เลิกฮิตซะแล้ว ผู้เพาะเลี้ยง “กุ้งเครย์ฟิช” แอบลักลอบทิ้งลงแหล่งน้ำธรรมชาติหลังราคาตก กรมประมงห่วงกระทบ เหตุไม่ต่างจาก “ปลาซัคเกอร์” ทำลายระบบนิเวศไปแล้ว เตรียมออกกฎหมายคุมเข้มพร้อมพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น 69 รายการ ฝ่าฝืนปล่อยลงน้ำคุก 2 ปี ปรับ 2 ล้าน ลักลอบนำเข้าคุก 1 ปี ปรับอีก 1 ล้าน แนะถ้าเบื่อเอามาให้ประมงจังหวัดจัดการก็ได้
รายงานข่าวแจ้งว่า จากที่ก่อนหน้านี้มีกระแสการเลี้ยงกุ้งเครฟิช ซึ่งมีจุดเด่นที่มีสีสันสวยงาม และได้รับความนิยม มีการซื้อขายในราคาสูงถึงหลักแสนบาท จึงถือว่าเป็นกุ้งเศรษฐกิจที่ทำรายได้ดี แต่ปรากฏว่า ในระยะหลังมีการเพาะเลี้ยงกันจำนวนมาก แต่ราคาขายต่อตัวตกต่ำลงถึงขั้นขายไม่ออก ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงต้องเสียค่าอาหารให้กับกุ้งเครย์ฟิชสูงถึง 500 - 600 บาทต่อวัน ทำให้มีผู้เพาะเลี้ยงบางรายแอบลักลอบปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งทางกรมประมงเกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะจัดเป็นพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น (เอเลี่ยน สปีชีส์) เช่นเดียวกับปลาซัคเกอร์ หอยเชอรี่ เต่าญี่ปุ่น ปลาหมอสีคางดำ ปลาพีคอกแบส
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ได้เตรียมร่างกฎหมายที่มีอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ. 2558 ควบคุมดูแลสัตว์น้ำต่างถิ่น เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าจากคณะกรรมการคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง (ไอบีซี) จำนวน 69 รายการ หากมีผลบังคับใช้ กรณีที่ผู้กระทำผิดนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หากจะนำเข้ามาในประเทศ ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการไอบีซีเป็นรายชนิดอย่างละเอียด ต้องบอกวิธีป้องกันสัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดออกไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะให้ได้ หากผู้ใดฝ่าฝืน มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมขอความร่วมมือประชาชน หากจะเลี้ยงหรือครอบครองสัตว์น้ำต่างถิ่น ต้องเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ หากสัตว์เหล่านี้หลุดออกไป หากไม่ต้องการเลี้ยง ห้ามปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ แต่ให้นำมามอบให้กรมประมง หรือสำนักงานประมงจังหวัด เพื่อให้กรมประมงรับไปดูแล และป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้
นายอดิศร เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้พบการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ เอเลี่ยน สปีชีส์ ในประเทศไทยหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะ ปลาซัคเกอร์ หอยเชอรี่ เต่าญี่ปุ่น ปลาหมอสีคางดำ ปลาพีคอกแบส และ กุ้งเครย์ฟิช จะไปรุกรานสัตว์น้ำประจำถิ่นไทยสร้างความเสียหายต่อเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยขณะนี้ ปลาหมอสีคางดำ และ ปลาพีคอกแบส จะถูกเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ห้ามนำเข้าอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งมีนโยบายเร่งกำจัดปลาหมอสีคางดำ เพราะมีรายงานการรุกรานสูง
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมา กรมประมงมีนโยบายไม่ส่งเสริมให้เลี้ยงกุ้งเครย์ฟิช เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาเหมือนปลาซัคเกอร์ หรือ ปลาเทศบาล ที่ช่วงแรกนำมาใช้ประโยชน์ในการทำความสะอาดตู้ปลา พอตัวใหญ่ขึ้น รูปร่างน่ากลัว ก็ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากปลาซัคเกอร์ไปแย่งอาหารปลาอื่นๆ รวมทั้งกินไข่ปลาตัวอื่นๆ ทำให้ปริมาณปลาท้องถิ่นชนิดอื่นๆ ลดลง อีกทั้งยังมีผู้ปล่อยปลาซัคเกอร์อย่างต่อเนื่อง เพราะคิดไปเองว่าเป็นปลาราหู หากปล่อยปลาลงในแหล่งน้ำจะเป็นการสะเดาะเคราะห์ ซึ่งไม่เป็นความจริง และยังซ้ำเติมปัญหาให้มีผลกระทบไปอีก
ในทางกลับกัน ผู้เพาะเลี้ยงมีแนวคิดสวนทางกัน โดยอ้างว่าเลี้ยงแล้วได้ผลดี รายได้ดีเพราะขายได้แพงเท่ากุ้งมังกร และยังเป็นการยกฐานะเกษตรกร กรมประมงจึงไม่กล้าทำอะไร แต่ขณะนี้ผู้เพาะเลี้ยงเกิดภาวะขาดทุนอย่างหนัก เพราะราคาตกเหลือตัวละไม่กี่บาท ขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชกินอาหารวันละ 500 - 600 บาท จึงเกิดการแอบลักลอบปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ ขณะนี้กรมประมงได้ห้ามนำกุ้งเครย์ฟิชมีชีวิตทุกสายพันธุ์เข้าประเทศแล้ว พร้อมขึ้นทะเบียนผู้เลี้ยงและจำนวนกุ้งเครย์ฟิช โดยมีผู้มาขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยง 76,345 ราย ขณะที่ปัจจุบันมีฟาร์มเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง 1,230 ฟาร์ม แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 1,226 ฟาร์ม นิติบุคคล 4 ฟาร์ม