เผยจัดสร้าง "พระโกศทองคำ" ทรงพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ ๙ จำนวน 3 รูปแบบ สำหรับประดิษฐานพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทูลเกล้าถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-สมเด็จพระเทพรัตนฯ-เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณฯ-ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ และทูลเกล้าถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 27 ต.ค. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทรงเก็บพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยทรงประมวลพระบรมอัฐิลงในพระโกศทองคำลงยาจำนวน 6 พระโกศ คือ พระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะนำไปประดิษฐานบนพระวิมานพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระโกศทรงพระบรมอัฐิ ที่จะถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙
การนี้ พระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จัดทำไว้ มี 3 รูปแบบ คือ 1.พระโกศทรงพระบรมอัฐิที่จะนำไปประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นครั้งแรกที่สร้างพระโกศทองคำลงยาทรงเก้าเหลี่ยม ประดับเพชรเจียระไนสีขาว รวมทั้งสิ้น 5,368 เม็ด ฝาพระโกศเป็นทรงมงกุฎเกี้ยวมาลัยทอง ส่วนยอดมี 2 แบบคือ เป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์และยอดสุวรรณฉัตร 9 ชั้น เครื่องประดับพระโกศ ได้แก่ ดอกไม้เอว ดอกไม้ไหว เฟื่องอุบะ และดอกไม้ทิพย์ ทำจากเงินบริสุทธิ์ประดับรัตนชาติ ส่วนยาสีที่ใช้ ได้แก่ สีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำพระชนมวาร ส่วนสีแดงคือสีแห่งพลังความเข้มแข็งและการหลอมรวมดวงใจของคนในชาติ และสีเขียวแทนความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของประเทศด้วยพระเมตตาบารมีของพระองค์ ออกแบบโดยนายอำพล สัมมาวุฑฒิ นักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม กรมศิลปากร
พระโกศองค์นี้ออกแบบเป็นพระโกศเก้าเหลี่ยมตลอดทั้งองค์ ยกเว้นส่วนยอดที่จะเป็นก้านพุ่มข้าวบิณฑ์และก้านของสุวรรณฉัตร 9 ชั้น เป็นทรงกลม ลักษณะโดยรวมของพระโกศพระบรมอัฐิมีการสร้างสืบกันมาตามพระราชประเพณีเป็นเวลาช้านาน การใช้สุวรรณฉัตรประดับเหนือยอดพระโกศพระบรมอัฐินิยมจะใช้ในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ และในขบวนแห่อัญเชิญ เมื่อเสร็จการพระราชพิธีแล้ว จะเชิญเข้าประดิษฐานในที่ประจำและเปลี่ยนไปใช้ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเหนือยอดพระโกศแทน ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติสืบมาตามแต่โบราณราชประเพณี ซึ่งพระโกศทรงพระบรมอัฐินี้จะมีฐานรับสุวรรณฉัตรเพื่อการผลัดเปลี่ยนในพระราชพิธีเป็นแป้นไม้แกะสลักปิดทองใช้รองรับฝาพระโกศ ขณะที่ฝาพระโกศในการเก็บพระบรมอัฐิ สรงพระบรมอัฐิ พระโกศทองคำนี้ถือเป็นพระโกศองค์ที่สี่ที่จะต้องใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นพระโกศองค์สุดท้ายและองค์เดียวที่จะเป็นที่เก็บรักษาพระบรมอัฐิเฉพาะพระองค์สืบต่อไปโดยตลอด
2.พระโกศทรงพระบรมอัฐิที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระโกศทองคำลงยา ประดับพลอยทรงแปดเหลี่ยม ปากผาย ส่วนฝาพระโกศเป็นยอดมหามงกุฎแปดเหลี่ยมเช่นกัน ออกแบบโดย นายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
และ 3.พระโกศทรงพระบรมศพ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ เป็นพระโกศทองคำลงยาประดับพลอยทรงแปดเหลี่ยม ออกแบบโดยนายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ใช้แนวคิดเกี่ยวกับพระโกศจันทน์ คือพระนารายณ์ทรงครุฑ ส่วนสีจะลงยาคือ สีขาวเหลืองเป็นสีประจำพระชนมวาร สีเขียวเป็นสีของเดชพระบรมราชสมภพ สีชมพูคือความเป็นมงคล และสีน้ำเงินคือสีของน้ำและพระมหากษัตริย์
การจัดสร้างพระโกศทรงพระบรมอัฐิได้รวบรวมช่างฝีมืองานประณีตศิลป์ เพื่อจัดสร้างให้พระโกศมีความงดงามสมพระเกียรติยศอย่างสูงสุด ผู้ออกแบบยึดตามโบราณราชประเพณีเป็นหลัก แต่จะสอดแทรกหลายอย่างที่สื่อถึงพระองค์ โดยเฉพาะรูปทรงของพระโกศที่ออกแบบให้เป็นทรงรูปเก้าเหลี่ยม สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศที่เป็นทรงบุษบก 9 ยอด ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณ และพระบรมราโชวาทหลักๆ เช่น ความเพียร ความซื่อสัตย์ ความพอเพียง เป็นต้น การจัดทำรูปทรงเก้าเหลี่ยมเปรียบเหมือนพระเมรุมาศเป็นทรงบุษบก 9 ยอด แสดงถึงความรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยเฉพาะพระบรมราโชวาทด้านต่างๆ ที่ทรงสรุปรวบรวมคำสอนมาถึงเรื่องความเพียร ความซื่อสัตย์ เศรษฐกิจพอเพียง ที่ทำให้คนไทยนั้นนำหลักคำสอนมาใช้ทำให้ประเทศของเราอยู่รอดปลอดภัยมาทุกๆ อย่าง
พระโกศทองคำทรงพระบรมอัฐิ จัดสร้างด้วยลายไทยหลักๆ คือ ลายกระจังประดับทั้งองค์ แบ่งเป็น 5 ส่วนเริ่มจากส่วนฐาน เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงพระโกศเป็นของพระมหากษัตริย์ มีลายฐานสิงห์ หน้ากระดาน และบัวปากฐาน ส่วนองค์ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกปากผาย เป็นลายบัวจงกล ตรงกลางด้านหน้าจารึกพระปรมาภิไธย "ภปร" มี 4 ชั้น ประดับลวดลายรักร้อย และกระจังประดับเพชร ขณะที่ส่วนฝา มียอดเป็นทรงมงกุฎมีชั้นเกี้ยวหรือทรงจอมแห แต่ละชั้นประดับลายบัวถลาและลายกระจัง จากนั้นเป็นส่วนยอดจัดทำเป็นสองลักษณะคือ ยอดพุ่มข้าวบิณฑ์โลหะเงิน และยอดสุวรรณฉัตร 9 ชั้นเป็นสีทองลายกรวย ประดับเพชรมีกระจังเข็มขัดล้อมจนถึงยอด รองรับพระราชพิธีสำคัญ 2 ลักษณะ คือ หากอัญเชิญพระโกศจากพระเมรุมาศมาประกอบพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลด้วยพระที่นั่งราเชนทรยานจะใช้ยอดสุวรรณฉัตร กระทั่งอัญเชิญมาประดิษฐานยังพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จะทำการเปลี่ยนฉัตรเป็นยอดพุ่มข้าวบิณฑ์ โดยจะมีแท่นไม้แกะสลักปิดทองใช้รองรับการสลับเปลี่ยน
สำหรับพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร เป็นพระผอบโลหะปิดทอง มีการเตรียมไว้ 2 องค์ ประกอบด้วยพระผอบสำหรับอัญเชิญไปประดิษฐานในพระถ้ำศิลาที่ฐานพุทธบัลลังก์ พระประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และพระผอบสำหรับอัญเชิญไปประดิษฐานยังฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยการออกแบบศึกษาจากพระผอบองค์เดิมและนำมาประยุกต์ให้มีรูปทรงและลวดลายชั้นเชิงต่างๆ ให้มีความงามสมพระเกียรติ
ตัวพระผอบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนตัวองค์ และส่วนฝา โดยส่วนฐานของพระผอบจะมีชั้นหน้ากระดานบัวคว่ำรองรับชั้นลูกแก้ว มีลวดและท้องไม้สลับขั้น สำหรับลวดลายลูกแก้วหรือว่าชั้นเกี้ยวจะออกแบบตามโบราณราชประเพณี ซึ่งเป็นเครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในลวดลายประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนตัวพระผอบจะเป็นทรงดอกบัวบาน ทรงกลม มีกลับบัวขนาดเล็กรองรับสลับไปมา มีเส้นเดินรอบกลีบ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว ส่วนฝาของพระผอบเป็นลักษณะยอดทรงมัณฑ์ เป็นชั้นหน้ากระดานและชั้นบัวคว่ำสามชั้น ถัดจากชั้นกลีบบัวเป็นปลียอดและชั้นบนสุดเป็นลูกแก้วหรือเม็ดน้ำค้างทรงกลม ส่วนปลายเรียวแหลมนั้นเป็นลักษณะของดอกบัวตูม
ในการจัดสร้างพระผอบพระบรมราชสรีรางคารจะใช้วัสดุโลหะเนื้อเงินขึ้นรูปตามแบบช่างโบราณ แล้วแบ่งการกลึงหุ่นแยกเป็นส่วนฐาน ส่วนตัวองค์ ส่วนฝา แล้วจึงนำมาถอดพิมพ์ยยางซิลิโคน นำเรซิ่นมาเทใส่ในยางพิมพ์ และขึ้นรูปและนำโลหะเงินมาหลอมรีดให้เป็นแผ่นที่มีความหนาตามที่ต้องการ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนก่อให้เกิดรูปทรงต่างๆ ตามหุ่นจนสำเร็จจนเป็นรูปทรงส่วน จากนั้นช่างจะนำมาสลักดุนตามลวดลายที่ออกแบบไว้ แล้วจึงตกแต่งในส่วนกะไหล่ทองจนประกอบแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน สำเร็จเป้นพระผอบอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร