xs
xsm
sm
md
lg

ช่างแทงหยวก 4 ภูมิภาค ถวายงาน “พระจิตกาธาน” พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.๙ ให้สมพระเกียรติสุดฝีมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง พร้อมด้วย ช่างแทงหยวกท้องถิ่น 4 ภูมิภาค เริ่มแทงหยวกประดับพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง

วันนี้ (23 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง พร้อมด้วย ช่างแทงหยวกท้องถิ่น 4 ภูมิภาค ได้เริ่มแทงหยวกประดับพระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ เป็นวันแรก

นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นักจัดการงานในพระองค์ชำนาญการ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง เปิดเผยว่า วันนี้ (23ต.ค.) ช่างจากกองศิลปกรรม และช่างแทงหยวกท้องถิ่น 4 ภูมิภาค รวม 37 นาย ได้ร่วมพูดคุยหารือเกี่ยวกับการแทงหยวกประดับพระจิตกาธานกันตั้งแต่เวลา 09.00 น. ทั้งรูปแบบ ลวดลาย การจัดสรรขนาดกาบที่กำหนดไว้ รวมทั้งการประเมินทุกอุปสรรคในการแทงหยวกไว้แล้ว เช่น กรณีกาบบางไปหรือแข็งไปจะต้องแก้ไขอย่างไร ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มแทงหยวกจริง โดยฐานของพระจิตกาธานชั้นเรือนไฟ ชั้นรัดเอว เป็นการถวายงานจากช่างจาก จ.สงขลา แทงหยวกลายกลีบบัวจงกล 5 ชั้น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการแทงหยวกระยะยาว ชั้นรัดเกล้า เป็นการถวายงานจากช่างฝั่งธนบุรี วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ชั้นเรือนยอด 9 ชั้น เป็นการถวายงานจากช่างเพชรบุรี ขณะที่ช่างจากจังหวัดมหาสารคามและอุบลราชธานี ถวายงานการแทงหยวกลายกระจังทิศ กระจังเจิม ซึ่งอยู่บริเวณทุกมุมของพระจิตกาธาน ส่วนลายเถาไขว้เลขเก้าไทย อาจารย์กฤษณะ เฟื่องฟู ช่างราชสำนักที่คิดลายนี้เป็นผู้รับผิดชอบโดยทุกอย่าง ซึ่งทุกกระบวนการของงานแทงหยวก จะต้องทำออกมาให้สมบูรณ์แบบถูกต้องตามโบราณราชประเพณี

นายบุญชัย กล่าวต่อว่า ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักศึกษาวิชาช่างแทงหยวกจากโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ซึ่งคัดเลือกมา 50 คน ได้มีโอกาสเข้าร่วมถวายงานในครั้งนี้อีกด้วย ส่วนกล้วยตานีที่นำมาประกอบในงานแทงหยวกนั้น ได้คัดสรรต้นกล้วยมาเป็นอย่างดี มาจากจังหวัดจันทบุรี 50 ต้น เป็นต้นกล้วยต้นเอกที่มีความสำคัญที่จะใช้ในการแทงหยวกบริเวณเรือนยอดชั้นที่ 9 ชั้นสูงสุด ด้วยลายลูกฝักช่องกระจก รวมทั้งจาก จ.เพชรบุรี 40 ต้น นนทบุรี 9 ต้น และ อ่างทอง 9 ต้น รวมทั้งหมด 108 ต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้น้ำบริสุทธิ์ล่อเลี้ยงให้ต้นกล้วยยังมีความชุมชื้นเสมอ

นายบุญชัย กล่าวว่า ขณะที่งานช่างแกะสลักของอ่อน และงานช่างดอกไม้ประดิษฐ์ในการประดับพระจิตกาธานปาริชาต แล้วเสร็จประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งงานช่างทุกขั้นตอนล้วนเป็นงานฝีมือที่ต้องมีความละเอียดอ่อน อย่างเช่น ในประดิษฐ์ดอกปาริชาติ ที่เป็นดอกไม้ในตำนานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เปรียบเสมือนพสกนิกรชาวไทยที่ขอระลึกถึงพระองค์ผู้สถิตในดวงใจ

ทั้งนี้ การประดิษฐ์ดอกปาริชาต ดอกไม้เฟื่องและดอกไม้ไหว มีทั้งหมด 70 ดอก สื่อถึง 70 ปี แห่งการครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ใช้กลีบดอกสีเหลืองที่เป็นสีประจำวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ และสีชมพูอมแดง เป็นสีกำลังวัน ขณะที่เถาจองต้นปาริชาตจะเย็บด้วยใบแก้วสด และในส่วนประกอบของเครื่องประดับอื่นๆ ยังมีเมล็ดพันธุ์ เช่น งาดำ งาขาว มีปีกแมลงทับ ที่ชาวบ้านจากอุบลราชธานี และมุกดาหาร ร่วมถวายในงานรวม 3 กิโลกรัม ในส่วนของแมลงภู่ ใช้ดอกหญ้า และเมล็ดงาในการตกแต่ง ซึ่งทุกขั้นตอนของการทำเครื่องสดประดับพระจิตรกาธานนั้น ประชาชนจิตอาสา รวมทั้งช่างฝีมือทุกคนล้วนมีความตั้งใจอยากทำงานถวายพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย

ทั้งนี้ การทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธาน ต้องให้แล้วเสร็จภายในเวลา 22.00 น. ของวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) พร้อมเคลื่อนย้ายไปประดับพระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศ โดยนายช่างราชสำนักจำนวน 13 นาย ในวันที่ 25 ต.ค. และให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกัน

ด้าน นายพาวุธ ด้วงฝั่งเหนือ คณะสกุลช่างแทงหยวกฝั่งธนบุรี วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เปิดเผยว่า ทีมของตน 4 คน ได้รับมอบหมายในส่วนของชั้นรัดเกล้า ซึ่งจะเป็นลายแทงหยวกลายกระจังและลายเฟื่อง โดยขั้นตอนการแทงหยวกจะเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกหยวกกล้วย ซึ่งเป็นกล้วยตานีเพราะมีช่องน้ำเลี้ยงกว้าง เก็บน้ำเลี้ยงได้มาก ทำให้ไม่เหี่ยวง่ายทั้งยังมีความเหนียว ไม่กรอบแตกง่ายเหมือนกล้วยชนิดอื่นๆ และกาบมีสีขาว เรียบเนียน ไม่มีรอยด่าง เมื่อลอกกาบออกมาแล้ว ก็จะนำแต่ละกาบมาแทงลายต่างๆ อาทิ ลายฟัน 1 ลายฟัน 3 ลายฟัน 5 เป็นต้น จากนั้นจะนำแต่ละกาบมารวมติดกันโดยใช้วัสดุต่างๆ เช่น ไม้เสียบลูกชิ้น เป็นเครื่องมือในการยึดติดไว้เพื่อประกอบเป็นหนึ่งเดียวกัน

“การที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในงานแทงหยวก นับเป็นเกียรติอันสูงสุดของชีวิตที่ได้มีโอกาสถวายงานเพื่อพระองค์ท่าน ซึ่งผมจะทำทุกขั้นตอนอย่างประณีตที่สุด และเชื่อว่า ช่างทุกคนจะทำงานด้วยความตั้งใจและต้องให้งานออกมาดีที่สุดเช่นกัน หากเทียบกับสิ่งที่พระองค์ทรงทำเพื่อประเทศชาตินั้น สิ่งที่พวกผมทำถือว่าน้อยนิดมากที่จะทำเพื่อตอบแทนพระองค์ท่าน พวกเราล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่9 อย่างหาที่สุดมิได้” คณะสกุลช่างแทงหยวกฝั่งธนบุรี เผย

ทั้งนี้ พระจิตกาธาน คือ เชิงตะกอน หรือฐานที่ทำขึ้นสำหรับเผาศพ เป็นคำที่ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบด้วยแท่นฐานสำหรับเผาทรงสี่เหลี่ยม ภายในใส่ดินเสมอปากฐานสำหรับวางฟืน ไม้จันทน์ พระจิตกาธาน มักประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีและเครื่องสด เช่น ดอกไม้ ใบไม้ ใบตอง หยวกกล้วยและผลไม้บางชนิดเป็นต้น สำหรับเป็นเครื่องกันไฟ ในการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระจิตกาธานจะตั้งอยู่บนฐานชาลาชั้นบนสุดภายในบุษบกองค์ประธาน

กำลังโหลดความคิดเห็น