xs
xsm
sm
md
lg

ที่มาของไฟฟ้าหลอดแรกที่สว่างขึ้นในกรุงเทพ! ร.๕ รับสั่ง “ไฟฟ้า หลังคาตัด ข้าไม่เชื่อ”!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
โทมัส เอดิสัน คิดทำหลอดไฟฟ้าสำเร็จเมื่อปี ๒๔๒๓ และได้สร้างโรงไฟฟ้าขึ้นที่นิวยอร์คเมื่อปี ๒๔๒๕ จากนั้นไฟฟ้าก็ข้ามไปสว่างที่กรุงลอนดอน และเริ่มกระจายไปในยุโรป ต่อมาในปี ๒๔๒๗ ไฟจากฟ้านี้ก็ข้ามโลกมาสว่างที่กรุงเทพฯหลังการกำเนิดขึ้นในโลกได้ไม่นาน และกลับดับมืดทั่วทั้งเมืองอีก ในปี ๒๔๘๕ ถึงปี ๒๔๘๘ ทั้งกรุงเทพฯต้องกลับไปใช้ตะเกียงเหมือนเมื่อต้นรัชกาลที่ ๕

ทั้งนี้ในปี ๒๔๒๑ จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ครั้งยังเป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ได้ร่วมเป็นคณะราชทูตสยามไปอังกฤษ เห็นความสว่างไสวของกรุงลอนดอนยามราตรี จึงเกิดความคิดว่าเมืองไทยน่าจะนำไฟฟ้ามาใช้บ้าง แต่เมื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงรับสั่งว่า “ไฟฟ้า หลังคาตัด ข้าไม่เชื่อ” ทั้งนี้ยามนั้นเมืองไทยยังอยู่ในยุคใช้ตะเกียง ใครจะคิดว่าแสงสว่างจะเดินมาตามสายให้ความสว่างได้ และคำว่า “ไฟฟ้า” ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น ก็คงหมายถึงไฟประหลาดที่มาจากฟ้านั่นเอง

เจ้าหมื่นไวยฯ ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับการทหารหน้า หรือผู้บัญชาการทหารบก จึงคิดที่จะทำให้ทอดพระเนตรให้ได้ จึงนำที่ดินมรดกแปลงหนึ่งไปกราบทูลขอพระราชทานให้สมเด็จพระบรมราชเทวีทรงรับซื้อไว้ ได้เงินมา ๑๘๐ ชั่ง หรือ ๑๔,๔๐๐ บาท จากนั้นจึงให้ นายมาโยลา ครูฝึกทหารชาวอิตาเลียน เดินทางไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่กรุงลอนดอน

นายมาโยลาได้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามา ๒ เครื่องพร้อมอุปกรณ์ สาย และหลอด เจ้าหมื่นไวยฯจึงติดตั้งทดลองขึ้นที่ศาลากรมทหารหน้า ซึ่งก็คือศาลากระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน ก่อนที่จะวางสายเข้าไปที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทที่กำลังจะมีงานใหญ่ และเดินเครื่องจ่ายไฟในวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๔๒๗ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงถือได้ว่ากรุงสยามมีไฟฟ้าครั้งแรกในวันนั้น

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทอดพระเนตรแสงสว่างจากไฟฟ้าแล้ว ก็มีพระราชดำริว่า ไฟฟ้านับว่าเป็นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์อย่างมาก ซึ่งจะสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้น้ำมันและแก๊สที่ใช้จุดโคมไฟในยามนั้น ไม่เพียงแต่ในพระบรมมหาราชวัง ราษฎรทั่วไปก็ควรจะได้ใช้ประโยชน์จากไฟฟ้าด้วย นอกจากจะพระราชทานเงินค่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าคืนให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถแล้ว ยังทรงวางแผนจะให้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อประชาชนต่อไป

ต่อมาในปี ๒๔๓๒ มีคนไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าหมื่นไวยวรนาถรวมอยู่ด้วย ได้ร่วมกันตั้งบริษัท “ไฟฟ้าสยามกอมปนี ลิมิเต็ด” ขึ้น โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมสรรพศาสาตรศุภกิจเป็นผู้ยื่นขอสัมปทาน และได้ตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นที่วัดเลียบ หรือวัดราชบูรณะ เชิงสะพานพุทธฯ แต่การดำเนินงานเกิดขาดทุน จึงโอนกิจการให้กับบริษัทแตรมเวย์ของชาวเดนมาร์ค ซึ่งได้สัมปทานเดินรถรางในกรุงเทพฯอยู่ในขณะนั้น แต่ยังใช้ม้าลาก

ในปี ๒๔๓๔ บริษัทแตรมเวย์จึงขอตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นอีกแห่งหนึ่งวัดมหาพฤฒาราม เพื่อจ่ายไฟให้รถรางซึ่งหันมาใช้ไฟฟ้าแทนม้า กรุงเทพฯจึงมีรถไฟฟ้าเป็นสายแรกของเอเชียในปี ๒๔๓๗

มีบันทึกไว้ว่า ในตอนค่ำของวันที่ ๓ กันยายน ๒๔๓๘ สมเด็จพระปิยะมหาราช พร้อมพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ไปที่ข้างศาลหลักเมือง ซึ่งเป็นต้นทางของรถรางสายหลักเมือง-ถนนตก ทรงประทับรถรางเป็นครั้งแรก และทรงซักถาม นายชม คนขับรถรางถึงการขับเคลื่อนรถด้วยไฟฟ้า ทั้งทรงแวะไปทอดพระเนตรโรงไฟฟ้าที่วัดมหาพฤฒารามด้วย มิสเตอร์แฮนเซน นายช่างใหญ่ถวายการต้อนรับด้วยความยินดี รับสั่งเป็นภาษาอังกฤษกับนายช่างใหญ่ว่า เหตุใดจึงใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง ไม่ใช้ฟืน มิสเตอร์แฮนเซนกราบทูลว่า แกลบถูกกว่าฟืนถึง ๕๐ เท่า ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายมาก และขับรถรางด้วยตัวเองมาส่งเสด็จถึงศาลหลักเมือง

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯมีโรงไฟฟ้าอยู่ ๒ โรง คือที่วัดเลียบ เชิงสะพานพุทธฯโรงหนึ่ง เป็นของบริษัทไฟฟ้าไทยคอร์เปอเรชั่น จำกัด ที่ฝรั่งชาติเดนมาร์คได้รับสัมปทานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ จ่ายไฟให้จังหวัดพระนคร-ธนบุรีเขตใต้ กับโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน สร้างในปี ๒๔๕๕ สมัยรัชกาลที่ ๖ จ่ายไฟฟ้าให้พระนคร-ธนบุรีเขตเหนือ โดยใช้แนวคลองบางลำพูและคลองบางกอกน้อยแบ่งเขตกัน

แต่ในปี ๒๔๘๕ จนถึงถึงปี ๒๔๘๘ ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ คนกรุงเทพฯก็ต้องกลับไปสู่บรรยากาศสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ กันอีกครั้ง เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้งที่วัดเลียบและสามเสนถูกระเบิดจากเครื่องบินถล่มพังทั้งคู่ ต้องกลับไปใช้ตะเกียงกันอีก

นึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้ากลับมาเกิดขึ้นอีกในวันนี้ จะอยู่กันได้ยังไง
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ
กำลังโหลดความคิดเห็น