๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นี้ ประเทศไทยมีโรงพยาบาลโรคจิตมา ๑๒๘ ปีแล้ว แม้แรกๆ คำว่า “หลังคาแดง” จะเป็นแสลงที่พูดล้อกันทั่วไป หมายถึงสถานที่คุมขังคนบ้า แต่ต่อมาผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกที่มาตรวจเยี่ยม ก็กลับไปเขียนรายงานว่า “เป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่ดีที่สุดในตะวันออกของคลองสุเอซ” และใช้วิธีรักษาที่ได้ผล ทั้งยังได้เงินซื้อที่ดินถึง ๑,๐๖๗ไร่ ขยายแห่งใหม่ได้
เมื่อตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกในชื่อ “โรงศิริราชพยาบาล” ในปี ๒๔๓๑ แม้แรกๆจะไม่มีคนไข้กล้าเข้ารักษา แต่ต่อมาไม่นานเมื่อประชาชนมีความเข้าใจในเรื่องการรักษาพยาลาลแผนใหม่ โรงพยาบาศิริราชก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อๆ ความหนักใจกลับตกอยู่กับผู้บริหาร เมื่อมีผู้ส่งคนไข้โรคจิตที่ไม่ใช่โรคกายมาให้รักษา บางรายที่แบกรับการคุ้มคลั่งอาละวาดไม่ไหว ก็ส่งมาให้โรงพยาบาลรับภาระแทน แต่ทางศิริราชจะนำคนป่วยประเภทนี้มาอยู่ร่วมกับคนไข้ทั่วไปก็ไม่ได้ ครั้นจะบอกปัดไม่รับคนป่วยทางจิตก็ไม่ได้ เพราะขัดกับหน้าที่ของกรมพยาบาล ศัลยแพทย์อเมริกันคนหนึ่งในทีมของหมอศิริราช ที่เรียกกันว่า “หมอเฮย์” จึงเสนอความคิดที่จะเปิดโรงพยาบาลเฉพาะโรคจิตขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่ติดขัดในเรื่องงบประมาณ ทั้งยังมีภาระที่จะต้องจัดตั้งโรงพยาบาลให้กระจายไปอีกหลายแห่งด้วย
ในขณะนั้น มีบ้านที่บรรดาเจ้าภาษีนายอากรได้ยกใช้หนี้หลวงมาหลายหลัง คณะกรรมการที่ได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็น “คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” จึงได้ขอพระราชทานเลือกเอาบ้านของพระยาภักดีภัทรากร หรือ เจ้าสัวเกงซัว ที่ปากคลองสานในเนื้อที่ ๔-๕ ไร่มาปรับปรุงเป็นโรงพยาบาลโรคจิตแห่งแรกขึ้น
โรงพยาบาลเพื่อผู้ป่วยโรคจิตแห่งแรกนี้ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระจุลขอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เปิดเป็นทางการในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๒ในชื่อ “โรงพยาบาลคนเสียจริต” มีอาคารใหญ่ ๓ หลัง ลักษณะเป็นเก๋งจีน และมีอาคารเล็กโดยรอบ จุผู้ป่วยได้ ๑๐๐ คน แต่รับผู้ป่วยครั้งแรกนี้ไว้เพียง ๓๐ คน มีนายแพทย์มิชชันนารีและแพทย์ไทยจากกรมพยาบาลมาตรวจประจำ โดยยังใช้ยาไทยแผนโบราณ บ้างก็ใช้เวทย์มนต์คาถาประกอบ เพราะเข้าใจว่าโรคจิตเป็นผลมาจากภาวะเหนือธรรมชาติ หรือเกิดจากความไม่สมดุลของธาตุต่างๆในร่างกาย
แม้โรงพยาบาลแห่งนี้จะดูเป็นที่คุมขังคนโรคจิตมากกว่าเป็นโรงพยาบาล แต่การเอาใจใส่ดูแลด้วยความเมตตาของเจ้าหน้าที่ ก็ทำให้เป็นที่ศรัทธาเชื่อถือของญาติผู้ป่วย จึงเพิ่มจำนวนผู้ป่วยขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอยู่กันอย่างแออัด ขณะเดียวกันอาคารก็ทรุดโทรมลงทุกที และได้ย้ายสังกัดจากกรมพยาบาลในปี ๒๔๔๘ มาขึ้นกับกรมแพทย์สุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ซึ่งมี นายแพทย์ไฮเอ็ด เป็นเจ้ากรม และเข้าเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งนี้โดยตำแหน่งอีกด้วย
หมอไฮเอ็ดได้ปรับปรุงการดูแลคนป่วยให้ดีขึ้น ทั้งในด้านความสะอาด อาหารการกิน โดยเฉพาะห้ามทุบตีคนไข้โดยเด็ดขาด
ในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๕๓ หมอไฮเอ็ดได้ทำรายงานถวายกราบบังคมทูลว่า สภาพของโรงพยาบาลคับแคบเกินกว่าจะบรรยายได้ ทั้งความทรุดโทรมของอาคาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หมอไฮเอ็ดไปดูตัวอย่างในต่างประเทศ เพื่อกลับมาสร้างโรงพยาบาลโรคจิตแห่งใหม่
สถานที่แห่งใหม่ของโรงพยาบาลปากคลองสานห่างจากที่เดิมมาเพียง ๖๐๐ เมตร เป็นบริเวณบ้านของ นายเปีย ราชานุประดิษฐ์ และบ้านของ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) บุตรชายคนเดียวของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) รวมกับที่ดินของราษฎรอื่นๆเป็น ๔๔ ไร่ครึ่ง มี พระยาอายุรเวชวิจักษ์ หรือ หมอคาทิวส์ ผู้ช่วยเจ้ากรมสุขาภิบาล ซึ่งก็คือผู้ช่วยของหมอไฮเอ็ด เป็นผู้วางแปลนและควบคุมการก่อสร้าง
เมื่อโรงพยาบาลคนเสียจริตแห่งใหม่สร้างเสร็จ ย้ายคนป่วยเข้าได้ในเดือนกันยายน ๒๔๕๕ หมอคาทิวส์ก็เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรก และได้วางรูปแบบให้เป็นโรงพยาบาลจิตเวชแบบตะวันตก เน้นเรื่องมนุษยธรรม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและอาหารการกิน ผู้ป่วยจะได้รับค่าอาหารวันละ ๒๕ สตางค์ต่อคน กำชับว่าต้องมีปลา มีหมู และต้องมีขนม เพราะคนเสียจริตใช้พลังงานมาก มีค่าขนมวันละ ๒ สตางค์ต่อคน ส่วนการแต่งกาย ผู้ป่วยชายนุ่งกางเกงจีนสีดำ เสื้อขาว ผู้ป่วยหญิงนุ่งซิ่นสีน้ำเงิน เสื้อขาว หน้าหนาวให้ผ้าห่มคนละ ๒ ผืน หน้าร้อนคนละ ๑ ผืน ถ้านอนนอกมุ้งลวดต้องกางมุ้ง จะปล่อยให้ผู้ป่วยเดินเปลือยกายเผ่นพ่านไม่ได้ ห้ามทำร้ายผู้ป่วยโดยเด็ดขาด ถ้าเจ้าพนักงานฝ่าฝืนข้อนี้จะถูกลงโทษรุนแรงถึงขั้นไล่ออก และดำเนินคดีทางออาญาด้วย แต่ถ้าผู้ป่วยดื้อดึงหรือคลุ้มคลั่ง จะต้องลงโทษด้วยวิธีที่ถือว่าเป็นการรักษาไปในตัว เช่น จับ “นัดยานัด” จนผู้ป่วยชักดิ้นชักงอ หรือ “ขึ้นเสื้อ” คือใส่เสื้อผ้าใบทำให้ดิ้นไม่ได้ ถ้ายังไม่ยอมสงบ ขึ้นเสื้อแล้วยังจับไปมัดกับเตียงผ้าใบสาน พรมน้ำบนผ้าใบไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ผ้าใบหดตัวและรัดผู้ป่วยจนเจ็บ ทั้งยังยกขาพาดเก้าอี้ ทำให้ปวดเมื่อย ซึ่งทำให้ผู้ป่วยกลัวมาก วิธีการเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งขาดแคลนยาระงับประสาท
หมอคาทิวส์ยังเน้นเรื่องความสงบร่มรื่น ความสวยงามของสถานที่ โดยลงมือตกแต่งเอง ยึดความคิดที่ว่า ป่าเป็นที่สงบแห่งจิตใจและระบายทุกข์ จนเป็นที่กล่าวกันว่า โรงพยาบาลแห่งนี้ให้ความชุ่มชื่นแก่จิตใจของผู้ย่างก้าวเข้ามา
แต่อย่างไรก็ตาม หมอคาทิวส์ก็ยังคงใช้ยาไทยตำรับโบราณ รวมทั้งการวินิจฉัยโรคแบบไทย จนถึงปี ๒๔๕๘ จึงได้เริ่มมีแพทย์ประกาศนียบัตรจากโรงเรียนแพทย์มทำงาน และมียาตะวันตกเริ่มเข้ามาใช้บางส่วน
โรงพยาบาลโรคจิตแห่งใหม่นี้ คงใช้ตึกหลังใหญ่จากเจ้าของเก่าเพียงหลังเดียว เป็นบ้านพักผู้อำนวยการ ส่วนเรือนผู้ป่วยได้สร้างเป็นเรือนยาว ใส่ลูกกรงเหล็ก ไม่มีหน้าต่าง หลังคาทาสีแดง จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรงพยาบาลหลังคาแดง”
ในปี ๒๔๖๑ โรงพยาบาลคนเสียจริตได้โอนมาสังกัดมาขึ้นกับกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และในปีต่อมาหมอไฮเอ็ดก็หมดสัญญาในตำแหน่งนายแพทย์สุขาภิบาลกรุงเทพฯ เดินทางกลับสหรัฐ ผู้ได้รับตำแหน่งแทนคือหมอคาทิวส์ จึงต้องพ้นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนเสียจริตไป ผู้อำนวยการคนใหม่คือ หมอเมนเดิลสัน ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันเช่นกัน
เนื่องจากหมอเมนเดิลสันมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยนายแพทย์สุขาภิบาลกรุงเทพฯ และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง ทั้งยังต้องถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาให้โรงพยาบาลคนเสียจริต จึงจัดแพทย์ไทย ๕ คนผลัดเปลี่ยนกันมารักษา
จนกระทั่งในปี ๒๔๖๘ ได้มีการจัดระเบียบราชการใหม่ ยกเลิกการแต่งตั้งชาวต่างประเทศเป็นตำแหน่งบริหาร จะต้องเป็นข้าราชการประจำเท่านั้น ผู้อำนวยการคนใหม่ของโรงพยาบาลคนเสียจริตจึงได้แก่ นายแพทย์เถียร ตูวิเชียร ๑ ใน ๕ แพทย์ไทยที่มาดูแลโรงพยาบาลแห่งนี้อยู่ก่อนแล้ว และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงวิเชียรแพทยาคม ซึ่งนับเป็นผู้อำนวยการที่เป็นคนไทยคนแรก
ศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคม ได้รับทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาวิชาโรคจิต ที่สหรัฐอเมริกามา ๒ ปี ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ไปศึกษาวิชาแขนงนี้มา
หลวงวิเชียรฯได้พัฒนาโรงพยาบาลขึ้นในหลายรูปแบบ แต่ยังคงรักษาบรรยากาศร่มรื่นไว้ ทั้งยังได้ตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ประดับหลากสี จนกล่าวกันว่าจะหาดูพันธุ์ไม้หายากต้องมาดูที่นี่ และยังได้รับคำชมจากสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า ว่า “ดีอย่างหาที่ติไม่ได้”
แต่กระนั้นภาพพจน์ของโรงพยาบาลในสายตาคนทั่วไปก็ไม่ค่อยดีนัก ยังมองกันว่าเป็นที่คุมขังคนบ้า คำว่า “หลังคาแดง” หรือแม้แต่ “หลวงวิเชียร” ก็เป็นคำที่นำมาใช้หยอกล้อกัน ล้วนแต่หมายถึงที่คุมขังและคนดูแล “คนบ้า”
ด้วยเหตุนี้ ศาสตราจารย์หลวงวิเชียรแพทยาคม จึงได้เขียนบทความออกเผยแพร่ทางวิทยุ นิตยสาร ตลอดจนออกปาฐกถาในที่ต่างๆ ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องจิตเวชแก่สังคม จนได้รับการบรรจุวิชาโรคจิตสอนนักศึกษาแพทย์ และแต่งตำราจิตวิทยาไว้หลายเล่ม ทั้งยังสอนวิชานี้แก่นิสิตแพทย์ศาสตร์และอักษรศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนโรงเรียนนายเรือ และสอนอยู่จนอายุ ๗๐ ปี
ในด้านการบริหาร หลวงวิเชียรฯได้ใช้วิธีบำบัดโดยไม่ให้ผู้ป่วยมีเวลาว่าง จัดให้ทำสวน ปลูกต้นไม้ ทำถนน มีส่วนร่วมในการตกแต่งโรงพยาบาลให้สวยงาม และด้วยวิธีที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมบำบัด” คือให้ผู้ป่วยทำพรมกาบมะพร้าว บุ้งกี๋ ผลิตตลับยาตำราหลวง ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากผู้ป่วยเหล่านี้ สามารถทำเงินจนซื้อที่ดินในจังหวัดนนทบุรีได้ถึง ๑,๐๖๗ ไร่ เพื่อเตรียมขยายโรงพยาบาลออกไปโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดิน
ในปี ๒๔๗๕ โรงพยาบาลคนโรคจิตได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี” และต่อมาในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๘๕ ก็ได้ย้ายมาสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในปีนี้ นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ซึ่งต่อมาได้เป็นศาสตราจารย์เช่นกัน ก็เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการแทนศาสตราจารย์นายแพทย์หลวงวิเชียรแพทยาคม
นายแพทย์ฝนได้พัฒนาโรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี ให้ก้าวรุดหน้าต่อไป จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญขององค์กรอนามัยโลกที่มาตรวจเยี่ยม ได้กลับไปเขียนรายงานว่า “เป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่ดีที่สุดในตะวันออกของคลองสุเอซ”
นายแพทย์ฝนได้รื้อลูกกรงเหล็กของโรงผู้ป่วยซึ่งสร้างมาแต่ปี ๒๔๕๕ และทำเป็นมุ้งลวด สร้างเรือนพักและเตียงผู้ป่วยใหม่ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้น เหล็กราคาพุ่งสูงเพราะเข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้ จึงนำเหล็กลูกกรงที่รื้อออกขาย นำเงินไปสร้างเรือนพักและจัดระบบสุขาภิบาลขึ้นในที่ดินซึ่งซื้อไว้ที่จังหวัดนนทบุรี ระบายผู้ป่วยที่แออัดไปอยู่ที่นั่นได้ ๒๐๐ คน ซึ่งก็คือ โรงพยาบาลศรีธัญญา ในปัจจุบัน
เรือนคนไข้ในยุคนั้นได้แบ่งผู้ป่วยตามพฤติกรรม และมีชื่อเรือนที่ฟังแล้วไม่รื่นหูเลย อย่างเช่น
กองทำงาน ได้แก่พวกที่มีความรับผิดชอบ ทำงานได้
กองขี้เกียจ ได้แก่พวกชอบนั่งซึม
กองคดี ได้แก่ผู้มีความผิดทางคดี ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้สร้างเรือนพักให้แยกไว้ต่างหาก
กองคลั่ง ได้แก่พวกก้าวร้าว อาละวาด
นายแพทย์ฝนต้องการที่จะลบภาพที่คุมขังคนบ้าที่น่ารังเกียจออก พยายามให้เปลี่ยนความรู้สึกไปในทางเมตตา น่าเห็นใจ จึงปรึกษาแพทย์ผู้ร่วมทีมคิดเปลี่ยนชื่อเรือนต่างๆใหม่ อย่างกองคลั่งก็เอาเฟื่องฟ้าที่มีดอกสีแดงเป็นตัวแทน ตั้งชื่อว่า “เรือนเฟื่องฟ้า” แล้วเปลี่ยนชื่อเรือนต่างๆเป็นชื่อดอกไม้ทั้งหมด โดยนำดอกไม้ชนิดนั้นมาปลูกประดับไว้หน้าเรือน
ในปี ๒๔๙๗ โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงพยายาลสมเด็จเจ้าพระยา”
แม้โรงพยาบาลแห่งนี้จะได้รับยกย่องว่าดีที่สุดในภาคตะวันออก แต่ในระยะเริ่มแรกแล้วก็ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากนัก มีความเข้าใจเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปว่า “เป็นที่คุมขังคนบ้า” งบประมาณจึงไม่เพียงพอที่จะหาอุปกรณ์หรือยามาบำบัดผู้ป่วยได้พอ บางครั้งก็ต้องภูมิปัญญาพื้นบ้านเข้าช่วย อย่างโรคหิตที่ผู้ป่วยเป็นกันเกือบทุกคน บางคนเป็นตั้งแต่หัวจรดเท้า ยาที่จะรักษาโรคนี้ให้ได้ชงัดก็ไม่มี แพทย์หญิงจันทนา สุขวัฒน์ จึงออกอุบายให้คนไข้ลงไปเล่นโคลนกัน ผลปรากฏว่านอกจากหิตจะหายแล้ว คนไข้ยังเลิกเล่นอุจจาระหรือเอาอุจาระปากันด้วย
บางอย่างก็ต้องอาศัยประสบการณ์ อย่างเช่นผู้ป่วยก่อนจะคลุ้มคลั่ง มักจะมีจมูกมัน ตาเยิ้ม มีอาการบอกให้รู้ล่วงหน้าแบบช้างจะตกมันเหมือนกัน
บุคคลที่จะดูแลคนป่วยก็ไม่พอ ต้องให้ผู้ป่วยที่พอมีฐานะจ้างคนมาดูแลกันเอง ส่วนผู้ป่วยชาวบ้านบางรายก็มีความรู้ประหลาด หมอยังตามไม่ทัน เช่นผู้ป่วยที่ให้ไปทำงานสวน ได้แอบเก็บฝักจามจุรีที่ร่วงอยู่ตามโคนต้น เอามาตำในกะลามะพร้าวจนแหลก แล้วช่วยกันบ้วนน้ำลายลงไป หมักไว้ไม่นานก็กลายเป็นเมรัย เอามาดื่มกันจนเมาหัวทิ่มหัวตำเป็นที่สนุกสนาน
ผู้ที่ดูแลคนป่วยของโรงพยาบาล ครั้งแรกๆไม่ใช่ทั้งแพทย์และพยาบาล แต่เป็นผู้มีความรู้ระดับประถมเท่านั้นที่เป็นกำลังสำคัญ ต่อมาในปี ๒๔๘๖ จึงจัดอบรมขึ้นในโรงพยาบาล มีหลักสูตร ๑ ปี ในรุ่นแรก ๙ คน จบระดับ ป.๔ ถึง ๘ คน สอนในหน้าที่จะต้องทำเท่านั้น ก็สามารถช่วยผู้ป่วยได้อย่างดี ฉีดยาได้ อ่านภาษาอังกฤษโดยเฉพาะชื่อยาได้ และได้พัฒนาหลักสูตรทั้งคุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรมเรื่อยมา จนในปี ๒๕๒๔ จึงรับผู้มีพื้นฐานทางพยาบาลจากโรงเรียนพยาบาลมาอบรมต่อในหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชอีก ๑ ปี
ตึกหลังเก่าที่ติดที่ดินมาจากเจ้าของเดิมเมื่อเริ่มสร้างโรงพยาบาล และใช้เป็นที่พักของผู้อำนวยการในระยะแรกนั้น เป็นตึกสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ทางโรงพยาบาลจึงอนุรักษ์ไว้ และขอขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากรให้เป็นมรดกของชาติ ต่อมาในปี ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานรางวัล “อาคารอนุรักษ์ดีเด่น” ของสมาคมสถาปนิกสยาม จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทางโรงพยาบาลได้ใช้จัดแสดงวิวัฒนาการทางการแพทย์สาขาจิตเวชของประเทศไทยขึ้นในตึกหลังนี้ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในการบำบัดยุคแรก ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเมพรัตนราชสุดาเสด็จมาทำพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์โรงพยายาลสมเด็จเจ้าพระยา” ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ทางจิตเวช ที่ผู้ป่วยโรคจิตในประเทศไทยเริ่มได้รับการดูแลเป็นครั้งแรกมาครบ ๑๐๐ ปี
โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในวันนี้ ได้พ้นสภาพอันน่าสะพรึงกลัวจากการเป็น “โรงพยาบาลบ้า” “หลังคาแดง” มาเป็นโรงพยาบาลจิตเวชที่ทันสมัย เป็นที่บำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิต และผลิตบุคลากรทางด้านจิตเวช อันเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสุขภาพจิตให้ประชาชน ทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปในการพัฒนาจิตเวชในประเทศไทย ด้วยพิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาอีกด้วย