รู้จัก “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” บนพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นฉัตรสีขาว 9 ชั้น สูง 5.10 เมตร น้ำหนัก 80 กิโลกรัม จัดสร้างตามแบบโบราณราชประเพณี โดยต้นแบบจากพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๘
วันที่ 18 ตุลาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มาจากคำว่า
- นพ แปลว่า 9
- ปฎล แปลว่า ชั้น
- มหา แปลว่า ใหญ่
- เศวต แปลว่า สีขาว
- ฉัตร โดยรูปศัพท์ แปลว่า ร่ม เป็นเครื่องสูงซึ่งเป็นเครื่องสำหรับแสดงพระราชอิสริยยศ
สำหรับคำอ่าน “พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร” อ่านว่า พฺระ -นบ-พะ-ปะ-ดน-มะ-หา-สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด รวม 11 พยางค์
เรียกโดยย่อว่า “พระมหาเศวตฉัตร”
เป็นฉัตรสีขาว 9 ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทอง 3 เส้น เป็นฉัตรประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ เพื่อแสดงว่าทรงได้รับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริยาธิราชโดยสมบูรณ์
อธิบายคือ สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว ลักษณะเป็นฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น แต่ละชั้นมีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อน 3 ชั้น ฉัตรชั้นล่างสุดห้อยอุบะจำปาทอง เศวตฉัตรแบบนี้ใช้แขวนหรือปักในสถานที่และโอกาสต่างๆ คือ
• ใช้ปักเหนือราชบัลลังก์ในท้องพระโรงในพระที่นั่ง พระมหาปราสาทในพระมหามณเฑียร
• ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ใช้ปักเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐเมื่อครั้งทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ใช้แขวนเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์ภายในพระมหามณเฑียร
• ใช้แขวนเหนือพระโกศทรงพระบรมศพ ณ ที่ประดิษฐานพระบรมศพ
• ใช้ปักยอดพระเมรุมาศ
• ใช้ปักบนพระยานมาศสามลำคาน หรือพระยานมาศสามลำคานในการเชิญพระบรมศพโดยขบวนพระบรมราชอิสริยยศ
• ใช้ปักเหนือเกรินขณะเชิญพระโกศพระบรมศพขึ้นสู่พระมหาพิชัยราชรถ และเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุมาศ
• ใช้แขวนเหนือพระจิตกาธานเมื่อสุมเพลิงและเก็บพระบรมอัฐิ
นางสาวศุภร รัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมศิลปากร อธิบายว่า การออกแบบพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ได้นำต้นแบบ จากพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๖ และพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๘ โดยดำเนินการจัดสร้างตามแบบโบราณราชประเพณีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์
ลักษณะของการทำฉัตร จัดทำด้วยผ้าเบาทิ้งตัวสีขาวมีขลิบทองรวมสามชั้น โดยนำผ้าสามผืนมาล้อมโครงในการขลิบทองเส้นขลิบของฉัตรชั้นล่าง มีความหนาที่สุด และแขวนประดับด้วยจำปา 14 ช่อ ห้อยลงมาให้เกิดความสวยงาม
ที่สำคัญ ที่บริเวณส่วนยอดของฉัตร ได้ดำเนินการตามแบบโบราณราชประเพณีคือนพปฎลมหาเศวตฉัตร ต้องมีลักษณะเป็นทรงองค์ระฆังจากนั้นเป็นบัวกลุ่ม คั่นด้วยลูกแก้ว บัวกลุ่มต่อด้วยปลีปลาย เป็นโลหะทองแดง กลึงรับ เพื่อต่อสายล่อฟ้าด้วย
การจัดสร้างครั้งนี้มีการใช้ตาข่ายพลาสติก ใส่ไว้ในโครงสร้างเพื่อเวลาที่ฉัตรเจอลมแล้วจะไม่ยุบช่วยทำให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติและ ยังสามารถกลับมาอยู่ที่เดิมและไม่เป็นสนิม
สำหรับพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธาน เป็นฉัตรขนาดใหญ่ และจะเป็นการยกตัวฉัตรทั้งหมด ดังนั้นจะต้องมีการประกอบแกนฉัตรเป็นเหล็กและมีก้านออกไปเหมือนร่ม การติดตั้งฉัตรต้องสลักเข้าเดือยให้แน่นหนามีความแข็งแรงสูงสุด
โดยเฉพาะปลายฉัตรที่จะต้องทำหน้าที่เป็นสายล่อฟ้า จึงต้องใช้โลหะทองแดงกลึงที่บริเวณส่วนปลายและจะมีสายทิ้งดิ่งยังข้างล่างโดยได้ดำเนินการไว้เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่การยกฉัตรนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวัง สายทิ้งดิ่งจะตกไม่ได้ ช่างจะต้องผูกลวดทองแดงเก็บไว้ เมื่อใส่ฉัตรเข้าไปแล้วจะเชื่อมกับสายทองแดงนี้พอดี และยังต้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านตรงส่วนร่องตกมาที่ฝ้า ซึ่งช่างได้มีการทำสังกะสีกันน้ำฝนไว้ เพื่อไม่ให้น้ำจะรั่วซึมเข้าไปสู่พระเมรุมาศ
สำหรับการซ้อมยกฉัตร ใช้การวางสลิง แขวนฉัตรบริเวณลานด้านหน้าพระที่นั่งฝั่งทรงธรรมหมุนสลิงผ่านลอกหมุนกว้านขึ้นไปข้างบนเมื่อวัดระยะความสูงของยอดพระเมรุมาศกับองศาแนวเอียงรวมกันประมาณกว่า 100 เมตร ซึ่งด้านบนจะมีผู้คอยประคองฉัตรและทำการติดตั้งเชื่อมสลักป้องกันไม่ให้ฉัตรหมุนจนเสร็จสมบูรณ์
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศฯ กล่าวว่า การซ้อมจะทดสอบการชักรอกสลิง และตรวจสอบตำแหน่งสลิง รวมถึงการเลื่อนฉัตร เพื่อเป็นไปตามจังหวะและลงตำแหน่งบริเวณส่วนยอดพระเมรุมาศที่กำหนดไว้
โดยกรมศิลปากรจัดเตรียมฉัตร 9 ชั้น มีขนาดและน้ำหนักใกล้เคียงกับนพปฎลมหาเศวตฉัตรองค์จริง ซึ่งมีน้ำหนัก 80 กิโลกรัม สูง 5 เมตร 10 เซนติเมตร ในการทดสอบ เพื่อให้วันพระราชพิธีจริงสมพระเกียรติที่สุด ภาพรวมการซ้อมเมื่อวันที่ 12 ต.ค. และ 17 ต.ค. เป็นไปด้วยดี ใช้เวลาในการเชิญฉัตรขึ้นสู่ยอดรวมประมาณ 3 นาที
สำหรับหมายกำหนดการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 เวลา 17.00 น. มีดังนี้
- เวลา 17.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ถึงยังพระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง
- เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หน้าพระที่นั่งทรงธรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีฯ, พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศ สิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ และบูรณาปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศงานพระราชพิธีฯ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และคณะกรรมการ เฝ้าฯ รับเสด็จ
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชอาสน์ที่หน้ามุขพระที่นั่งทรงธรรม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการฯ กราบบังคมทูลรายงาน และเบิกกรรมการสร้างพระเมรุมาศ
- จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังที่ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมนพปฎลมหาเศวตฉัตร
- นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ถวายสายสูตรยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร (โหรหลวงลั่นฆ้องชัย ชาวพนักงานประโคม สังข์ แตร และดุริยางค์)
- เมื่อนพปฎลมหาเศวตฉัตรขึ้นสู่ยอดพระเมรุมาศแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสายสูตรคืนอธิบดีกรมศิลปากร รับไปผูกไว้ที่เสาบัว
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพระที่นั่งทรงธรรมและพระเมรุมาศ ตามพระราชอัธยาศัย และเสด็จฯ กลับ
บรรณานุกรม
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (27 พฤศจิกายน 2551) ฉัตร. สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560 จากเว็บไซต์ คลิกที่นี่.
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร. (2560) “คู่มือสื่อมวลชน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560 จากเว็บไซต์ คลิกที่นี่.