ดิ่งลึกสู่ห้วงความทรงจำแสนงามตราบนิรันดร์... สนทนากับอาจารย์สงคราม โพธิ์วิไล ช่างภาพชั้นครูผู้เคยถวายงานการใช้กล้องในหลวง ร.9 จากเรื่องเล่าหน้าคมเลนส์ สู่เรื่องราวซึ่งเปี่ยมล้นด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ...
เป็นที่รับรู้กันดีสำหรับพสกนิกรชาวไทย ว่าหนึ่งในพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือการทรงพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพ และทรงสนพระทัยในศาสตร์ด้านนี้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงศึกษาเรียนรู้ทั้งด้วยพระองค์เอง ทั้งจากผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ และหนึ่งบุคคลผู้เคยได้ถวายงานการใช้กล้องแด่พระองค์ท่าน ก็คือ “อาจารย์สงคราม โพธิ์วิไล”
จากลูกชายของข้าราชการชั้นผู้น้อยในค่ายทหาร “อาจารย์สงคราม” ได้ใช้ความพยายามศึกษาหาความรู้ หมั่นเรียนเพียรรู้ กระทั่งเจนจบในด้านช่างและศาสตร์ศิลป์การถ่ายภาพ กระทั่งได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายงานพระองค์ท่าน
สิ่งที่น่าประทับใจ และเราอยากแบ่งปันให้คนไทยทุกคนได้รับรู้ก็คือว่า นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของชายคนหนึ่งซึ่งตั้งตัวสร้างตนจนกระทั่งมีโอกาสได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท หากแต่บทสนทนาของเขาที่มากมายด้วยความทรงจำแสนงาม ยังทำให้เราได้เห็นภาพที่แจ่มชัดยิ่งกว่าเลนส์ชั้นดีทุกชนิด ดั่งว่าได้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิดพระองค์ท่าน รู้จักพระองค์ท่านอย่างลึกซึ้ง
สามสี่คำที่อาจารย์สงครามกล่าว ทั้ง No Mountain Too High, No Forest Too Deep และ No Art Too Limit เราเชื่อว่าจะตราตรึงลงไปในดวงจิตของคนไทยทุกคน เมื่อได้ฟังอาจารย์บอกเล่าจนครบถ้วน ทุกกระบวนความ...
ชีวิตไม่ได้ง่าย
เหมือนลั่นชัตเตอร์
“ชีวิตผมค่อนข้างโลดโผน ตอนผมอายุประมาณ 14-15 ปี พ่อผมทำงานอยู่ในกองทหาร ทำหน้าที่เป็นคนงานที่ต่ำที่สุดในกองทหาร เรียกได้ว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยมาก แล้วที่นั่นจะมีลูกนายพัน ลูกนายร้อย ลูกจ่า มันทำให้ผมเกิดความรู้สึกต่ำต้อยในตัวเอง เพราะลูกทหารที่ยศสูงกว่า จะชอบแกล้งคนที่ด้อยกว่า ตอนนั้นเราก็เลยได้คติที่ว่า ความลำบากทำให้เกิดทุกข์ ความทุกข์ทำให้คนคิด ความคิดทำให้คนฉลาด ความฉลาดทำให้คนแก้ไขปัญหาได้
“อีกอย่างบ้านผมจน เราจะไปมีเรื่องกับเขา ก็ไม่ได้ประโยชน์ ก่อนหน้านั้นเราเลยคิดที่จะไปเรียนต่อยมวย หาครูดีๆ มาสอน เพราะผมโดนรังแกบ่อย เขาก็เห็นผมเป็นเด็กธรรมดาๆ เคยชกต่อยกัน เขามากัน 3 คน แต่เขาไม่ได้รุมผมนะ ผมบอกให้เขาเข้ามาทีละคน ก็ลุยกันเลย ก็หน้าตาปูดกลับบ้าน โดนแม่ด่าไม่พอ วันรุ่งขึ้นคุณนายก็มาด่าพ่อแม่ผมอีก
“‘พ่อแม่เอ็งไม่สั่งสอน’ ‘อย่างมึงเนี่ยนะ โตไป อย่างดีก็เป็นโจรห้าร้อย’ ผมจำขึ้นใจจนถึงทุกวันนี้ คำนี้มันถูกฝังอยู่ในใจผม ผมเลยบอกว่าผมจะไม่เป็นโจรห้าร้อย ผมจะเป็นคนดี แต่คุณนายไปสอนลูกคุณนายเถอะ อย่าเป็นโจรห้าร้อยก็แล้วกัน
“หลังจากนั้น ทุกคนก็ร่ำลือกันเลยว่าผมชอบไประราน เกเร ไม่กลัวใคร แต่ผมก็โชคดีครับที่มีพันเอกพิเศษ ซึ่งเป็นหัวหน้าของทหาร บอกกับผมว่า ไอ้สงคราม มึงแน่มากเลยว่ะ มึงเป็นนักมวยเหรอ เออ แบบนี้เดี๋ยวตั้งค่ายมวยเลย
“ท่านก็ตั้งค่ายมวยชื่อว่า ศ อัศวสุวรรณ มาจากชื่อนามสกุลของนายทหารใหญ่ท่านนั้น ผมได้เข้าไปอยู่ในนั้น ก็โดนอบรมสั่งสอน แต่ทางพ่อแม่ไม่เห็นด้วย กลัวว่าเราจะไม่เรียนหนังสือ แต่ผมแบ่งเวลาของผมถูก ผมเป็นคนที่ชอบเขียนหนังสือมาก ยกตัวอย่าง ผมเคยอ่านหนังสือของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สุดยอดมากเลย ผมต้องเจอคนนี้ให้ได้ ตัดสินใจนั่งรถโดยสารเข้ากรุงเทพฯ เลย ไม่รู้จักใครด้วย รู้แค่ว่าท่านอยู่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ตรงถนนประชาธิปไตย
“ไปถึง ยามก็ถามว่ามาทำไมไอ้หนู ผมก็พูดตามภาษาคนเมืองกาญจน์ บอกไปว่า ผมมาหาหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช วันนั้นผมเลยได้เจอท่าน ทักทายกล่าวสวัสดี บอกไปว่าผมเคยอ่านหนังสือท่าน ผมอยากเก่งเหมือนท่าน ผมจะทำยังไง ท่านเลยบอกมาว่า เคยกินข้าวหรือเปล่าเรา ตอนนั้นผมก็คิดในใจนะ ผมมาถามเรื่องเขียนหนังสือ ไม่ได้มาถามเรื่องกินข้าว แต่ท่านก็ตอบมาว่า ‘ถ้าอยากจะเขียนหนังสือให้เก่งเหมือนฉัน ง่ายๆ เลยก็เหมือนกินข้าว’ “หลังจากนั้นท่านก็รีบไปประชุมต่อ ทิ้งความงงไว้ให้ผมคิดต่อ
“ผมนั่งรถจากกรุงเทพฯ กลับเมืองกาญจน์ คิดแล้วคิดอีกว่า ประโยคที่ท่านพูดคืออะไร สุดท้ายมันเหมือนมีอะไรผุดขึ้นมาในหัวว่า ถ้าอยากจะเขียนหนังสือให้เก่งเหมือนท่าน ก็ต้องกินข้าว เราต้องกินข้าวทุกมื้อ เราหิวก็ต้องอยากกินข้าว เราอยากเขียนหนังสือก็ต้องเขียน เขียนบ่อยๆ ให้เหมือนกินข้าว หิวเมื่อไหร่ก็เขียน ทุกวันนี้เชื่อไหมครับว่าในกระเป๋าผมมีแต่กระดาษ ปากกา ดินสอ ผมคิดอะไรได้ ผมก็จะจด”
จากนายช่างบริษัทฝรั่ง
สู่ช่างภาพระดับครู
“ในเรื่องการเรียน ผมไม่ทิ้งครับ จนกระทั่งได้ไปเรียนทางช่าง เป็นเป้าหมายเดียวเลยตอนนั้น เพราะพ่อบอกว่าเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ พอจบมาก็ได้ไปทำงานกับฝรั่ง ในด้าน Architect กับ Engineer สมัยก่อนจะได้เรียนทุกช่าง ต้องทำได้หมดทุกอย่าง พอเราทำเป็นทุกช่าง ฝรั่งก็เลยชอบ เขาจะให้ทำงานเลย แต่จะสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ เราเป็นเด็กบ้านนอกที่พูดภาษาอังกฤษได้ เนื่องมาจากการที่ผมชอบเข้าห้องสมุด ศึกษาด้วยตัวเอง เรียนเองทั้งหมดเลย ก็นับว่าดีไป
“ตอนนั้นหัวหน้าสถาปนิกผมชื่อ เดวิด เป็นคนอังกฤษ เขามีกล้อง 2 ตัว เด็กบ้านนอกอย่างเราพอเห็นเขามีกล้อง 2 ตัว ก็สนใจมาก แต่เขาก็บอกว่าถ้าอยากรู้ ต้องไปเรียนถ่ายภาพ ผมก็คิดว่าอะไรต้องเรียนด้วยเหรอ เห็นยกขึ้นมาก็แค่กดชัตเตอร์เอง พอกลับบ้านมาก็คิดว่า เอาวะ! เราต้องเรียน แล้วเราจะเรียนที่ไหนดี เช้ามาก็ไม่พูดเรื่องงานเลย ก็ไปหาเดวิด ถามเขาว่าอยากเรียนถ่ายภาพ เรียนที่ไหนดี สรุปว่าเดวิดก็ได้ส่งให้ไปเรียนพิเศษที่บริษัทโกดัก (ฟาร์อีสต์)
“การเรียนถ่ายภาพมันไม่ใช่แค่รู้นะ เวลาที่ฝรั่งให้ไปเรียนถ่ายภาพแรกๆ ผมก็โกรธเขานะ เขาให้ผมไปถ่ายภาพตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น เราก็เอาฟิล์มไป 3 ม้วน 4 ม้วน ถ่ายใช้ไม่ได้ เขาก็ให้ไปใหม่อยู่แบบนั้น เขาบอกว่า ‘สงคราม เวลาที่คุณไปทำงานถ่ายภาพ คุณเคยจดไหม คุณจะจำอย่างเดียวไม่ได้นะ ต้องจด เพราะถ้าไม่จด คุณจะรู้ไหมว่าดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ 1 องศา ใช้เวลากี่นาที’ ตั้งแต่นั้นมา ผมเลยตั้งปณิธานกับตัวเองว่า ผมจะต้องรู้ 4 รู้ คือรู้จำไม่พอ ต้องรู้จด รู้จดแล้วจะรู้จริง รู้จริงแล้วจะรู้แจ้ง”
ต้องสวยด้วยแสง แรงด้วยสี
ดีด้วยเรื่อง เฟื่องด้วยปัญญา
แสวงหา และรอคอย
“เพราะว่ามนุษย์เรา พอเห็นอะไรที่มีรายละเอียดก็ต้องอาศัยแสงด้วย ถ้าเป็นสีดำมันจะสวย ก็ต้องมีแสงมาช่วย แสงต้องดี แรงด้วยสี คือภาพจะดูเด่นดูดี มันจะมีสีโดดขึ้นมาตัดกัน เราก็เรียน RGB CMYK เราก็รู้ใช่ไหม อันไหนตัดกัน คอนทราสต์กัน ดีด้วยเรื่องคือ ภาพจะเล่าเรื่องของตัวเอง แบบที่เขาสอนว่า ภาพถ่ายหนึ่งภาพ มันแทนคำพูดได้เป็นพันคำ เฟื่องด้วยปัญญา คือนักถ่ายภาพต้องมีปัญญาเหนือกว่าคนอื่น ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าสายตาจะสัมผัสกับสมอง การเป็นนักถ่ายภาพในพจนานุกรมไม่มีคำว่า “ประเดี๋ยว” แต่ต้อง “เดี๋ยวนี้” เลย ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว นักจัดรายการโทรทัศน์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้อง “เดี๋ยวนี้” เช่นกัน ต้องเฟื่องด้วยปัญญาตลอด แล้วก็ต้องรู้จักแสวงหา ตรงไหนดีตรงไหนสวย และเมื่อได้แล้วคุณต้องรอคอย
“การถ่ายภาพนั้นมันเป็นศาสตร์หลายศาสตร์ ศาสตร์แรกคือเป็นประวัติศาสตร์ ตอนที่เรากดชัตเตอร์ ศาสตร์ที่ 2 ทุกคนจะเรียนถ่ายภาพ ต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพราะว่ามีแสง มีเลนส์ มีกล้อง มีอะไรทุกอย่าง ศาสตร์ที่ 3 ก็คือ ศิลปศาสตร์ ต้องมีมุมมองในการถ่ายภาพ สายตาที่เห็น อย่าเพียงแค่เห็น ต้องดูด้วย ถ้าคนเป็นนักถ่ายภาพศาสตร์พวกนี้สำคัญมาก ศาสตร์สุดท้ายเพื่อสังคม ทุกวันนี้เราได้อะไรจากภาพถ่ายเพื่อสังคมทั้งนั้นเลย ในหลวง ร.9 ท่านก็ทรงถ่ายภาพเพื่อสังคม เพราะฉะนั้น ศาสตร์ 4 ศาสตร์นี้ จะต้องถูกฝังอยู่ในใจของนักถ่ายภาพทุกคน ควรใช้หัวใจบันทึกภาพ อย่าแค่มองเห็นแล้วกดชัตเตอร์ ทุกครั้งที่กดชัตเตอร์ ต้องสวยด้วยแสง แรงด้วยสี ดีด้วยเรื่อง เฟื่องด้วยปัญญา แสวงหาและรอคอย”
ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9
ความภูมิใจสูงสุดในชีวิต
“พอรู้ทุกอย่างหมดแล้ว ผมก็ได้ไปทำงานกับญี่ปุ่น ได้รู้เรื่องเลนส์ เรื่องกล้องทุกอย่าง ได้อยู่ในสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อยู่สมาคมถ่ายภาพที่อเมริกา สมัยนั้นผมก็ได้ทำหนังสือ “โฟโต้ แอนด์ กราฟเฟอร์” ซึ่งมีคุณอมร ชัยเลิศ เป็นผู้ก่อตั้ง และยังมีครูพูน เกษจำรัส ศิลปินถ่ายภาพคนแรกของเมืองไทยเป็นที่ปรึกษาทางการ มีครูจิตต์ จงมั่นคง เป็นศิลปินท่านที่ 2 ซึ่งท่านได้ล้างฟิล์มให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 มา 30 ปี ก็เลยหลอมรวมผมให้เป็นคนที่รู้อะไรค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเวลาบริษัทกล้องจะเข้าถวายการใช้กล้องก็ต้องผ่านสมาคมถ่ายภาพซึ่งอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในสมาคมก็บอกมาว่า สงครามต้องเข้าถวายงาน พอต่างชาติมาถวายอะไรที่เกี่ยวกับกล้องและการถ่ายภาพ ผมก็ต้องเข้าไปร่วมงานด้วยทุกครั้ง ตรงนี้ก็เป็นสายธารทองที่นำพาผมเข้าไปเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน
“เข้าเฝ้าครั้งแรก รู้สึกภาคภูมิใจอะไรหลายๆ อย่าง ตื่นเต้นมากครับ ตอนนั้นน่าจะประมาณ ปี พ.ศ. 2520 การถวายงานเกิดจากการชักชวนของอาจารย์พูน เกษจำรัส และอาจารย์จิตต์ จงมั่นคง จึงได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในหลวงเพื่อถวายการใช้กล้อง รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้ผมได้รับใช้อย่างใกล้ชิด พอครูจิต จงมั่นคง ท่านมาบอกว่า สงคราม เธอต้องเข้าไปถวายงานให้ในหลวงนะ ผมก็ตอบท่านว่า ครูครับ ผมพูดราชาศัพท์ไม่เป็น ท่านก็บอกว่าให้ผมไปฝึก แต่พอเข้าไปจริงๆ เชื่อไหมครับ พระพักตร์ของพระองค์ท่านนั้น ใครเห็นก็ต้องเกรงขาม รู้สึกประหม่า ตระหนก เป็นความงดงามในชีวิต
“ผมจำได้ว่าครั้งแรก ผมก็ประทับใจแล้วครับ เมื่อเสียงครูจิต จงมั่นคงดังขึ้นมาว่า ลำดับนี้ไปให้นายสงคราม โพธิ์วิไล ได้เข้าถวายงานการใช้กล้องแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามด้วยผมที่เอ่ยว่า “ข้าพระพุทธเจ้านายสงคราม โพธิ์วิไล หากข้าพระพุทธเจ้าใช้คำราชาศัพท์ผิด ขอพระราชทานอภัยด้วยนะพระพุทธเจ้าค่ะ” ท่านก็ทอดพระเนตรมาที่ผม แล้วตรัสว่า “ฉันไม่ถือหรอก แต่รู้มิใช่หรือว่าจะมาเฝ้าฉัน” คำนี้ผมต้องจำไว้ชั่วชีวิตเลย เพราะท่านสอนให้เรามีความรู้ว่าจะต้องเตรียมตัว แล้วอีกประโยคหนึ่งก็คือ "เป็นคนไทยไม่หัดพูดบ้างหรือ" ตั้งแต่นั้นมาผมก็พูดได้เลยครับ”
......................................................................................................
• อาจารย์ได้เข้าไปถวายการใช้กล้องในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างไรบ้างคะ
มีเรื่องกล้อง เรื่องเลนส์ เลนส์ตัวนี้เป็นยังไง โค้ดเลนส์เป็นยังไง ไดอะแฟรม (Diaphragm) เป็นยังไง สัญลักษณ์ต่างๆ บนตัวเลนส์คืออะไร ระบบที่ออกใหม่เป็นอย่างไร การขึ้นฟิล์ม การวัดแสง การปรับระยะ การดูสเกล หลักๆ ก็ประมาณนี้ครับ
• นอกจากได้เป็นอาจารย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังมีโอกาสเป็นอาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์ท่านอื่นด้วย
ครับ ก็ได้ถวายงานให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ช่วยในเรื่องประมงน้อมเกล้า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งท่านก็เสด็จงานโฟโต้แฟร์ทุกปี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ซึ่งท่านทรงชอบถ่ายภาพก็เข้าไปสอนในวังสวนจิตรลดาครับ
• ถวายคำแนะนำพระองค์ท่านแล้ว ไม่ทราบว่าพระองค์ท่านมีคำแนะนำให้อาจารย์สงครามบ้างไหมคะ
มีครับ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพ แต่เราทราบโดยหัวใจอยู่แล้วว่าพระองค์ท่านนั้นทรงชอบกล้อง มีอยู่วันหนึ่ง พระองค์ท่านทรงรับสั่งถามว่า
“คุณสงครามทำอะไร” ผมก็ตอบไปว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเป็นบรรณาธิการหนังสือถ่ายภาพ พระพุทธเจ้าค่ะ” ท่านก็รับสั่งต่อว่า “อ้าวถ้าอย่างนั้นไปบอกพวกเราด้วยนะว่าให้ถ่ายภาพกันดีๆ เรายังผลิตฟิล์มเองไม่ได้” ซึ่งผมก็ทูลถามว่าทำไมท่านใช้คำว่า “พวกเรา” ท่านก็แย้มพระสรวลอย่างมีความสุขมากเลย แล้วบอกว่า “อ้าว! เราคนถ่ายภาพด้วยกันนะ เราเป็นพวกเดียวกัน” ผมรู้สึกว่าทำไมท่านทรงมีพระเมตตาอะไรอย่างนี้ ตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าจะไปบรรยายที่ไหน ผมจะใช้คำว่าพวกเราตลอดเลย
นอกจากนี้แล้วท่านยังเคยรับสั่งว่า “เคยรู้ไหมว่าเสียงชัตเตอร์ของตัวเองดังยังไง ทุกคนก็ตอบดังโชะ ดังแชะ แต่ในหลวงบอกว่าของฉันดัง 7 บาท ท่านเลียนเสียงว่า “เชดเบิด” ก็คือ 7 บาทนั่นเอง ท่านบอกว่า รู้ไหมเวลากดชัตเตอร์แต่ละครั้ง กล้องมันสึกหรอ รู้ไหม เวลาออกไปถ่ายภาพ มันก็มีค่ากิน ค่ารถ และเอาฟิล์มไปล้างก็เสียค่าล้าง กว่าจะได้ภาพหนึ่งภาพ นี่เราเสียเงินไป 7 บาท”
หรือแม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนนึกไม่ถึง เช่นบางครั้งทรงรับสั่งว่า “ร้านล้างฟิล์ม ขยายภาพ ต้องใช้เคมี เขาเอาเคมีไปทิ้งที่ไหนกัน อย่าทิ้งลงแม่น้ำลำคลองนะ เพราะมันอันตราย” ผมก็ได้ความรู้ตรงนี้ไปด้วย เพราะในหลวงท่านทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์มาก ไม่ว่าจะด้านไหน เรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกเราไม่เคยคิด แต่พระองค์ท่านทรงคิดเสมอครับ
• ได้เข้าไปเป็นอาจารย์ ตรงนี้ได้เห็นพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของพระองค์ท่านอย่างไรบ้างคะ
พระอัจฉริยภาพของพระองค์มีเยอะแยะมากมายเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น มีภาพภาพหนึ่งที่ผมมี เป็นภาพที่พระองค์ท่านมีกล้องอยู่บนพระเพลา (หน้าตัก) แล้วแอบกดชัตเตอร์ คือรู้เลยครับว่าท่านเรียนวิทยาศาสตร์มา แล้วท่านศึกษา คือมนุษย์เราจะมีสายตาเท่ากับเลนส์ 50 มม. เห็น 46 องศา เพราะฉะนั้นที่ท่านวางไว้แบบนี้ ท่านรู้หมดเลย เอียงนิดซ้ายขวา รู้ว่าเลนส์นี้แค่นี้ มุมนี้เหลือแค่นี้ ถ้าซูมเข้าไปจะเหลือแค่นี้ ซึ่งหลักการอันนี้ผมก็ใช้มาโดยตลอด นี่คือพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน
หรืออย่างตอนที่ผมกลับจากญี่ปุ่น ผมได้อ่านข้อความที่ห้องสมุดของโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นว่า “อิเล็กทรอนิกส์ แฟลช” อันตรายกับเด็กแรกเกิดถึงสามขวบ ซึ่งผมคิดว่าถ้ากลับไปไทยแล้วได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน ต้องทูลถาม ก็ได้มีโอกาสได้ถามว่า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงทราบไหมครับว่าแฟลชนี่อันตรายต่อเด็กแรกเกิดถึงสามขวบ” ท่านทรงแย้มพระสรวล แล้วก็บอกว่า “ฉันรู้มา 40 ปีแล้ว ฉันสังเกตเอา ฉันถ่ายพระบรม (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร) ตอนสองขวบในวังมืด ฉันก็บอกฉันใช้แฟลชดีกว่า เพราะสมัยก่อน ASA (หรือ ISO ในปัจจุบัน) น้อย แสงไม่พอ สปีดต่ำ บอกให้ลูกหันมองมาระยะเพียงแค่เมตรสองเมตร พอกดชัตเตอร์ แฟลชก็วิ่งเข้าไป พระบรมก็กะพริบตาแล้วขยี้ตา ฉันรู้เลยว่าแฟลชอันตรายสำหรับเด็ก ตั้งแต่นั้นมา ฉันไม่เคยใช้แฟลชถ่ายรูปลูกฉันอีกเลย”
หรือครั้งหนึ่ง ผมได้หนังสือภาพฝีพระหัตถ์ที่พระองค์ทรงถ่ายทั้งเล่มเลย คราวนี้พอผมเปิดดูทุกภาพ ก็จะมีคำอธิบาย แต่ติดใจอยู่หลายภาพ เช่น ภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ตอนทรงพระเยาว์ ที่เป็นภาพมีทางโค้ง เหมือนป่าข้างใน ภาพนั้นลึกซึ้งมาก เหมือนกับพระองค์ท่านทรงสอนว่า วันข้างหน้า ลูกจะต้องเจออะไรอีกเยอะ แล้วก็ภาพใบไม้ 4 ใบ ผมชอบมากเลย เพราะว่าผู้ใหญ่หลายท่านที่เคยเข้าเฝ้าฯ แล้วถามพระองค์ท่าน พระองค์ท่านทรงตอบมาว่าก็เหมือนลูกของฉัน 4 คนนั่นแหละ ใบไม้ก็เหมือนชีวิตคนเรา ใบไม้เหมือนกัน แต่โดนแสงไม่เหมือนกัน แต่ละที่อยู่ไม่เหมือนกัน บางใบก็เป็นแบบนี้ อีกใบก็เป็นแบบนี้ ซึ่งลึกซึ้งมากครับ
หรือแม้แต่ภาพถ่ายสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เห็นแค่เสี้ยวหนึ่ง เรื่องนี้น่าสนุกตรงที่ว่าผมบอกว่าผมทนไม่ไหว ผมเข้าเฝ้าฯ ผมต้องกราบบังคมทูลถามพระองค์ท่านว่าทำไมใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ แค่เสี้ยวพระพักตร์ ท่านก็ทรงตอบว่า “ถ้าฉันเล่าให้ฟังแล้ว อย่าไปเล่าให้ใครฟังนะ ฉันอายเขา” ท่านทรงเล่าว่า ท่านเดินขึ้นไปบนพระตำหนักที่เชียงใหม่ ก็เลยห่วงสมเด็จพระนางเจ้าฯ เลยหันไปมอง แล้วเห็นพระอาทิตย์ลอดแสงใบไม้มาเป็นแฉกสวยมาก
ด้วยการที่พระองค์เป็นนักวิทยาศาสตร์ และเป็นนักถ่ายภาพ อย่างผมอยู่โรงงานทำเลนส์มาก่อน ผมจะรู้ว่าไดอะแฟรมของเล่นตัวนี้ แฉกมันจะเกิดยังไง ใช้ f (ค่าขนาดของรูรับแสง) เท่าไหร่ แฉกจะเป็นยังไง ซึ่งพระองค์ท่านทรงมองแล้วรู้เลย ก็เลยบอกว่าเอากล้องมาเร็ว พอจะถ่าย ปรากฏว่าฟิล์มหมด ฟิล์มหมดก็ต้องรีไวด์ฟิล์มออก แล้วก็ต้องใส่ฟิล์มม้วนใหม่ แต่การใส่ฟิล์มม้วนใหม่สมัยก่อน ถ้าเราเป็นนักถ่ายภาพ ต้องรู้ว่า หนึ่งครั้งทิ้ง หนึ่งครั้งทิ้ง หนึ่งครั้งทิ้ง แล้วถึงจะหนึ่งใหม่
แต่ด้วยความรีบ พระองค์ท่านทิ้งไปแค่ 2 แล้วก็กดชัตเตอร์เลย เพราะฉะนั้น ฟิล์มก็จะขาว แต่พระองค์ท่านบอกว่า “ฉันเห็นว่างาม ฉันเลยทำครอปปิ้ง” ซึ่งท่านเข้าห้องมืดแล้วทำครอปปิ้งเอง การครอปปิ้งก็คือการตัดส่วนภาพให้มันลงตัว ส่วนไหนใช้ไม่ได้ก็ตัดทิ้ง ซึ่งตัดส่วนภาพออกมาได้สวย ลงตัวมากครับ คือพระองค์ท่านเลือกที่จะมอง ไม่ใช่แค่มุมผิดพลาด แต่มองสิ่งที่มีอยู่ เพราะสิ่งที่มันเป็นอยู่ มันมีค่าอยู่ในตัว อยู่ที่เราจะเลือกมองมุมไหน สิ่งที่ผมพูดมานี้คือพระอัจฉริยภาพโดยแท้ พระองค์ทรงศึกษาอย่างแน่วแน่ ผมกล้าใช้คำว่าท่านตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง
• ทราบมาว่าการถ่ายภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีความสำคัญต่อพระราชกรณีกิจต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ว่า "การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าได้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกสนานหรือความสวยงามเท่านั้น จงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง"
กล้องคือเครื่องมือที่หยุดกาลเวลาได้ ภาพถ่ายคืออัญมณีแห่งชีวิต ทุกวันนี้เราได้ภาพถ่ายจากพระองค์ท่านผมว่านับเป็นมูลค่าไม่ได้ มันมหาศาลมาก แล้วพระองค์ท่านมีภาพถ่ายเยอะแยะมากมาย ดังนั้นให้ภาพถ่ายเล่าเรื่อง... ดังที่พระองค์ท่านทรงทำให้เห็นผ่านพระราชกรณียกิจมาโดยตลอด
อันนี้เป็นสิ่งที่สุดยอดมากเลยนะครับ สังเกตเห็นโครงการหลายโครงการของพระองค์ท่าน ทรงมีโครงการพระดำริในหลายพันโครงการ พระองค์ท่านทรงใช้กล้องถ่ายภาพทั้งนั้น แล้วก็มีแผนที่ติดพระวรกายอยู่ตลอดเวลา
คุณคงเคยเห็นในหลวงข้ามภูเขา ปีนข้ามห้วย ข้ามน้ำ พระองค์ท่านทรงบุกป่าฝ่าดงตลอดเวลา พระองค์ท่านทรงนั่งลงกับพื้น นั่งลงกับหญ้า แล้วก็จดบันทึกเพื่อรับรู้เรื่องราวต่างๆ ของชาวบ้าน นั่นคือเราเห็นจากภาพทุกอย่าง มีครั้งหนึ่ง ผมได้ไปตามรอยพระบาทท่านที่เขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี เมื่อก่อนเป็นดินลูกรัง แห้งแล้ง ร้อนมาก พระองค์ได้ถ่ายภาพไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ภูเขาเป็นดินลูกรัง ท่านก็ทรงใช้หญ้าแฝกล้อมไว้เป็นครึ่งวงกลม พอน้ำไหลจากภูเขา ก็จะมาชะลงบนหญ้าแฝก ท่านก็ทำ ทำไปเรื่อยๆ แล้วนี่ 40 ปีผ่านมาแล้ว ตอนนี้ลองกลับไปดูสิครับ ต้นไม้เขียวไปทั้งภูเขาเลย
หรืออย่างดอยอ่างขาง ผมไปครั้งแรก แทบตาย พระองค์ท่านเสด็จฯ มาได้ยังไง ตอนนั้นผมไปยุคหลังแล้วนะครับ เรียกว่าต้องเอาโซ่พันล้อ คือขึ้นไปไม่ไหว ต้องเดินลงไป 3 - 4 กิโลเมตร ไปตามชาวเขา เอารถอีแต๊กมาช่วยลาก ถึงจะไปได้ แต่พระองค์ท่านทรงตรากตรำพระวรกายมาก เพื่อประชาชนของพระองค์ บางทีผมขับรถไป ผมก็น้ำตาไหลไป ซาบซึ้งในสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำ
“คุณได้ยินด้วยหูร้อยครั้ง ก็ไม่สู้เห็นด้วยตา คุณเห็นด้วยตาร้อยครั้ง ก็ไม่สู้ลงมือทำ” นี่คือสิ่งที่พระองค์มีครบเลย ซึ่งนักถ่ายภาพก็ต้องมีครบด้วย จะมีคำในใจผมก็คือ No Mountain Too High ไม่มีภูเขาใดสูงเกินกว่าฝ่าพระบาทของในหลวงเรา No Forest Too Deep ไม่มีป่าไหนที่ลึกเกินกว่าก้าวพระบาทจะบุกป่าฝ่าดงเข้าไป ปีนเขาข้ามห้วยได้หมดเลย
นอกจากนี้ No Art Too Limit ไม่มีสิ่งใดมาขีดวงให้ในหลวงเราได้ กีฬา เพลง ดนตรี การถ่ายภาพ ท่านเก่งทุกอย่างเลย คนอื่นเขาใช้เครื่องบินไปทิ้งระเบิด แต่ในหลวงเราใช้เครื่องบินสร้างประโยชน์แก่ประชาชน สร้างฝนเทียม และเหนืออื่นใด No Life To belong ชีวิตใครในโลกนี้ไม่มียืนยาว แต่สิ่งที่ในหลวงทรงทำไว้ สิ่งที่ในหลวงถ่ายภาพไว้ จะต้องยืนยาวไปชั่วลูกชั่วหลาน และมีประโยชน์สำหรับชาติของเรา
ทุกวันนี้ผมสอนทุกมหาวิทยาลัยหรือทุกองค์กร ผมก็ใช้ภาพเหล่านี้เป็นสื่อบอกว่า พระองค์ท่านเคยทำเพื่อคนไทยมาก่อนแล้ว พระองค์ท่านทรงใช้หลักง่ายๆ คือหลัก 3D ได้แก่ 1.Documentary คือ กดชัตเตอร์ 1 ครั้ง สามารถเป็นสารคดีเก็บเป็นประวัติศาสตร์ไปได้ 10 - 20 ปี เพราะภาพถ่ายเป็นอัญมณี 2.Double Take สมมติว่าพระองค์ท่านทรงเห็นครั้งแรกว่าดินแห้งแล้ง ท่านก็จะถ่ายภาพไว้เป็น Before ท่านทรงทำไว้ก็จะถ่ายอีกครั้งหนึ่ง เราเห็นว่ามันเขียวชอุ่มเลย ซึ่งนั่นก็จะเป็นภาพเปรียบเทียบ เป็น After และ 3.Development เพราะนำภาพถ่ายเล่าเรื่องได้อยู่แล้ว แล้วทุกอย่างมันก็ครบสมบูรณ์เพราะฉะนั้น มันก็จะกลายเป็น Development ที่สามารถพัฒนาได้
• ท้ายนี้ ในฐานะคนไทย อาจารย์อยากฝากอะไรถึงคนไทยด้วยกันต่อการวางตัวในขณะที่พระองค์ไม่อยู่แล้วบ้างคะ
เราในฐานะพสกนิกรที่ท่านทรงห่วงใยมาตลอด ขอจงรำลึกถึงเสมอนะครับ มองฟ้าขึ้นไปก็เหมือนพระองค์ท่านกำลังมองเราอยู่ เพราะพวกเราทุกคนจะเทิดทูนพระองค์ท่านอยู่บนฟากฟ้า สู่สวรรคาลัย เพราะฉะนั้น เวลาจะทำอะไร ถ้าจะมองเท้า จงอย่าลืมมองดูฟ้า เพราะเมื่อคุณมองเท้า คุณจะก้าวเดิน แต่ถ้าคุณแหงนมองฟ้าเพื่อระลึกถึงพระปรีชาของพระองค์ท่าน ระลึกถึงพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน มันจะเป็นการปักหมุดในใจให้เราคิดดีทำดี
ส่วนตัวผมจะมีหนังสือ “365 วัน ใต้ร่มพระบารมี” ที่ทุกวันผมจะต้องอ่านแล้วผมก็จะนึกถึงว่าวันนี้พระองค์ท่านทำอะไร ประเทศอื่นเขาใช้เครื่องบินไปรบ ผู้คนตาย แต่ประเทศไทยเรา ในหลวงทรงใช้เครื่องบินไปสร้างฝนเทียม ต่างกันมหาศาล สมัยก่อน ทุกวันที่ 5 ธันวาคมจะมีพระราชดำรัสอะไรต่างๆ ผมฟังทุกครั้ง ได้อะไรเยอะมาก
ขอให้เราตระหนักรู้และเข้าใจว่าพระองค์ท่านทรงทำให้พวกเราแล้ว เมื่อต่อไปภายหน้า เราก็ต้องทำให้พระองค์ท่านบ้าง No Life To Belong ไม่มีชีวิตใครยืนยาว แต่ในหลวงของเรา ไม่มีคำว่า No Life To Belong ดังนั้น ถึงพระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตไป แต่พระองค์จะไม่สิ้นไปจากใจคนไทยครับ
เรื่อง : วรัญญา งามขำ, ธัญลักษณ์ อุ่มเจริญ
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์