องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ออกประกาศโครงการสมัครใจเกษียณก่อนกำหนด พบปี 2559 รายจ่ายบุคลากรพุ่งกว่า 660 ล้าน จากรายได้ภาษีบาปไม่เกิน 2,000 ล้านในแต่ละปี
วันนี้ (13 ต.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ได้ออกประกาศ เรื่อง โครงการสมัครใจเกษียณก่อนกำหนด ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. ถึงวันที่ 11 พ.ย. สำหรับพนักงานประจำที่สนใจ
โดยให้สิทธิแก่พนักงานลาออกก่อนครบเกษียณอายุโดยได้รับเงินชดเชย 1 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย สำหรับอายุงานไม่ถึง 1 ปี เงินชดเชย 3 เท่า สำหรับอายุงาน 1 - 3 ปี สูงสุด 10 เท่า สำหรับอายุงาน 10 ปีขึ้นไป (แต่ความเป็นจริง สูงสุด 8 เท่า สำหรับอายุงาน 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 10 ปี เนื่องจาก ส.ส.ท. ก่อตั้งมาได้ 9 ปี) พร้อมด้วยเงินตอบแทนพิเศษ ตามจำนวนปีที่ปฏิบัติงาน คูณด้วยเงินเดือนเดือนสุดท้าย
นอกจากนี้ จะยังได้รับสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลที่คลินิก ส.ส.ท. จนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยจะมีผลพ้นสภาพ 1 ม.ค. 2561 และรับเงินโดยโอนเข้าบัญชีเงินเดือนในวันที่ 5 ม.ค. 2561 โดย ส.ส.ท. จะไม่รับพนักงานที่ได้รับอนุมัติให้ลาออกตามโครงการฯ กลับเข้าทำงานอีก
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประกาศดังกล่าวไม่ได้ระบุจำนวนเป้าหมายพนักงานที่สมัครใจเกษียณก่อนกำหนดว่ามีจำนวนกี่คน จากจำนวนพนักงานที่คาดว่าจะมีหลักร้อยคน
อนึ่ง ในเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2559 ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2559 มีค่าใช้จ่ายบุคลากร รวม 716.25 ล้านบาท รายจ่าย 660.79 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เงินเดือนและค่าตอบแทน 567.10 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสวัสดิการ 53.61 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเงินผลประโยชน์พนักงาน 40.08 ล้านบาท
ทั้งนี้ รายได้หลักของไทยพีบีเอส มาจากเงินสนับสนุนจากภาษีสุราและยาสูบอัตรา 1.5% สูงสุดไม่เกินปีละ 2,000 ล้านบาท นอกนั้นเป็นรายได้จากดอกเบี้ยที่ฝากเงินกับธนาคารทั้งรัฐและเอกชน การลงทุนตราสารหนี้ทั้งภาคเอกชน พันธบัตรภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ แต่มีปัญหามากที่สุดกับการซื้อหุ้นกู้บริษัทการเกษตรแห่งหนึ่ง ที่ทำให้ผู้บริหารต้องลาออก และสรรหาขึ้นมาใหม่มาแล้ว