พระพรหมเมธีถวายพระธรรมเทศนา “อัปปมาทธรรมกถา” พระราชพิธีอัญเชิญพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ ๙ ประดิษฐานพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ยกพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท 7 ประการ ทั้งภาระหน้าที่ บารมี ศรัทธา บริหารอารมณ์ ฝึกตนและคนในชาติ วัยเวลา และบุญกุศล ช่วยสร้างชาติก้าวหน้า ประชาชนร่มเย็น
วันนี้ (29 ต.ค.) ในพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากบุษบกแว่นฟ้าเหนือพระแท่นสุวรรณเบญจดล พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐาน ณ พระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยพระที่นั่งราเชนทรยาน ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ริ้วที่ 5 ซึ่งหลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม พระราชาคณะถวายศีล พระพรหมเมธี เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ถวายพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ เกี่ยวกับ “อัปปมาทธรรมกถา” มีใจความโดยสรุปตอนหนึ่ง ว่า
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก เป็นองค์เอกพุทธมามกะบัณฑิต ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชจริยวัตร ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท 7 ประการ คือ
1. ทรงไม่เป็นผู้ประมาทในภาระหน้าที่
เมื่อทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็น ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข จึงมีงานสำคัญที่ต้องบริหารรับภาระธุระ เพื่อประเทศชาติ และ ประชาชน ทรงถือว่าความสุขของประชาชน คือ ผลประกอบการของพระองค์ ผืนแผ่นดินทุกตารางนิ้วคือที่ทรงงาน ประเทศชาติเปรียบเสมือนท้องนา ปวงประชาเหมือนพืชพันธุ์ ความพยายามมุ่งมั่นของพระองค์เหมือนปุ๋ย หยดหยาดพระเสโทเหมือนสายธาราจากฟ้าชะโลมดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ ชาติสงบสุข คนในชาติสุขสงบร่มเย็น ทรงไม่ประมาทในภาระหน้าที่ ทรงอยู่เคียงข้างกับประชาชนตลอดมา
2. ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทในพระบรมเดชานุภาพ อำนาจวาสนา บารมี
พระองค์ทรงมีพระบรมเดชานุภาพและบุญญาธิการสูงสุดบนแผ่นดินนี้ แม้จะทรงตระหนักว่า การเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีอันตรายรอบด้าน การเสวยราชสมบัติเป็นที่มาแห่งพระราชอำนาจ วาสนา บารมี แต่ก็ทรงใช้เมตตาธรรมมากกว่าพระบรมเดชานุภาพ เพื่อรักษาสมดุลทางสังคม พระราชอำนาจเป็นน้ำร้อน พระเมตตาธรรมเป็นน้ำเย็น ทรงถือว่าการเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นโอกาสที่จะได้สร้างพระบุญญาธิการที่จะส่งผลทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทรงบ่มเพาะปลูกฝังรดน้ำพรวนดินจากเมล็ดพันธุ์มากกว่าการขุดย้ายต้นไม้ใหญ่มาปลูก การที่พสกนิกรไม่อยู่ร้อนนอนทุกข์ได้พึ่งพระบรมโพธิสมภารก็เพราะไม่ทรงประมาทในการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งพระบุญญาธิการ
3. ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทในศรัทธา
พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยการปลูกศรัทธากับประชาชน ทรงมองประชาชนเป็นนา ศรัทธาคือเมล็ดข้าว ความสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาและแรงบันดาลใจเป็นปุ๋ยเป็นน้ำ ประชาชนคือยอดหญ้า พระราชาคือยอดไผ่ หากไผ่ไม่โน้มลงมา ยอดหญ้าก็หมดโอกาสพบกับยอดไผ่ พระราชากับประชาชนเป็นเกียรติยศของกันและกันเหมือนเพชรยอดมงกุฎ ประเทศชาติที่ขาดพระราชาเหมือนเคหาขาดคนศรัทธา ศรัทธาคือพลังที่ยิ่งใหญ่ของชาติ การสร้างศรัทธาต้องใช้เวลาที่ยาวนาน และบัดนี้ศรัทธานั้นเป็นเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านสาขาเจริญงอกงาม ยิ่งใหญ่ไพศาลเบ่งบานไปทั่วจักรวาล
4. ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทในการบริหารอารมณ์
พระองค์ทรงเป็นนักบริหารอารมณ์ ทรงถือว่าการบริหารอารมณ์คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน การบริหารอารมณ์คือการปฏิบัติธรรม ผู้ยกจิตอยู่เหนืออารมณ์ได้ เชื่อว่าเข้าถึงวิมุตติธรรม คือ หลุดพ้นจากการครอบงำของกิเลส แม้จะเป็นเวลาชั่วขณะหนึ่ง เสี้ยววินาทีหนึ่ง ก็มีความหมายยิ่งใหญ่ต่อชีวิต ก่อนการตัดสินใจในเหตุการณ์ที่สำคัญๆ พระองค์จะทรงสงบนิ่ง บริหารอารมณ์ คือทำจิตให้เกิดพลังงาน ให้มีเมตตาธรรมเป็นอาวุธ ตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้นจะทรงตั้งสติสัมปชัญญะ เพื่อพิจารณาเหตุที่เกิดปัญหาและดับเหตุแห่งปัญหาที่เกิดนั้นด้วยการเจริญอานาปานสติ เพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ที่เกิดนั้นด้วยการเจริญอานาปานสติและเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อรักษาอารมณ์อย่างสม่ำเสมอ
5. ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทในการฝึกตนและคนในชาติ
พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะให้คนในชาติมีระเบียบวินัย จึงจะเป็นชาติที่เจริญได้และสามารถที่จะทำการใหญ่ได้สำเร็จ ชนชาติที่มีระเบียบวินัยทำอะไรก็สำเร็จ รบกับใครก็ชนะ ชาติที่ขาดระเบียบวินัยแม้ไม่รบกับใครก็ยังพ่ายแพ้ได้ เหตุเพราะแพ้ใจตนเอง การสร้างวินัยเริ่มที่ฝึกใจให้แกร่งกล้า ใช้เวลาให้มีคุณภาพ ชาติที่ยิ่งใหญ่ทุกชาติล้วนเริ่มต้นฝึกคนให้มีระเบียบวินัย ฝึกใจให้เคารพกติกาสังคม แม้ในพระพุทธศาสนาสมเด็จพระสัมมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงเรียกหลักปฏิบัติเพียง 2 คำว่า ธรรมวินัย ในความเป็นจริงในแต่ละชาติจะมีคนมาจากหลายเผ่าพันธุ์และลัทธิความเชื่อ ถ้าฝึกคนให้มีระเบียบวินัยและฝึกใจให้เคารพกติกาสังคมแล้วก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันมีสันติสุข การฝึกตนและคนในชาติให้มีระเบียบวินัยคือหัวใจของการสร้างชาติให้เข้มแข็ง ตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการฝึกตนและฝึกคน ทรงรักษาวินัย กติกา กฎหมาย และทรงเน้นให้คนในชาติฝึกกายให้มีวินัย ฝึกใจให้เคารพกติกา
6.ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทในวัยและเวลา
พระองค์ทรงมีชีวิตเป็นอมตะเหนือวัยและเวลา พระองค์ทรงเห็นว่า ชีวิตที่ได้มาคือเวลาที่เสียไป ชีวิตคือการลงทุน บาปบุญคือผลประกอบการ บางคนได้กำไรบางคนขาดทุน เกิดมาดีมีกำไรเกินครึ่ง ทำเวลาทุกนาทีให้มีคุณค่าต่อคนอื่น อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญที่ปรากฏบนโลกนี้ ล้วนเป็นเครื่องยกย่องคนทำงานทั้งสิ้น คือต้องทำงานเกินวัยเกินเวลา ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร คุณค่าชีวิตของท่านเหล่านั้นก็ยิ่งกึกก้องกังวาลไกล อายุสังขารถูกจำกัดด้วยเวลา แต่อายุความดีอยู่เหนือกาลเวลา นับแต่นี้ไปพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐจะดำรงอยู่เหนือกาลเวลา จะช่วยเชิดชูเกียรติคุณของชาติไทยตลอดไป เพราะพระองค์ไม่ทรงประมาทในวัยและเวลา
และ 7. ทรงเป็นผู้ไม่ประมาทในบุญกุศล
พระองค์ทรงบันเทิงในบุญ มีบุญเป็นที่พึ่ง ทรงเห็นว่าบุญคือพลังบวกของชีวิต การคิดบวก พูดบวก ทำบวก จึงเป็นการสร้างกำไรแห่งชีวิต ถ้าทุกคนร่วมกันสร้างพลังบวก ชาติบ้านเมืองก็ร่ำรวยเจริญรุ่งเรือง พระองค์คิดที่จะให้สิ่งที่ดีๆ ที่เป็นประโยชน์และเป็นคุณแก่สังคม ทำให้โดยไม่คิดเอาคืนเปรียบเสมืนอพ่อแม่ที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่ลูกๆ โดยไม่คิดเอาคืนจากลูกๆ เลย เพราะฉะนั้นคนมีบุญจะมีหน้าตาผ่องใส จิตใจเบิกบาน บุญคือพลังที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองชีวิต กลับร้ายให้กลายเป็นดี บุญคือรัศมีชีวิตที่ผิดจากการคิดดี พูดดี ทำดี มีเมตตา เมื่อโลกมืดมิดคิดถึงแสงสว่างคราวมีชีวิตมืดมนต้องการคนให้กำลังใจ บุญคือพละกำลังที่ยิ่งใหญ่ มิได้อยู่ที่ใคร แต่อยู่ภายในใจของเราเอง ตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์พระองค์ทรงเป็นผู้สร้างกำลังใจให้แก่ประชาชน พสกนิกร ราษฎร ผู้เป็นรากหญ้าของแผ่นดิน เพราะพระองค์ไม่ประมาทในบุญคือสร้างความดี สมตามในแห่งคติธรรมโบราณที่ว่า เดินทางกับคนมีบุญ ลงทุนกับคนมีเงิน ไม่ต้องกลัวขาดทุนดังนี้
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระรัตนตรัย ทรงเป็นเอกอัครพุทธมามกะบัณฑิต ทรงละความประมาท ทรงดำรงพระองค์อยู่ในความไม่ประมาทเป็นนิตยกาล ทรงมีพระชนมายุยิ่งยืนนานด้วยพระคุณธรรมสัมมาปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ดังได้รับพระราชทานถวายวิสัชชนามาด้วยประการฉะนี้