โฆษกราชบัณฑิตยสภา แนะคนไทยใช้คำราชาศัพท์ในช่วงพระราชพิธี ให้ถูกต้อง ชี้ หากเป็นคำราชาศัพท์อยู่แล้ว เช่น คำว่า “เสวย” ไม่ต้องมีคำว่า “ทรง” นำหน้า ส่วนคำว่า “สวรรคต” อ่านว่า “สะ-หวัน-คด” เท่านั้น ส่วนคำว่า “ถวาย” เป็นความหมายการให้ของ กรณีพระมหากษัตริย์ให้ใช้เป็นรูปนามธรรม เช่น “วางดอกไม้จันทน์เพื่อถวายแด่…”
น.ส.สุปัญญา ชมจินดา เลขานุการกรม และโฆษกสำนักงานราชบัณฑิตยสภา กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ “ภาษาไทย ภาษาสื่อ” ในรายการราชดำเนินเสวนา ซึ่งจัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า สำหรับราชาศัพท์ที่มีการใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่นั้น การใช้ราชาศัพท์ให้ถูกต้องเป็นเหมือนการให้เกียรติเจ้านาย แต่ก็ยังมีการใช้ไม่ถูก เช่น “เสวย” ไม่ต้องมี “ทรง” นำหน้า ส่วนเรื่องคำว่า “สวรรคต” ต้องออกเสียงว่า สะ-หฺวัน-คด ไม่ใช่ สะ-หฺวัน-นะ-คด
ส่วนคำว่า “ถวาย” นั้น เป็นความหมาย การให้ของ เช่น ถวายภัตตาหารพระภิกษุ หากจะใช้คำว่าถวายกับเจ้านาย (พระมหากษัตริย์) ให้ใช้เป็นรูปนามธรรม ส่วนคำว่า “ถวาย” ที่ประชาชนเข้าใจว่าเป็นคำราชาศัพท์ เมื่อจะไปวางดอกไม้จันทน์ ถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ถ้าใช้แค่คำว่า “ไปวางดอกไม้จันทน์” ประชาชนจะคิดว่าเป็นการวางดอกไม้จันทน์สำหรับคนทั่วไปหรือไม่ แต่การใช้ถ้อยคำที่เหมาะสมนั้น สามารถใช้คำว่า “ไปวางดอกไม้จันทน์เพื่อแสดงความอาลัยแด่…” หรือ “วางดอกไม้จันทน์เพื่อถวายแด่…” ซึ่งเราสามารถเรียบเรียงถ้อยคำเพื่อใช้ภาษาให้เหมาะสมได้
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้มีการเผยแพร่ราชาศัพท์เกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพิ่มเติมในเว็บไซต์ ซึ่งประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องได้ อย่างไรก็ตาม ขอยกตัวอย่างคำว่า “จารึกไว้ในใจไทยทั่วหล้า” “ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณจนหาที่สุดมิได้” ที่มักจะพบว่าใช้ผิดอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตามความถูกต้องต้องตามด้วยชื่อบุคคล ห้ามใส่ชื่อหน่วยงานก่อน ส่วนคำว่า “พระบรมราโชวาท” ขณะนี้ละเว้นไว้ไม่ได้ใช้ และคำอื่นๆ อาจจะนำกลับมาใช้หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว
ดร.โสภา ชูพิกุลชัย ชปีลมันน์ นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า การปลูกฝังการใช้ภาษาไทยที่ต้องทำแต่เด็กๆ นั้น โดยเฉพาะการใช้คำราชาศัพท์ที่ถูกต้อง อาจจะต้องใช้ช่องทางสื่อ เช่น ละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่คนส่วนใหญ่ติดตามดู เพื่อให้คนดูเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้คนดูจะจดจำได้มากกว่าสื่อต่างๆ ส่วนวัยรุ่นหากจะใช้ละครจักรๆ วงศ์ๆ คงไม่ได้ จึงต้องหาวิธีการใช้สื่อช่องทางอื่นในการเรียนรู้แทน