xs
xsm
sm
md
lg

บวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวกเครื่องสดประดับพระจิตกาธานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ฝ่ายพัฒนาบุคลากรด้านช่างฝีมืองานศิลปะ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง ได้จัดพิธีบวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวก ในการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ลานกลางแจ้ง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง

วันนี้ (22 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.14 น. ที่ลานกลางแจ้ง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง ฝ่ายพัฒนาบุคลากรด้านช่างฝีมืองานศิลปะ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง ได้จัดพิธีบวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวก ในการจัดทำเครื่องสดประดับพระจิตกาธานในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นำโดย นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม นายช่างศิลปกรรม พร้อมด้วย ช่างราชสำนักและช่างแทงหยวกพื้นถิ่น 4 ภูมิภาค จำนวน 37 คน ร่วมพิธี

เริ่มต้นด้วยการกล่าวสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นางพัฒนา เกตุกาญจโน ผู้อำนวยการโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นประธานจุดเทียน จากนั้น นายบุญชัย กล่าวโองการบวงสรวงครูช่างแทงหยวก นายวิทธิชัย ประคองศักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองศิลปกรรม นำน้ำมนต์ธรณีสาร น้ำพระพุทธมนต์ ประพรมเครื่องบวงสรวง เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และต้นกล้วยต้นเอกที่ช่างราชสำนัก ได้ทำพิธีตัดที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นต้นสำคัญที่จะใช้ในการแทงหยวกบริเวณเรือนยอดชั้นที่ 9 ชั้นสูงสุดด้วยลายลูกฟักช่องกระจก ประกอบด้วย ลายฟันปลา และลายฟันสาม

นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม กล่าวว่า สำหรับงานนี้เป็นการแยกออกมาจากงานช่างเครื่องสดราชสำนัก คืองานช่างแทงหยวก งานแทงหยวกที่จะถวายงานในพระราชพิธีสำคัญ นายช่างต้องมีพิธีไหว้ครูเป็นการเคารพต่อครู และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นขวัญกำลังใจต่อช่าง และยิ่งในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ พระศพใหญ่ๆ ก็จะมีพิธีบวงสรวงครบสำรับ ทั้งอาหารคาวหวาน สำรับผลไม้ เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ อาทิ พิมพ์สำหรับกดมะละกอดิบ มีดแทงหยวก มีดปาดมุม เลื่อย ก้านลาน และกระดาษทอง ทุกอย่างที่จะใช้ประดับพระจิตกาธาน สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือขันน้ำพระพุทธมนต์ ขันน้ำพระเทพมนต์ น้ำมนต์พระธรณีสาร ที่เราทำพิธีเอง ประกอบด้วย ใบไม้มงคล อาทิ ใบคูน ใบขนุน ใบยอ ใบมะยม ฝักส้มป่อย มะกรูด ใบเงินใบทอง ใบมะขาม นำมาประพรมเครื่องบวงสรวงเครื่องมือ และตัวช่างเองเพื่อเกิดความสิริมงคล ขณะเดียวกันได้เชิญพระรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ หรือสมเด็จครูแห่งงานช่าง ซึ่งในบรรดานายช่างศิลปกรรมทุกแขนงเคารพนับถือ ร่วมบวงสรวงด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวง ได้มีการมอบหมายงานการแทงหยวกให้แก่ช่างจาก 4 ภูมิภาค ซึ่งทำงานร่วมกับช่างราชสำนัก โดยมอบหมายให้ตามความถนัดและเชี่ยวชาญของช่างในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ จากฐานของพระจิตกาธานชั้นเรือนไฟ ชั้นรัดเอว เป็นการถวายงานจากช่างจากจังหวัดสงขลา แทงหยวกลายกลีบบัวจงกล 5 ชั้น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการแทงหยวกระยะยาว, ชั้นรัดเกล้า เป็นการถวายงานจากช่างฝั่งธนบุรี วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร ชั้นเรือนยอด 9 ชั้น เป็นการถวายงานจากช่างเพชรบุรี ขณะที่ช่างจากจังหวัดมหาสารคามและอุบลราชธานี ถวายงานการแทงหยวกลายกระจังทิศ กระจังเจิม ซึ่งอยู่บริเวณทุกมุมของพระจิตกาธาน ส่วนลายเถาไขว้เลขเก้าไทย อ.กฤษณะ เฟื่องฟู ช่างราชสำนักที่คิดลายนี้เป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ จะเริ่มทำการแทงหยวกในวันที่ 23 และ 24 ต.ค. โดยต้องแล้วเสร็จภายในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 24 ต.ค. และเช็คความเรียบร้อยพร้อมเคลื่อนย้ายไปประดับพระจิตกาธานบนพระเมรุมาศโดยนายช่างราชสำนัก 13 นาย ในวันที่ 25 ต.ค.และให้เสร็จสิ้นก่อนเวลา 16.00 น. ของวันเดียวกัน

ด้านหนึ่งในนายช่างแทงหยวก นายสมคิด คชาพงษ์ อายุ 54 ปี คณะสกุลช่างแทงหยวกฝั่งธนบุรี วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เผยว่าภายหลังร่วมพิธีบวงสรวงสังเวยไหว้ครูช่างแทงหยวก ว่า ถือเป็นสิริมงคลสำหรับช่าง โดยตัวเองได้นำอุปกรณ์และเครื่องมือ ในการแทงหยวกประดับซึ่งใช้ประจำ โดยช่างแต่ละที่จะมีอุปกรณ์ที่ต่างกันตามความถนัด ครั้งนี้พวกเราทุกคนตั้งใจถวายงานอย่างสุดฝีมือและสุดความสามารถ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.๙

โดยคณะสกุลช่างแทงหยวกฝั่งธนบุรี ได้รับมอบหมายแทงหยวกในชั้นรัดเกล้าลายตามแบบราชสำนัก โดยเริ่มต้นด้วยการลอกกาบกล้วย เพื่อเลือกกาบกล้วยที่ขาวสวย ไม่มีตำหนิ ก่อนที่จะทำการแทงหยวก ทั้งนี้ ช่างจะมีเทคนิกการรักษากาบกล้วยที่แตกต่างกัน โดยของคณะฯ หลังจากแทงหยวกกล้วยเป็นที่เรียบร้อย จะทำไปแช่สารส้ม เพื่อเป็นการฟอกยางกล้วย ทำให้กาบกล้วยมีความขาวและคงทน

ด้าน นายบุญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานกระเช้าขนม 5 กระเช้า ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยสร้างความปลาบปลื้ม และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ช่าง รวมถึงผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคน ขณะที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานอาหารและขนม จำนวน 12 กระเช้า อีกทั้งมีรับสั่งว่า น่าจะเผยแพร่องค์ความรู้ตามโบราณราชประเพณีตรงนี้ให้กับประชาชนได้รับรู้ บางอย่างเป็นการประยุกต์ด้วยการประดิษฐ์ดอกไม้แบบร่วมสมัย อย่างการติดกลีบดอกไม้ด้วยกาว การยิงด้วยปืนกาว ซึ่งเอามาผนวกกับการกรองดอกไม้แบบโบราณราชสำนัก แล้วออกมาลงตัว ไม่ทำลายความวิจิตรบรรจงในรูปแบบของโบราณ ซึ่งของสองอย่างมารวมกันกลับสวยกว่าเก่า ประณีต ดูวิจิตรมากมาย เพื่อให้สมพระเกียรติกับงานที่ทำ









กำลังโหลดความคิดเห็น