xs
xsm
sm
md
lg

“ภัครธรณ์ เทียนไชย” จาก “หนุ่ย ชุมแพ” นักสอยคิวมือฉมัง ถึงผู้ว่าฯ ที่คนชลบุรี “ไม่เอา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดประวัติผู้ว่าฯ ชลบุรี ที่วันนี้คนชลบุรีโห่ไล่ พบเคยเป็นนักสนุกเกอร์ฝีมือดี เจ้าของฉายา “หนุ่ย ชุมแพ” แต่หันมาเอาดีรับราชการ มีสายสัมพันธ์กับเจ้าพ่อวังน้ำเย็น “เสนาะ เทียนทอง” แต่ยังเข้ากันได้ดีในยุค คสช.

โต๊ะข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ... รายงาน

สองวันสองคืนแล้วที่ประชาชนชาวจังหวัดชลบุรีออกมาชุมนุมประท้วง เพื่อขับไล่ “นายภัครธรณ์ เทียนไชย” ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี

สืบเนื่องมาจากพิธีวางดอกไม้จันทน์ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระเมรุมาศจำลอง ศาลากลางจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา

ไม่สมพระเกียรติแบบไม่น่าให้อภัย ประชาชนต้องต่อคิวนับสิบชั่วโมง แถมถูกข้าราชการชุดขาวและแขกวีไอพีแซงคิวเป็นว่าเล่น

แม้ดูเหมือนว่าความขัดแย้งจะยังไม่จบลง แต่ก็มีความพยายามจากฝั่งรัฐบาล ทั้งนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง รมว.มหาดไทย ที่จะส่งสัญญาณบอกประชาชนให้ “หุบปาก” เรื่องที่เกิดขึ้น

สงสัยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีคนนี้ เป็นใคร มาจากไหน มาอยู่ในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออก ที่มีการลงทุนนับร้อยนับพันล้านบาทได้อย่างไร?

นายภัครธรณ์ เทียนไชย ภูมิลำเนาเป็นชาว จ.ชัยนาท เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2505

ถือเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากรั้วสิงห์แดง สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ระดับปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ชีวิตส่วนตัว ชอบเล่นกีฬาสนุกเกอร์เป็นชีวิตจิตใจ เมื่ออายุ 20 ปี เคยเดินทางเข้าสู่วงการสนุกเกอร์พร้อมกับฉายา “หนุ่ย ธรรมศาสตร์” ประจำสโมสรเรือนไทย ปิ่นเกล้า

ฝีมือไม่ธรรมดา เคยชนะอดีตทีมชาติมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น ป้อม เนาวรัตน์, เทพ มังกรหยก แม้กระทั่ง “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” และ “หนู ดาวดึงส์” ก็เคยถูกสอยคิวมาแล้ว

เคยได้รับการทาบทามจาก “คิวทอง - ศักดา รัตนสุบรรณ” ให้เข้าร่วมทีมชาติ เพราะเห็นแววอนาคตทีมชาติแน่นอน แต่เจ้าตัวขอเรียนให้จบ โดยใช้เวลาเล่นสนุกเกอร์หลังเลิกเรียน

กระทั่งสอบติดปลัดอำเภอชุมแพ จ.ขอนแก่น ปี 2527 ยังมีฉายาว่า “หนุ่ย ชุมแพ” เพราะระหว่างรับราชการ ก็ยังเล่นสนุกเกอร์จนมีชื่อโด่งดัง

เกือบ 20 ปีจากแดนชุมทางอีสานเหนือ ทิศเหนือไปเลย ทิศใต้ลงชัยภูมิ ก็ย้ายข้ามห้วยมาเป็นปลัดอำเภอวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ในปี 2546 ก่อนที่ในอีก 1 ปีต่อมา ย้ายไปเป็นนายอำเภออรัญประเทศ ในปี 2547

แน่นอนว่า นักการเมืองเจ้าของพื้นที่สระแก้วจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ตระกูลเทียนทอง” โดยเฉพาะเจ้าของวังน้ำเย็นอย่าง “นายเสนาะ เทียนทอง” ที่ในช่วงนั้นเจ้าตัวสังกัดพรรคไทยรักไทย

จากนั้นปี 2548 ก้าวเข้าสู่ส่วนกลางเป็นผู้อำนวยการกองการสื่อสาร กรมการปกครอง ปี 2549 เป็น ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมการปกครอง แต่ในปี 2550 กลายเป็นผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง

จากนั้นในปี 2552 ขยับเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ปี 2553 เป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ 2 ปี มาถึงปี 2555 สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว

ว่ากันว่า ที่ขยับขึ้นเป็นผู้ว่าฯ สระแก้ว คราวนั้น เป็นเพราะมาในสายของ “นางอุไรวรรณ เทียนทอง” ภรรยานายเสนาะ ที่มีการวางตัวไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งช่วงนั้นลูกหลานตระกูลเทียนทองก็ได้เป็นรัฐมนตรี

นายภัครธรณ์ ดูแลพื้นที่สระแก้วมานาน 4 ปี แม้กระทั่งหลัง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ก็ยังอยู่ดีไม่มีปัญหา

กระทั่งปี 2559 ย้ายมาอยู่จังหวัดใหญ่อย่างชลบุรี แม้จะมีพะยี่ห้อ “เทียนทอง” ติดสอยห้อยตาม แต่ดูแล้วเข้ากันได้ดีในยุค คสช. โดยเฉพาะทหารกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ “ป้อม - ป๊อก - ตู่” ที่คุมพื้นที่ถึงชายแดนสระแก้ว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากพื้นที่ ว่า การออกมาขับไล่ผู้ว่าฯ ชลบุรี ในครั้งนี้ แม้ส่วนใหญ่จะเกิดความไม่พอใจในการจัดพระราชพิธีฯ แต่ก็มีการออกมาโจมตีกลุ่มที่ออกมาขับไล่ว่า “เป็นกลุ่มจัดตั้งที่เสียผลประโยชน์ส่วนตัว”

หลังจากภาครัฐมีนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดระเบียบสังคมช่วงก่อนงานพระราชพิธี เพราะเกรงว่าจะมีบุคคลฉวยโอกาสจัดงานหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง

แต่ก็เกิดตั้งคำถามว่า แล้วนักการเมืองหญิงรายหนึ่งที่จัดซุ้ม และจัดขบวนแห่ดอกดาวเรืองจนมีภาพฉาวว่อนโซเชียลมีเดีย อยู่ในพื้นที่บ้าน “รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แท้ๆ” ทำไมถึงปล่อยปละละเลยได้?

ยังพบว่าเริ่มมีกลุ่มคนที่มาให้กำลังใจ เช่น “นายกอ้อย” นายจิรวุฒิ สิงห์โตทอง ลูกชาย “เฮียซุ้ย” ดรงค์ สิงห์โตทอง อดีต ส.ส. ชลบุรี 4 สมัย มอบดอกไม้ในฐานะนายกสมาคมกลุ่มอาชีพเกษตรจังหวัดชลบุรี

ภาพดังกล่าวดูจะสวนทางกับคนชลบุรีที่ยังโกรธเคืองผู้ว่าฯ และยังคงไม่ได้รับคำตอบจากปากว่า “จะอยู่หรือไป” เพราะไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไรก็ยังคงเป็น “แผ่นเสียงตกร่อง” จนรับไม่ได้อยู่ดี

หากยังดันทุรังอยู่ในตำแหน่งต่อไป ก็คงทำงานกับประชาชน “ที่เขาไม่เอาด้วย” อย่างลำบาก

อย่างที่ผู้ประกาศข่าวชื่อดังรายหนึ่งกล่าวไว้ว่า “จังหวัดใดก็ตาม ถ้าประชาชนไม่รับเจ้าเมืองแล้ว อยู่ด้วยกันยาก”

กำลังโหลดความคิดเห็น