xs
xsm
sm
md
lg

“พญาปี่” ผู้สร้างพระโกศงาช้างพระสังฆราชประดิษฐ์ปี่ถวายในพระราชพิธีออกพระเมรุในหลวง ร.๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วันนี้ (18 ต.ค.) จ่าเอก สุวรรณ ศาสนนันทร์ หรือ พญาปี่ ปราชญ์ชุมชนแห่งปากเกร็ด อดีตข้าราชการทหารเรือ สังกัดกองดุริยางค์ทหารเรือ ที่บ้านเลขที่ 73/12 หมู่ 1 ถนนสุขาประชาสรรค์ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี หลังทราบว่า จ่าเอก สุวรรณ เป็นผู้ประดิษฐ์ปี่ขึ้นมาใหม่บริสุทธิ์ มิได้ผ่านการใช้งาน เพื่อใช้เฉพาะงานออกพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้ และทดแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยปี่ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่นั้นทำจากไม้มงคล 9 ชนิด จำนวนทั้งหมด 30 เลา ซึ่งจะมอบให้หน่วยงานทั้งหมด คือ ครั้งที่ 1 จำนวน 10 เลา เป็นปี่ไฉนจำนวน 8 เลา เพื่อใช้ในวงปี่ไฉนกลองชนะ ประโคมย่ำยาม และ ปี่ชวา จำนวน 2 เลา เพื่อใช้ในวงบัวลอย และ วงปี่พาทย์นางหงส์ เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 60, ครั้งที่ 2 จำนวน 8 เลา เป็น ปี่ชวา จำนวน 4 เลา ปี่ใน จำนวน 2 เลา และปี่มอญ จำนวน 2 เลา โดยมอบให้แก่สำนักสังคีต กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 60 และครั้งที่ 3 จำนวน 12 เลา เป็น ปี่ชวา 4 เลา ปี่มอญ 4 เลา ปี่ใน 4 เลา โดยจะมอบให้วงดุริยางค์ไทย 4 เหล่าทัพ ในวันที่ 20 ต.ค. 60 นี้ ทั้งหมดจะใช้ร่วมบรรเลงในงานออกพระเมรุ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

จ่าเอก สุวรรณ ศาสนนันทร์ หรือ พญาปี่ แห่งปากเกร็ด เคยถวายปี่ในไม้มะริดประกอบงาช้าง ปี่ พ.ศ. 2536 ได้ซ่อมแซมกล่องงาช้าง ของใช้ส่วนพระองค์ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวรวิหาร, ทำด้ามตาลปัตร จำนวน 300 ด้าม ถวายในงานออกพระเมรุ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปริณายก และ ทำพระโกศงาช้าง เพื่อบรรจุอัฐิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปริณายก สำหรับการประดิษฐ์ปี่ใหม่เพื่อใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ทำจากไม้มงคล 9 ชนิด คือ ไม้ประดู่ ความหมายคือ ความพร้อม ร่วมสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม้กันเกรา ความหมายคือ จะช่วยป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ไม่ให้มากล้ำกราย ขัดเกลาให้คนเป็นคนดี ไม้ทรงบาดาล ความหมายคือ พลังอันยิ่งใหญ่ ให้มีความสงบร่มเย็น ไม้ชิงชัน ความหมายคือ การชิงชัยหรือชัยชนะ ไม้พะยูง ความหมายคือ พยุงบ้าน พยุงเรือน พยุงฐานะ ไม้มะริด ความหมายคือ พ้องเสียงคำว่าฤทธิ์ เชื่อว่า มีอิทธิฤทธิ์ ไม้พญางิ้วดำ ความหมายคือ มีพุทธคุณให้โชคให้ลาภ ป้องกันคุณไสยมนต์ดำ ไม้พุด ความหมายคือ พ้องเสียงคำว่าพุทธ พุทธศาสนา ผู้ตรัสรู้ และไม้ขนุน ความหมายคือ หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น มีผู้ให้การเกื้อหนุน ไม้มงคลทั้งหมดเป็นไม้เก่าที่ผู้ประดิษฐ์เก็บสะสมมาเป็นเวลานาน

สำหรับการประดิษฐ์ปี่เพื่อมอบให้กับ 4 เหล่าทัพครั้งนี้ จำนวน 12 เลา เพื่อจะนำไปมอบให้ในวันที่ 20 ต.ค. 60 ผู้สื่อข่าวได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ขั้นตอนในการประดิษฐ์ด้วย ทุกขั้นตอน จ่าเอก สุวรรณ ใช้ความประณีต และตั้งใจอย่างมากทุกขั้นตอน เพื่อให้ปี่ทุกเลาออกมาสวยงามสมพระเกียรติ โดยสำเร็จไปแล้ว 6 เลา อีก 6 เลา จะแล้วเสร็จทันวันส่งมอบพร้อมบรรจุในกล่องบุกำมะหยี่งดงาม ถือว่าเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ทำความดี และมีส่วนร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระเมตตาและพระเกียรติแผ่ไพศาล ภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาในรัชกาลที่ ๙

จ่าเอก สุวรรณ ศาสนนันทร์ หรือ พญาปี่ แห่งปากเกร็ด เปิดเผยว่า ตั้งแต่งานสมเด็จพระสังฆราชตนได้มีโอกาสทำพระโกศงาช้าง และตาลปัตร ถวาย รวมทั้งซ่อมกล่องงาช้างของ ร.๔ แต่งานนี้ตนอยากทำอะไรถวายเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดินถวายในหลวง พอดีมีลูกศิษย์มาขอให้ทำปี่ไฉนให้ 2 เลา เพื่อเป่าประโคมย่ำยาม เพราะเป็นปี่ใหม่ ตนก็ยินดีแต่ในงานนี้มีคนเป่าทั้งหมด 8 คน ตนจึงทำปี่ไฉนให้ไป 8 เลา ปี่ชวา 2 เลาจากไม้ที่มีคุณค่าที่ตนเก็บสะสมไว้เป็นไม้มงคล 9 ชนิด ที่มีความหมายซึ่งตรงกับรัชกาลที่ ๙ พอดี จากนั้นได้ปรึกษาผู้ใหญ่จนได้ทำถวายสมเด็จพระเทพฯ ที่ตนทำเพราะอยากให้ในงานในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่เป็นหนึ่งในประเทศ จึงอยากทำปี่ที่ใช้เฉพาะงานที่เป็นปี่ที่ทำขึ้นมาใหม่ ตนอยากร่วมทำบุญเพื่อแผ่นดิน ปี่ชุดนั้นจึงได้ใช้ในงาน 100 วัน ตนได้ยินเสียงปี่ของตนเป่าออกงานรู้สึกปลื้มและภูมิใจ ต่อมาตนได้ทำตำราการสร้างปี่ถวายเข้าไปด้วยซึ่งมีแค่ 2 เล่มเท่านั้น ต่อมาตนก็ได้ทำปี่ให้กับกรมศิลปากรอีก 8 เลา ความรู้สึกก็ดีใจมาก ยิ่งตนได้ใช้ภูมิปัญญาที่สะสมมาได้นำมาทดแทนพระคุณแผ่นดินถวายในหลวง ร.๙ วันนั้นเสียงปี่ที่ตนทำจะดังไปทั่วแผ่นดินไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น