xs
xsm
sm
md
lg

"ราชรถและราชยาน" ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระมหาพิชัยราชรถทรงพระบรมโกศ
ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีการจัดริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอย่างสมพระเกียรติ จำนวน 6 ริ้วขบวน โดยมีการอัญเชิญราชรถและราชยานหลายองค์ในการอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ พระโกศพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร

โดยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศอัญเชิญพระโกศพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ต.ค. 2560 นั้น ริ้วขบวนที่ 1 "พระยานมาศสามลำคาน" เป็นราชยานในการอัญเชิญพระบรมโกศออกจากพระบรมมหาราชวังไปยังหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ริ้วขบวนที่ 2 "พระมหาพิชัยราชรถ" เป็นราชรถที่อัญเชิญพระบรมโกศจากหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามไปยังพระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ริ้วขบวนที่ 3 "ราชรถปืนใหญ่" เป็นราชรถที่อัญเชิญพระบรมโกศเวียนอุตรวัฏรอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ก่อนที่จะเทียบเกรินบันไดนาคพระเมรุมาศ แล้วจึงอัญเชิญขึ้นยังพระจิตกาธานในพระเมรุมาศ

ทั้งนี้ ในการอัญเชิญพระบรมโกศจากราชรถหรือราชยานองค์หนึ่งไปยังอีกองค์หนึ่งนั้น ราชรถและราชยานจะเทียบกับเกรินบันไดนาคในการอัญเชิญพระบรมโกศ

ริ้วขบวนที่ 4 "พระที่นั่งราเชนทรยาน" และ "พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย" เป็นพระราชยานที่อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารจากพระเมรุมาศเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง โดยพระบรมราชสรีรางคารจะแยกเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพักไว้ที่พระศรีรัตนเจดีย์ ส่วนพระโกศพระบรมอัฐิจะอัญเชิญเข้าสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐานที่บุษบกแว่นฟ้าทอง

ริ้วขบวนที่ 5 "พระที่นั่งราเชนทรยาน" จะเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมาน บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ทั้งนี้ ราชรถ ราชยาน เป็นหนึ่งในเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ พระราชอิสริยยศ และพระอิสริยยศของพระมหากกษัตริย์และพระบรมวงศ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้ การใช้ราชรถ ราชยานในราชสำนักมีมาแต่ครั้งโบราณกาล ปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นราชประเพณีสืบเนื่องต่อมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์
พระมหาพิชัยราชรถ
โดย "ราชรถ" หมายถึง พาหนะแห่งองค์พระราชา ในสมัยโบราณน่าจะพัฒนามาจากเกวียนขนาดเล็กที่นั่งได้เพียงคนเดียว เทียมด้วยม้าหรือสัตว์อื่น เช่น วัว ลา ล่อ หรือแม้แต่คน ตัวรถทำด้วยไม้ที่แกะสลักลวดลายอย่างสวยงาม เพื่อให้มีความสง่างามสมกับที่ใช้เป้นราชพาหนะแห่งองค์พระราชา อย่างไรก็ตาม ได้มีการตกแต่งตัวรถเพิ่มความอลังการขึ้น มีการปิดทองประดับกระจกอัญมณี หรือหุ้มด้วยแผ่นทองดุนลายดอกไม้ประดิษฐ์ในรูปแบบต่างๆ แทนการแกะสลักเนื้อไม้โดยตรง
พระที่นั่งราเชนทรยาน (หน้า) พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย (หลัง)
"ราชยาน" เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพาหนะพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ ส่วนยานเป้นเครื่องประกอบยศของบุคคลชั้นสูงในสังคมสมัยโบราณ แสดงให้เห็นถึงฐานะและอำนาจอันแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป จุดกำเนิดของยาน คานหามต่างๆ นั้นน่าจะเกิดในกลุ่มสังคมที่เจริญก้าวหน้าเป็นวัฒนธรรมเมืองแล้ว

สำหรับราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธีครั้งนี้ประกอบด้วย
พระมหาพิชัยราชรถ
พระมหาพิชัยราชรถ มีลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบกทำด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทองประดับกระจก สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้เพื่อการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก ทองดี) ออกพระเมรุ เมื่อปี 2339 ต่อมาใช้เชิญพระบรมโกศพระมหากษัตริย์และพระโกศพระบรมวงศ์จนถึงปัจจุบัน โดยพระมหาพิชัยราชรถมีขนาดกว้าง 4.88 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 11.20 เมตร น้ำหนัก 13.7 ตัน ใช้จำนวนพลฉุดชัก 216 นาย คือ ด้านหน้า 172 นาย และด้านหลัง 44 นาย
ราชรถน้อยที่สมเด็จพระวันรัตประทับขณะอ่านพระอภิธรรมนำพระมหาพิชัยราชรถ
ราชรถน้อย ในพระราชพิธีครั้งนี้มีราชรถน้อย 3 องค์ โดยราชรถน้อยมีลักษณะคล้ายพระมหาพิชัยราชรถ แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ มีส่วนตัวรถที่แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก คานที่ยื่นออกมาเป็นรูปนาคราช บนราชรถมีบุษบกตั้งอยู่เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก โดยราชรถน้อยองค์หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับสวดนำขบวนพระมหาพิชัยราชรถ โดยพระราชพิธีในครั้งนี้ เป้นสมเด็จพระวันรัต วัดบวนริเวศวิหาร ราชรถน้อยองค์ที่สองเป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศจัดเป้นราชรถตาม และราชรถน้อยองค์ที่สาม ใช้เป็นรถสำหรับพระบรมวงศาวนุวงศ์ผู้ใหญ่เพื่อทรงโปรยทานพระราชทานแก่ประชาชนที่มาเฝ้ากราบพระบรมศพตามทางสู่พระเมรุมาศ

ราชรถน้อยทั้งสามองค์มีขนาดและน้ำหนักต่างกันคือ องค์ที่หนึ่ง ขนาดกว้าง 3.64 เมตร ยาว 12.95 เมตร สูง 6.30 เมตร น้ำหนัก 3.85 ตัน ใช้จำนวนพลฉุดชัก 74 นาย คือด้านหน้า 56 นาย และด้านหลัง 18 นาย ราชรถน้อยองค์ที่สอง กว้าง 3.66 เมตร ยาว 12.95 เมตร สูง 6.30 เมตร น้ำหนัก 3.65 ตัน ใช้จำนวนพลฉุดชัก 74 นาย ด้านหน้า 56 นาย ด้านหลัง 18 นาย และราชรถน้อยองค์ที่สาม กว้าง 3.86 เมตร ยาว 12.95 เมตร สูง 6.84 เมตร น้ำหนัก 3.65 ตัน ใช้จำนวนพลฉุดชัก 74 นาย คือด้านหน้า 56 นาย ด้านหลัง 18 นาย
ราชรถปืนใหญ่
ราชรถปืนใหญ่หรือราชรถรางปืน เป็นราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ที่ทรงรับราชการทหารเมื่อครั้งดำรงพระชนม์ชีพ แทนพระยานมาศสามลำคานตามธรรมเนียมเดิมจากพระบรมมหาราชวัง หรือวังของพระบรมวงศ์พระองค์นั้นๆ สู่พระเมรุมาศ และแห่อุตราวัฎ (เวียนซ้าย) รอบพระเมรุมาศ 3 รอบ ธรรมเนียมใหม่นี้เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เมื่อปี 2459 เป้นครั้งแรก และครั้งหลังสุดในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลพระอัฐมรามาธิบดินทรเมื่อปี 2493
พระที่นั่งราเชนทรยานทรงพระโกศพระบรมอัฐิ
พระที่นั่งราเชนทรยาน มีลักษณะเป้นทรงบุษบกย่อมุมไม้สิบสอง หลังคาซ้อน 5 ชั้น สร้างจากไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก พนักพิงและกระจังปฏิญาณ แกะสลักเป้นภาพเทพนม ตรงกลางมีครุฑยุดนาคประดับที่ฐาน 14 ตัว สรางในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในเวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนแห่อย่างใหญ่ที่เรียกว่า ขบวนพยุหยาตราสี่สาย อาทิ เสด็จพระราชดำเนินจากพระราชมณเฑียรไปถวายสักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในงานพระราชพิธีพระบรมราชาพิเษก เป็นต้น เนื่องจากพระราชยานองค์นี้มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก จึงไม่นิยมใช้สำหรับเสด็จพระราชดำเนินทางไกลไปนอกพระบรมมหาราชวัง นอกจกานี้ ก็ใช้ในการเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์ หรือพระโกศพระอัฐิพระบรมวงศ์จากพระเมรุท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

พระที่นั่งราเชนทรยานมีขนาดกว้าง 1.03 เมตร ยาว 5.48 เมตร พร้อมคานหาม สูง 4.23 เมตร ใช้จำนวนพลแบกหาม 56 นาย
พระที่นั่งราเชนทรยานน้อยทรงพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร
พระที่นั่งราเชนทรยานน้อย พระที่นั่งราเชนทรยานน้อยองค์ใหม่ได้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นใหม่ โดยศึกษารูปแบบ วิธีการเข้าไม้และรูปทรงจากพระที่นั่งราเชนทรยานองค์เดิม ที่ดำเนินการซ่อมแซมโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เพื่อใช้เชิญพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระที่นั่งราเชนทรยานน้อยสร้างด้วยไม้สักแกะสลัก ลงรัก ปิดทอง ประดับกระจกทั้งองค์ มีคานหาม 4 คาน ใช้คนหาม 56 คน
พระยานมาศสามลำคานขณะอัญเชิญพระโกศทองใหญ่
พระยานมาศสามลำคาน ใช้เพื่อเชิญพระบรมโกศ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้เชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป้นคัร้งแรก โดยเป็นพระราชยานที่มีคานหามขนาดใหญ่ ทำด้วยไม้จำหลักลวดลาย ลงรักปิดทอง มีพนักโดยรอบ 3 ด้าน และมีคานหาม 3 คาน ใช้สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถที่จอดเทียบรออยู่ใกล้พลับพลายกบริเวณทิศตะวันออกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อพระมหาพิชัยราชรถเชิญพระโกศพระบรมศพไปถึงพระเมรุมาศแล้ว ก็จะใช้พระยานมาศสามลำคานเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระมหาพิชัยราชรถเวียนอุตราวัฎรอบพระเมรุมาศอีกครั้งหนึ่ง แต่พระราชพิธีในครั้งนี้ใช้ราถรชปืนใหญ่ในการเวียนรอบพระเมรุมาศแทน
พระยานมาศสามลำคาน
พระยานมาศสามลำคานใช้ครั้งล่าสุดในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เมื่อปี 2555 ทั้งนี้ พระยานมาศสามลำคานมี 2 องค์ คือ องค์หนึ่งมีขนาดยาว 7.73 เมตร พร้อมคานหามสูง 1.78 เมตร น้ำหนัก 700 กิโลกรัม ใช้จำนวนพลแบกหาม 2 ผลัด ผลัดละ 60 นาย ส่วนอีกองค์มีขนาดยาว 8.24 เมตร พร้อมคานหามสูง 1.10 เมตร น้ำหนัก 550 กิโลกรัม ใช้จำนวนพลแบกหาม 2 ผลัด ผลัดละ 60 นาย
เกรินบันไดนาคพระเมรุมาศขณะเลื่อนอัญเชิญพระโกศทองใหญ่
เกรินบันไดนาค คืออุปกรณ์ที่ใช้เชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นหรือลงจากพระมหาพิชัยราชรถและพระเมรุมาศ แทนการใช้นั่งร้านไม้ต่อต่อยกสูงแบบสมัยโบราณ ซึ่งใช้กำลังคนยกขึ้นลง ซึ่งมีความยากลำบากและไม่สะดวก เกรินมีลักษณะเป็นรางเลื่อนขึ้นลงด้วยกว้านหมุน โดยมีแท่นที่วางพระโกศเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายขึ้นหรือลง ลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ขอบฐานแกะสลักลายปิดทองประดับกระจก ท้ายเกรินเป็นพื้นลดระดับลงมา ซึ่งเป็นที่สำหรับเจ้าพนักงานภูษามาลาขึ้นนั่งประคองพระโกศพระบรมศพ มีลักษณะคล้ายท้ายสำเภา ด้านข้างบุผ้าตาดทอง มีราวทั้งสองข้างตกแต่งเป้นรูปพญานาค จึงเรียกว่าเกรินบันไดนาค
เกรินบันไดนาค
เกรินบันไดนาคเป็นอุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นโดยสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (จุ้ย) พระโอรสในสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์กับเจ้าขรัวเงิน นำมาใช้งานเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อปี 2355

เกรินบันไดนาคมี 2 ขนาด คือ ขนาดกว้าง 1.525 เมตร ยาว 2.365 เมตร สูง 4.40 เมตร ฐานกว้าง 1.786 เมตร ยาว 3.06 เมตร ใช้จำนวนพล 20 นาย และขนาดกว้าง 1.525 เมตร ยาว 2.365 เมตร สูง 4.40 เมตร ฐานกว้าง 1.786 เมตร ยาว 3.16 เมตร ใช้จำนวนพล 20 นาย

นอกจากนี้ ในริ้วขบวนยังมีการใช้พระเสลี่ยงร่วมด้วยคือ
พระเสลี่ยงกลีบบัว ขณะสมเด็จพระวันรัตประทับอ่านพระอภิธรรมนำหน้าพระยานมาศสามลำคาน
พระเสลี่ยงกลีบบัว เป็นพระเสลี่ยงสำหรับสมเด็จพระราชาคณะนั่งอ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระราชอิสริยยศ เพื่อเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวังไปยังพระมหาพิชัยราชรถ ณ บริเวณหน้าพระเชตุพลวิมลมังคลารามครั้งหนึ่ง และที่ขบวนพระราชอิสริยยศเชิญพระบรมศพเวียนพระเมรุมาศอีกครั้งหนึ่ง
พระเสลี่ยงกลีบบัว
พระเสลี่ยงแว่นฟ้าอัญเชิญพระลอง
พระเสลี่ยงแว่นฟ้า เป็นพระราชยานขนาดเล็ก ใช้กำลังพลหาม 8 คน สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปยังเกยเทียบพระยานมาศสามลำคานที่นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นฐานแท่นไม้สี่เหลี่ยมสลักลายปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ ตัวแท่นฐานเป็นสิงห์ปากบัว หน้ากระดานล่างลงรักปิดทองประดับกระจกลายดอกประจำยาม ฐานสิงห์สลักลายปิดทองประดับกระจก หัวหลังสิงห์ปิดทองประดับกระจก เส้นลวดเดินเส้นทอง พื้นพระเสลี่ยงปูด้วยพรมสีแดง ทั้งสี่มุมติดห่วงเหล็กทาสีแดง คานหามทั้งสองคานทาสีแดงเขียว ปลายคานเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์ปิดทองเรียบระหว่างคาน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คล้องเชือกมนิลาหุ้มผ้าแดง สำหรับเจ้าพนักงาน ใช้คล้องแขนขณะยกพระเสลี่ยงพระเสลี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น