xs
xsm
sm
md
lg

เลิกเถอะ “พลาสติกหุ้มฝาขวด” ไม่ได้รับรองว่าน้ำขวดนี้สะอาด แต่ทำขยะพลาสติกพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมควบคุมมลพิษ เผย ขยะพลาสติกหุ้มฝาขวดล้นโลก ชิ้นเล็กๆ แบบนี้มีมากถึง 520 ตันต่อปี พบ 9 บริษัทชั้นนำเลิกใช้ไปแล้ว คาด ปี 2562 จะหมดไป แนะผู้บริโภคเปลี่ยนค่านิยม ไม่ได้รับรองว่าน้ำดื่มสะอาดจริง

โต๊ะข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ... รายงาน

ในชีวิตประจำวัน ร่างกายต้องการน้ำวันละ 6 - 8 แก้ว เมื่อระบบผลิตและส่งน้ำประปาของประเทศไทย ยังไม่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจเหมือนในต่างประเทศ ที่ดื่มน้ำจากก๊อกน้ำได้โดยตรง

ทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดกลายเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ต่างจำหน่ายทั้งแบบขวดและแบบยกแพ็ก ผู้บริโภคต่างซื้อไปบริโภคเป็นจำนวนมาก

รวมไปถึงร้านอาหาร ที่สมัยก่อนจะบริการน้ำดื่มฟรีใส่โถ กาน้ำ หรือเหยือก ก็เพิ่มน้ำดื่มบรรจุขวดวางจำหน่ายขวดละ 10 บาท สำหรับคนที่ไม่มั่นใจในความสะอาดของน้ำดื่มฟรี

แต่ในกระบวนการผลิตน้ำดื่ม หลังบรรจุขวดและปิดฝาเกลียวด้วยเครื่องแล้ว ผู้ผลิตหลายรายจะต้องตบท้ายด้วยการหุ้มพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ที่เรียกว่า “แคปซีล” (Capseal) ทุกครั้ง

เหตุผลที่ใช้แคปซีล มีอยู่หลายประการ เช่น เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าน้ำดื่มขวดนี้สะอาด หรือ ยังไม่ผ่านการเปิดขวด ทั้งที่จริงแล้วหากผ่านกระบวนการปิดฝาเกลียวแล้ว น้ำไม่ไหลเล็ดลอดฝาเกลียว ก็ถือว่าสะอาดแล้ว

ไม่นับรวมว่าระบบฝาเกลียว หากวงแหวนของฝายังไม่แยกออกจากกัน ก็บ่งบอกได้อยู่แล้วว่าฝาขวดยังไม่ถูกเปิดมาก่อน แต่การใช้แคปซีลด้วยความเชื่อที่ว่า น้ำขวดนี้ยังไม่ถูกเปิดดื่มก็ถูกตอกย้ำโดยผู้ผลิตหลายราย

ปัญหาก็คือ ... แคปซีลเป็นพลาสติกแผ่นบาง น้ำหนักเบา แทบจะปลิวได้ เมื่อถูกฉีกออกมาแล้วจะเป็นขยะชิ้นเล็ก คล้ายเปลือกลูกอม ก้นบุหรี่ ตั๋วรถเมล์ จัดเก็บยาก

เมื่อแคปซีลกระจัดกระจายปะปนในชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน กลายเป็นขยะที่ขัดขวางอุปสรรคต่างๆ เช่น การระบายน้ำเมื่อหล่นลงไปในท่อระบายน้ำ

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ประเทศไทย มีการผลิตขวดพลาสติกน้ำดื่มประมาณ 4,400 ล้านขวดต่อปี มีสัดส่วนการใช้แคปซีลมากถึง 2,600 ล้านขวด หรือกว่าร้อยละ 60

ก่อให้เกิดขยะพลาสติก 2,600 ล้านชิ้นต่อปี ประมาณร้อยละ 60 หรือคิดเป็นน้ำหนัก 520 ตันต่อปี ความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ

กรมฯ ตระหนักถึงปัญหาปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นและปัญหาแคปซีลขวดน้ำดื่ม จึงดำเนินการขับเคลื่อนการเลิกใช้แคปซีลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ผลิต ภาครัฐ และเอกชน

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่หลายราย โดยไม่ใช้แคปซีลแล้ว 9 บริษัท และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งในส่วนที่มหาวิทยาลัยผลิตเอง และร้านค้าในมหาวิทยาลัย

ในส่วนของประชาชนผู้บริโภค ก็มีความเข้าใจว่าแคปซีลไม่ได้รับรองความสะอาดของน้ำดื่ม และตระหนักในเรื่อง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หันมาบริโภคน้ำดื่มที่ไม่มีแคปซีลมากขึ้น
น้ำแร่มองต์เฟลอ ของบริษัท ทิพย์วารินวัฒนา จำกัด เป็นหนึ่งใน 9 ผู้ผลิตน้ำดื่มที่เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด หรือแคปซีลแล้ว โดยความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ
สำหรับบริษัทที่ไม่ใช้แคปซีลในขวดน้ำดื่ม และเครื่องดื่มต่างๆ ประกอบด้วย

1. บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด (เครื่องดื่มตระกูลโคค่า-โคล่า และ น้ำดื่มน้ำทิพย์)

2. บริษัท เอ็ม วอเตอร์ จำกัด (น้ำดื่มสปริงเคิล)

3. บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด (น้ำดื่มเนสท์เล่ เพียวไลฟ์ และน้ำแร่มิเนเร่)

4. บริษัท ซีโน-แปซิฟิก เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด

5. บริษัท ทิปโก้ เอฟแอนด์บี จำกัด (เครื่องดื่มทิปโก้)

6. บริษัท ทีทีซี น้ำดื่มสยาม จำกัด (น้ำดื่มสยาม)

6. บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด (เครื่องดื่มตระกูลเป๊ปซี่ และ น้ำดื่มอควาฟินา)

7. บริษัท ทิพย์วารินวัฒนา จำกัด (น้ำแร่มองต์เฟลอ)

8. บริษัท คาราบาวแดง จำกัด (น้ำดื่มตราคาราบาว)

9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (น้ำดื่มตรา DOME)

กรมควบคุมมลพิษ จะร่วมกับสถาบันพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สมาคมอาเซียนไวนิล เคาน์ซิล ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบด้านต่างๆ เพื่อนำมากำหนดระยะ เวลาการเลิกใช้แคปซีลให้เหมาะสม

คาดว่า จะแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่ม เลิกใช้แคปซีลภายในปี 2561 และบริษัทผู้ผลิตน้ำดื่มทั้งหมด เลิกใช้แคปซีล ในปี 2562
กำลังโหลดความคิดเห็น