xs
xsm
sm
md
lg

พระโกศทองใหญ่-พระโกศจันทน์" ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งในช่วงเช้าของวันที่ 26 ต.ค. 2560 มีการจัดริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ เพื่ออัญเชิญพระบรมโกศจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระจิตกาธาน พระเมรุมาศ ในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง

ทั้งนี้ ก่อนการอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระแท่นสุวรรณเบญจดล เจ้าพนักงานสนมพลเรือนได้เข้าเปลื้องพระโกศทองใหญ่ แล้วจึงอัญเชิญพระลองมาประดิษฐานยังพระยานมาศสามลำคาน จากนั้นจึงค่อยประกอบพระโกศทองใหญ่อีกครั้ง ครั้นเมื่ออัญเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระจิตกาธาน พระเมรุมาศ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้เปลื้องพระโกศทองใหญ่ และประกอบพระโกศไม้จันทน์

สำหรับ "พระโกศและพระลอง" เป็นชื่อภาชนะเครื่องทรงกรวยยอดแหลม ใช้บรรจุพระบรมศพ เรียกว่า พระบรมโกศ พระโกศ โกศ พระลอง และลอง มี 2 ชั้น ในสมัยอยุธยาเรียกชั้นนอกว่า "ลอง" สมัยรัตนโกสินทร์ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรียกชั้นนอกว่า "โกศ" และกลับมาเรียกว่าลองอีกชั้นหนึ่ง ภาชนะที่บรรจุพระบรมศพ พระศพ หรือศพ ชั้นนอกนี้ ทำด้วยโครงไม้หุ้มทองปิดทอง ประดับกระจกและอัญมณี ส่วนชั้นในเรียกสลับไปมากับชั้นนอกดังกล่าวข้างต้น ทำด้วยเหล็กทองแดงหรือเงินปิดทอง อย่างไรก็ดี ในบางครั้งเรียกรวมกันทั้งชั้นนอกและชั้นในว่า โกศ ซึ่งมีขนาดและรูปทรงต่างกันไปตามลำดับของพระอิสริยยศ เช่น พระโกศทองใหญ่ พระโกศทองน้อย พระโกศไม้สิบสอง พระโกศแปดเหลี่ยม เป็นต้น ปัจจุบันเรียกชั้นนอกว่าพระโกศ ชั้นในเรียกว่าพระลองหรือพระลองใน

ส่วน "พระโกศทองใหญ่" นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างพระโกศทองใหญ่ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2351 สำหรับทรงพระบรมศพของพระองค์ เมื่อสร้างเสร็จโปรดเชิญให้เข้าไปตั้งถวายให้ทอดพระเนตรในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระอาลัยมากและใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่ออกพระเมรุ จึงโปรดให้เชิญพระโกศทองใหญ่ ประกอบพระศพ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก เลยเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมาที่พระราชทานพระโกศทองใหญ่ ให้ทรงพระศพเจ้านายพระองค์อื่นเป็นพิเศษ นอกจากพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ได้

พระโกศทองใหญ่องค์นี้เรียกว่า พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 1 ด้วยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างพระโกศทองใหญ่ขึ้นอีกองค์หนึ่ง ที่ต่อมาเรียกว่า พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 5 และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดให้สร้างพระโกศทองใหญ่อีกองค์หนึ่งเรียกว่า พระโกศทองใหญ่รัชกาลที่ 9

ขณะที่ "พระโกศจันทร์" สร้างจากไม้จันทน์เพื่อใช้ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพ เพื่อเชิญพระโกศพระบรมศพ หรือพระศพ ส่วนนอกเปลื้องออกเหลือแต่พระลองใน เจ้าพนักงานจะนำพระโกศจันทน์เข้าประกอบพระลอง ซึ่งประดิษฐานบนตะแกรงเหล็กช่วงรัดเอวของพระจิตกาธาน เพื่อถวายพระเพลิง ปรากฎการณ์

พระโกศจันทน์มีโครงสร้างภายในเป็นเหล็กไร้สนิม และกรุด้วยลวดตาข่าย ใช้ไม้จันทน์ฉลุตกแต่งลวดลายขนาดใหญ่น้อยให้ได้สัดส่วนที่งดงาม ขัดแต่งผิวลับคมและเสี้ยนให้เรียบ นำลายแต่ละชั้นมาจัดดอกตามชุดโดยแยกสีเนื้อไม้อ่อนแก่ประกอบกัน เพื่อให้เกิดมิติที่สวยงาม

พระโกศจันทน์มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากพระโกศองค์อื่นๆ ทั้งหมด คือ องค์พระโกศเป็นทรงแปดเหลี่ยมฐานเตี้ย ฝาพระโกศเตี้ยแจ้ คล้ายพระโกศลองใน ซึ่งเป็นทรงกระบอก ฐานพระโกศเป็นบัวคว่ำติดเป็นชิ้นเดียวกับองค์พระโกศ และหีบพระบรมศพ ฝาพระโกศมักเป็นทรงบัวถลา ทรงเกี้ยว หรือทรงมงกุฎ มีลวดลายเส้นลายบัวถลา ลายดอกจอก ลายดอกไม้ทิศ

พระโกศจันทน์ มีที่มาจากดอกไม้จันทน์ เมื่อจะถวายพระเพลิงหรือพระราชทานเพลิง พนักงานเจ้าหน้าที่จะเปลื้องพระโกศทองออก เหลือแต่พระโกศลองในซึ่งเป็นโกศกลม ฝาปริกแลดูไม่งดงาม จึงได้มีการคิดประดิษฐ์ฟืนไม้จันทน์ขึ้นให้เป็นรูปหล่อทรงพระโกศลองใน แต่ประดิษฐ์ลวดลายคล้ายพระโกศทองที่เปลื้องออก ใช้ลวดลายขนาดต่างๆ ผูกเชื่อมต่อกันเข้าเป็นโครง แล้วนำแผงลวดตาข่ายผูกกรุตามรูปทรงของหุ่นพระโกศ จากนั้นจึงนำลวดลายที่เรียกว่า ลายซ้อนไม้ เข้าผูกประดับจนทั่วองค์พระโกศเป็นลายโปร่งทะลุ มองเห็นพระโกศลองในเป็นสีทองรางๆ เกิดความงดงาม

เหตุที่มีการสร้างพระโกศไม้จันทน์ให้มีลักษณะดังกล่าว เนื่องมาจากเหตุผล 2 ประการคือ 1.พระโกศจันทน์มีที่มาจากฟืนไม้จันทน์ ซึ่งมีหน้าที่เป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงสำหรับพระบรมศพหรือพระศพ จึงไม่มีการแกะสลักเพียงแต่โกรกฉลุแผ่นไม้บางๆ เป็นชิ้นลายขนาดต่างๆ แล้วนำมาซ้อนให้เป็นชั้นเชิงและรูปทรงตามต้องการแลเห็นสีทองของพระโกศลองในทะลุช่องไฟลายฉลุออกมางดงาม

2.พระโกศจันทน์เป็นพระโกศโครงตาข่าย ประดับลายแบบฉลุโปร่งเป็นชั้นๆ ทำให้มีน้ำหนักเบา สะดวกแก่การประกอบครอบองค์พระโกศลองใน เมื่อถวายพระเพลิงลุกไหม้ได้สะดวก นับเป็นภูมิปัญญาของช่างไทยในอดีต

เหตุที่ใช้ไม้จันทน์เป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงในการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพ พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ผู้ใหญ่ เนื่องจากประเพณีของชนชาติแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกหลายภูมิภาคนิยมว่า ไม้จันทน์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น มีกลิ่นหอม เพราะน้ำมันในเนื้อไม้ แก่น และเนื้อไม้มีสีเหลือง สวยงามคล้ายทองคำ เป็นของมีค่า หายาก จึงใช้เป็นฟืนหรือเชื้อเพลิงเผาศพผู้ที่เคารพรักอย่างสูงสุด เป็นการให้เกียรติและเป็นการสักการะอย่างสูง เช่น ในคราวถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธสรีระ ณ เมืองกุสินารา กล่าวว่าใช้ไม้จันทน์หอมล้วน ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบมาจนปัจจุบัน

การสร้างหุ่นโครงพระโกศจันทน์ใช้เหล็กเส้นลักษณะต่างๆ ตัด ต่อ เชื่อม ผูก ให้ได้รูปทรงของโครงหุ่นตามแบบที่กำหนด แล้วนำเส้นลวดตาข่ายขนาดเล็ก ตาค่อนข้างถี่กรุให้ทั่วและขึงให้ตึง เพื่อให้ได้รูปทรงของโครงหุ่นที่งดงาม จากนั้นจึงนำไม้จันทน์ฉลุลวดลายต่างๆ เป็นชิ้นๆ ประดับประกอบโดยรอบ ลวดลายที่ใช้ประกอบฐานรองพระโกศจันทน์และพระโกศจันทน์มีมากกว่า 50 ลาย เช่น ลายหน้ากระดาน ลายกุดั่นดอกจอก กระจังฝา กระจังคว่ำ กระจังจวน ลายดอกไม้ไหว ช่อไม้ไหวบัวถลา ขอบคิ้วบัวถลา อุบะ บัวปากฐาน เป็นต้น จำนวนชิ้นไม้ฉลุมีมากกว่าหมื่นชิ้น เมื่อประกอบกันเข้าเป็นลายเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะงดงามตามราชประเพณีและสมพระเกียรติอย่างยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น