ศาสตร์พระราชาสู่เลโซโท ดินแดนที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปพลิกฟื้นผืนดิน เพื่อพลิกชีวิตประชากร โดยเรื่องราวดังกล่าวถูกถ่ายทอดผ่านคำบอกเล่าของ ‘อภิชาติ สุดแสวง’ กงสุลกิตติมศักดิ์ราชอาณาจักรเลโซโท ประจำประเทศไทย
ถ้าจะพูดถึงพระปรีชาสามารถและน้ำพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วนั้น ทุกคนย่อมทราบกันดีผ่านพระจริยวัตรและพระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านต่างๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยเท่านั้น หากยังแผ่ไกลไปในต่างประเทศอีกด้วย เช่นเดียวกันกับ ‘เลโซโท’ ราชอาณาจักรเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาที่ได้น้อมนำทฤษฎีของพ่อหลวงไปปรับใช้จนประชากรที่นั่นมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
‘เลโซโท’ ราชอาณาจักรเล็กๆ ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก
ราชอาณาจักรเลโซโทเป็นประเทศขนาดเล็กในทวีปแอฟริกา มีรูปแบบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะว่าได้รับแนวคิดมาจากประเทศอังกฤษเนื่องจากเคยเป็นอาณานิคม และเป็นหนึ่งในสามประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เช่นเดียวกับประเทศโมร็อกโกและสวาซิแลนด์
เลโซโทมีพื้นที่ทั้งหมด 30,355 ตารางกิโลเมตร (11,720 ตารางไมล์) พรมแดนถูกล้อมรอบด้วยประเทศแอฟริกาใต้ทุกทิศทำให้ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดคือมาเซรู ถ้าเทียบกับประเทศไทยก็จะประมาณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปางรวมกัน หรือประมาณ 2 เท่าของจังหวัดอุบลราชธานี
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูงค่อนข้างเยอะ จุดต่ำสุดของประเทศคือ 1,350 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งภูเขาจะมีลักษณะที่ไม่เหมือนภูเขาทั่วไป คือจะไม่แหลม จะเหมือนภูกระดึงของไทยที่เหมือนหัวตัด มีพื้นที่อยู่ด้านบน เราจะเรียกภูเขาแนวนี้ว่า Table Mountain เป็นเขารูปโต๊ะ ส่วนสภาพภูมิอากาศจะแห้งแล้ง คนส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในพื้นที่ราบ เพราะว่าด้านบน อากาศจะหนาว มีหิมะ และประเทศนี้มีน้ำเยอะมาก เป็นประเทศแห้งแล้งแต่น้ำเยอะ
ชีวิตและความเป็นอยู่ ต้องนำเข้าอาหารถึง 70 เปอร์เซ็นต์
เนื่องจากที่นี่มีหิมะเยอะ พอหิมะละลายกลายเป็นน้ำ เขาก็จะส่งออกน้ำไปให้แอฟริกาใต้ แต่จะยังไม่มีระบบชลประทานที่สมบูรณ์ ยังไม่มีการใช้น้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากที่ดินสูง ส่วนใหญ่น้ำจะไหลลงไปหมด คนทำเกษตรข้างบนก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ก็ต้องปั๊มน้ำขึ้นไปแล้วก็ต้องเสียค่าไฟ ค่าใช้จ่าย ทำให้ต้นทุนการเกษตรสูง ไม่มีการจัดระบบ ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์
ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่นั่นจะทำอาชีพเกษตรกร ส่วนใหญ่ก็จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อยังชีพตัวเอง ไม่ได้มีการแบ่งให้กับเพื่อนบ้าน ไม่ได้มีการขายเพื่อดำรงชีวิต จะปลูกไว้ทานเองเป็นหลัก แล้วก็อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แต่เนื่องจากภูมิอากาศที่รุนแรง มีลมแรง แดดแรง ทำให้สภาพพื้นดินเสื่อมโทรม การปลูกพืชชนิดเดียวตลอดเวลา พอเสื่อมโทรมก็ย้ายแหล่งทำกินไปเรื่อยๆ ดินก็เสียหายไปเรื่อยๆ ไม่มีการดูแลดินพอสมควร ระบบน้ำไม่มีการใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ทำให้การเกษตรไม่เป็นที่นิยม ก็เลยหันไปทำอาชีพอย่างอื่นแทน ทำให้คนทำการเกษตรน้อยลงไปเรื่อยๆ
บางคนก็หันไปทำอุตสาหกรรม มีการไปตั้งโรงงานตั้งอุตสาหกรรม เพราะว่าทางประเทศเลโซโทจะได้สิทธิจากหลายประเทศ เช่น โรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่ม โรงงานผลิตรองเท้าส่งออกไปอเมริกา มีการรวมตัวกัน ส่งออกไปประเทศที่อยู่ในละแวกนั้น ซึ่งภาษีจะเป็นศูนย์ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือเรื่องของอาหาร เนื่องจากว่าไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการทำให้ต้องนำเข้าอาหารโดยประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์
น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงพ่อหลวงรัชกาลที่ 9
พลิกฟื้นผืนดิน พลิกชีวิตประชาชนใน ‘เลโซโท’
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนครับว่าโดยพื้นฐานแล้ว พระองค์ท่านสมเด็จพระราชาธิบดี เลสซีที่ 3 ท่านทรงสนพระทัยในเรื่องของการเกษตรอยู่แล้ว แล้วก็ทรงเป็นห่วงประชาชนของพระองค์ท่าน ซึ่งพอทำการศึกษาก็เลยพบว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย มีโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เมื่อท่านมีโอกาสได้เสด็จมายังประเทศไทยในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งแรก ท่านก็เลยได้ทูลขอเสด็จไปชมโครงการที่จังหวัดเชียงใหม่ครับ
เมื่อท่านเสด็จไปชมแล้ว ท่านก็พบว่าทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศเลโซโทได้ หลังจากนั้นท่านก็เลยขอพระราชทานน้อมนำเอาโครงการไปตั้งที่ประเทศเลโซโท พอกลับไป สมเด็จพระราชาธิบดีเลสซีที่ 3 พระองค์ก็ได้พระราชทานที่ดินข้างวังให้ประมาณ 40 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ สร้างอาคารเรียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงโดยเฉพาะ
• นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปปรับใช้เป็นครั้งแรก เป็นอย่างไรบ้างคะ
เบื้องต้น หลังจากที่ได้น้อมนำทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปใช้ครั้งแรก ทำได้ยากลำบากมากนะครับ ประชาชนที่นั่นก็ถอดใจกันนิดหนึ่งว่าทฤษฎีของพระองค์ท่านที่มาจากประเทศไทยซึ่งอยู่อีกซีกโลกหนึ่งจะใช้ได้หรือไม่ ก็เลยมีความไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่หลังจากได้มาเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้ แล้วก็นำไปใช้ผลคือประสบความสำเร็จอย่างมากมาย
• ใช้เวลานานแค่ไหนคะถึงจะประสบผลสำเร็จ เห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ประเทศไทยเดินทางไปสอนและตรวจสอบยังสถานที่จริงด้วย
ใช้เวลานานเหมือนกันนะครับ เพราะว่าต้องมีการปรับปรุงดิน เรียนรู้การใช้ระบบน้ำ เพราะว่าคนที่นั่น ระบบการเกษตรเขาแตกต่างกับเราโดยสิ้นเชิง สภาพพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดินของเลโซโทจะเป็นดินปนทราย ดินถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ก็เลยมีความแห้งแล้ง ยากที่จะพัฒนา แต่เนื่องจากทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ช่วยให้ดินของเลโซโทมีชีวิตขึ้นมาได้
ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงมีพระกระแสรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ประเทศไทยเดินทางไปยังเลโซโท เพื่อไปสอนที่ศูนย์การเรียนรู้และตรวจสอบยังสถานที่จริง นอกจากนี้แล้วพระองค์ท่านยังทรงมีพระเมตตาให้ทุนแก่เจ้าหน้าที่ทางเลโซโทมาเรียนรู้งานที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตลอดเวลา
และเมื่อปี พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็ได้เสด็จเยือนประเทศเลโซโทเพื่อไปติดตามความก้าวหน้าในโครงการที่เลโซโทนำไปปฏิบัติ ซึ่งช่วงนั้นโครงการก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว ท่านก็ได้ส่งมอบโครงการนี้ให้แก่รัฐบาลของเลโซโทเพื่อดูแลต่อไปครับ
• หลังจากนั้น มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เห็นเป็นรูปธรรมบ้าง
ที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การทำการเกษตรมากขึ้น อย่างพืชบางชนิดที่ไม่สามารถปลูกที่เลโซโทได้ ทุกวันนี้ก็สามารถนำมาปลูกได้ ก่อนหน้านี้เวลาปลูกพืชเลี้ยงเดี่ยวก็จะมีปัญหาโรคระบาด แมลงระบาด พอหันมาปลูกพืชแบบผสมผสานจะทำให้พืชบางตัวยังอยู่ แมลงมาก็อาจจะทำลายบางชนิดไป แต่อีกชนิดก็ยังอยู่ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แทนที่จะไปซื้อสารเคมีมาฉีด ก็หันมาใช้สมดุลธรรมชาติในการกำจัดกันเอง
ก่อนหน้านี้มีอาหารชนิดเดียว วันนี้ที่นั่นมีการปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อที่จะมีไนโตรเจนมีสารอินทรีย์ลงดิน สามารถที่จะนำเมล็ดไปปลูกในฤดูกาลต่อไปได้ด้วย กลายเป็นว่าทุกวันนี้เขาก็มีผักกาด ผักโขม ถั่ว แครอท ฯลฯ รับประทาน ก็สามารถเปลี่ยนเมนูไปได้เรื่อยๆ
อีกทั้งเลโซโทยังมีการเลี้ยงสัตว์ มูลสัตว์ทั้งหลายก็จะนำเอาไปตากแห้งเพื่อมาทำเป็นเชื้อเพลิง เพราะเนื่องจากป่าไม้น้อยก็ไม่รู้จะไปตัดไม้ที่ไหนมา ก็เลยเอามูลสัตว์ไปตากแห้งเพื่อไปทำเชื้อเพลิง แทนที่จะเอามาทำปุ๋ยอย่างเดียว แต่ถึงอย่างไรก็เรียนรู้การทำปุ๋ยด้วย
นอกจากนี้แล้วก็ยังได้น้อมนำเอาทฤษฎีหลายๆ อย่างของพระองค์ท่านมาใช้ เช่น ทฤษฎีการคลุมดิน ทฤษฎีการปลูกพืชแบบผสมผสาน ทฤษฎีการบริหารน้ำต่างๆ ครับ
• ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเลโซโทเป็นอย่างไรบ้างคะ ดีขึ้นจากเดิมมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนแรกต้องนำเข้าอาหารถึง 70 เปอร์เซ็นต์เลย
ยกตัวอย่างนักบัญชีท่านหนึ่งนะครับ คนนี้เขาทำอาชีพประจำ ได้เงินเดือนประจำอยู่แล้ว แต่ว่าเขาตัดสินใจลาออกมาทำเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องบอกก่อนว่าตั้งแต่เดิมการเกษตรของเลโซโทเป็นงานที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเท่าไหร่ ส่วนใหญ่คนที่ทำจะเป็นแค่คนเกษียณแล้วมาทำเพื่อยังชีพ เพื่อที่จะเลี้ยงชีพตัวเองเมื่อยามแก่ แต่วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้วครับ เพราะนักบัญชีคนนี้ก็ได้น้อมนำทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปปฏิบัติในชีวิตจริง
จากที่เขาไม่มีข้าวกิน จากที่มีข้าวไม่พอ ตอนนี้ก็มีข้าวกินแล้ว ซึ่งนอกจากตัวเองจะมีอาหารบริโภคแล้ว ก็ยังสามารถเผื่อแผ่ไปให้เพื่อนบ้าน แถมยังทำขายได้ด้วย สามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ จ้างแรงงานได้อีกหลายคน กลายมาเป็นการทำการเกษตรแบบยั่งยืน เห็นได้ชัดว่ามันเป็นความยั่งยืน และนอกจากความยั่งยืนให้กับตัวเองแล้วก็ยังเป็นความยั่งยืนให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนอีกด้วย แล้วในอนาคตเราคิดว่าความยั่งยืนจะแพร่หลายไปทั้งประเทศ
• ณ ปัจจุบัน ประเทศเลโซโทมีเป้าหมายต่อไปอย่างไร
เป้าหมายต่อจากนี้ เราอยากจะเห็นความยั่งยืนในครอบครัว ชุมชน และทั้งประเทศครับ เรามีจุดมุ่งหมายสูงสุดคืออยากให้ทั้งประเทศมีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อยากให้โครงการมีการขยายตัวออกไปต่อ ซึ่งเรามองว่าถ้าทฤษฎีนี้ขยายตัวไปจนถึงภูมิภาคก็อาจจะทำให้ภาพรวมของประเทศนั้นดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้
ตรงนี้เราเลยเล็งเห็นว่าศูนย์เรียนรู้ต้องเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิตขึ้นมา โครงการนี้สำเร็จแล้วซึ่งทางสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้มอบให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลต่อแล้ว ซึ่งผมก็เริ่มคุยกับรัฐบาลของเลโซโทแล้วว่าเราจะทำให้ศูนย์เรียนรู้นี้มีชีวิตขึ้นมา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของคนในประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งภายภาคหน้า ที่นั่นจะมีการสร้าง Hall of fame เป็นศาลาเฉลิมพระเกียรติที่มีความสง่างามสมพระเกียรติมากยิ่งขึ้น จะมีในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงแล้วก็พระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์นี้ด้วยครับ
• เท่าที่ฟังมาทั้งหมดทั้งมวลแล้ว กษัตริย์เลโซโททรงรักและชื่นชมพระปรีชาสามารถของในหลวงรัชกาลที่ 9 มากเลยนะคะ
สมเด็จพระราชาธิบดีเลสซีที่ 3 ทรงรักสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างมากนะครับ หลังจากที่ท่านทราบข่าวสวรรคตของพระองค์ท่านก็ทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ท่านก็ทำเรื่องเสด็จมาประเทศไทยโดยทันทีเพื่อที่จะมาถวายพระมาลาหน้าพระบรมศพ ซึ่งการที่ท่านจะเสด็จไปประเทศไหน ท่านจะต้องขออนุญาตทางรัฐบาล แจ้งให้ทางรัฐบาลทราบก่อน ก็ต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จากนั้นพระองค์ก็เสด็จมา ใช้เวลาเดินทางนานกว่าใช้เวลาอยู่เมืองไทยอีกนะครับ ซึ่งท่านต้องการจะอยู่เมืองไทยให้สั้นเพราะไม่อยากจะรบกวนคนไทย ประชาชนคนไทยช่วงนั้นอยู่ในภาวะที่เศร้าแล้วก็เปราะบางมากจึงไม่อยากจะรบกวนใดๆ ทั้งสิ้น
ตอนที่ท่านไปที่วัดพระแก้วแล้วถวายพระมาลาเสร็จก็ได้ไปลงนามถวายความอาลัย ท่านลงนามอยู่นานมาก ท่านเขียนแล้วท่านก็นิ่งแล้วก็มองพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ท่านเขียนอยู่เกือบ 20 นาที ผมอยู่ข้างหลัง เห็นแล้วผมขนลุก ก็ไม่กล้ามองว่าท่านเขียนอะไร และวันที่ 25-28 ตุลาคม พ.ศ.2560 สมเด็จพระราชาธิบดีท่านเสด็จมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งเพื่อมาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะท่านให้ความเคารพและรักพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นอย่างมากครับ
• หลังจากการน้อมนำทฤษฎีไปใช้จนได้ผลดี ประชาชนในประเทศเลโซโทพูดหรือรู้สึกอย่างไรต่อรัชกาลที่ 9 ของไทยบ้างคะ
มีคนเคยถามเกษตรกรของเลโซโทว่ารู้จักไหมว่าใครเป็นคนคิดทฤษฎีนี้ เขาก็ตอบมาว่าเขารู้จัก เป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย เขาไม่เคยเห็นไม่เคยได้พบเป็นการส่วนพระองค์ แต่เขารู้ว่าพระองค์ทรงรักคนไทยเหลือเกิน เสียสละให้กับคนไทยมากมาย ทำไมกษัตริย์พระองค์นี้ถึงรักคนไทยขนาดนั้น
อีกอย่าง เขาทราบดีว่าสิ่งที่พระองค์ทำ นอกจากจะมีประโยชน์ ทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้คนอีกซีกโลกหนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย เขาก็เลยมีความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมากครับ แต่โดยพื้นฐานของคนเลโซโทแล้วเขาจะรักสถาบัน จะมีรูปของสมเด็จพระราชาธิบดีอยู่ทุกบ้านเหมือนกันกับเรา เพราะฉะนั้น ทฤษฎีนี้ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นเขาก็เทิดทูลพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก
ผมจะเล่าตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งให้ฟังนะครับซึ่งเป็นเรื่องที่ผมประสบมากับตัวเลยก็คือ ประเทศไทยเราเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในเลโซโทนะครับ วันนั้นผมบังเอิญไปร่วมฉลองในงานครบรอบ 50 พรรษา ของสมเด็จพระราชาธิบดีเลสซี พระองค์ท่านก็ประทานรถยนต์ให้ ไปใช้ระหว่างอยู่ในประเทศ โดยป้ายเป็นป้ายประเทศไทย เชื่อไหมครับว่าเราขับไป คนก็ส่งเสียงตะโกนมาว่า “ไทยแลนด์”
หรือมีครั้งหนึ่ง ผมเข้าไปในงานที่สมเด็จพระราชาและพระราชินีทรงออกมาพบประชาชนจัดที่สเตเดียม สนามบอล เขาก็จะเชิญทูตแต่ละประเทศเข้าไปแล้วผมก็รอคิวอยู่ พอเขาประกาศชื่อประเทศอื่น คนก็จะไม่ค่อยเฮเท่าไหร่ พอมาถึงผม เขาประกาศว่าไทยแลนด์ คนที่นั่นโห่ร้อง เฮๆๆ ให้ด้วยความยินดี และดูแลเราเป็นอย่างดี ให้ความคุ้นเคย ให้ความเป็นกันเองอย่างมาก ตรงนี้ทำให้ผมสัมผัสได้เลยว่า ด้วยพระบารมีและทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงทำเอาไว้ ทำให้คนประเทศนี้รู้จักประเทศไทยค่อนข้างเยอะ
ส่วนตัวผมแล้วผมประทับใจในศาสตร์ของพระราชาที่ไม่ใช่แค่ทำให้เฉพาะคนในประเทศไทยอยู่ดีกินดีขึ้นเท่านั้น แต่พระองค์ท่านยังทำให้คนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งอยู่ดีกินดีขึ้นด้วย และเป็นการอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ว่ามีกินมื้อนี้ มื้อหน้าไม่มีกิน แต่มีกินแบบยั่งยืนต่อๆ ไป ซึ่งทฤษฎีของท่านเป็นแบบผสมผสาน เช่น ถ้าพืชตรงนี้ไม่ดี พืชตรงนี้ยังดีอยู่ ก็ทดแทนกันไป ต้นนี้ต้องการน้ำมาก ต้นนี้มีน้ำน้อยก็ไม่มีปัญหา แล้วก็ทำให้ดินไม่เสียหาย
ผมยอมรับว่างงนะครับว่าทำไมทฤษฎีของพระองค์ท่านที่ทรงคิดขึ้นมาเพื่อคนไทย สามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานได้ทั่วโลกได้ยังไง ประเทศเรากับประเทศเขามันต่างกันเหลือเกิน ทั้งพื้นดิน ทั้งอากาศ ไม่มีพื้นที่อะไรเหมือนกันเลย ขนาดนั่งเครื่องบินไป ใช้เวลาตั้ง 18-19 ชั่วโมง ยังเหนื่อยเลย แต่พอน้อมนำทฤษฎีของพระองค์ท่านไปใช้ กลับได้ผลมหาศาล แล้วก็ใช้ได้ดีเสียด้วย ตรงนี้เลยเป็นความประทับใจจากหัวใจของผมว่า เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ และเป็นเรื่องที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น พระองค์ท่านทรงมีพระอัจฉริยภาพเหลือเกิน
เรื่อง : วรัญญา งามขำ, ธัญลักษณ์ อุ่มเจริญ
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์