นักธุรกิจร้านอาหารในตัวเมืองเชียงใหม่ ย้ำโคมลอยไม่เกี่ยวกับประเพณียี่เป็ง แต่มันคือ “ว่าวไฟ” ที่คนแก่ใช้บูชาพระบนดอยสุเทพ ระบุ เป็นคนสั่งทำและนำมาลอยครั้งแรกเมื่อปี 2541 หรือเมื่อ 19 ปีก่อนเท่านั้น ก่อนที่จะมีคนแห่กันขาย แล้วทำเมืองเชียงใหม่ชิบหาย เพราะไฟไหม้ ยอมรับเสียใจ
เฟซบุ๊ก Sornsak Ott Ekkarattana ของ นายศรศักดิ์ เอกรัตน์ เจ้าของร้านอาหาร เดอะ วิเวอร์ไซด์ บาร์ แอนด์ เรสโทรองต์ ถนนเจริญราษฎร์ ริมแม่น้ำปิง ต.วัดเกต อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยความในใจถึงการละเล่นโคมลอย ที่ถูกโยงไปถึงประเพณียี่เป็ง หรือ ประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา ระบุว่า เรื่องที่ตนเสียใจมากที่สุด คือ เรื่องโคมลอย
นายศรศักดิ์ อธิบายว่า ประเพณียี่เป็งที่แท้จริง มีแต่แห่ขบวนประกวดกระทง และมีนางนพมาศนั่ง แล้วริมน้ำทุกแห่งโดยเฉพาะริมแม่น้ำปิงจะมีคนมาลอยกระทงกันเนืองแน่น เช่น เชิงสะพานนวรัฐ และหน้าที่ทำการเทศบาล ท่าน้ำหลังวัดต่างๆ ในน้ำจะเต็มไปด้วยกระทงจุดเทียนไขไหลรวมกัน ส่องสว่างมองดูเหมือนแม่น้ำไฟ สวยงามติดตา ขณะที่บนท้องฟ้ามีเพียงพระจันทร์เต็มดวง
กระทั่งมาถึงปี 2541 ในยุคนั้นถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ ยังปล่อยให้คนขับรถขึ้นไปชมวิวแสงไฟของตัวเมืองยามราตรี ก่อนที่ภายหลังจะห้ามขึ้นดอยตอนกลางคืน เพราะมีกลุ่มวัยรุ่นมั่วสุม คืนนั้นตนเหลือบมองบนท้องฟ้าด้านวัดพระธาตุดอยสุเทพ เห็นดวงไฟประหลาดลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นระลอก สวยงามมาก มีฉากหลังเป็นพระจันทร์เต็มดวง ด้วยความอยากรู้จึงขับรถขึ้นไป แล้วเดินขึ้นบันไดนาค
พบผู้สูงอายุ 2 - 3 คน กำลังจุดไฟปล่อยโคมดังกล่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า ถามว่าคืออะไร ได้รับคำตอบว่า มันคือ “ว่าวไฟ” ด้วยความที่ไม่เคยพบเห็น เลยถามว่าจุดทำไม ได้รับคำตอบว่า จุดไปไหว้พระจุฬามณีอะไรสักอย่าง ซึ่งตนไม่สนใจ แต่สนใจที่ว่า ตนทำร้านอาหารริมน้ำปิง และมองว่า น่าจะเป็นจุดขายไว้ให้ลูกค้าตื่นตาคืนลอยกระทงที่กำลังจะมาถึง สอบถามแหล่งผลิต ระบุว่า ที่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีสะหล่า (ช่าง) ทำว่าว และทำดอกไม้ไฟโคมไฟต่างๆ เขารับทำ
รุ่งขึ้น ตนจึงรีบไปหาแล้วสั่งทำจำนวน 50 ลูก สะหล่าคนดังกล่าวไม่เชื่อว่าจะสั่งเยอะขนาดนั้น ต้องชำระเงินล่วงหน้า เมื่อได้มาแล้วคืนลอยกระทงของปีนั้น ก็มาจุดโคมลอยปล่อยขึ้นฟ้าที่ท่าน้ำหลังร้านทุกครึ่งชั่วโมง ผลก็คือได้รับความสนใจจากคนทั้งในร้านและรอบคุ้งน้ำ มาขอช่วยปล่อยโคมลอยและถ่ายรูปกัน ขณะที่นักพูดชื่อดัง โน้ส อุดม แต้พานิช มาแวะเที่ยวและช่วยปล่อยขึ้นฟ้า ถามว่าเขาเรียกอะไร ตนก็มั่วไปว่า “ปล่อยลอยทุกข์ลอยเคราะห์” แล้วก็ทำแบบนี้ในคืนลอยกระทงปีต่อมา
2 - 3 ปีผ่านไป ตามแผงขายกระทงริมถนนจะมีโคมลอยวางขายกันทุกแผง ท้องฟ้าเริ่มเต็มไปด้วยโคมลอย เกิดไฟไหม้ร้านค้าในกาดหลวง (ตลาดหลวง) และบ้านเรือน เพราะโคมลอยหล่นใส่ ซ้ำธุดงค์สถานธรรมกายใน อ.แม่โจ้ ปล่อยโคมลอยสู่ฟ้าเป็นหมึ่นลูกอีก ไฟก็ไหม้บ้านชาวบ้านมากขึ้น ในร้านของตนก็มีโคมลอยมาติดยอดต้นฉำฉาริมร้าน กิ่งก้านติดติดไฟอยู่สูงกว่าจะดับได้ก็โกลาหล จึงห้ามนำมาจุดในร้านและไม่ส่งเสริมอีกเลย
ผลที่ตามมาในด้านธุรกิจนั้นแย่มาก เพราะก่อนจะมีโคมลอย จุดศูนย์กลางของเทศกาลลอยกระทงเคยอยู่ที่ริมแม่น้ำกลับคลายความสำคัญลง โต๊ะริมน้ำของร้านที่เคยมีคนมานั่งจับจองตั้งแต่แดดยังไม่ลับฟ้า กลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้โต๊ะริมน้ำจะยังเต็ม แต่ความกระตือรือร้นของลูกค้าที่จะมาลอยและชมกระทงริมน้ำนั้นลดลงไปพร้อมกับกระทงในน้ำที่บางตาไปเรื่อยๆ ทุกปี หากเทียบกับบนท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยโคมไฟ เพราะลอยขึ้นใด้จากทุกที่ของเมือง มันไม่ต้องการแม่น้ำ
“ที่แย่อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ผมได้ยินวิทยุเขาสัมภาษณ์ท่านผู้รู้ชาวล้านนาคนหนึ่ง แกบอกว่านี่เป็นประเพณีลอยกระทงดั้งเดิมของเชียงใหม่ แล้วทุกภาคส่วนล้วนช่วยกันประชาสัมพันธ์เผยแพร่กันไปทั่วเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ผมยืนยันได้เลยว่ามันไม่เคยมีโคมไฟบ้านี้บนท้องฟ้าเหนือลำน้ำปิง (ที่อื่นไม่ทราบ) ในคืนลอยกระทงก่อนปี พ.ศ. 2541 เลย ที่เล่ามานี้เพียงอยากจะบอกเพื่อนๆ ว่า โคมลอยนี้มันมีอยู่แล้วจริง แต่เพื่อใช้ในการอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับงานยี่เป็งหรือลอยกระทงเลย อย่ามั่ว ผมและคนเชียงใหม่ทั่วไปก็ไม่เคยรู้จักมันมาก่อน” นายศรศักดิ์ กล่าว