xs
xsm
sm
md
lg

ยอดมนุษย์ตัวจริง! “ซูเปอร์ฮีโร่นอกจอ” เหล่าคนดีจิตอาสาผู้มาบรรเทาทุกข์ในชุดคอสเพลย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดใจทีมงานจิตอาสา ผู้มาในคอสเพลย์ซูเปอร์ฮีโร่ชื่อดัง กับภารกิจผดุงความดีแบบที่ไม่หวังผลตอบแทน...

กลายเป็นภาพชินตาสำหรับผู้ตกทุกข์ได้ยากและคนที่กำลังอยู่ในช่วงลำบากของชีวิต สำหรับบรรดาเหล่าฮีโร่กลุ่มนี้ที่เมื่อพวกเขาปรากฏตัว รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และกำลังใจ ก็พราวพราวส่องแสง ถ่ายเทพลังแรงใจ ... เรามาทำความรู้จักกับพวกเขากันเลยดีกว่า

(1)
ฉันมาด้วยใจ
ปฐมบทจุติฮีโร่ยอดมนุษย์จิตอาสา

“เด็กพวกนี้เขาสิ้นหวัง รอวันที่จะจากไป พอเขารู้ว่าเขาจะได้เจอเรา เราจะมีรูปถ่ายไปให้ เด็กเขาจะนอนกอดรูปเราทั้งคืนเลย รอว่าเมื่อไหร่เราจะมา เด็กบางคนมองไม่ ไม่เห็นแล้ว แรงไม่ไหวที่จะลูบคลำใบหน้าเรา แต่พอเราไปถึง เขากลับมีเรี่ยวแรง มีรอยยิ้ม”

เรือตรีปริญญา บุญทับ ฮีโร่วัย 52 ปี ในชุดแบทแมน หัวเรือใหญ่ของเหล่าบรรดาซูเปอร์ฮีโร่จิตอาสา กล่าวเริ่มต้นสนทนาถึงสาเหตุการออกมาพิทักษ์ช่วยเหลือ ให้กำลังใจเด็กๆ และผู้ทุกข์ยาก ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี

“จุดเริ่มต้นมาจากการที่ผมรับราชการเป็นทหารองค์รักษ์ ถวายงานความปลอดภัยและตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องจากพระองค์ท่านทรงเป็นห่วงเกี่ยวกับด้านศาสนาและความมั่นคงทางภาคใต้ ซึ่งโดยปกติในส่วนภาคอื่นๆ ก็จะมีการถอดกฐิน ทอดผ้าป่ากันทุกปี แต่ภาคใต้ปีหนึ่งประมาณ 200 กว่าวัด ที่ไม่มีผู้จองเป็นเจ้าภาพกฐินเลย พระองค์ท่านจึงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทุกๆ ปี ให้ทรงนำบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินไปทอด ผมในฐานะที่อยู่กรมราชองค์รักษ์มีหน้าที่สนองงานพระองค์ท่าน ก็เลยไปประชาสัมพันธ์ตามจุดต่างๆ เพื่อให้คนไทยรับรับรู้และก็อาจจะมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนบริจาคทำบุญร่วมกับพระองค์ท่าน

“ทีนี้ จุดที่ไปประชาสัมพันธ์ คือบริเวณสวนจัตุจักร บังเอิญผู้บังคับบัญชาท่านชื่นชอบฮีโร่และท่านเองก็มีรถอเมริกันกว่า 30 คัน โดยที่ทุกคันท่านทำเป็นรถซูเปอร์ฮีโร่หมดเลย ทั้งรถซูเปอร์แมน รถแบทแมน ท่านก็เอารถไปจอดบริเวณบูทที่มีการประชาสัมพันธ์ คนก็เลยสนใจ มาขอถ่ายรูปพร้อมทั้งบริจาคเงินกันเยอะมาก นายก็เลยบอกว่าน่าจะมีคนแต่งเป็นแบทแมน (หัวเราะ) เมื่อ 8 ปีที่แล้วที่เริ่ม ยังถามท่านเลยว่าจะให้ใครแต่ง นายก็บอกว่าเราหุ่นได้พอดี ท่านหุ่นไม่ไหวแล้ว ก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแต่งชุดแบทแมนเพื่อสมทบทุนบริจาคร่วมกับพระองค์ท่าน”

เดือนละ 2 ครั้ง ทุกวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ได้ยอดสมทบทุนกว่า 2 ล้านบาท แต่สิ่งที่สำคัญมิใช่เพียงตัวเงินที่จะเอื้ออำนวยความทุกข์ยาก หากแต่คือการหลอมรวมใจให้ผู้คนได้ตระหนักถึงการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และร่วมสร้างการเปลี่ยนโลกได้ด้วยสองมือที่แม้ไร้พลังอำนาจวิเศษใดๆ

เรือตรีปริญญา ในวันเวลานั้นก็เช่นเดียวกัน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการติดต่อให้ไปช่วยราชการเนื่องในวันเด็ก และกลายเป็นจุดผลิดอกออกผลของการเป็นจิตอาสา

“เพราะมีเงินเป็นล้านก็ทำตรงนี้ไม่ได้ ความสุขของเขามันไม่เหมือนกับที่เขาเห็นฮีโร่ เขาฝันเป็นจริง เราอาจจะไม่มีเงินซื้อของเล่น แต่เราทำสิ่งที่ให้เขาด้วยใจ เราก็สร้างความสุขให้เขาได้

“จากนั้นก็มีคนติดต่อให้ไปงานวันเด็ก ทำเนียบรัฐบาล จุดเริ่มต้นเกิดจากงานวันเด็ก เอารถแบทแมนไปให้เด็กๆ ถ่ายรูปเล่น ตอนนั้นผมคนเดียวนะ ฉายเดี่ยวเลย จริงๆ แรกๆ เขินมาก จากนั้นในงานวันเด็กจะมีซูเปอร์ฮีโร่คอสเพลย์เยอะมาก เขาก็จะไปเล่นกับเด็กๆ เราก็มาเจอกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ก็เลยตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา แล้วเวลามีงาน ก็จะติดต่อแจ้งกัน ใครว่างก็ไป เพราะที่มา ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกันหมด เมืองไทยมีกลุ่มซูเปอร์ฮีโร่เยอะมาก หลายกลุ่มที่มาคือตัวแทนแต่ละกลุ่มแล้วมารวมตัวกัน

“การไปทำกิจกรรมกับพี่ๆ ทำให้เราเข้าใจเรื่องความทุกข์ พระพุทธศาสนาสอนให้เรียนรู้ทุกข์มากกว่าสุข พอไปเจอน้องๆ ที่มีทุกข์มากกว่า เรามองทุกข์ของเราเล็กน้อยไปเลย”

ทิม - จิรวัตน์ ตระกูลมา นักกีฬาฟิตเนสแห่งประเทศไทย ปี 2011 - 2016 นักโปรเฟสชั่นนอลเทรนเนอร์ พิธีกรรายการกีฬา ฮีโร่ในชุดยอดมนุษย์เอ็กซ์เม็น (X-Men) กล่าวเสริม

“คือจุดเริ่มต้นของผมมาจากรายการประกวดมิสเตอร์ฟิตเนส ก็จะมีธีมการแข่งขันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แบทแมนบ้าง ทาซานบ้าง แล้วก็มีวูล์ฟเวอรีน ซึ่งก่อนหน้านี้จริงๆ แล้วผมเองเป็นคนที่ไปรณรงค์หลายอย่าง ทั้งรณรงค์ช่วยเหลือสัตว์ อยู่ในกลุ่มวีแกนด้วย รณรงค์ให้คนลดโลกร้อนในการลดละเลิกทานเนื้อสัตว์กันบ้าง แล้วก็ช่วยเหลือสัตว์ที่ถูกไถ่ชีวิตจากโรคฆ่าสัตว์ ช่วยเหลือมูลนิธิต่างๆ เราก็ทำในทีมนักกีฬาทีมชาติ ไม่ใช่ภายใต้หน้ากากอย่างเดียว

“แต่ที่มีโอกาสได้เข้ามา เพราะมีน้องในทีมซูเปอร์ฮีโร่ประสานงานติดต่อมาว่า มีน้องคนหนึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งกล้ามเนื้อ และชอบวูล์ฟเวอรีนมาก ก็เลยได้โอกาสเข้าร่วม ครั้งแรกก็ไปเจอป๋าที่วชิระพยาบาล พอเราเข้าไป สายตาแววตาของน้อง ในขณะที่คุยกับเรา ตาเขาเป็นประกายมาก มีความหวังขึ้นมา รู้สึกว่าเขามีความสุขมาก แม้ว่าพูดไม่ได้ อาศัยพิมพ์เอาด้วย เราแทบจะร้องไห้ แต่เราต้องกลั้น เพราะเราจะมาร้องไห้ให้น้องดูไม่ได้ เราก็บอกเขาว่าเป็นกำลังใจให้ รอให้น้องหาย ถ้าหาย ไปกับพี่ เราจะได้ไปออกกำลังกายกัน จะได้แข็งแรงเหมือนวูล์ฟเวอรีน”

“คือเราทำให้เด็กๆ มีความสุข หรือใครก็ได้ในสังคมมาทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม เป็นการส่งต่อความสุขให้กับคนอื่น เราก็รู้สึกยินดีมาก”
เชอร์รี่ - นนท์ณัฐดา อำมาตย์ สาวกัปตันอเมริกา อดีตนักกีฬาฟิตเนสทีมชาติและเทรนเนอร์ดาราแม่เหล็กตัวแม่เมืองไทย เผย

“ครั้งแรกที่ได้มาเจอพี่ๆ จิตอาสาฮีโร่ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ต้องบอกก่อนว่ายังไม่ได้แต่งธีมนี้ ไปช่วยพี่ๆ เขาเฉยๆ เล็กๆ น้อยๆ ให้กับน้องๆ ที่ป่วย แต่ตอนที่เรารอที่ห้องแต่งตัว แรกๆ ก็รู้สึกเฉยๆ พอเราได้ไปเห็นพวกพี่ๆ ฮีโร่เขาเข้าไป ภาพในระหว่างที่เรามองผ่านจอมือถือของเรา เรายังจะร้องไห้เลย เรามีความรู้สึกว่า เหมือนเด็กๆ เขามีความสุข เรานึกถึงตัวเองตอนเด็กๆ ที่เราอยากมีโอกาสจะเจอบ้าง แต่เราไม่ได้เจอ แต่ในขณะนั้นน้องๆ พอได้เห็น เหมือนไม่ได้เป็นคนป่วย แววตาหม่นเศร้าของเขาหายไป เราก็อยากจะเข้าร่วมด้วย เพราะซาบซึ้งในน้ำใจและการเสียสละเวลาและทุนทรัพย์

“เราก็เลยมีความคิดว่า นี่คือการส่งต่อความสุขที่ได้บุญมากๆ ได้ให้สิ่งดีๆ มอบรอบยิ้มและกำลังใจให้กับคนที่กำลังป่วยอยู่ เขาอาจจะมีกำลังใจที่อยากจะอยู่ต่อ อยากจะหาย เพราะคนป่วย สิ่งที่สำคัญที่สุกคือกำลังใจจากคนรอบข้าง พี่น้อง แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมาจากเขาเอง”

(2)
ทำดี…เริ่มเมื่อไหร่ สุขใจเมื่อนั้น
บทฮีโร่ที่เริ่มต้นด้วยการให้

ถ้าตั้งใจว่าทำได้ แม้หินหนักก็ยังยกไหว ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ แม้เม็ดทรายหนึ่งกำมือ ก็ยังยกขึ้นยาก คงอธิบายปณิธานของเหล่าบรรดาซูเปอร์ฮีโร่จิตอาสาเหล่านี้ได้อย่างดี

• ความรู้สึกของการมอบให้ที่อาจจะดูแตกต่าง ส่วนตัวเรารู้สึกอย่างไร

ม้าทอง (ทรงวุฒิ เพ็งเลี้ยง) : ความสุขในการให้ คำสั้นๆ แต่มีความหมายยิ่งใหญ่ ไม่มีคำจำกัดความ คำว่าให้ คือทั้งหมดทั้งมวลตั้งแต่เริ่มทำมาจนถึงตอนนี้ ผมรับรู้ตั้งแต่เป็นสไปเดอร์แมน ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเป็นม้าทองฮีโร่สายพันธุ์ไทย เราก็คิดว่า คนไทยเราก็เป็นฮีโร่ช่วยเหลือคนได้ ทำไมประเทศไทยไม่มีฮีโร่บ้าง ก็เลยรวมตัวกับเพื่อนๆ มาทำฮีโร่ไทยกันดีกว่า เอาของตัวเองเลย ใครเกิดปีไหนก็คอสเพลย์ฮีโร่ปีนั้น ทำชุดทำดีไซน์กันเอง ซึ่ง ณ ตอนนี้ กลุ่มไทยฮีโร่ก็มีประมาณ 30 คน รวมตัวทำจิตอาสา

โรบิน (ภควดี บัวอุไร) : ก่อนหน้านี้ ผมคอสเพลย์เป็นตัวการ์ตูนญี่ปุ่นธรรมดาจากความชอบ พอโตขึ้นมาก็คิดว่ากำลังเรามีเหลือที่จะช่วยเหลือคนอื่น ก็เลยลองเข้ามาจากการได้ไปเจอป๋าแบทแมน ทีนี้พอได้เข้ามาได้มา จากนั้นก็เลยเลือกที่จะเป็นจิตอาสาตรงนี้ และเลือกโรบิน ซึ่งตัวละครโรบินเนื่องจากเพราะเขาเป็นหัวหน้าทีมของทีมไททัน คนที่เสียสละแล้วทำทุกอย่าง คาแรคเตอร์นี้ก็น่าจะเหมือนเรา ทำทุกอย่างเพื่อลูกทีม ก็เลยใส่ตัวนี้มาทำจิตอาสาครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราชกับป๋าแบทแมน

• มีความเขินอายบ้างหรือไม่ ในการแต่งชุดซูเปอร์ฮีโร่ออกไปแจกจ่ายความดี

มดเอ๊กซ์ V1 (ชัยวัฒน์ เอมวงศ์) : มีเยอะ ครั้งแรกมีคนมองว่าไร้สาระไปไหม แต่พอเขาเห็นสิ่งที่เราทำ ไปเจอน้องๆ คนพิการ ไปเจอน้องๆ ที่เขาเดินไม่ได้ เขาเห็นแต่ฮีโร่ในจอทีวี แต่พอเขาได้เห็นได้สัมผัสตัวเรา เขายิ้ม เขาร่าเริง ทั้งที่จริงๆ เขาไม่รู้จักเรานะ คนที่รู้จักจะเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว เพราะตัวละครนี้มีมานานมาก แต่พอเขาเห็นภาพแบบนี้ เขารู้สึกประทับใจ เขามีกำลังใจขึ้น

ความรู้สึกตรงนี้มันสำคัญมากๆ แม้ว่าเหงื่อจะเข้าตาตลอดเวลา เวลาอยู่ในห้องแอร์ หน้ากากก็พร่ามัว มองไม่ค่อยเห็น หายใจไม่ค่อยออก แต่ทุกครั้งที่ยื่นอยู่ต่อหน้าเด็กๆ เขายิ้ม เขาเข้ามากอด เรามีความรู้สึกว่าอยากจะยืนนานๆ เป็นชั่วโมง หน้ากากตรงนี้สำคัญมาก เป็นตัวแทนความเป็นเด็กของเราทุกคน อยากให้น้องๆ มีความสุข จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรง อันนี้สำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ ที่ต้องมานั่งคิดหรือมอง

อเมซอน (ธนศักดิ์ ธนนิธาพร) : คือกาลเวลาพิสูจน์คนครับ…ถ้าเราทำทุกวันๆ ก็เห็นผล สุดท้ายก็ยอมรับ เพราะเราทำอย่างจริงจัง ไปตามโรงเรียน สถานพยาบาล ไปทำจิตอาสา แรกๆ อาจจะโดนหาว่าบ้า ผมก็เคยทะเลาะกับที่บ้าน บ้านแทบแตก เพราะจะมาทำตรงนี้ หรือเพื่อนก็เหมือนกัน มึงบ้าหรือเปล่า เราก็เลยพิสูจน์ พาเพื่อนที่เป็นระดับตัวท็อปของห้องไปด้วยว่าเราเจออย่างนี้ ลำบากขนาดนี้ เพื่อนเข้าใจ คนรอบข้างเข้าใจ ตอนนี้ก็ยอมรับแล้ว ทุกคนก็หันมาสนับสนุนช่วยด้วย ครู อาจารย์ที่สนิท ที่รู้ว่าเราทำ ก็ฝากสิ่งของต่างๆ ร่วมด้วยช่วยกันทำบุญ

• และนั่นก็คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการให้ด้วยใจจริง

YELLOE OWL (ว่าที่ร้อยโทสมบูรณ์ วัฒนะกิจ) : ใช่…แม้ว่านอกจากแรงกายแรงใจ เรื่องของชุดก็สำคัญ เราเชื่อว่าทุกคนเหมือนกัน คือเริ่มต้นด้วยเงินส่วนตัว เสื้อก็ไปตัดเอง บางส่วนทำเองได้ก็ทำเอง ก็อย่างที่ป๋าแบทแมนบอกเรา เรามาด้วยใจ เราไม่ได้ต้องการเงินสนับสนุน แต่เราได้เรียนรู้ถึงการให้ มันไม่มีที่สิ้นสุดในทุกๆ ทาง

แคทวูแมน (อโณทัย พัฒนกุล) : มันเป็นความรู้สึก คือแววตาเด็กๆ หากเจอคนธรรมดาเข้าไปหาเขา เขาจะยิ้มอีกแบบ พอแต่งชุดฮีโร่ไป แววตาเขายิ้มอีกแบบ เขาแทบอยากจะลุกจากเตียงวิ่งตาม เขาดูมีความสุขมากกว่าปกติ เราก็มีความสุขที่เห็นเด็กมีความสุข ยิ่งมีลูกยิ่งเข้าใจ สิ่งที่ทำให้เขาดีขึ้นได้ ไม่ใช่เงินทอง คือกำลังใจล้วนๆ น้องของขวัญลูกสาวปีนขึ้นเตียงไปเล่นกับเขาเลย และจากเด็กที่ป่วย ดูเหมือนไม่ป่วยเลย รุ่นเดียวกันเล่นกันสนุกสนานเลย ก็รู้สึกดีที่เห็นเขามีความสุข นั่นคือสิ่งที่เราได้รับและเรียนรู้

ซากิริ (ดญ. ณิชา เอมวงศ์) : คุณพ่อชอบชวนเราไปแต่งตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ แรกๆ เราก็คิดหนักนะ เพราะว่าเป็นคนขี้อาย (ยิ้ม) แต่พ่อบอกว่าไปช่วยเด็กๆ และเมื่อลองได้สัมผัสในงานวันเด็ก อากาศร้อนๆ หน้าเยิ้มๆ แต่พอพ่อแต่งมดเอ๊กซ์ V1 เดินออกไปอยู่บนเวที ไปช่วยเด็กๆ บริจาคของ ไปกอดเด็กๆ เล่นกับเด็กๆ เราก็รู้สึกอบอุ่น เขาดูมีความสุข จากตอนแรกไม่เข้าใจ ตอนนี้ก็รับรู้และเข้าใจ แม้ว่าเพิ่งจะเริ่มทำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่เราก็เติบโตขึ้น เข้าใจคำว่าความสุขที่แท้จริง ความสุขคือเราอยากเห็นเขามีความสุข

วูลฟ์เวอรีน : เราก็จะทำกันต่อไปเรื่อยๆ ครับ เพราะการทำความดีแยกเป็นสองอย่าง ทำความดีอยู่คนเดียวก็ทำได้ ทำเข้ากลุ่มก็ทำได้ คือการทำความดีในตัวเรา เราทำได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่แล้ว ไม่มีแบบแผน เดินไปเจอคนแก่ข้ามถนน ก็ช่วยได้เลย จอดรถให้คนข้ามทางม้าลาย นั่นคือทำได้เลย แต่ส่วนของกลุ่ม เราก็ต้องสละเวลาของตัวเอง

คนอื่นอาจจะมีความสุขวันหยุดในการไปเที่ยว แต่สำหรับเรา การได้ไปช่วยเหลือคน เหมือนเราได้ไปเที่ยวด้วย ก็พยายามรณรงค์ชักชวนน้องๆ เข้ามาร่วมทีมกับเราด้วย จากที่เราทำงานตลอด ทุกๆ คนก็แบ่งมาให้มากขึ้นสำหรับตรงนี้เพื่อที่จะไปทำประโยชน์ให้น้องๆ หรือสังคมเพื่อนร่วมโลกเท่าที่มีโอกาส

สุดท้าย ผมเชื่อว่า โลกเราจะน่าอยู่และสดใส และอาจจะไม่จำเป็นต้องมีการแต่งชุด ถ้าเราทำกันได้ ขอแค่สร้างกำลังใจ เป็นคนดี เราก็คือยอดมนุษย์ที่โลกต้องการครับ

ข้อมูลจากรายการ “เป็นเรื่อง!” ช่อง News 1
ผู้เรียบเรียง : รัชพล ธนศุทธิสกุล

กำลังโหลดความคิดเห็น