xs
xsm
sm
md
lg

ประดิษฐาน "พระผอบพระบรมราชสรีรางคาร" ในหลวงรัชกาลที่ ๙ องค์ที่ 2 ณ วัดบวรนิเวศฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญ "พระผอบพระบรมราชสรีรางคาร" ในหลวงรัชกาลที่ ๙ องค์ที่สอง ประดิษฐาน ณ ใต้พุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศฯ เสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

วันนี้ (29 ต.ค.) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทา พระราชานุญาต ให้เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร องค์ที่สอง ออกจากพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มาถวายยังรถยนต์พระที่นั่ง เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

เวลา 18.28 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง ทรงอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารอีกส่วนหนึ่งเข้าขบวนกองเกียรติยศทหารม้ารักษาพระองค์ แห่นำไปยังอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร ไปยังถนนราชบพิธ เลี้ยวขวาถนนอัษฎางค์ เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานช้างโรงสีไปตามถนนกัลยาณไมตรี เลี้ยวขวาถนนสนามไชย เข้าสู่ถนนราชดำเนินใน ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา ไปตามถนนราชดำเนินกลาง สู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลี้ยวซ้ายสู่ถนนดินสอ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ไปเทียบประตูวัดบวรนิเวศวิหาร

เวลา 19.00 น. รถยนต์พระที่นั่งเทียบประตูวัดบวรนิเวศวิหาร ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบามี เจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปยังพระอุโบสถประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ข้างพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธชินสีห์พระประธานพระอุโบสถ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้วทรงทอดผ้าไตร พระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร 30 รูป สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระวันรัต ถวายอดิเรก แล้วทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์ และของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ขณะนั้นชาวพนักงานประโคมมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับ

สำหรับพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร มอบหมายให้นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ เป็นผู้ออกแบบผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารองค์ใหม่เพื่อใช้ทรงพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐานในพระถ้ำศิลาที่ชุกชีพระประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และที่ฐานองค์พระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้ศึกษารูปแบบจากผอบองค์เดิมที่มีอยู่แล้วและนำมาประยุกต์ออกแบบใหม่ให้มีรูปทรงและลวดลายชั้นเชิงต่างๆ ให้งดงามสมพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่ 9 ยิ่งขึ้น ผอบองค์นี้แบ่งส่วนประกอบเป็น 3 ส่วนได้แก่ ส่วนที่เป็นฐาน ส่วนตัวผอบและส่วนที่เป็นฝา ซึ่งส่วนฐานจะมีชั้นหน้ากระดานบัวคว่ำ รองรับชั้นลูกแก้ว มีลวดและท้องไม้สลับคั่นระหว่างชั้นลูกแก้ว โดยลวดลายลูกแก้วหรือชั้นเกี้ยวตามโบราณราชประเพณีจะใช้ออกแบบเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในลวดลายประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ

ส่วนตัวผอบเป็นทรงดอกบัวบาน มีลักษณะทรงกลม ลักษณะพิเศษของผอบองค์ใหม่มีกลีบบัวขนาดเล็กรองรับสลับกันไป ส่วนกลีบบัวของผอบจะมีขนาดเล็กกว่าองค์เดิมและมีเส้นเดินรอบกลีบ ด้านในกลีบเพื่อให้เกิดน้ำหนักและมิติของงานสลักดุน ตรงกลางกลีบบัวจะทำเป็นสันขึ้นมาเมื่อเวลาแสงตกกระทบจะทำให้เกิดแสงเงาที่สวยงาม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว

ส่วนฝาเป็นลักษณะยอดทรงมัณฑ์ มีชั้นหน้ากระดานถัดขึ้นไป ถัดขึ้นมาใช้เป็นชั้นบัวคว่ำ 3 ชั้น ลักษณะบัวคว่ำชั้นแรกจะมีขนาดใหญ่ ชั้นถัดไปจะลดหลั่นไปตามสัดส่วนและรูปทรง โดยจะมีการสลักดุนเหมือนกับกลีบบัวที่ตัวผอบเพื่อให้เกิดมิติของแสงเงาเพื่อให้เกิดความสวยงาม ถัดจากชั้นกลีบบัวจะเป็นปลียอดและชั้นบนสุดจะเป็นลูกแก้วหรือเม็ดน้ำค้าง โดยมีรูปทรงกลมและส่วนปลายจะเรียวแหลมเล็กน้อยลักษณะเป็นดอกบัวตูม

การจัดสร้างผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารองค์ใหม่นี้จัดสร้างขึ้น 2 องค์ โดยใช้วัสดุโลหะเนื้อเงินมาทำการขึ้นรูป เทคนิควิธีการเดียวกับการจัดสร้างพระโกศทองคำเป็นวิธีการแบบช่างโบราณ โดยการกลึงหุ่นแบ่งเป็นส่วนฐาน ส่วนตัวผอบ และส่วนฝาผอบ หลังจากกลึงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำมาถอดพิมพ์ด้วยยางซิลิโคน เมื่อได้พิมพ์ยางซิลิโคนแล้ว จะนำเรซิ่นมาเทในพิมพ์ยางซิลิโคน เมื่อเสร็จจากขั้นตอนนี้ก็จะได้หุ่นเพื่อการเคาะขึ้นรูป โดยนำโลหะเงินมาหลอมรีดให้เป็นแผ่นมีความหนาตามที่ต้องการ จากนั้นเคาะให้เกิดรูปทรงตามหุ่นดังกล่าวแต่ละส่วนจนสำเร็จเป็นรูปทรงส่วนฐาน ตัวผอบ และฝา จากนั้นช่างจะนำมาสลักดุนตามแบบและลวดลายที่ออกแบบไว้จนสำเร็จออกมา แล้วจึงนำแต่ละส่วนกะไหล่ทองจนสำเร็จแล้วทำการประกอบแต่ละส่วนเข้าด้วยกันจนสำเร็จเป็นผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร

ส่วนถ้ำศิลาอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคาร อันเป็นส่วนหนึ่งของการพระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ยาตราขบวนพระบรมราชอิสริยยศมายังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร

ถ้ำศิลาอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคาร เป็นสถานที่สำคัญในการบรรจุพระบรมราชสรีรังคาร โดยกรมศิลปากรมอบหมายให้นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบเสนอต่อคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศและบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พิจารณาและนำความกราบบังคมทูลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แบบพระถ้ำศิลาหินอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคารแล้ว

สำหรับรูปแบบของพระถ้ำศิลาอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคาร มีแนวคิดมาจากรูปทรงตู้พระคัมภีร์แบบโบราณผสานกับหีบพระปาติโมกข์มาประยุกต์อย่างลงตัวเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทรงสอบเข้าหากันทั้ง 4 มุม ส่วนฐานเป็นหน้ากระดานฐานสิงห์รองรับ แสดงถึงพระเกียรติยศสูงสุด ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้รองรับชั้นบัวหงายมีเสารองรับทั้ง 4 มุม ภายในเดินด้วยเส้นรอบกรอบเป็นย่อมุม ตรงกลางเป็นพระนามาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. เหนือขึ้นไปเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นพระอุณาโลมเส้นรอบกรอบย่อมุมและพระนามาภิไธยนี้จะปิดทองคำแท้ ถัดขึ้นไปเป็นลวดขึ้นบัวหงาย ส่วนฝาเปิด - ปิด เป็นหน้ากระดานลาดบัวคว่ำและมีลวดซ้อนๆ ชั้น ขณะที่ขนาดของฐานพระถ้ำศิลาหินอ่อนทรงพระบรมราชสรีรางคารมีความกว้าง 24 เซนติเมตร ยาว 24 เซนติเมตรและสูง 21 เซนติเมตร จำนวน 2 องค์



























กำลังโหลดความคิดเห็น