั่ง จำได้ไม่ลืมเลย คนสั่งครั้งแรก 5 กิโลกรัม แล้วเราต้องขับรถจากนครปฐมไปส่งที่หมอชิต เราก็ไป หลังจากนั้น 2 เดือนก็เริ่มมีลูกค้าประจำ ก็เปิดเพจเฟซบุ๊ก คนก็เข้ามารีวิวมาคอมเมนท์ มีคนสั่งเยอะขึ้น เป็น 60 กิโลกรัม กิโลกรัม จนถึง 120 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 40 บาท เดือนหนึ่งก็หนึ่งแสนบาท

พอปี 2556 ก็มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เขาทำเครื่องดื่ม มาติดต่อขอสั่งเฉาก๊วยเราวันละ 500 กิโลกรัม ให้ทำเป็นกระปุก ตอนแรกก็คิดในใจว่าแกล้งกันไหม คู่แข่งหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่เขาโทรมาประสานหลายรอบและเชิญให้เราไปที่โรงาน เราได้เห็น เราก็เชื่อมั่น แต่ปัญหาคือ จะต้มอย่างไร ต้องไปขอพื้นที่บ้านแฟนทำเป็นที่ต้มส่ง 500 คูณ 20 บาท ตกแล้วก็ได้เงินวันละ 2 หมื่นบาท เดือนหนึ่งก็ 6 แสนบาททุกวัน จนมีเงินทุนซื้อเครื่องจักรด้วยเงินสด สร้างโรงงานเฉาก๊วยเต็งหนึ่งด้วยทั้งหมดด้วยเงินสด เพราะเราไม่มีหลักค้ำประกันหรืออะไรจะไปกู้ธนาคารได้

• ยอดขายกิจการเติบโตขึ้นระดับไหน

ระดับ 6,000 กิโลกรัม สำหรับยอดการผลิตต่อวันทั้งหมด

• ชื่อเต็งหนึ่ง มีที่มาที่ไป หรือความหมายเกี่ยวข้องอะไรไหม

ในวันนั้นคือหลายคนอาจจะมองว่าประสบความสำเร็จ และหลังจากนั้นผมสามารถอุ้มชูครอบครัวปลดหนี้สิน แต่ผมยังคิดว่าไม่สำเร็จ ผมมักจะคิดถึงวันแรก วันที่เราไม่มี เราก็ไม่ได้คิดว่าเราสำเร็จ “เต็งหนึ่ง” ในความหมายนี้คือ “เต็ง” อาจจะยังไม่หนึ่ง ซึ่งเราต้องพัฒนาไปตลอด เพื่อให้เราได้เข้าที่หนึ่งทุกครั้ง ถ้าเราคิดว่าเราสำเร็จ เราชนะ มันก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะแพ้ได้ในอนาคต ก็จะประมาท หลงระเริงกับความสำเร็จ

• ฟังดู ชีวิตผ่านทั้งร้อน ต้ม เคี่ยว หลากหลายกว่าจะได้มา

ชีวิตเราก็เหมือนเฉาก๊วย มันต้องเคี่ยว ต้องร้อน ต้องใช้เวลานานๆ โดยเฉาพะอย่างยิ่ง เราเลือกเดินทางที่ไม่เหมือนใครและอยากให้คนข้างหลังมีความสุข ให้สบายมากกว่าเรา มันก็ต้องอย่างนั้น มันถึงจะออกมาเป็นเฉาก๊วยที่มีคุณภาพ

เหนียวแต่นุ่ม ดำแต่ดี
ภาคชีวิตที่ไม่มีทาง “ซี้” ของคนที่อยากใหญ่

“ผมถึงยังไม่คิดว่าผมสำเร็จ แต่จะภูมิใจมากกว่า เพราะนอกจากช่วยรอบครัว ยังสร้างอาชีพให้คนอื่นได้อีกด้วย เป็นการภูมิใจที่มากกว่าการที่ผมได้เงิน ทุกวันนี้ ผมยังคงทำงานตื่นเช้ารุ่งตี 5 ดูแลกิจการ ทั้งร้านข้าวมันไก่และโรงงานเฉาก๊วยเต็งหนึ่ง เคลียร์งานติดต่อธุรกิจจนถึงเที่ยงคืน

“คนที่ร่วมสร้างธุรกิจกันมา เป้าอีกหนึ่งเป้าหมายของผมที่เพิ่มเข้ามา นอกจากหนังสือที่มีคุณค่า หากคุณเสียเวลาหยิบอ่านมันสามารถพลิกชีวิตคุณได้ คนรอบข้างที่คอยช่วยเหลือ ที่ร่วมทำสร้างกันมา ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ เราจะสำเร็จอย่างยั่งยืนหรือไม่ เราจะลืมจุดนี้ไปไม่ได้ วันนี้สำเร็จ วันหน้าอาจจะไม่สำเร็จก็ได้ คิดอย่างนี้ตลอด

“และที่สำคัญ รู้ว่าไม่เก่งก็ต้องขยัน มันต้องรู้ตัวเองว่าเราเป็นอย่างไร เราไม่เก่งอะไร แล้วเราเก่งอะไร ขยันแบบที่คนอื่นเขาทนไม่ได้ ทำไม่ได้ ต้องมีวินัยมากๆ ทำให้เราทำงานทุกวัน ให้มันมั่นคงกว่านี้ ถ้าอยากให้มันสำเร็จ ก็ต้องเตรียมพร้อมในทุกๆ วัน เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

“หากท้อ ให้เรานึกถึงเสมอว่าเราทำวันนี้เพื่ออะไร ทำเพื่อใคร สิ่งที่เราคิดว่าเราทำทำไม ทำเพื่อใคร จะเป็นแรงผลักให้เราสามารถมีแรงทำมันต่อไป วันนี้อาจจะไม่ดี แต่ให้คิดเสมอว่าในวันพรุ่งนี้มันอาจจะดี และวันข้างหน้ามันต้องดีแน่ๆ

“หลังจากนั้นทำให้มันเต็มที่ แล้วโอกาสมันก็จะเดินมาหาเรา เราไม่ต้องคิดหรอกว่ามันจะเกิดอะไร เราทำให้มันเต็มที่ในทุกๆ วัน ก็พอแล้ว”





เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : เฉาก๊วยเต็งหนึ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น