xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังภาพประวัติศาสตร์! ภาพที่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ ช่วยสยามรอดพ้นวิกฤติ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภาพประวัติศาสตร์ ร.๕ กับซาร์นิโคลัสที่ ๒
คนไทยคงจะคุ้นตากับภาพประวัติศาสตร์ภาพนี้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นภาพที่เคยสั่นสะเทือนยุโรปมาแล้ว เมื่อ “คิงจุฬาลงกรณ์แห่งสยาม” ประทับเคียงคู่กับพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ แห่งรัสเซีย มหาอำนาจชาติหนึ่งของยุโรป ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสกำลังล่าอาณานิคมในเอเซียกันอย่างเมามัน และสยามก็ตกเป็นเหยื่อด้วย ภาพนี้ถูกแจกไปลงหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของยุโรปทุกประเทศ ซึ่งเบื้องหลังของภาพ ก็คือความสัมพันธ์ของราชวงศ์จักรีกับราชวงศ์โรมานอฟ

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคที่ราชอาณาจักรสยามต้องเผชิญวิกฤตการณ์หนัก จากการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจจากยุโรป จนยึดประเทศเพื่อนบ้านไปโดยรอบ อังกฤษยึดพม่า ฝรั่งเศสยึดญวน แล้วต่างก็มีเป้าหมายที่จะเข้ายึดครองไทย ถึงขนาดจะใช้แม่น้ำเจ้าพระยาแบ่งเขตอิทธิพลกัน

อังกฤษมุ่งที่แหล่งอุดมด้วยป่าไม้สักในภาคเหนือที่ติดกับพม่า และจุดที่เหมาะแก่การตั้งสถานีการค้าทางทะเลในแหลมมลายู

ส่วนฝรั่งเศสถึงกับตั้ง “พรรคอาณานิคม” มีนโยบายสนับสนุนการล่าเมืองขึ้น และจ้องมาที่ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรของลุ่มแม่น้ำทั้ง ๕ ที่มีลักษณะคล้ายฝ่ามือ คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำอิรวดี และแม่น้ำแดงในตังเกี๋ย ส่งคนเข้ามาสำรวจแล้วคงความเห็นว่า ดินแดนเหล่านี้ต้องเป็นของฝรั่งเศส ถ้ายึดครองไม่ได้ก็ต้องถือว่าเป็นความบกพร่องของรัฐบาล

จากนั้นก็ใช้เล่ห์เพทุบายและกำลังอาวุธเชือดเฉือนดินแดนเข้ามา ไทยเราทำได้แค่ต้องยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตไว้

เหตุการณ์ที่สะเทือนพระราชหฤทัยสมเด็จพระปิยะมหาราช และสร้างความโกรธแค้นให้ประชาชนคนไทยอย่างมาก ก็คือเหตุการณ์ใน ร.ศ.๑๑๒

ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ หรือ ร.ศ.๑๑๒ ฝรั่งเศสส่งเรือรบ ๒ ลำฝ่าแนวป้องกันของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ซึ่งมีเรือรบฝรั่งเศสจอดอยู่ ๑ ลำแล้ว ขู่ว่าจะจมเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่จอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และจะระดมยิงพระบรมมหาราชวัง หากไทยไม่ยอมจ่ายค่าทำขวัญบุตรภรรยาทหารเรือฝรั่งเศสที่บาดเจ็บล้มตายจากการปะทะครั้งนี้ เป็นเงิน ๓ ล้านฟรังก์ หรือไม่ก็ต้องให้ฝรั่งเศสเก็บภาษีเอาเองที่เมืองพระตะบองและเสียมราฐ

นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังเรียกเรือรบจากไซ่ง่อนมาอีก ๑๒ ลำปิดอ่าวไทย และส่งทหารขึ้นยึดเกาะสีชัง ยื่นเงื่อนไขให้ไทยถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงภายใน ๑ เดือน แม้ไทยจะยอมรับตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสทุกข้อ เพราะไม่มีทางปฏิเสธได้ ฝรั่งเศสก็ยังขอยึดจันทบุรีไว้เป็นประกัน จนกว่าการปักปันดินแดนที่ไทยจะมอบให้นี้เสร็จสิ้น

การกระทำของฝรั่งเศสทำให้พระพุทธเจ้าหลวงทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างหนักถึงกับทรงประชวร ความเสียพระราชหฤทัยที่ต้องเสียแผ่นดินไทยในรัชสมัยของพระองค์ ทำให้ไม่ยอมเสวยพระโอสถ

ในที่สุดก็ทรงตระหนักว่า การยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตนี้ ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะนักล่าอาณานิคมจะย่ามใจเรียกร้องเอาไม่สิ้นสุด ชาติที่ล่าเมืองขึ้นนั้นจะอ้างว่าเอเซียยังไม่เจริญ ขาดสมรรถภาพที่จะรักษาความสงบสุขของตนได้ ทำให้มีผู้ร้ายชุกชุม เป็นอันตรายต่อสังคมและต่อชาวยุโรปที่เข้ามา อีกทั้งยังไม่มีความชำนาญที่จะนำทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ มาใช้ ตนเป็นชาติที่เจริญกว่าจึงมีเมตตาที่จะมาช่วยพัฒนาให้เจริญเท่าเทียมกัน ไม่เป็นตัวถ่วงความเจริญของยุโรป

การจะปกป้องตัวเองจากข้ออ้างจอมปลอมของนักล่าอาณานิคมได้ จะต้องพัฒนาตัวเองให้มีความเจริญเช่นเดียวกับชาติในยุโรป ไม่ต้องให้มีใครมาช่วยพัฒนา

ฉะนั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการพัฒนาบ้านเมืองในแนวทางของยุโรปอย่างรวดเร็ว ทรงจ้างฝรั่งเข้ามารับราชการ และส่งคนไทยไปศึกษาในยุโรปเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ร.๕ ยังเตรียมพระองค์ในการที่จะ “โชว์ตัว” ในนานาประเทศที่อ้างตัวว่าอารยะ ให้ประจักษ์ว่า สยามไม่ใช่เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างที่นักล่าอาณานิคมประโคมข่าว

และแล้วในวันที่ ๗ เมษายน ๒๔๔๐ การเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปก็เริ่มขึ้นโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี มีเป้าหมายที่จะเยือน ๑๒ ประเทศในยุโรป คือ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย สวีเดน เดนมาร์ค อังกฤษ เบลเยี่ยม เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส และสเปน มีกำหนดเวลาประมาณ ๙ เดือน

ประเทศที่สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงมุ่งหวังมากที่สุด ก็คือ รัสเซีย ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ ที่มีความสัมพันธ์สนิทสนมกันมาก่อน เสด็จขึ้นครองราชย์มา ๓ ปีแล้ว

ในปี ๒๔๓๖ ขณะที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ ๒ พระองค์นี้ยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเยือนภาคตะวันออกและเสด็จแวะมาสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ จัดพระราชวังสราญรมย์ให้เป็นที่ประทับ ซึ่งมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียประทับพระราชหฤทัยมาก โดยเฉพาะม่านหน้าต่างโปร่งที่ร้อยด้วยดอกไม้และเปลี่ยนถวายทุกวัน

นอกจากจะเสด็จเยี่ยมทุกวันแล้ว ร.๕ ยังทรงนำมกุฎราชกุมารรัสเซียประพาสทรงชลมารค ไปประทับพระราชวังบางปะอิน

มกุฎราชกุมารได้กราบทูลเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันหลายพระองค์แล้ว หากมีพระราชประสงค์จะส่งไปศึกษาที่รัสเซียบ้าง พระองค์ก็จะรับอุปถัมภ์เอง

ในการเสด็จฯ ยุโรปครั้งนี้ จึงทรงนำเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถไปศึกษาวิชาทหารที่รัสเซียด้วย พร้อมกับเปิดสอบคัดเลือกนักเรียนสามัญชนอีกคนหนึ่ง เพื่อให้เป็นคู่แข่งทางการเรียนของพระราชโอรส ซึ่งได้แก่ นายพุ่ม นักเรียนสวนกุหลาบ บุตรนายซุ้ย ชาวตลาดพลู ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสก็ได้จัดให้ศึกษาและอยู่ที่พระราชวังฤดูร้อนเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จฯโดยรถไฟจากกรุงเบอร์ลินถึงกรุงเซ็นต์ปิเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม เวลา ๒๑.๓๐ น. พระซาร์เสด็จฯ มารับที่สถานีรถไฟ ทั้งสองพระองค์ประทับรถพระที่นั่งไปสู่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟซึ่งจัดเป็นที่ประทับ

ในการเสวยพระกระยาการค่ำร่วมกันในวันที่ ๔ กรกฎาคม สมเด็จพระปิยะมหาราชทรงถือโอกาสปรับทุกข์ถึงการรุกรานของมหาอำนาจจากยุโรป

ในเช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าซาร์จึงจัดให้มีการฉายพระรูปร่วมกันที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้ราชสำนักรัสเซียนำภาพที่คิงจุฬาลงกรณ์จากสยามประทับคู่กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของทุกประเทศในยุโรปทุกฉบับ ทั้งยังทรงเขียนคำอธิบายภาพด้วยพระองค์เองว่า

“สยามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หาใช่ประเทศล้าหลังซึ่งมหาประเทศจะอาศัยเป็นมูลเหตุเข้ายึดครองมิได้”

แน่นอนว่าภาพที่พระมหากษัตริย์จากเอเซียประทับคู่กับพระมหาจักรพรรดิแห่งรัสเซียนี้ สั่นสะเทือนยุโรปพอควร ทำให้ชาวยุโรปใคร่จะได้เห็นพระองค์จริงของ “คิงจุฬาลงกรณ์แห่งสยาม” การเสด็จพระราชดำเนินประเทศในยุโรปในช่วงต่อไปนี้ จึงมีผู้เฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น

ซึ่งก็เป็นผลแก่ราชอาณาจักรสยามอย่างมหาศาล

อย่างไรก็ตาม การส่งสัญญาณของพระเจ้าซาร์นิโคลัสครั้งนี้ ก็ยังไม่อาจหยุดยั้งการหิวกระหายของนักล่าอาณานิคมได้ ฝรั่งเศสยอมคืนจันทบุรีให้ไทยหลังจากบีบคั้นเอาดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงไป ซึ่งได้แก่เมืองหลวงพระบางฝั่งขวาและนครจำปาศักดิ์ แต่ก็ยังไม่หมดลาย กลับไปยึดจังหวัดตราดพร้อมเกาะกงหรือจังหวัดประจันตคีรีเขตของไทยต่อ เนื่องจากอยากได้ปราสาทนครวัด เรียกร้องเอาทั้งมณฑลบูรพาซึ่งมีพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกกับจังหวัดตราด แต่ไม่ยอมคืนจังหวัดประจันตคีรีเขต

เมื่อราชอาณาจักรสยามเป็นที่รู้จักของชาวยุโรป เสียงประณามฝรั่งเศสจึงดังขึ้นเรื่อยๆ จนฝรั่งเศสต้องยอมหยุดยั้งพฤติกรรมเยี่ยงหมาป่า แต่ก็ยังไม่สิ้นลายง่ายๆ แอบขีดเส้นในแผนที่ไว้ จนเกิดกรณีปราสาทพระวิหารมาจนทุกวันนี้

ภาพนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ เป็นผลให้สยามรอดพ้นวิกฤติที่ร้ายแรงมาได้

ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบปีที่ ๑๐๗ ของการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระผู้พาชาติไทยให้รอดพ้นวิกฤติที่โหมแรงมาสู่เอเชีย ทำให้ไทยเป็น ๑ ใน ๓ ประเทศของทวีปนี้ที่ไม่ตกเป็นอาณานิคมของนักล่าจากยุโรป เราชาวไทยจึงไม่อาจลืมพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ได้ และยังแสดงความสำนึกทุกปีตลอดมา
ซาร์นิโคลัสที่ ๒  ขณะเสด็จประทับบางปะอิน
ร.๕ กับจักพรรดินีและซาร์ที่พระราชวังซาร์วิกโล
ดยุคออฟเคมบริดจ์ ผู้แทนควีนวิคตอเรียรับเสด็จ ร.๕
ควีนวิคตอเรียจัดเลี้ยงรับ ร.๕
กำลังโหลดความคิดเห็น